Alpine Chalet สีสันในป่าสน

เนื้อที่ 4 ไร่แห่งนี้หากมองเผินๆ ก็แค่ลำธารกว้างกลางป่า แต่หากเดินเข้าไปด้านในและพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นสิ่งแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นกังหันน้ำขนาดใหญ่ สะพานไม้ข้ามลำธาร หรือป่าสนที่แต้มด้วยดอกไม้หลากสี ชวนให้นึกไปถึงสวนชนบทแถบยุโรป

จากพื้นที่ที่เป็นเนินโล่งๆ ไม่มีอะไรนอกจากคลองเล็กๆ ปรับเปลี่ยนให้เป็นสวนสวย เกิดมุมมองใหม่ที่ไม่คุ้นเคยในแถบปากช่องได้อย่างไร ตามไปชมกันครับ

“หลังจากสำรวจพื้นที่ได้เห็นธรรมชาติเดิมๆของที่นี่แล้ว ผมจินตนาการไปถึงกระท่อมไม้กลางป่าสนอย่างที่เห็นในหนังฝรั่ง ช่วงนั้นงานออกแบบของผมส่วนใหญ่จะเป็นสวนทรอปิคัลและสวนอเมริกันครับ ผมเลยตั้งใจทำที่นี่ให้ต่างออกไป และอยากให้ต่างไปจากสวนอื่นๆ ที่เห็นทั่วไปในปากช่องด้วยครับ โชคดีที่เจ้าของให้อิสระในการออกแบบเต็มที่ ผมเลยได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่อยากทำ ใช้ต้นไม้แปลกๆ ที่อยากใช้ ผมออกแบบร่วมกับ คุณซี กนกวรรณ ณ พัทลุง เราใช้เวลาคิดประมาณ 2 เดือน โดยผมจะดูภาพรวม ส่วนคุณซีจะดูดีเทลในจุดต่างๆ ครับ

บ่อน้ำมีความลึกประมาณ 1.50 เมตร เป็นบ่อดินธรรมชาติ ไม่มีระบบบ่อกรอง ปล่อยทั้งปลาคาร์ปและปลานิลปนกัน น้ำจึงไม่ใส เพราะปลาจะหากินคุ้ยหน้าดินที่ก้นบ่อ โครงสะพานเป็นเหล็ก แต่งด้วยไม้ตะเคียนปล่อยสีตามธรรมชาติ
น้ำตกเป็นของเดิม ตกแต่งใหม่ด้วยหินทรายแดง วางเรียงเป็นชั้นน้ำตกเล็กๆ แต่มีถึง 3 หน้า ใช้ปั๊มน้ำขนาดเล็กเพื่อดึงน้ำขึ้นไปและให้ไหลกลับลงมา ทำให้น้ำเกิดการไหลเวียน

“เราเสนอแนวคิดว่าอยากใช้พื้นที่ริมน้ำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด งานใหญ่ของที่นี่เลยเป็นเรื่องของการปรับพื้นที่ใหม่ ตัดสโลปเนินดินที่ลาดชัน ทำกำแพงและเขื่อนกันดิน ใช้ดินเกือบ 200 ตันมาถมเพิ่มเพื่อปรับระดับและให้มีที่ราบสำหรับศาลา พื้นที่ปลูกต้นไม้จัดสวน และทำทางเดินรอบบ่อน้ำครับ” คุณมอร์ – คุณอัศนัย แก่นจันทร์ พาเราเดินดูไปรอบๆ และเล่าถึงจุดเริ่มต้นของสวนแห่งนี้ให้ฟัง

กำแพงหินเดิมที่จัดเรียงหินใหม่ให้เดินข้ามได้ เป็นฝายกั้นน้ำและบ่อกรองธรรมชาติที่ช่วยกักตะกอนไม่ให้ไหลลงไปบ่อปลาด้านล่าง ทั้งยังช่วยรักษาระดับน้ำในบ่อปลาให้คงที่ตลอดทั้งปี

“พื้นที่เดิมขุดคลองเล็กๆ ไว้ก่อนแล้ว และมีกำแพงหินอยู่บางส่วนครับ ผมขยายคลองให้กว้างขึ้น เสริมขอบทำเขื่อนแก้รูปทรงให้มีความคดโค้งดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น เติมน้ำบาดาลใส่ให้เต็ม ลองสมมุติให้ตัวเองเป็นเจ้าของบ้าน อยากให้มีอะไรในสวนบ้าง อยากจะนั่งตรงไหน ถ้ามีแค่ที่นั่งริมตลิ่งก็ดูธรรมดาไป แต่ถ้าเป็นศาลาก็จะใช้ประโยชน์ได้มากกว่า อยากสร้างจุดเด่นและมีจุดนำสายตาก็ใส่กังหันน้ำเพิ่มเข้าไป ได้ยินเสียงน้ำไหล ช่วยให้สวนดูไม่นิ่ง ได้ฟีลบ้านชนบทฝรั่ง ดูแปลกตาน่าสนใจด้วยครับ

ศาลาไม้ตะเคียนหลังใหญ่ หลังคามุงด้วยไม้สนนำเข้า คุณมอร์ออกแบบดัดแปลงมาจากกระท่อมในป่าสนของฝรั่ง

“สวนนี้ใช้เวลาปรับพื้นที่และเตรียมงานโครงสร้างหลักๆ ประมาณ 3 เดือน พื้นที่เดิมเป็นสโลปลาดเอียงจากบ้านที่อยู่ด้านบนมาถึงตลิ่งริมคลอง เราต้องตัดสโลปและทำกำแพงกันดินเพิ่มในบางจุด ปรับพื้นที่ริมน้ำให้มีที่ราบเพื่อตั้งศาลา และทำทางเดินรอบบ่อน้ำทั้งหมดครับ งานโครงสร้างใหญ่ๆ อย่างเช่น ฐานใต้ศาลา ทางเดินในสวน และลานหิน เราไม่ได้ลงเสาเข็ม เพราะดินที่นี่แข็งจนกดเสาเข็มไม่ลง เราใช้วิธีเทปูนฐานแผ่ (Footing) บนชั้นดินดาน คือจะเป็นแท่นปูนขนาด 1×1 เมตร เสริมตะกร้อเหล็กด้านใน วางห่างกันแท่นละ 2.50 เมตร เพื่อให้กระจายการรับน้ำหนักเฉลี่ยกันไป

ริมบ่อน้ำบางส่วนออกแบบเป็นระเบียงไม้ยื่นไปในน้ำ เพื่อใช้ทำกิจกรรมในวันหรือโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันลอยกระทง

“ผมใช้หินหลายชนิด ทั้งหินภูเขา หินแกรนิต และหินทราย เลือกให้เหมาะกับการใช้งาน หินทรายแดงใช้ตกแต่งน้ำตก หินแกรนิตปูทางเดิน หินภูเขาใช้ตกแต่งสวนและกรุแต่งผิวกำแพงกันดิน ผมสั่งหินจากสระบุรีและด่านขุนทด ที่โคราชนี้เลยครับเพื่อประหยัดค่าขนส่ง คุมโทนสีในสวนให้ดูเป็นธรรมชาติ เลือกใช้หินสีอ่อนที่ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป ส่วนงานไม้ต่างๆ ก็ไม่ได้ทาเคลือบผิวอะไรเลย ปล่อยให้ตากแดดโดนฝนเปลี่ยนสภาพไปตามเวลา”

สะพานโค้งข้ามบ่อน้ำโครงเป็นเหล็กสั่งทำจากกรุงเทพฯ ขนมาประกอบที่นี่

อีกจุดเด่นที่น่าสนใจและดูต่างไปจากงานอื่นของคุณมอร์คือเรื่องของการใช้พรรณไม้ สวนนี้มีต้นสนหลายชนิดกว่า 50 ต้น เรียงระดับสูงต่ำลดหลั่นกันในแนวตั้งตัดกับเส้นขอบฟ้า ด้านล่างปลูกดอกไม้หลากหลายสีสันที่กำลังแข่งกันออกดอกสะพรั่งทั่วทั้งสวน บริเวณริมน้ำยังเต็มไปด้วยต้นไม้อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นบอนชนิดต่างๆ ทั้งบอนด่าง บอนแบล็กเมจิก และบอนเลมอนไลม์ หญ้าต่างประเทศหลายสายพันธุ์ รวมไปถึงสมุนไพรฝรั่ง ทั้งโรสแมรี่เลื้อย และทาร์รากอนที่ไม่ค่อยเห็นนำมาใช้จัดสวนกันนัก

กังหันน้ำเป็นไฮไลต์ของสวน เลือกตั้งในตำแหน่งที่อยู่ห่างจากตัวบ้าน เพื่อไม่ให้เสียงดังรบกวนมากนัก น้ำที่ไหลเวียนทำให้สวนดูไม่นิ่งจนเกิน เกิดเสียง และช่วยเติมอากาศในน้ำให้ปลา ตัวอาคารก่อปูนกรุผิวด้วยหิน หลังคาไม้สไตล์ฝรั่ง เป็นห้องเก็บอุปกรณ์ทำสวนและห้องงานระบบ

“ต้นไม้หลักๆ จะเป็นสนครับ สนฉัตร สนสามใบ สนมังกร สนบลู สนเกรวิลเลียดอกสีต่างๆ เสริมด้วยหลิวออสเตรเลีย เสม็ดแดง เสม็ดขาวที่ฟอร์มสวยๆ ต้นไม้พวกนี้ทรงพุ่มโปร่ง ทำให้แสงแดดส่องลงมาด้านล่างได้ ผมเลยปลูกไม้ดอกค่อนข้างเยอะเพื่อให้เหมาะกับสไตล์สวนคอตเทจครับ เลือกใช้ไม้ดอกอายุหลายปีที่เลี้ยงง่าย เช่น ผกากรอง ประทัดจีน กุยช่ายม่วง เวสทริงเจีย ราชาวดีทั้งสีขาวและสีม่วง ตรีชวา พิจารณาจากคู่สีและลักษณะพื้นที่เป็นหลัก ต้นที่ชอบอะไรคล้ายกันก็ปลูกอยู่ด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็อาศัยประสบการณ์จากที่เคยใช้มา อีกส่วนเป็นการทดลองครับลองผิดลองถูกไปเรื่อย ต้นไหนที่ลองปลูกแล้วไม่รอดก็เปลี่ยน ต้นไหนที่โตดีก็ปลูกต่อ นอกจากนี้ผมยังใช้กุหลาบค่อนข้างเยอะ เลือกพันธุ์ที่ปลูกเลี้ยงง่ายๆ เช่น พันธุ์บิชอปสคาสเซิล พันธุ์ซัมเมอร์สโนว์ ที่ปากช่องอากาศดีด้วยครับ ปลูกต้นอะไรก็สวย ออกดอกฟูกันทั้งสวน

พื้นลานบาร์บีคิวริมน้ำปูแผ่นหินแกรนิต ผนังด้านหลังคือกำแพงกันดินที่ทำขึ้นใหม่ กรุผิวด้วยหินภูเขา ปลูกหลิวออสเตรเลียที่ใบพลิ้วไหว เหมาะกับบรรยากาศริมน้ำ เติมสีสันด้วยไม้ดอก เช่น ผกากอง เดซี่
ตั้งใจเลือกใช้ไม้ใหญ่ที่มีทรงพุ่มโปร่งอย่างเสม็ดขาว เพื่อให้แสงแดดส่องผ่านถึงไม้ดอกด้านล่าง หลังปรับพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ถมทับด้วยหน้าดินเพื่อให้เหมาะกับปลูกต้นไม้

“ความสนุกของผมคือการได้ทดลองใช้ต้นไม้ที่อยากใช้ครับ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าผมปลูกต้นไม้ริมน้ำค่อนข้างหลากหลาย ต่างออกไปจากงานที่ผมออกแบบ เลือกใช้ต้นไม้ที่โตในน้ำได้ดี เช่น บอนชนิดต่างๆ กระดาด หญ้าถอดปล้อง ไอริสน้ำดอกม่วง มือเสือ เดซี่เลื้อย ผมไปเดินดูต้นไม้ที่ร้านต้นไม้ในปากช่อง เห็นเขาปลูกทาร์รากอนในน้ำ เลยลองนำมาปลูกดูบ้าง ปรากฏว่าอยู่ได้ ออกดอกสวยเลยครับ รวมไปถึงโรสแมรี่เลื้อย

“ผมตั้งใจปลูกต้นไม้ให้ดูเหมือนขึ้นเองตามธรรมชาติ ปล่อยให้โตแบบฟรีฟอร์มไม่ต้องตัดแต่ง พอดอกโรยก็ตัดออกแล้วใส่ปุ๋ยเพื่อให้ออกดอกใหม่ ข้อเสียอย่างเดียวของสวนที่ใช้ไม้ดอกเยอะคือในช่วงฤดูฝนสวนอาจดูโทรมไปบ้างแค่นั้นครับ” คุณมอร์กล่าวทิ้งท้าย และพาเราเดินไปดูอีกโซนที่จะทำให้เป็นสวนป่าซิลเวอร์โอ๊กในอนาคตอันใกล้นี้

นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับเดือนกรกฎาคม 2566
เจ้าของ : คุณนิภาพรรณ สุขวิมล
ออกแบบ : ร่มรื่นแลนด์สเคป โดยคุณอัศนัย แก่นจันทร์ และคุณกนกวรรณ ณ พัทลุง
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ฤทธิรงค์  จันทองสุข
ผู้ช่วยช่างภาพ : เอกสุวัชร์ จงจิรวัฒน์