สวนน้ำตกของคนรักต้นไม้ ที่มีเป็ดเป็นสัตว์เลี้ยง

สำหรับบ้านที่จัดสวนสวยบางแห่ง การมีสิ่งมีชีวิตเข้ามาอยู่อาศัยหรือวิ่งเล่นรอบ ๆ ก็ช่วยแต่งเติมบรรยากาศให้สดใสมีชีวิตชีวาและสวยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นได้

ซึ่งหากพูดถึงสัตว์เลี้ยงในสวนแล้ว หลายคนอาจนึกถึงสุนัขหรือปลาเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับ สวนน้ำตกของคนรักต้นไม้ อย่าง คุณนุ่น-ธนพร และคุณจัมโบ้- เจนรัช เจียมมานิสกุล แห่งนี้มี “เป็ดสวยงาม” สัตว์เลี้ยงอีกหนึ่งชนิดที่น่ารักและน่าสนใจไม่แพ้กัน

สวนน้ำตกของคนรักต้นไม้
สวนสไตล์อังกฤษเน้นการเลือกใช้พรรณไม้ใบละเอียดและวัสดุในโทนสีขาว เทา ดำ อีกทั้งยังมีประตูทางเข้าสวนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากราวระเบียงเหล็กดัด ช่วยเสริมให้บรรยากาศบริเวณหน้าบ้านดูคล้องจองคุมโทนไปในทิศทางเดียวกันกับตัวบ้าน
สวนน้ำตกของคนรักต้นไม้
เสม็ดแดงฟอร์มสวยเป็นจุดเปลี่ยนที่เข้ากันได้ดีกับทั้งสวนสไตล์อังกฤษและทรอปิคัล
เมื่อเดินผ่านประตูสวนเข้ามาตามแนวทางเดินที่ขนานกับแนวรั้วและตัวบ้าน คุณไม้ได้เปลี่ยนอารมณ์สวนช้าๆจากสไตล์สวนอังกฤษมาเป็นสวนสไตล์ทรอปิคัล โดยมีบริเวณปลายทางเดินเป็นจุดรับสายตาที่ยกระดับพื้นขึ้นเล็กน้อย เพื่อสร้างมิติให้แก่พื้นที่สวน

คุณไม้-ฐาปนิต โชติกเสถียร นักจัดสวนฝีมือดีจาก Murraya Garden ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการออกแบบสวน พร้อมพาเดินชมบรรยากาศโดยรอบว่า “โจทย์ความต้องการหลักของเจ้าของบ้านคือความร่มรื่น โดยทางคุณนุ่นจะชอบสวนอังกฤษและไม้ดอก ผมเลยเลือกออกแบบสวนด้านหน้าบ้านให้เป็นสวนสไตล์อังกฤษที่ทั้งตอบโจทย์ความต้องการและช่วยส่งเสริมสถาปัตยกรรมอาคารในสไตล์อเมริกันนีโอคลาสสิกให้รู้สึกโดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยมีฟังก์ชันของบ้านเป็นตัวกำหนดรูปแบบพื้นที่ของสวนอีกทีหนึ่ง อย่างการจัดวางองค์ประกอบของพรรณไม้โดยทิ้งจังหวะ เปิดมุมมองและพื้นที่ ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป ปลูกสนมังกรขนาบทางเข้าเพื่อช่วยลดทอนความสูงของอาคาร  รวมถึงแก้ปัญหาพื้นที่ขนาดเล็กที่ค่อนข้างราบเรียบด้วยการยกพื้นที่สร้างเนินที่ปลายทางเดิน  เพื่อเพิ่มมิติทางด้านสายตาให้เกิดความน่าสนใจ”

สวนน้ำตกของคนรักต้นไม้
บริเวณบ่อปลาและนํ้าตกที่รวมความต้องการของคุณนุ่นและคุณจัมโบ้ไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นมุมโปรดที่สามารถใช้เวลาร่วมกันได้อย่างเพลิดเพลิน
สวนน้ำตกของคนรักต้นไม้
ในบ่อนํ้าตกยังมีปลาคาร์ปสีสันสดใสว่ายวนกันกว่า 30 ตัว  โดยทางคุณมดเอ็กซ์ได้ติดตั้งระบบปั๊มนํ้าไว้ 2 ส่วน  คือ  ปั๊มนํ้าหัวนํ้าตกและปั๊มหัวเจ็ตเพิ่มนํ้าเติมอากาศ  เพื่อให้สามารถแยกเวลาการเปิด – ปิดได้อย่างเหมาะสม  อีกทั้งยังได้ซ่อนระบบบ่อกรองไว้ที่ใต้ชานระเบียง  เพื่อให้นํ้าใสเหมาะแก่การเลี้ยงปลาอยู่ตลอดเวลา

“ถัดมาเป็นตำแหน่งของบ่อนํ้าตกด้านข้างบ้าน ขนาดกว้าง 5 เมตรกว่า ๆ ซึ่งเป็นความต้องการของคุณจัมโบ้  บริเวณนี้ผมได้กำหนดตำแหน่งของสวนนํ้าตกจากมุมมองห้องนั่งเล่นภายในบ้าน โดยมีคุณมดเอ็กซ์- รัฐพล สายวิรุณพร จาก koi2u เป็นผู้ช่วยวางระบบของบ่อ ส่วนเรื่องความสวยงามผมได้ออกแบบให้มีกลิ่นอายความเป็นทรอปิคัลเล็กน้อย เน้นการดูแลรักษาง่ายในระยะยาว โดยเลือกใช้พรรณไม้ที่ค่อนข้างโปร่งไม่เยอะจนเกินไป อย่าง เสม็ดแดง หว้า พะยอม ซิลเวอร์โอ๊ก สนเกรวิลเลีย องุ่นทะเล ให้ความร่มรื่นและเป็นฉากหลังของมุมมองสายตา และใช้ไม้ระดับล่างคลุมดิน  เช่น เฟิน กนกนารีเลื้อย ครีบปลาวาฬ รวมถึงกรวดแม่นํ้าสีนํ้าตาลขนาดเล็กที่เข้ากันได้ดีกับทั้งสวนอังกฤษและทรอปิคัลเชื่อมบรรยากาศของสวนทั้งสองสไตล์ไว้ด้วยกัน”

เมื่อถามถึงความประทับใจและการใช้งานในพื้นที่สวน ทางคุณจัมโบ้และครอบครัวเองก็มีส่วนร่วมกับการออกแบบจัดสวน รวมถึงการดูแลด้วยไม่น้อย “ส่วนตัวเป็นคนชอบสวนมากเป็นชีวิตจิตใจ และเลี้ยงปลาคาร์ปมาตั้งแต่เด็ก เมื่อทางพี่ไม้จัดมุมนี้ให้ มันตอบโจทย์ความชอบและไลฟ์สไตล์ของเราเลย ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เรามองจากภายในบ้านออกไป  หรือเวลาที่ออกไปนั่งจิบกาแฟแล้วได้ฟังเสียงนํ้าตก เห็นเป็ดและปลาคาร์ปอยู่ใกล้ ๆ อีกอย่างที่ประทับใจคือระบบนํ้าตกและบ่อกรองทำมาใช้ได้เลย เพราะผมสามารถดูแลรักษาได้ง่าย เพียงแค่ล้างบ่อกรองประมาณ 3-4 เดือนต่อครั้ง และผมสามารถล้างทำความสะอาดเองคนเดียวได้เลย”

เป็ดคอลดั๊ก (Call Duck) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ลักษณะตัวเล็ก หัวกลม ปากสั้น นํ้าหนักตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 570 – 740 กรัม นิสัยค่อนข้างเชื่อง จึงนิยมนำมาเลี้ยงในสวนเป็นสัตว์เลี้ยงและเพื่อความสวยงาม โดยเฉพาะสีขาวล้วน นอกจากนี้ ตัวเมียยังมีเสียงร้องที่ค่อนข้างดัง จึงคาดว่าเป็นที่มาของชื่อสายพันธุ์
เป็ดหัวเขียวมรกตหรือแมลลาร์ด (Mallard) ลักษณะของตัวผู้บริเวณหัวและคอจะมีสีเขียวเข้ม มีแถบสีขาวรอบคอ อกสีนํ้าตาลแกมนํ้าตาลแดงเข้ม ลำตัวด้านบนสีเทาแกมนํ้าตาลอ่อน ปากสีเหลืองแกมเขียว ขาสีส้ม ส่วนตัวเมียนั้นจะมีสีสันน้อยกว่าตัวผู้ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามแหล่งนํ้า อาจพบรวมฝูงกับนกเป็ดนํ้าหลายชนิด
เป็ดแมนดาริน (Mandarin Duck) เป็นนกขนาดกลาง อายุขัยเฉลี่ยประมาณ 4 – 5 ปี ตัวผู้จะมีขนาดตัวใหญ่กว่าตัวเมียและมีสีสันฉูดฉาดสะดุดตากว่า  ไม่ว่าจะเป็นสีทอง แดง ม่วง เขียว ขาว น้ำตาล น้ำเงิน ดำ ตัดกันสวยงาม ชอบเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ใกล้แหล่งนํ้า  เพื่อหลบซ่อนตัวจากศัตรูตามธรรมชาติ วางไข่ครั้งละ 9 – 12 ฟอง ไข่มีสีเนื้อเป็นมัน ระยะเวลาฟักไข่นาน 28-30 วัน

“นอกจากนี้ผมยังเลี้ยงเป็ดไว้อีก 4 ตัว 3 สายพันธุ์ คือ คอลดั๊ก แมลลาร์ด และแมนดาริน ซึ่งส่วนใหญ่เลือกเป็นตัวผู้  เพราะมีสีสันสวยงามกว่าตัวเมีย และเป็ดแมนดารินยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักตามความเชื่อของประเทศญี่ปุ่นและจีน เขาเป็นสัตว์มงคลที่ถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้เช่นเดียวกับหงส์ เพราะมักอยู่คู่กันเสมอ เมื่อผมเลี้ยงไว้แค่ตัวผู้เพียงตัวเดียว เขาเลยพยายามเดินไปเรื่อย ๆ เพื่อตามหาตัวเมีย และที่ตลกมากคือผมจะมีพวกรูปปั้นเป็ดวางไว้บนนํ้าตกอยู่เป็นคู่ ๆ พอเจ้าเป็ดแมนดารินเดินมาเห็นก็พยายามดันรูปปั้นตัวหนึ่งให้ตกนํ้าไป แล้วเข้าไปยืนข้าง ๆ ให้อยู่คู่กัน ตอนนี้ผมเลยพยายามหาคู่ที่เป็นเป็ดแมนดารินตัวเมียจริง ๆ มาให้เขาอยู่ครับ” (หัวเราะพร้อมอมยิ้ม)

คุณจัมโบ้สะสมแคคตัสไว้ในโรงเรือนข้างบ้านขนาดเล็กหลากหลายสายพันธุ์ อย่างฮาโวร์เทีย ยิมโนคาไลเซียม แอสโตรไฟตัม แมมมิลลาเรีย และอิชิเวเรีย
สวนน้ำตกของคนรักต้นไม้
ติดตั้งระบบพ่นหมอกไว้ด้านบนของต้นกล้วยไม้  เพื่อเพิ่มไอนํ้าและความเย็น ส่วนพื้นที่ด้านล่างโรยกรวดแม่นํ้าสีนํ้าตาลขนาดเล็ก  วางแผ่นหินเป็นแนวทางเดิน เพื่อให้ดูแลรักษาได้ง่ายและระบายนํ้าได้สะดวก

“สุดท้ายเนื่องจากบริเวณหลังบ้านติดกับบ้านหลังอื่น เราเลยต้องการทำฉากขึ้นมา จากตอนแรกที่พี่ไม้จัดต้นสนเกรวิลเลียไว้ 2 ต้น  คุณภรรยาก็เลยมีไอเดียว่าให้นำ ต้นกล้วยไม้มาแขวน เพื่อสร้างมุมมองและเพิ่มความเป็นส่วนตัว อีกทั้งเวลามองออกมาจากโต๊ะรับประทานก็จะดูสวยเป็นอีกมิติดี แต่โดยธรรมชาติของกล้วยไม้เมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 เดือน ต้นก็อาจโทรมได้ ผมเลยติดตั้งระบบพ่นหมอก ฉีดปุ๋ยทุกสัปดาห์ และวางแผนในการนำไปสลับที่โรงเรือนอนุบาลที่ฟาร์ม Royal Polo Ratchaburi ด้วย เป็นกิจวัตรช่วงอยู่บ้านของทุกวันนี้เลย เป็นการใช้เวลาในพื้นที่รอบบ้านและดูแลสวนครับ”

เมื่อสวนสวยเสร็จสมบูรณ์ ความสุขของคนรักต้นไม้และธรรมชาติจึงไม่ได้จบอยู่แค่เพียง ณ เวลานั้น แต่เป็นการได้ดูแล เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลง และใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัว

นิตยสาร บ้านและสวน ปี 2565 ฉบับที่ 551

เจ้าของ : คุณเจนรัช- คุณธนพร เจียมมานิสกุล
ออกแบบ : Murraya Garden โดยคุณฐาปนิต โชติกเสถียร โทรศัพท์ 09-4563-9924
ที่ตั้ง : กรุงเทพฯ

เรื่อง : สริดา จันทร์สมบูรณ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม