รีโนเวต อย่างไรให้ พื้นที่ธุรกิจ อาคารเก่าสร้างมูลค่าใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

room ได้มีโอกาสเชิญ pommballstudio สตูดิโอออกแบบจากเชียงใหม่ได้มาพูดคุยเล่าประสบการณ์งานออกแบบประเด็น “ รีโนเวต อาคารเก่าสู่ พื้นที่ธุรกิจ ” ซึ่งทางผู้ออกแบบมีความเชี่ยวชาญทางด้านการรีโนเวทอาคารมากกว่า 80 % จากทั้งหมดของงานออกแบบ โดยในงานเสวนาครั้งนี้จะสรุปประเด็นเคล็ดลับการรีโนเวทของอาคารเก่าตั้งแต่สเกลเล็ก จนถึงสเกลใหญ่อย่างโกดัง ว่ามีข้อแตกต่างและความท้าทายในการออกแบบอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจใหม่บนพื้นที่เก่าประสบความสำเร็จ จาก 4 โครงการที่พวกเขาได้มาเล่าให้เราได้ฟัง

รีโนเวต พื้นที่ธุรกิจ
riion chiang mai

riion chiang mai ที่ รีโนเวต จากอาคารพาณิชย์เพียง 1 คูหา สู่ พื้นที่ธุรกิจ โลเคชั่นติดคูเมืองเชียงใหม่ ย่านแจ่งศรีภูมิ ที่เปลี่ยนจากอาคารพาณิชย์ของบริษัททัวร์เก่าให้กลายเป็นโรงแรมและคาเฟ่ขนาดเล็ก บรรยากาศอบอุ่นเจือกลื่นล้านนา ที่มีความทันสมัย คนรุ่นใหม่เข้าใจและสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยกรณีนี้ผู้ออกแบบตีความจากโจทย์สู่งานออกแบบ
1. นำสุนทรียภาพของเมืองเชียงใหม่ที่รุ่มรวยไปด้วยแง่งามของศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ศิลปะ ดนตรี ภาพถ่าย และธรรมชาติเป็นตัวตั้ง ก่อนคลี่คลายเรื่องราวลงสู่พื้นที่ของโรงแรม
2. ใช้วัสดุพื้นถิ่นอย่างแป้นเกล็ดล้านนาโบราณ เข้ากับบริบท และบ่งบอกถึงสถานที่ตั้งว่าอยู่ในเขตเมืองเก่า
3. ภายในผู้ออกแบบได้ทุบโครงสร้างเดิมออกทั้งหมด เหลือไว้แต่คานโครงสร้างที่เชื่อมกับเพื่อนบ้าน ก่อนจัดฟังก์ชันใหม่ลงไป สำคัญบันไดที่เปลี่ยนให้มาอยู่ตรงกลาง ทำหน้าที่แจกจ่ายสู่พื้นที่ใช้งานห้องพักที่อยู่ในส่วนหน้าและหลังของอาคาร
4. ห้องพักทั้ง 4 ห้องที่กำหนดให้อยู่ในตำแหน่งหน้าและหลัง เพื่อเปิดรับวิวด้านหน้าที่หันออกสู่คูเมืองทางฝั่งทิศตะวันออก และด้านหลังที่มองเห็นทิวเขาของดอยสุเทพทางฝั่งทิศตะวันตก
เรียกว่าเป็นการนำบริบทของเมืองเชียงใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบได้แยบยล อันเกิดจากการลดทอนรายละเอียดอย่างล้านนาด้วยการนำความโมเดิร์นมาจับ เพื่อให้คนรุ่นใหม่สัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย ทำให้การมาเยือนที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่นอนพัก แต่อยากให้มาสัมผัสบริบทของเชียงใหม่หลาย ๆ ด้าน และผ่อนคลายในความสงบอย่างแท้จริง

KOFF AND THINGS

KOFF AND THINGS คาเฟ่เชียงใหม่ อบอุ่นด้วยงานไม้สวยได้บรรยากาศเมืองเกียวโต ที่รีโนเวทจากอาคารพาณิชย์เก่าห้องหัวมุมโดยที่นี่มีความโดดเด่นด้านทำเล ซึ่งหันหน้าเข้าหาประตูเชียงใหม่ด้วยศักยภาพที่เห็นทั้งวิวประตูเมือง และอยู่ในย่านที่พักของนักท่องเที่ยว ที่นี่จึงออกแบบด้วยการดึงข้อดีของทำเลในย่านเมืองเก่า มาผสานเข้ากับเสน่ห์ของญี่ปุ่นตามที่ owner หลงใหล
1. เนื่องจากเป็นอาคารเก่า ซึ่งมีส่วนประกอบของไม้เป็นทุนเดิม เช่น โครงสร้างบันได ฝ้าเพดาน และพื้นไม้ที่ยังคงสภาพแข็งแรง โดยผสมผสานไปพร้อมกับการเปลี่ยนโฉมอาคารให้มีลูกเล่นโดดเด่น
2. Façade ด้านนอกที่ใช้ไม้จริงเนื้อแข็งทำสีมาออกแบบให้มีแพตเทิร์นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นตั้งเส้นนอนของบานช่องแสง พร้อมชายคากันสาดเล็ก ๆ ที่ด้านบนและล่าง หากมองรวม ๆ แล้ว ดูคล้ายบ้านไม้ญี่ปุ่นซ้อนกันหลาย ๆ หลัง เหมือนภาพหมู่บ้านในชนบทอย่างไรอย่างนั้น ช่วยสร้างมุมมอง หรือแม้กระทั่งมุมถ่ายรูปเก๋ ๆ ให้ลูกค้าได้ออกมามีปฏิสัมพันธ์กับอาคารภายนอก
3. ตกแต่งภายในเปิดรับแสงธรรมชาติโดยเจาะผนังแล้วกรุกระจกขนาดใหญ่พร้อมบานเฟี้ยมไม้ที่สามารถเปิดออกเชื่อมบรรยากาศที่นั่งในร้านและนอกร้านเข้าด้วยกัน
4. ทำที่นั่งบิลท์อินขนานไปกับแนวผนังกรุไม้อัด ที่มีชั้นวางสำหรับจำหน่ายสินค้าทั้งเมล็ดกาแฟ ของตกแต่งบ้าน และของที่ระลึก ส่วนเคาน์เตอร์บาร์ทอดตัวขนานไปกับแนวผนังเช่นกัน เพื่อเปิดพื้นที่ทางเดินตรงกลาง5. ชั้นสองวางแปลนพื้นที่ใช้งานเหมือนอยู่ในบ้านญี่ปุ่น แต่มีมุมรับรองลูกค้าในแบบคาเฟ่ ห้องรับรองด้านหน้าสามารถมองเห็นวิวกำแพงเมืองประตูเชียงใหม่

THE BARISTRO ASIAN STYLE 

The Baristro Asian Style รีโนเวตบ้านเก่าเชิงดอยสุเทพ เป็นคาเฟ่ไม้กลิ่นอายโมเดิร์นเอเชียนภายใต้คอนเซ็ปต์การนำภาพจำของบรรยากาศแบบเอเชียหลากหลายประเทศมาผสมผสานกันแบบหยิบเล็กผสมน้อย โชว์วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เพื่อบอกเล่าภาพความเป็น Asian Style ให้ยิ่งชัดเจนขึ้น
1. ต้อนรับทุกคนด้วยอาคารหลักด้านหน้า โดยออกแบบให้เป็น Speed Bar จากบ้านคอนกรีตชั้นเดียวมีสภาพทรุดโทรม จึงนำมาสู่แนวคิดการออกแบบอาคาร ด้วยการยังคงเก็บรายละเอียดโครงสร้างที่แข็งแรงไว้บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเสาเดิม และหลังคาแบบ Flat Slab
2. วางมาสเตอร์แปลนให้วางอาคารให้แยกกัน รวมถึงอาคารหลังอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเฟสต่อไป โดยมีแรงบันดาลใจมาจากหมู่บ้านของชาวเอเชีย ซึ่งมีอาคารอยู่คนละหลัง แล้วถูกเชื่อมด้วยคอร์ตยาร์ด ลานวัด หรือลานกลางหมู่บ้าน 3. สื่อถึงความเป็นเอเชียผ่านองค์ประกอบโครงสร้างและเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไม้สัก และไม้เต็ง ซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่น ทั้งจากจังหวัดลำพูน และแพร่
4. เปลี่ยนจากเสาคอนกรีตมาหุ้มด้วยไม้ทั้งหมด แล้วกรุผนังด้วยกระจกใสโดยรอบให้มองเข้ามาแล้วเห็นการใช้งานภายใน เป็นมุมมองที่เรียกว่า “Inside Out – Outside In”
5. สื่อความเป็นร่วมสมัย ด้วยเคาน์เตอร์บาร์สเตนเลสขนาดใหญ่ สำหรับวางเครื่องทำกาแฟเอสเปรสโซ สเตนเลสยังมีข้อดีคือ ทำความสะอาดง่าย และดูเรียบร้อยสวยงาม

COFFEE NGEGGEE

NGEGGEE เปลี่ยนโกดังเก่าเป็นคาเฟ่ กับงานออกแบบที่ถอดเรื่องราวมาจากภาพวาดจีน จากร้านกาแฟเล็ก ๆ ซึ่งมีชื่อเรียกตามชื่อของอาม่า ต้องย้ายจากคาเฟ่บ้านไม้ สู่พื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นภายในโกดังเก็บสินค้าเก่าของครอบครัว เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับทำเบเกอรี่และอาหารที่จริงจังขึ้น พร้อมกับช่วยสะท้อนตัวตนและเรื่องราวความเป็นคนไทยเชื้อสายจีนได้อย่างตรงตัวและชัดเจน
1. รักษารูปทรงของโครงสร้างโกดังเก่า ขนาด 240 ตารางเมตร ไม่รื้อหลังคา หรือโครงสร้างใด ๆ ก่อนจะบรรจุงาออกแบบที่สะท้อนถึงกลิ่นอายความเป็นจีนเข้าไป
2. คอนเซ็ปต์การออกแบบหลักคือภาพวาดพู่กันจีนโบราณ โดยในรูปหนึ่งอาจจะมีเรื่องราวเยอะแยะมากมาย ทั้งรูปภูเขา ต้นไม้ ก้อนเมฆ คนปีนเขา มังกร ฯลฯ แต่มันจะเป็นรูปที่มีลักษณะของ Perspective ที่ดูแปลกแต่กลับมีมิตินน่าสนใจ
3. ลูกเล่นหลากหลาย เพื่อเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ สะดุดตากับภาพของเคาน์เตอร์บาร์ขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง ด้านบนประดับโคมไฟลายเมฆ ชวนจินตนาการถึงก้อนเมฆในภาพวาดพู่กันจีน ดีไซน์ให้ซ้อนเลเยอร์กัน หลังคาด้านบนถูกเปลี่ยนเป็นช่องแสงสกายไลท์ เพื่อนำแสงให้ส่องเข้ามายังอาคารที่เป็นโกดัง
4. หน้าเคาน์เตอร์ที่กรุซ้อนกันด้วยกระเบื้องโบราณสีแดงรูปทรงครึ่งวงกลม ดูคล้ายเกล็ดปลา หรือเกล็ดมังกร เช่นเดียวกับผนังแบ็กกราวนด์หลังเคาน์เตอร์ พร้อมหน้าต่างกระจกวงกลมแทนภาพพระจันทร์
5. หยิบเส้นโค้งมาใช้ในส่วนของผนังด้านหลังที่นั่ง เพื่อให้คล้ายกับซุ้มประตูบ้านจีนโบราณ โดยนำมาจัดเรียงใหม่ให้อยู่ร่วมกับวัสดุไม้สีแดงอมส้มที่ให้ความรู้สะท้อนถึงสไตล์จีนเป็นการแบ่งสเปซให้เป็นบล็อกที่นั่งที่เป็นสัดส่วน เป็นการใส่กิมมิกเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แต่ละมุมมีเรื่องราว สมกับชื่อของคาเฟ่ที่ตั้งเป็นชื่อภาษาจีน แต่เป็นคาเฟ่จีนที่ไม่โมเดิร์น และก็ไม่ได้เป็นสไตล์จีนแบบดั้งเดิม

ทั้งหมดนี้คือ 4 ตัวอย่างการรีโนเวทอาคารเก่าสู้พื้นที่ธุรกิจที่น่าสนใจของอาคารแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะประเภทธุรกิจ ขนาดสเกล ความชอบความต้องการของเจ้าของ จนถึงโลเคชั่นที่มีสำคัญและส่งผลต่อการออกแบบ นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญคือการแก้ไขปัญหา การจัดการของอาคารเก่าที่มักจะคลาดเคลื่อน แต่ถึงอย่างไรแล้วการรีโนเวทแปลงโฉมพื้นที่ธุรกิจจากอาคารเก่านั้นก็สร้างคุณค่าและมูลค่าของทั้งสถานที่ แบรนดิ้ง และดึงดูดลูกค้าได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้อาคารใหม่เช่นกัน
ข้อมูลผู้ออกแบบ : https://www.baanlaesuan.com/directory/pommballstudio



เรียบเรียง: Lily J.
ภาพ: Soopakorn