พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

[The Editors] พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ของอาจารย์วราพร สุรวดี

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ไม่ใช่แค่เพียงมาค้นหาความทรงจำเท่านั้น หากแต่ผู้ที่เรามาพบน่าจะพาเราย้อนกลับไปดูภาพเก่า ๆได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น อาจารย์วราพร สุรวดี ในวัย 73 ปี เจ้าของและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้บอกกับเราว่าของทุกชิ้นของที่นี่ล้วนเป็นข้าวของเครื่องใช้ของครอบครัวที่ยังคงเก็บไว้ในสภาพใกล้เคียงกับในอดีต เช่นเดียวกันกับสภาพพื้นที่ภายในรั้วที่เหมือนจะถูกหยุดนิ่งเอาไว้ เมื่อ 70 กว่าปีก่อนที่นี่เคยเป็นอย่างไรทุกวันนี้ก็ยังคงเหมือนเดิม

_MG_1575

“บ้านหลังนี้สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 คุณแม่ได้แบบมาจากแค็ตตาล็อกบ้านของหลวงบูรกรรมโกวิท (สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น) เดิมถนนหน้าบ้านเป็นคลอง บ้านเก่า ๆในย่านนี้ทุกหลังจึงมีลำกระโดงไว้จอดเรือ (ปัจจุบันกลายเป็นบ่อน้ำเพราะคลองถูกถมเป็นถนน) สมัยก่อนคนมีฐานะมีที่ทางหน่อยมักนิยมปลูกห้องแถวให้คนเช่าบังหน้าบ้านเอาไว้ ส่วนด้านในก็เป็นบ้านที่มีสนามหญ้ากว้าง ๆ” จากคำพูดของอาจารย์วราพรและการสังเกตตึกรามบ้านช่องที่ดูเก่าแก่โดยรอบยังพอเห็นเค้ารางว่าย่านบางรักในอดีตนั้นเป็นที่อยู่ของบรรดาพ่อค้าและข้าราชการ เนื่องจากอยู่ใกล้กับถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นถนนสายแรกและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

_MG_1545

_MG_1552

_MG_1571

บนเนื้อที่กว่าไร่เศษเป็นมรดกที่อาจารย์วราพรได้รับจากคุณแม่ ประกอบด้วยบ้านหลังเก่า (ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีพ.ศ.2551) ลักษณะของบ้านเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ตัวบ้านเป็นอาคารไม้สองชั้นแต่ทาสีเลียนแบบผนังก่ออิฐถือปูนโดยฝีมือช่างชาวจีน หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าวสีแดง มีการลดทอนลวดลายฉลุที่ชายคาออก เรียกกันว่า “ทรงปั้นหยารุ่นปลาย” ซึ่งได้รับความนิยมมากในยุคนั้น ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 2,400 บาท นอกจากนี้ยังมีบ้านที่ยกมาจากทุ่งมหาเมฆในภายหลัง ห้องแถว 8 ห้อง และเรือนไม้ใต้ถุนสูง ทั้งหมดแวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย บรรยากาศร่มรื่นและเย็นสบาย

“สมัยก่อนเราอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่มีคุณแม่ คุณป๋า ลูกสาว 5 คน ลูกติดคุณป๋าอีก 3 คน คุณยาย คุณยายเล็ก คุณน้า และบริวารอีกหนึ่งครอบครัว รวมกันหลายสิบชีวิต ตอนเด็ก ๆจำได้ว่าเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องย้ายบ้านหนีระเบิดไปอยู่แถวคลองบางเชือกหนัง ตลิ่งชัน เพราะแถวนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์อยู่ใกล้กับไปรษณีย์กลางและหัวลำโพง ตอนนั้นรอบ ๆโดนระเบิดไฟไหม้กันหมด เว้นมาถึงบ้านเราพอดี บ้างก็ว่ามีพญาครุฑมาปัดระเบิดให้ไปตกที่อื่น”

_MG_1561

_MG_1562

_MG_1547

_MG_1556

อาจารย์วราพรเล่าว่าจุดเริ่มต้นของบ้านพิพิธภัณฑ์นี้เกิดจากเมื่อครั้งไปศึกษายังประเทศสหรัฐอเมริกาและนอร์เวย์ มีโอกาสได้พบเห็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นดี ๆมากมาย แต่พอกลับมาก็ยุ่งกับการทำงานสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย กระทั่งลาออกจากราชการและมีโอกาสได้กลับมารื้อค้นบ้านอย่างจริงจัง จึงพบว่ามีของเก่าเก็บไว้หลายอย่างทั้งที่เคยเห็นและไม่เคยเห็นมาก่อน

“จริง ๆแล้วต้องบอกว่าคุณแม่เป็นคนช่างเก็บ อย่างเช่นเฟอร์นิเจอร์แบบยุโรปในบ้าน ชุดเครื่องแก้วเจียระไน เครื่องมือแพทย์ต่าง ๆก็เป็นสมบัติติดตัวมาตั้งแต่สมัยที่คุณแม่แต่งงานกับคุณหมอฟรานซิส (สามีคนแรก) หลังออกจากราชการก็คิดว่าอยากปรับปรุงบ้านให้เป็นสถานสงเคราะห์ แต่พอเห็นว่าข้าวของมีมากเหลือเกินจึงเปลี่ยนมาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านช่วยให้คำแนะนำ ทั้ง อาจารย์ภูธร ภูมะธน อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ คุณอเนก นาวิกมูล และท่านอื่น ๆ เริ่มทำมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 โดยไม่มีนโยบายซื้อของใหม่เลย ยกเว้นบางชิ้นที่เพื่อนฝูงคนรู้จักเอามาให้บ้าง”

_MG_1564

_MG_1548

_MG_1553

_MG_1507

_MG_1489

ถึงแม้ตอนนี้อาจารย์วราพรจะยกที่นี่ให้อยู่ในการดูแลของกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ก็ยังคงพักอยู่บนเรือนไม้ใต้ถุนสูงข้างบ้านหลังเก่าและคอยดูแลจัดกิจกรรมของที่นี่อยู่เสมอ ทั้งการเสวนา และการแสดงละคร ร่วมกับ ป้าจุ๊ หรือคุณจุรี  โอศิริ  (ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง)

ความสำคัญของที่นี่ไม่ใช่แค่เพียงมีของเก่ามากมาย เราเชื่อว่าเจตนาที่ต้องการจะเก็บอดีตไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งสำหรับการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทยในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีความสำคัญต่อคนรุ่นหลังยิ่งกว่า วันนี้เราได้รื้อลิ้นชักความทรงจำออกมาเพื่อหยิบของขึ้นมาดูทีละชิ้น ๆ ภาพที่ได้เห็นดูเหมือนจะบอกเล่าได้ชัดเจนกว่าแค่เพียงอ่านประวัติจากในหนังสือ ไม่ต้องมีเครื่องมือไฮเทคย้อนเวลาอย่างไทม์แมชชีนหรอก อดีตอยู่ใกล้ตัวเราแค่นี้เอง

_MG_1536

 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก หรือพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ตั้งอยู่ที่ซอยเจริญกรุง 43

เปิดทำการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น.

โทรศัพท์ 0-2234-6741, 0-2233-7027

 

เรื่อง: “วรัปศร”

ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

แหล่งที่มา: นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับที่ 386