มะพร้าวทะเล

ทำความรู้จัก มะพร้าวทะเล อีกหนึ่งผลไม้หายาก ราคาแพงกว่าลูกละแสนบาท

มะพร้าวทะเล
มะพร้าวทะเล

มะพร้าวทะเล หรือมะพร้าวคู่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lodoicea maldivica มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า Coco de mer ลำต้นมีความสูง 25–34 เมตร ตัวผลมีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม ลักษณะเด่นคือกะลามีรอยแยกตรงกลางเหมือนเป็นมะพร้าวแฝด

มะพร้าวทะเล มีชื่อเรียกหลากหลาย ทั้งมะพร้าวแฝด ตาลทะเล และมะพร้าวตูดนิโกร โดยสาเหตุที่ถูกขนานอย่างนี้เพราะว่าในอดีตพวกเดินเรือจะพบลูกมะพร้าวทะเลอยู่ในมหาสมุทร แต่ไม่มีใครเคยพบเห็นต้นของมัน จึงสันนิษฐานว่าคงมีต้นอยู่ใต้ทะเล บ้างก็ไปไกลยิ่งกว่านั้นคือเชื่อว่าคงเป็นผลไม้จากสวรรค์แน่ ๆ และอาจจะเป็นผลไม้แห่งความอมตะที่ อีฟ ภรรยาอาดัม ถูกหลอกให้กินก็ได้ นาน ๆ ครั้งจะมีผู้พบเห็นมะพร้าวทะเลถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง

ดังนั้น มะพร้าวทะเล จึงกลายเป็นของแปลกและหายากยิ่งกว่าเพชรพลอย และแน่นอนว่าผลไม้พิสดารนี้ก็จะถูกนำไปถวายให้แด่คนที่สำคัญที่สุดในแผ่นดิน นั่นคือกษัตริย์หรือสุลต่านไว้ประดับบารมีหรือเป็นยาวิเศษรักษาสารพัดโรค

ต่อมากษัตริย์ในมัลดีฟส์ออกกฎว่า ผู้ใดพบเห็น มะพร้าวทะเล แล้วไม่นำไปถวายพระองค์จะถูกลงอาญาถึงขั้นประหารชีวิต โดยมะพร้าวทะเลจะพบมากที่สุดในทะเลตามหมู่เกาะมัลดีฟส์ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนเรียกชื่อมะพร้าวทะเลนี้ว่า มะพร้าวมัลดีฟส์ เช่นกัน ขณะเดียวกันยังพบในทะเลแถวอาราเบียน ศรีลังกา อินเดียใต้ เกาะสุมาตรา และชายฝั่งแหลมมลายูอีกด้วย แต่เนื่องจากเจอแถวหมู่เกาะมัลดีฟส์มากกว่าที่อื่น จึงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็นภาษาละตินอีกว่า Lodoicea maldivica

ในอดีตราชินีแห่งโปรตุเกสเคยมีรับสั่งให้นำมะพร้าวทะเลไปถวายพระองค์บ่อยครั้ง แม้แต่กษัตริย์รูดอล์ฟก็ยังทรงเคยจ่ายทองจำนวน 4000 ฟลอรีน (ฟลอรีนละ 3.88 กรัม รวมเป็นทองหนัก 15,522 กรัม หรือประมาณ 9.4 ล้านบาท) เพื่อซื้อมะพร้าวทะเลเพียงใบเดียวจากครอบครัวของกัปตันวอลเฟิร์ท เฮอร์มันส์เซน (Wolfert Hermanszen) ชาวดัตช์ ซึ่งกัปตันคนนี้ได้รับราชทานลูกมะพร้าวทะเลนั้นจากสุลต่านฮาโญโกรวาตี (Sultan Hanyokrowati ทรงมีพระนามเดิมว่า มัสโจลัง Mas Jolang) กษัตริย์แห่งบันตัม บนเกาะชวาตะวันตก (ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1601-1613 มีพระชนมายุเพียง 11 พรรษาเมื่อขึ้นครองราชย์) เนื่องจากกัปตันวอลเฟิร์ทได้ช่วยต่อสู้ เพื่อขับไล่ทัพเรือโปรตุเกสออกจากบันตัมในปี ค.ศ. 1602 แต่กลับต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของฮอลแลนด์ในเวลาต่อมา

ส่วนชาวมลายูในอดีตเชื่อว่า มะพร้าวทะเลมีต้นเพียงต้นเดียวอยู่ใต้ทะเล ซึ่งอยู่ในเขตทะเลใต้ ที่สะดือทะเลมีน้ำวน มียอดขึ้นเหนือน้ำ ซึ่งพญาครุฑใช้ทำรัง ต้นไม้นี้ว่านามว่า ปาโอะห์ ญังกี (Pauh Janggi) แปลว่า มะม่วงญังกี ซึ่งกลายเป็นนิยายที่ใช้เล่นหนังมลายู

มีบางครั้งบางคราวที่คนเถื่อนเก็บลูกมะพร้าวทะเลได้จากฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของสุมาตรา แล้วนำมาขายในเมืองปาดัง (Padang) และปรีอามัง (Priamang) บรรดาเจ้าชายมลายูยอมจ่ายในราคามหาศาลเพื่อให้ได้ครอบครองผลไม้วิเศษนี้ ในอินเดียเรียกมะพร้าวทะเลว่า ดัรยาย นาริยาล (แปลว่า มะพร้าวแห่งทะเล) ต่อมาเพี้ยนเป็น ญาฮารี ในสำเนียงบอมเบย์ ซึ่งแปลว่า มีพิษ พวกฟากีรจึงท้าทายพิษของมันด้วยการเอากะลามาทำเป็นภาชนะใส่อาหาร ชาวฮินดูในอินเดียเอามะพร้าวตั้งแท่นแล้วกราบไหว้บูชาเสมือนเป็นโยนีของเจ้าแม่ (Philip Rawson, Tantra: Indian Cult of Ecstasy, p. 23) ในภาษามัลดีฟส์เรียกมะพร้าวทะเลนี้ว่า ตาวา กัรฮี (Tava Karhi) ซึ่งคำว่า กัรฮี แปลว่า มะพร้าว มะพร้าวทะเลนี้มีรูปทรงเหมือนมะพร้าวแฝดสองลูกติดกัน อังกฤษเรียกมะพร้าวทะเลอย่างง่าย ๆ ว่า ดับเบิลโคโคนัท (Double Coconut) แปลว่า มะพร้าวคู่ ชาวมัลดีฟส์ใช้มะพร้าวทะเลนี้ทำเป็นอาหารและเครื่องดื่ม และเชื่อว่าเป็นยาทิพย์รักษาสารพัดโรค สามารถแก้พิษ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นไวอากร้าของสมัยนั้น

สำหรับ มะพร้าวทะเล ที่พบในอาราเบียนคงถูกนำเข้าไปถวายสุลต่านแห่งออตโตมาน เพื่อทำเครื่องประดับและทำลูกประคำ มีชื่อในภาษาตุรกีว่า กูกา ซึ่งชาวไทยเชื้อสายมลายูยืมคำนี้มาใช้เรียกว่า โขะขะ

ส่วนในอัมสเตอร์ดัม ปี ค.ศ. 1634 Augerius Clutius ได้พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับผลไม้ประหลาดนี้ แต่แล้ววันหนึ่งความลับของมะพร้าวทะเลก็ถูกเปิดเผย เมื่อชาวอังกฤษได้เดินทางกับเรือ Ascension และเรือ Good Hope เพื่อไปอินเดียตะวันออก ได้มาถึงเกาะซีเชลเลส ในปี ค.ศ. 1609 แต่ในครั้งนั้นอังกฤษไม่ได้จับจองหมู่เกาะในซีเชลเลสเป็นของพวกตน

ช่วงปี ค.ศ. 1742 ชาวฝรั่งเศสชื่อ Lazare Picault ได้มาถึงเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะซีเชเลส แล้วตั้งชื่อเกาะนั้นว่า Mahe ซึ่งเป็นชื่อของ Mahe de Labourdonnais ผู้ว่าการเมารีทิอุสในเวลานั้น ที่ได้ส่งเขามาที่เกาะนี้ 14 ปีต่อมา Mahe และเกาะอื่น ๆ ก็ถูกจับจองให้เป็นของกษัตริย์ฝรั่งเศส แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า Isle Sechelles ซึ่งภายหลังกลายเป็นชื่อหมู่เกาะแห่งนี้

ในปี ค.ศ. 1768 ชาวฝรั่งเศสได้เข้าจับจองเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ และตั้งชื่อเกาะนี้ว่า ปรัสลีน (Praslin) อันเป็นชื่อของรัฐมนตรีเดินเรือ นั่นคือดุ๊กแห่งปรัสลิน (Duke of Praslin) โดย Curieuse อันเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปรัสลีน เป็นชื่อเรือซึ่งพวกเขาใช้โดยสารมาถึงเกาะในครั้งนั้น เมื่อนั้นปริศนาของมะพร้าวทะเลก็ถูกคลี่คลาย เนื่องจากว่าพวกเขาพบต้นมะพร้าวทะเลบนเกาะทั้งสอง และเริ่มเข้าใจว่าลูกมะพร้าวแฝดที่ตกลงไปในทะเลนั้นเองที่ลอยข้ามมหาสมุทรอินเดียจนถึงมัลดีฟส์ ศรีลังกา และอินเดีย กัปตันชาวตะวันตกคนหนึ่งบรรทุกมะพร้าวทะเลเต็มลำเรือเพื่อเอาไปขาย ตั้งแต่นั้นมาปริศนามะพร้าวทะเลก็คลี่คลาย ราคาของมะพร้าววิเศษก็ตกไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1772 ชาวฝรั่งเศสได้นำทาสเข้ามาเพาะปลูกเครื่องเทศบนเกาะ และเริ่มกลายเป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้ราคาของมะพร้าวทะเลก็ยังแพงอยู่ จากการตรวจราคาการประมูลในเว็บไซต์อีเบย์พบว่า ตกใบละ 1,000-1,500 ดอลลาร์สหรัฐ

มะพร้าวทะเล ได้รับการกล่าวถึงในกินเนสบุ๊กว่าเป็นเมล็ดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กว่าผลจะสุกต้องใช้เวลา 7 ปี กว่าจะเติบโตออกดอกออกผลได้ต้องมีอายุ 20 – 40 ปี และมีอายุยืนถึง 400 ปี แบ่งออกเป็นเพศผู้และเพศเมีย ผลตั้งบนดินหนึ่งปีถึงจะมีรากแก้วงอกออกมาแล้วชอนไชเข้าไปในดิน มีความยาวหลายฟุต ก่อนที่จะเริ่มมีใบออกมาปีละ 1 ใบ เพศผู้มีลำต้นสูงถึง 30 เมตร ในปี ค.ศ. 1983 องค์การยูเนสโกได้ระบุให้ Valee de Mai ป่าที่มีต้นมะพร้าวทะเลขึ้น เป็นป่าสงวน

มะพร้าวทะเล ในประเทศไทย

มะพร้าวทะเล ในไทยกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อ เพจสวนนงนุช พัทยา Nongnooch Garden Pattaya ได้โพสต์ภาพขณะปอกมะพร้าวขนาดยักษ์ พร้อมระบุว่า “สวนนงนุชพัทยา ปอกมะพร้าวแฝด สุก 11 ลูก ลูกแฝด 4 ลูก นำเมล็ดไปขยายพันธุ์เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก”

ที่ สวนนงนุชพัทยา โดยคุณกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา โชว์ลูกมะพร้าวทะเล หรือมะพร้าวแฝด จำนวน 11 ลูก ที่สุกและปอกเปลือกให้ชม พร้อมนำไปขยายพันธุ์ ซึ่งในจำนวนนี้มีลูกมะพร้าวแฝด จำนวน 4 ลูก คือ มีกะลา 2 ใบใน 1ลูก

คุณกัมพลเปิดเผยว่า สำหรับมะพร้าวทะเล หรือมะพร้าวแฝด จัดเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเกาะเล็กๆ ในหมู่เกาะซีเซลล์ในมหาสมุทรอินเดีย มีเมล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเมล็ดปาล์ม ส่วนมะพร้าวทะเลที่ปอกให้ชมในวันนี้ สวนนงนุชพัทยาจะนำไปปลูก 2 ต้นเพื่อขยายพันธุ์พืชและการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากต่อไป

ปัจจุบัน สวนนงนุชพัทยามีมะพร้าวทะเล 38 ต้น เป็นเพศผู้ 4 ต้น เพศเมีย 9 ต้น ส่วนอีก 25 ต้น ยังไม่ทราบเพศ สำหรับมูลค่าผลมะพร้าวทะเล หรือมะพร้าวแฝด อยู่ที่ประมาณผลละ 100,000 บาท ส่วนลูกที่มีกะลา 2 ใบมีมูลค่า 200,000 บาท สวนนงนุชพัทยายังมีพันธุ์ปาล์มต่างๆมากถึง 1,567ชนิด และกว่า 200 ชนิด มีที่สวนนงนุชพัทยาเท่านั้น ซึ่งได้รับการรับรองจากสมาคมปาล์มนานาชาติว่ามีปาล์มมากชนิดที่สุดในโลก จากการเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมปาล์มนานาชาติ (International Palm Society 1998 หรือ IPS 1998)การประชุมปาล์มนานาชาติจัดขึ้นในปี พ.ศ 2541และ พ.ศ 2555

อนึ่งในประเทศไทย มะพร้าวทะเลมีการปลูกและครอบครองเพียงไม่กี่แห่ง อาทิ สวนนงนุช ที่พัทยา โดยสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้สำเร็จ นับเป็นเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถทำเช่นนี้ได้ และสวนแสนปาล์มที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และมีราคาซื้อขายที่แพงมาก เคยมีการตั้งราคาขายเฉพาะกะลาที่แห้งแล้วไม่สามารถนำไปเพาะปลูกได้ถึงลูกละ 26,000 บาท

ด้านผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวทะเล ในอดีตผู้คนนิยมเอากะลาของมะพร้าวทะเลไปทำเป็นลูกประคำ เรียกในภาษามลายูว่า Buah tasbih koka (ลูกประคำโขะขะ) หรือแบ่งเป็นสองซีก เพื่อทำเป็นภาชนะเรียกว่า กัชกูล ซึ่งพวกฟากีรหรือพวกขอทานจะใช้เหมือนบาตร เพื่อขออาหารจากชาวบ้าน

นอกจากนี้ มีความเชื่องมงายเกี่ยวกับลูกประคำโขะขะหลายอย่าง เช่น เป็นเครื่องรางของขลัง เป็นยารักษาโรค บางคนซื้อลูกปาล์มดังกล่าวจากประเทศอาหรับกลับมาเจียระไนทำเป็นลูกประคำ โดยสำคัญผิดคิดว่าเป็นลูกมะพร้าวทะเล ซึ่งพวกเขาจะเก็บขี้เลื่อยมาขายเป็นยารักษาสารพัดโรค

อนึ่ง สาเหตุที่ มะพร้าวทะเล ในประเทศไทยมีราคาแพง เนื่องจากมีจำนวนน้อย ผู้ที่ลงทุนจ่ายราคาแพงซื้อลูกมะพร้าวทะเลไป ส่วนใหญ่ต้องการที่จะนำไปเพาะพันธุ์เพื่อปลูกต้นใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : เพจสวนนงนุช พัทยา Nongnooch Garden Pattaya

ไขปริศนา “คำชะโนด” เกาะต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เคยจมน้ำ

มะริด ไม้ป่าเศรษฐกิจราคาแพง ผลกินได้ ให้ร่มเงา