รวม 12 ปัญหาสวน ที่พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน และฤดูฝน

ปัญหาสวนหน้าฝน
ในช่วงหน้าฝน หลายคนมักจะเข้าใจว่าต้นไม้จะได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ จนไม่ต้องรดน้ำเพิ่มเติม แต่ต้นไม้แต่ละชนิดต่างก็มีความต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างกัน อีกทั้งบางชนิดยังไม่สามารถรองรับน้ำในปริมาณมากและเป็นเวลานานได้ ทำให้ในช่วงหน้าฝนและช่วงที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะเป็นผลดี อาจกลับกลายเป็นผลเสียตามมาได้

ระบบรากขาดออกซิเจนจากน้ำท่วมขัง
ต้นไม้ต้องการทั้งน้ำและอากาศ รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ ในดิน เพื่อนำไปใช้เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ที่อยู่เหนือพื้นดิน ซึ่งเมื่อเกิดสภาวะน้ำท่วมขังขึ้น น้ำจะแทรกซึมเข้าไปตามช่องว่างของอากาศที่มีอยู่ในดิน ส่งผลให้ระบบรากขาดแคลนก๊าซออกซิเจน และเปลี่ยนกลไกไปใช้ระบบการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobicespiration) หรือที่เรียกว่าการหมัก (fermentation) แทน ซึ่งจะก่อให้เกิดสารที่เป็นผลพลอยได้ที่เป็นพิษกับต้นไม้ เช่น เอทธานอล (ethanol) และกรดแลคติก (lactic acid) รวมถึงทำให้รากของต้นไม้เน่าได้ อีกทั้งรากของต้นไม้ที่อยู่ในน้ำขังเป็นระยะเวลานานจะเกิดสภาวะเครียด (stress) ขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นไม้มีการสร้างฮอร์โมนเอทธิลีน (ethylene) ในปริมาณที่สูงกว่าปกติอย่างมาก จนมีการทิ้งใบ ดอก และผลค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรงกว่าปกติ เจ้าของสวนจึงควรหมั่นตรวจสอบทางระบายน้ำให้โล่งอยู่เสมอ พร้อมกับการพรวนดินให้ร่วนซุยเป็นประจำ เพื่อปรับสภาพหน้าดิน ลดการเกาะกลุ่มกันเป็นก้อนของดินหลังจากได้รับน้ำ และทำให้หน้าดินในระดับผิวดินแห้งเร็วขึ้น ไม่เกิดเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง

• กิ่งเปราะแตกหัก หรือลำต้นโค่นล้ม
ในช่วงหน้าฝนสำหรับต้นไม้ที่พึ่งปลูกใหม่ หรือต้นไม้ใหญ่ที่มีระบบรากไม่แข็งแรงมากนัก อาจทำค้ำยันตรงโคนต้น เพื่อพยุงเพิ่มความแข็งแรงของลำต้นและป้องกันรากลอยพ้นดิน ส่วนบริเวณทรงพุ่มควรตัดแต่งกิ่งไม้ที่เปราะและมีขนาดใหญ่ออก เพื่อป้องกันลมพายุที่อาจทำให้ต้นไม้โอนเอนตามแรงลมโค่นล้มลงมา จนเกิดความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยหรือคนในบ้าน

เฟอร์นิเจอร์ผุพังและขึ้นรา
เตรียมรับมือกับความชื้นในช่วงหน้าฝน โดยการเก็บเฟอร์นิเจอร์สนามประเภทผ้าเข้าบ้าน และทาน้ำยาป้องกันแมลง หรือน้ำยาเคลือบเงาบนเฟอร์นิเจอร์ไม้ อย่างน้อย 2 – 3 ชั้น เพื่อช่วยลดการดูดซับและสูญเสียความชื้นของเนื้อไม้ ส่วนเฟอร์นิเจอร์เหล็กให้ทาน้ำยากันสนิมพร้อมกับเคลือบสีใหม่ แต่หากเฟอร์นิเจอร์ในสวนเริ่มมีสนิมแล้ว ให้ใช้กระดาษทรายขัดสนิมออกก่อน จากนั้นจึงทาด้วยน้ำยากันสนิมและสีน้ำมันตามสีที่ต้องการ

พื้นทางเดินเกิดตะไคร่น้ำและทรุดตัว
ในช่วงหน้าฝนพื้นดินจะยุบตัวได้ง่าย ทำให้แผ่นทางเดินโยกเยกเดินไม่สะดวก เจ้าของสวนจึงอาจรื้อแผ่นทางเดินออก แล้วปรับระดับของดินส่วนที่มีน้ำท่วมขังด้วยการโรยทรายหยาบ เมื่อผิวดินเรียบเสมอกันดีแล้วจึงแซะให้เป็นร่องพอดีกับแผ่นทางเดิน ก่อนนำแผ่นทางเดินที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วมาวางใหม่ให้สูงกว่าระดับพื้นดินเล็กน้อย นอกจากนี้ หากพื้นทางเดินหรือฮาร์ดสเคปในสวนทำจากวัสดุที่เก็บความชื้นได้ดี เช่น อิฐมอญศิลาแลง พื้นซีเมนต์ แผ่นกรวดล้างทรายล้าง แผ่นปูนสำเร็จรูป ควรหมั่นขัดพื้นให้สะอาดอยู่เสมอและใช้น้ำยาป้องกันตะไคร่ทาเคลือบก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันการเกิดตะไคร่น้ำ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้งาน

วัชพืชและศัตรูพืชรุกราน
ในช่วงหน้าฝนวัชพืชจะเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สวนรกทึบไม่สวยงาม เป็นที่อยู่ที่หลบซ่อนของแมลง สัตว์ และศัตรูพืช อย่าง ทาก หอยทาก และสัตว์มีพิษต่าง ๆ อีกทั้งยังคอยมาแย่งอาหารและแสงแดดของต้นไม้ เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและโรคพืช จนทำให้ต้นไม้อ่อนแอ เติบโตช้า และเสื่อมโทรมเร็ว ดังนั้น จึงควรกำจัดวัชพืชเป็นประจำ โดยการถอนทิ้งทั้งรากทั้งโคน เพราะ หากปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้กำจัดยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงสำหรับการดูแล

โรคที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย
ความชื้นเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของโรคในพืชและต้นไม้ เช่น โรคราน้ำค้าง (Downy Mildew) โรคราแป้ง (Powdery Mildew) โรคเน่าดำ (Black Rot) โรคราสนิม (Rust) และโรครากเน่าโคนเน่า (Root and Stem Rot) ซึ่งยิ่งถ้าหากสภาพแวดล้อมมีความชื้นเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ เชื้อราและแบคทีเรียก็จะยิ่งสามารถแพร่กระจายได้มากเท่านั้น ดังนั้น ก่อนเข้าสู่ช่วงหน้าฝนจึงควรป้องกันด้วยการฉีดพ่นป้องกันเชื้อรา เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma asperellum) ยาคาราเทน (Karathane) ไตรอะมีฟอน (Triadimefon) หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus subtilis) เพื่อให้ต้นไม้สร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ก่อนที่เชื้อราและแบคทีเรียจะมาดูดแย่งสารอาหารและทำให้เกิดโรคพืชตามมา

  • ราน้ำค้าง (Downy Mildew) : ใบจะมีสีเหลืองด้านบน ส่วนใต้ใบจะพบกลุ่มของสปอร์สีเทาเป็นขุยฟู ต่อมาเนื้อใบส่วนที่เป็นสีเหลืองจะตาย เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำขยายวงกว้างออกไปเล็กน้อยเป็นรูปสี่เหลี่ยมและร่วงหล่นลงอย่างรวดเร็ว
  • ราแป้ง (Powdery Mildew) : พบเส้นใยหรือสปอร์ของเชื้อเจริญปกคลุมผิวใบทั้งด้านบนใบและด้านท้องใบเป็นผงขาวคล้ายแป้งหรือฝุ่น ทำให้ใบอ่อนบิดหงิกงอ อาจเป็นแผลสีม่วงแดงและดำเนื่องจากเซลล์ถูกทำลายได้ บริเวณอื่นที่เป็นโรคอาจมีเส้นใยสีขาวขึ้นปกคลุม หากเป็นโรคนาน ๆ จะทำให้ใบเหลืองแห้งกรอบ ร่วงหล่น และกิ่งแห้งตายได้
  • รากเน่า (Root Rot) : เกิดจากวัสดุปลูกที่แฉะเกินไป ทำให้เชื้อราเข้าทำลายระบบราก จนรากและโคนต้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบที่โคนซีดเหลืองและร่วง มีแผลฉ่ำน้ำ และมีน้ำไหลออกมาจากแผลที่โคนต้น ซึ่งเมื่อแผลลุกลามมากจะทำให้ใบร่วงและยืนต้นตายในที่สุด
  • ราสนิม (Rust) : อาการของโรคปรากฏเป็นแผลนูนสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเหลืองอมน้ำตาล เกิดเป็นกลุ่มหรือเดี่ยวกระจายทั่วใบ ทำให้ใบแห้งเหลืองและหลุดร่วง รวมถึงอาจมีอาการแคระแกร็นและใบมีลักษณะม้วนงอ

นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับเดือนธันวาคม 2565