ส้ม สายพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทยและการขยายพันธุ์

ส้ม ในประเทศไทยนิยมปลูกส้มอยู่หลายสายพันธุ์ วันนี้ บ้านและสวน ขอแนะนำ 3 สายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย

ส้ม
ส้มจี๊ด

ส้ม จี๊ด ชื่อวิทยาศาสตร์ : X Citrofortunella microcarpa (Bunge) Wijnands วงศ์ : Rutaceae

ประเภทไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นทุกส่วนมีหนามปกคลุม  ใบรูปรีป้อม ก้านใบไม่แผ่เป็นปีกเหมือนพืชวงศ์ส้มชนิดอื่นๆ ช่อดอกออกที่ซอกใบปลายยอด ดอกสีขาว กลีบดอกแยกกัน และมีกลิ่นหอม ผลกลม เนื้อมีสีส้มอ่อนๆ รสเปรี้ยวถึงเปรี้ยวอมหวาน ชอบดินร่วนชุ่มชื้น อินทรียวัตถุสูง แสงแดดตลอดวัน น้ำปานกลาง ไม่ทนน้ำท่วมขัง

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด เสียบยอด

การใช้งานและอื่นๆ : นิยมปลูกเป็นไม้กระถางประดับในสวน บริโภคเป็นผลไม้พื้นบ้าน หรือใช้เป็นเครื่องปรุงรสในอาหารคาวเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยวแทนมะนาว บ้างทำน้ำผลไม้ดื่มเพิ่มความชุ่มคอ ดับกระหาย ส่วนเปลือกผลห่ามนำมาฝานกินจิ้มน้ำพริกหรือแช่อิ่ม เชื่อม ดอง ทำแยม ด้านสมุนไพร น้ำในผลช่วยขับเสมหะ

ส้ม
ส้มโอ

ส้มโอ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus maxima (Burm.f.) Merr. วงศ์ : Rutaceae

ประเภทไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นสูงได้ถึง 10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล สามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้มาก ใบรูปรี สีเขียวเข้มเป็นมัน เมื่อส่องแสงจะเห็นต่อมน้ำมันกระจายทั่วใบ ก้านใบที่ติดกับแผ่นใบจะแผ่ออกเป็นแผ่นคล้ายปีก ติดกับแผ่นใบ ช่อดอกออกที่ปลายยอด ดอกใหญ่ มีกลิ่นหอม มีกลีบดอก 5 กลีบไม่เชื่อมติดกัน เห็นเกสรสีเหลืองชัดเจนและมีกลิ่นหอมมากในช่วงเช้า กลีบดอกร่วงง่าย ผลทรงกลมแป้น เมื่อผลแก่มีสีเขียวอ่อนอมเหลือง ภายในผลแบ่งเป็นกลีบขนาดใหญ่ ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี ไม่ชอบดินแฉะ แสงแดดตลอดวันน้ำปานกลาง ไม่ทนน้ำท่วมขังและดินเค็ม

การขยายพันธุ์ : ตอนกิ่ง

การใช้งานและอื่นๆ : พื้นที่ปลูกควรกว้างกว่า 10 ตารางเมตร ถ้าพื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงควรปลูกพูนโคนต้นสูงๆ นิยมบริโภคเนื้อใน หรือนำเปลือกผลมาเชื่อมเป็นขนมหรือนำเนื้อที่มีรสเปรี้ยวมาทำเป็นส้มโอลอยแก้ว ชาวปักษ์ใต้มักแกะเนื้อมาผสมในข้าวยำช่วยเพิ่มความอร่อย ด้านสมุนไพร เป็นยาระบาย มีสารโมโนเทอร์ปีนที่ป้องกันมะเร็งช่วยขับลมในกระเพาะ ทำให้เจริญอาหาร แต่ผู้มีปัญหาระบบย่อยอาหารไม่ควรกินมาก เพราะอาจทำให้ท้องอืดเฟ้อหรือท้องเสียได้ นอกจากนี้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด แล้วย่างไฟให้อุ่นใช้พอกบริเวณที่ปวดบวมหรือปวดศีรษะได้อย่างดี กลีบดอกและเปลือกผลแก้ปวดท้อง ช่วยขับเสมหะและขับลมในกระเพาะ

ส้ม
ส้มเขียวหวาน

ส้มเขียวหวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus reticulata Blanco วงศ์ : Rutaceae

เป็นไม้ผลต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีใบประกอบชนิดที่มีใบย่อยหนึ่งใบ ลำต้น กิ่งก้าน มีหนามแหลมอยู่ทั่วไป ดอก ออกเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆ หรือปลายยอด มีกลิ่นหอม กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย ผล กลม หรือกลมรี ผลแก่ผิวผลสีเหลือง ภายในมีเนื้อและมีเมล็ด เนื้อรับประทานได้ หวานหรือเปรี้ยว

นอกจากนี้ยังนิยมปลูกพืชสกุลส้ม (Citrus) อีกหลายชนิด เช่น เลมอน (Citrus x limon) ซึ่งมีหลายพันธุ์ให้เลือกปลูก เช่น พันธุ์ยูเรก้า (Eureka Lemon) ลิสบอนเลมอน (Lisbon Lemon) เป็นต้น รวมถึงมะกรูด (C. hystrix) ส้มโอ (C. maxima)

เทคนิคการขยายพันธุ์

  • การปักชำ เป็นวิธีขยายพันธุ์ที่ง่ายที่สุดสำหรับพืชตระกูลส้ม ขอแค่มีเพียง วัสดุปักชำที่สะอาด ภาชนะปลูกและกิ่งที่สมบูรณ์ ก็สามารถปฏิบัติได้แล้ว
ส้ม

Step 1 เตรียมวัสดุปักชำ ในที่นี้ใช้ถ่านแกลบผสมทรายหยาบอัตราส่วน 1 : 1 ภาชนะปลูก กิ่งพันธุ์ดีที่ต้องการปักชำ และกรรไกรที่คมและสะอาด

ส้ม

Step 2 เลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนที่ไม่มีโรคแมลงศัตรูเข้าทำลาย ตัดกิ่งให้ยาวประมาณ 15 เชนติเมตร หรือมี 4 – 5 ข้อ ลิดใบที่โคนกิ่งออกให้เหลือแต่ใบด้านบน 3 ใบ ใช้มีดคมปาด โคนกิ่งให้เป็นแผลปากฉลาม

ส้ม

Step 3 กรีดโคนกึ่งตามแนวยาวให้เป็นแผลยาว 2 เชนติเมตร 2 รอย

ส้ม

Step 4 จุ่มกึ่งพันธุ์ดีในฮอร์โมนเร่งรากแบบจุ่มยก แล้วพักให้พอแห้งหมาด

Step 5 ใช้ตะเกียบไม้ปักลงในวัสดุปักชำในแนวดิ่งให้เป็นช่อง

Step 6 ปักกิ่งพันธุ์ดีที่เตรียมไว้ลงในวัสดุปักขำในแนวดิ่ง

step 7 รดน้ำให้ชุ่ม รอให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำกิ่งพันธุ์ดีที่ปักชำแล้วใส่ในถุงพลาสติกใส มัดปากถุงให้แน่น วางในที่ที่มีแสงแดดรำไร

step 8 หลังปักชำ 2 สัปดาห์ ถ้ากิ่งและใบยังเขียวสดแสดงว่าเริ่มแตกรากแล้ว รอจนต้น แข็งแรงแล้วค่อย ๆ เปิดถุงทีละนิด จนครบ 1 สัปดาห์จึงนำออกจากถุง ช่วงแรกวางในที่ที่มีแสงรำไร ก่อนเพื่อให้ต้นค่อย ๆ ปรับตัวจนได้รับแสงแดดเต็มที่

  • การตอนกิ่ง ในที่นี้ทำแผล ขนกิ่งด้วยการผ่ากิ่งให้ทะลุแทนการ ควั่นกิ่ง เพราะเป็นพืชที่ออกรากง่าย

step 1 เลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคเข้าทำลาย เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 1 เซนติเมตร ใช้ปลายมีด กรีดบริเวณข้อกึ่งกลางกิ่งให้ทะลุไปอีก ด้านหนึ่งของกิ่ง

Step 2 บิดมีดเพื่อให้แผลอ้าออก แล้ว สอดกิ่งไม้แห้งหรือลวดฟิวส์เพื่อไม่ให้ แผลเชื่อมติดกัน

Step 3 ผ่าตุ้มตอนแล้วหุ้มบริเวณ บาดแผลบนกิ่งพันธุ์ดี

Step 4 ใช้เชือกฟางมัดตุ้มตอนกับกิ่ง ให้แน่น กิ่งตอนจะออกรากภายใน 2 – 3 สัปดาห์ รอจนแตกรากเต็มตุ้มตอนและ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จึงตัดไปปลูก

ภาพปก : freepik

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ : เทคนิคขยายพันธุ์พืช

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดอกหน้าวัว ดูแลอย่างไรให้สีสวย

ระบบรดน้ำอัตโนมัติ พร้อมขั้นตอนการติดตั้ง และอ่านค่าแสดงผล

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง บ้านและสวน Baanlaesuan.com