หลีกกรุง พักกาย ที่สวนบนดอย

การได้อยู่ท่ามกลางความเขียวชอุ่มของพรรณไม้ จิบกาแฟฟังเสียงน้ำไหล ให้อาหารปลา หรือจัดปาร์ตี้ในสวน สร้างความผ่อนคลาย และน่าจะเป็นภาพฝันของใครหลายคน

ดังเช่นสวนของ นายแพทย์วิรัช วัชรการุณย์ และคุณต๊อด – ปนพงศ์ ไขแสง นักแสดงหนุ่มมากความสามารถ ซึ่งรับบทพระเอกเรื่องแรกในละครเรื่องมารยาสีรุ้ง และยังเป็นหนึ่งในนักแสดงนำของซีรีส์เรื่อง What The Duck รักแลนดิ้ง และภาคต่อ What The Duck Final Call รักแลนดิ้ง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความชื่นชอบในการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ  

“เดิมทีเราก็พักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯครับ แต่ด้วยความชื่นชอบในธรรมชาติ บวกกับตอนนั้นเป็นช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด -19 จึงอยากหาที่สงบ ๆ และมีความเป็นส่วนตัวสูง ก็มาถูกใจโครงการบ้านในย่านดอยโป่งแยง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโอบล้อมด้วยป่าเขา อากาศสดชื่นแจ่มใส  … ส่วนตัวผมอยากมีสระว่ายน้ำและบ่อปลา นอกเหนือจากนั้นก็ให้ผู้ออกแบบจัดการได้เลย เราไม่อยากไปตีกรอบหรือจำกัดแนวคิดการออกแบบครับ อยากให้เขาได้แสดงความเป็นตัวตนได้อย่างเต็มที่”

บรรยากาศสวนสไตล์ทรอปิคัลที่มีส่วนประกอบของน้ำตกและลำธาร ตามความต้องการของเจ้าของบ้านที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและอยากให้ธรรมชาติมาอยู่ใกล้ตัว

เมื่อถามถึงเหตุผลที่เลือกให้ทีมของ คุณเต็นท์พุทธิพจน์ พงษ์ไพโรจน์ นักจัดสวนสไตล์ทรอปิคัลฝีมือดี แห่ง TTT Tree Landscape เข้ามารับหน้าที่จัดสวนครั้งนี้ คุณต๊อดพูดด้วยความชื่นชมว่า “ติดตามผลงานของคุณเต็นท์จากรายการบ้านและสวน เพราะเราชอบสวนสไตล์นี้อยู่แล้วด้วย ชอบ ความละเอียดในการทำงานของคุณเต็นท์ แต่ก็รอคิวนานเหมือนกันครับ และยังเป็นช่วงระบาดของโควิด – 19 พอดี การมาทำงานที่เชียงใหม่ค่อนข้างลำบาก เพราะตอนนั้นมีการตรวจคนเข้าเมืองค่อนข้างเข้ม”

บริเวณด้านข้างบ้านที่เป็นโรงจอดรถและห้องออกกำลังกาย เดิมมีต้นไม้ใหญ่อยู่แล้วจึงเน้นตกแต่งด้วยไม้พุ่ม ไม้พุ่มคลุมดิน และทำทางเดินค่อนข้างกว้างเพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัดเวลาใช้งาน

ความร่มรื่นของสวนที่เน้นต้นไม้จำพวกเฟิน โดยเฉพาะทรีเฟินที่ปลูกระหว่างทางเดิน สร้างบรรยากาศเหมือนกำลังเดินลอดอุโมงค์ต้นไม้ ดูสวยงามลงตัวเป็นอย่างยิ่ง คุณเต็นท์เล่าถึงคอนเซ็ปต์การจัดสวนครั้งนี้ไว้ว่า “ผมยังคงเอกลักษณ์การออกแบบน้ำตกของเราไว้ คือ เลือกใช้หินธรรมชาติทั้งหมด ไม่ใช้หินเทียมหรือวัสดุทดแทน เพื่อให้ได้ความเป็นธรรมชาติมากที่สุด สวนนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือสนามหญ้าหน้าบ้าน เจ้าของบ้านอยากให้มีสระว่ายน้ำที่ติดกับตัวบ้าน ในส่วนนี้ออกแบบให้มีความโล่งและเรียบ เนื่องจากทางหน้าบ้านจะมองเห็นวิวเขาอย่างชัดเจน ในฤดูหนาวมีหมอกลงจัด มุมมองหน้าบ้านนี้จึงสวยมาก ๆ ครับ

เมื่อเดินมาถึงด้านหลังจะเป็นอุโมงค์เฟิน ซึ่งออกแบบตามความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากได้อุโมงค์ต้นไม้และมีความชื่นชอบเฟินเป็นพิเศษ เลือกใช้ทรีเฟินเป็นต้นหลัก “ผมชอบมุมนี้มากๆครับ รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้เดินลอดใต้อุโมงค์นี้ และเฟินก็โตเร็วมากครับ อีกไม่กี่ปีคงได้เดินลอดแบบไม่ต้องก้มแล้ว”

“ส่วนโซนสวนหลังบ้านซึ่งถือได้ว่าเป็นไฮไลต์ ผมออกแบบให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านที่ชื่นชอบสวนทรอปิคัล น้ำตก ลำธาร และเฟินชนิดต่างๆ บริเวณน้ำตกเลือกใช้หินแกรนิตภูเขา จำนวน 2 จุด จัดเป็นรูปแบบสวนทรอปิคัล เน้นปลูกเฟินและไม้ประดับล้อมรอบบ่อและทางเดินไว้ เพราะเมื่อมาหยุดที่บริเวณน้ำตกแล้วจะให้ความรู้สึกถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติ โดยที่ยังมีความเป็นส่วนตัว สำหรับทางเดิน เราเลือกใช้หินคอบเบิล สามารถเดินจากที่จอดรถ ผ่านชานไม้นั่งเล่นไปยังประตูหลังบ้านเพื่อใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ส่วนมุมหลังโรงจอดรถ ต้นไม้ที่เลือกใช้จะเน้นทรีเฟิน เพื่อให้ดูเป็นสวนป่ามากขึ้น”

มุมชิงช้าและบ่อปลาคาร์ปซึ่งเป็นมุมโปรดของคุณต๊อดและคุณหมอวิรัช ออกแบบให้ค่อนข้างโล่งและมีต้นไม้ล้อมรอบเหมือนอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของธรรมชาติ
“ผมชอบมานั่งจิบกาแฟและอ่านหนังสือที่ชิงช้า โดยเฉพาะตอนเช้าบรรยากาศดีมากๆครับ สดชื่น ไม่ร้อน รู้สึกผ่อนคลายมากเมื่อได้ยินเสียงน้ำตก น้ำไหล และเห็นปลาแหวกว่าย”

คุณเต็นท์เล่าว่าการเข้ามาทำงานในสวนนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เนื่องจากช่วงนั้นตรงกับการระบาดของโรคโควิด -19 ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการตรวจคนเข้าเมือง ส่งผลให้การทำงานล่าช้าออกไปจึงต้องมีการวางแผนงานให้ละเอียดและรอบคอบ “การวางแผนงานของเราเริ่มจากดูมุมมองการมองเห็นจากภายในบ้านเป็นหลัก ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนานไปกับตัวบ้าน และตัวบ้านส่วนใหญ่เป็นบานกระจกทั้งหมด เราจึงออกแบบลำธารให้มีความยาวเกือบ 25 เมตร คดเคี้ยวขนานไปกับตัวบ้าน เพื่อให้มุมมองของแต่ละห้องนั้นได้เห็นสวนธรรมชาติทุกห้อง มีทางเดินหินข้ามลำธาร และมุมชิงช้านั่งเล่นที่ออกแบบให้ด้านล่างเป็นบ่อกรอง ปิดด้วยไม้เทียม สามารถนั่งเล่นพักผ่อน ป้อนอาหารปลา และชมสวนเพลินๆ หลังจากกำหนดขนาดของบ่อลำธารเสร็จ จึงกำหนดขนาดของพื้นที่ที่จะปลูกต้นไม้ให้มีความสมดุลกัน

มุมนั่งเล่นที่อยู่อีกฝั่งของชิงช้าและอยู่ใต้ต้นเฟิน ด้านหน้ามีลำธารไหลผ่าน ออกแบบให้เดินข้ามลำธารได้เพื่อให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด

“การทำงานของแต่ละสวนมีความยากและความท้าทายแตกต่างกันไป การปรับแก้ปัญหาก็พิจารณากันไปตามความเหมาะสมของแต่ละที่ครับ ความยากของสวนนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ที่อยู่บนเขา ทำให้การขนส่งวัสดุและเครื่องจักรต่างๆค่อนข้างยากขึ้น บางวันเจอฝนหนัก ก็ต้องบริหารให้งานส่วนอื่นดำเนินต่อไปแทน แต่ก็ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานสวนครับ ในฐานะนักจัดสวน การที่เจ้าของบ้านให้อิสระ และไว้ใจให้ผมออกแบบและลงมือทำนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้แสดงตัวตนผ่านผลงานได้อย่างชัดเจนครับ”  

มุมมองจากภายในบ้าน ด้วยความที่เจ้าของบ้านอยากใกล้ชิดกับธรรมชาติ จึงออกแบบให้ตัวลำธารไหลโค้งเข้าใกล้กับตัวบ้านมากที่สุด เน้นปลูกเฟินที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ จึงได้บรรยากาศร่มรื่นสุดๆแม้จะอยู่ภายในบ้าน

การเลือกใช้พรรณไม้ในการจัดสวนก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ จำเป็นต้องพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมและปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชเป็นหลัก สวนแห่งนี้ได้รับแสงแดดค่อนข้างน้อย และมีความชื้นสูง ต้นไม้ส่วนใหญ่จึงเน้นเฟินที่สามารถเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมดังกล่าว ทั้งยังเป็นต้นไม้ที่เจ้าของบ้านชื่นชอบด้วย “เราจะมีการสอดแทรกไม้ดอกอย่างพุดซ้อนที่ดอกมีความหอม เพื่อให้เวลาเดินเข้าบ้านจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆจากดอกพุดบริเวณน้ำตก ไม้พุ่มปลูกเฟินเปรูก้านดำ ตกแต่งด้วยมินต์ประดับ เฟินนาคราช เฟินฮาวาย และปลูกทรีเฟินริมบ่อให้กิ่งก้านโน้มเข้าหากัน ปลูกสลับต้นเล็กต้นใหญ่ให้ดูเป็นธรรมชาติ ส่วนต้นไม้ใหญ่ที่เลือกใช้เป็นไม้ฟอร์มสวยดูเป็นธรรมชาติ พุ่มใบโปร่ง ไม่ทึบมาก อย่างเสม็ดแดง จิกสร้อยระย้า เราจะเลือกใช้ต้นไม้ที่ไม่ค่อยผลัดใบ มีความแข็งแรง เพราะเดิมต้นไม้ใหญ่ของบ้านหลังนี้ส่วนใหญ่เป็นไม้ป่า ถึงหน้าผลัดใบจะร่วงหมดต้น”

คุณต๊อดเล่าถึงความประทับใจในสวนแห่งนี้ด้วยรอยยิ้มว่า “เมื่อเห็นสวนก็ประทับใจมากๆเลยครับ ซึ่งตรงกับที่เราเห็นจากแบบ เราไม่ได้แก้แบบของคุณเต็นท์เลยนะครับ ซื้อไอเดียตั้งแต่ตอนแรกที่เสนอแบบมาเลยครับ เพราะว่าตรงตามความต้องการ ที่สำคัญ สวนนี้กลายเป็นที่ชาร์จพลังให้เรา เมื่อได้อยู่ตรงนี้จะเกิดความรู้สึกผ่อนคลายมีกิจกรรมให้ทำภายในบ้าน ได้ออกมานั่งชิงช้า อ่านหนังสือ จิบกาแฟ เดินเล่น ให้อาหารปลา ชมสวน และมุมที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษเลยก็คือมุมชิงช้าและบ่อปลาคาร์ป เพราะอากาศค่อนข้างเย็น แดดส่องไม่ค่อยถึงเท่าไร และพรรณไม้ที่คุณเต็นท์เลือกก็สามารถเติบโตได้ในที่ร่มรำไร นอกจากนี้เรามีการเติมต้นที่ชื่นชอบเข้าไปเพิ่มด้วย เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกสนุกกับการจัดตกแต่งสวนครับ” 

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมิถุนายน 2566
เจ้าของ : นายแพทย์วิรัช วัชรการุณย์ และคุณปนพงศ์ ไขแสง
ออกแบบ – จัดสวน : TTT Tree Landscape โดยคุณพุทธิพจน์ พงษ์ไพโรจน์
เรื่อง : อธิวัฒน์ ยั่วจิตร
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม