"บ้านหลายชั้น" จัดสรรพื้นที่ได้อย่างลงตัว

เวลาเปลี่ยนหลายสิ่งก็อาจเปลี่ยนตาม ดูจะตรงกับชีวิตความเป็นอยู่ของ คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมัณฑนากร เจ้าของบริษัท Pro Space แม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม แต่ยังคงทำงานออกแบบได้อย่างเฉียบคม ทันสมัย และมีเอกลักษณ์อย่างที่เราได้เห็นจากบ้านของเขาเอง

 

BANMAI-062015-1-693x1024

เมื่อ15 ปีก่อน “บ้านและสวน” มีโอกาสได้มาเยือนบ้านขนาดสองชั้นหลังเดิมของคุณฉัตรวิชัย ซึ่งมีสนามและสวนไม้ประดับรายล้อมบ้าน ตอบโจทย์การใช้งานในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อวันหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลง คุณฉัตรวิชัยยังรู้สึกผูกพันกับบริเวณนี้ จึงเลือกหาที่ดินว่างที่ไม่ห่างจากบ้านเดิมเท่าไร แต่เนื่องจากที่ดินที่มองเอาไว้มีขนาดเล็กกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องสร้างบ้านในลักษณะที่ต่างไปจากที่เคยชินมายาวนาน นั่นจึงเป็นที่มาของบ้านแนวสูงขนาด 7 ชั้นหลังนี้

BANMAI-062015-14-830x1024

“ตอนออกแบบบ้านหลังนี้ไม่ได้คิดถึงเรื่องสไตล์เป็นหลัก คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ครบตามต้องการ เพราะที่ดินเล็กลงกว่าเดิม จึงคิดแค่ว่าต้องเป็นอาคารสูง พื้นที่ข้างเคียงก็เป็นทาวน์เฮ้าส์สูงสี่ชั้นแล้ว จะทำเป็นตึกธรรมดาก็คงอึดอัด เลยออกแบบให้เห็นโครงสร้างอาคาร เห็นเสาและคานอย่างชัดเจน และเว้นระยะของผนังให้ลึกเข้าไป เพื่อให้ความลึกเกิดเป็นมิติของแสงและเงาบนผนังอาคาร เอียงระยะของเสาและทาสีแดงในบางส่วน กลายเป็นลูกเล่นที่สร้างความน่าสนใจให้โครงสร้างอาคาร บริเวณโดยรอบก็ปลูกต้นไม้ด้วย”

ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ซึ่งติดถนนขนาดเล็ก จึงสร้างอาคารได้ไม่สูงมากนัก แต่คุณฉัตรวิชัยก็มีวิธีออกแบบให้ได้พื้นที่ใช้สอยเกือบ 1,000 ตารางเมตร

BANMAI-062015-4-787x1024

“ผมออกแบบให้แต่ละชั้นมีความสูงต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งานเป็นหลัก เช่น ชั้นล่างสุดเป็นโรงรถและห้องครัว ก็ทำความสูงพอประมาณ ชั้นสองเป็นสำนักงาน ชั้นสามเป็นห้องของพ่อบ้านและแม่บ้านที่อยู่กับผมมานาน ออกแบบให้ชั้นนี้เป็นพื้นที่สำหรับเขาโดยเฉพาะ ก็ใช้ความสูงแบบธรรมดา

BANMAI-062015-10-654x1024

BANMAI-062015-9

BANMAI-062015-8

ชั้นสี่เป็นพื้นที่ใหญ่สุดใช้เป็นห้องจัดเลี้ยง ก็จะเป็นห้องโล่งๆ เพดานสูงกว่าชั้นอื่นๆ ชั้นห้าเป็นห้องนอนแขกและห้องเก็บของ ชั้นหกเป็นห้องนอนของผม ซึ่งส่วนของห้องนอนทั้งสองชั้นไม่จำเป็นต้องทำเพดานสูงเลย เพราะใช้แค่นอนเท่านั้น ชั้นเจ็ดเป็นห้องรับแขกและรับประทานอาหาร ออกแบบระดับพื้นห้องต่างกันเพื่อแบ่งส่วนการใช้งาน ส่วนรับแขกจะมีเพดานสูงกว่า และส่วนดาดฟ้าออกแบบเป็นสระว่ายน้ำและสวน”

BANMAI-062015-13

คุณฉัตรวิชัยยอมรับว่านี่เป็นการออกแบบที่ แปลกไปจากงานที่เคยทำทั่วไป เช่น การออกแบบเสาภายนอกอาคาร (เสาสีแดง) ให้เอียงไปมาไม่ต้องเป็นระเบียบนัก หรือโครงสร้างภายในที่ไม่ต้องทำฝ้าเพดานปิด พวกงานระบบ นอกจากนี้ยังเลือกใช้วัสดุต่างจากที่เคยทำ เช่น การใช้เหล็กเป็นตัวชูโรงในบางจุด ซึ่งเมื่อนำไปใช้ก็เปลี่ยนอารมณ์ของการอยู่อาศัยให้ต่างไปจากเดิม จึงเป็นงานที่ต้องลงรายละเอียดค่อนข้างมากในระหว่างการก่อสร้าง

BANMAI-062015-2-755x1024

เมื่อได้หน้าตาของบ้านเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการตกแต่งภายใน เจ้าของบ้านนำเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งส่วนใหญ่มาจากบ้านหลังเดิม โดยนำของจากหลายสไตล์มามิกซ์แอนด์แมตช์กันได้อย่างลงตัว ทั้งเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์น เก้าอี้สไตล์คลาสสิก และข้าวของสไตล์แอนทีค ทั้งหมดนี้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนเพราะมีการกำหนดโทนสีไว้ก่อนแล้ว ใช้โครงสร้างสีเทาและดำเป็นหลัก เมื่อวางของตกแต่งอื่นๆที่มีสีสัน อย่างผ้าหรือภาพติดผนังสีสด ก็ทำให้บ้านดูมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น

BANMAI-062015-3-715x1024

คุณฉัตรวิชัยยังบอกอีกว่าไม่ได้กำหนดว่าของ ชิ้นไหนต้องตั้งตรงไหน เพียงแค่วางให้ถูกที่ถูกทาง  ใช้งานง่าย จะดีที่สุด แต่กระนั้นเก้าอี้  แจกัน หนังสือ และงานศิลปะจากฝีมือศิลปินไทยที่มีชื่อเสียง ก็ได้รับการจัดวางได้ลงตัวในทุกมุม แม้จะเป็นบ้านใหม่แต่กลับให้ความรู้สึกว่าผ่านเรื่องราวผ่านกาลเวลามาแล้ว ทำให้การใช้ชีวิตในบ้านนี้ไม่มีสิ่งใดที่ดูเคอะเขิน คุณฉัตรวิชัยหัวเราะชอบใจแล้วบอกว่า

“ตอนแรกๆก็ยาก ไม่คุ้นเลย เคยอยู่บ้านแค่สองชั้น เปลี่ยนมาอยู่บ้านแนวสูงที่ไม่ใช่คอนโดนี่เราจะใช้ชีวิตอย่างไร ก็จ้าละหวั่นพอสมควร แต่เมื่อต้องอยู่ในบ้านทรงสูงเช่นนี้ก็ต้องสู้ตาย (หัวเราะ) ต้องอยู่ให้ได้ แล้วก็พบว่าแทบไม่มีอะไรต่างกันเลยจริงๆ”

เรียกว่าเมื่อใจไม่ยึดติด ไม่ว่าเราจะอยู่อาศัยในสภาวะใด ก็อยู่ได้อย่างมีความสุขนั่นเอง

เรื่องโดย : Atta Otto
ภาพโดย : ฤทธิรงค์ จันทองสุข