ถังแก๊ส

7 จุดเช็ก ถังแก๊สหุงต้ม ป้องกันระเบิด

ถังแก๊ส
ถังแก๊ส

ถังแก๊สหุงต้ม เป็นอุปกรณ์ที่อาจสร้างอันตรายได้ หากใช้ไม่ระมัดระวัง โดยการเลือกและดูแลรักษาที่ดีจะช่วยลดโอกาสเกิดอันตรายที่อาจจะเกิดได้

7 จุดเช็ก ถังแก๊สหุงต้ม ก่อนเกิดอันตราย

การวางถังแก๊สควรอยู่ในพื้นที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี วางให้ห่างจากเตาแก๊สประมาณ 1.5-2 เมตร ไม่ควรวางถังแก๊สใกล้จุดที่อาจจะเกิดประกายไฟ เพื่อความปลอดภัยของคนในครอบครัว โดยควรสังเกต ถังแก๊สหุงต้ม 7 จุดนี้

  1. มีตราสัญลักษณ์เครื่องหมายของผู้ผลิต อยู่บนตัวถังซึ่งจะเป็นเครื่องหมายของทางผู้ผลิตแก๊สหุงต้มบริเวณกลางถังแก๊ส
  2. มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) บนตัวถังแก๊ส
  3. ะบุเดือนและปี ที่ทำการตรวจสอบถังแก๊ส บนฉลากบริเวณหูถัง โดยระยะเวลาที่ตรวจสอบไม่ควรเกิน 5 ปี
  4. ตัวถังแก๊สไม่มีรอยบุบ บวมหรือร่องรอยของการผุกร่อน
  5. โกร่งกำบัง (หูถัง) ไม่เสียรูป เพราะเป็นส่วนป้องกันไม่ให้ส่วนวาล์วและถังถูกกระแทก
  6. ฐานถังแก๊สตั้งตรงได้ ไม่เอียง เนื่องจากเป็นส่วนป้องกันไม่ให้ตัวถังกระแทกพื้น และตั้งได้อย่างมั่นคง ตัวฐานแก๊สจึงควรที่จะตั้งตรงได้ไม่เสียรูป
  7. บนตัวถังควรมีข้อความเตือน อันตราย ห้ามกลิ้ง ห้ามกระแทก” บนตัวถังแก๊ส
ถังแก๊สหุงต้ม

การเลือกขนาดถัง

การเลือกใช้ขนาดแก๊สหุงต้มให้เหมาะสมกับครัวเรือนจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย โดยมีทั้งหมด 4 ขนาดให้เลือกตามความเหมาะสม และสามารถตรวจสอบราคาจากสำนักงานพาณิชย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสขึ้นราคา

  1. ขนาดบรรจุ 4 กก. ราคา 146 – 180 บาท/ถัง หรือถังแก๊สปิกนิก มีขนาดเล็กสามารถพกพาได้ เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่ครัวน้อย หรือสำหรับผู้ที่อยู่คนเดียว
  2. ขนาดบรรจุ 7 กก. ราคา 250 – 300 บาท/ถัง ขนาดที่ถูกแบ่งทอนออกมาจากขนาดปกติ 15 กก. เหมาะสมสำหรับครอบครัวที่มีพื้นที่ครัวไม่มากนัก นานๆ เข้าครัวเป็นครั้งคราว
  3. ขนาดบรรจุ 15 กก. ราคา 480 – 450 บาท/ถัง เป็นขนาดปกติที่หลายครัวเรือนใช้ ระยะเวลาการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 2 เดือน
  4. ขนาดบรรจุ 48 กก. ราคา 1,434 – 1,500 บาท/ถัง เป็นขนาดที่เหมาะสมกับระดับครัวของผู้ที่ประกอบกิจการร้านอาหาร หรือครอบครัวที่ใหญ่มาก ต้องมีพื้นที่มากพอสมควรสำหรับวางตัวถัง

การเลือกหัวปรับแรงดันแก๊ส

หัวปรับแรงดันแก๊สมีหน้าที่ช่วยปรับแรงดันของแก๊สที่ออกมาจากถัง หากเลือกให้เหมาะสมจะช่วยในเรื่องความสะดวกต่อการใช้งานและความประหยัด โดยหลักๆ หัวปรับแรงดันแก๊สมีด้วยกัน 2 ประเภท ดังนี้

  1. หัวปรับแก๊สแรงดันต่ำ (Low pressure regulator) หรืออีกชื่อเรียก คือ หัวโลว์ ใช้กับเตาที่มีแรงดันต่ำ เตาบ้าน เตากระจก เตาย่าง เหมาะสำหรับใช้ในครัวเรือน
  2. หัวปรับแก๊สแรงดันสูง (High pressure regulator) อีกชื่อคือ หัวเร่ง ใช้กับเตาที่มีแรงดันสูง เช่น พวกเตาฟู่ เตาเร่ง ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ประกอบอาชีพทำอาหาร

Tips : หากมีปัญหาในการใช้งานแก๊สหุงต้มควรติดต่อร้านตัวแทนร้านค้าใกล้บ้าน หรือติดต่อสอบถามข้อมูล ได้ที่เว็บไซต์ https://www.doeb.go.th/


ข้อมูล : กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน, Tecnogas (เทคโนแกส)

เรื่อง : ชลิตา ศรีพันธบุตร


ปัญหาต้องซ่อมของเตาแก๊สและวิธีแก้ไขเบื้องต้น

หลังเกิดเหตุไฟไหม้บ้าน ต้องทำอย่างไร

ติดตามบ้านและสวน