บ้านและสวนแฟร์ 2022
28 ต.ค. - 6 พ.ย. 2565
อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ผลการตัดสินประกวดจัดสวน “แต่งมุมสวยด้วยไม้สะสม” พร้อมผลงาน 10 ทีมสุดท้าย

ในยุคที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแต่งบ้านด้วยต้นไม้ หลายคนสนุกกับการปลูกเลี้ยงและเฝ้ามองต้นไม้ที่รักเติบโตอย่างสวยงามอยู่ในมุมโปรด จนเกิดเป็นเทรนด์ฮิต ทั้งไม้ใบ แคคตัส ไม้อวบน้ำ ฯลฯ

หนึ่งในไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดในงานบ้านและสวนแฟร์ Midyear ปีนี้ คือประกวดจัดสวนภายใต้แนวคิด “แต่งมุมสวยด้วยไม้สะสม (Living with Plants)” ซึ่งได้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อย่าง คุณศิริวิทย์ ริ้วบำรุง แห่ง Little Tree คุณศุภกิจ มีลาภ แห่งสุขเย็น การ์เด้นท์ และคุณบุญยวีร์ บุนนาค สไตลิสต์คนเก่ง มาร่วมกันคัดเลือกและตัดสินรางวัลจากผลงานที่ส่งเข้ามาอย่างล้นหลาม  

จากการนำเสนอและคัดเลือกผลงานของ 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบมาจัดแสดงจริง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เราได้ผลการตัดสิน ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ
คุณคณิน สิทธิประสงค์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง
คุณเบญจมาศ ถือมาลา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง
คุณสมพงษ์ กุลวโรตตมะ

รางวัลชมเชยและรางวัลมหาชน
คุณพีรวิช เหมภากรสกุล

รางวัลชมเชยและรางวัลมหาชนออนไลน์
คุณภรต พีระเสถียร และคุณธนภูมิ ธนาไพศาล

รางวัลชมเชย
• คุณรัชชานนท์ ไทยแก้ว
• คุณธนพล อัญมณีรัตน์
• คุณอมร อิเคดะ และคุณธนวัช ชุนห์ขจร
• คุณวิทยา กาญจนโกศล
• คุณทัศน์พล ทัศน์กระแสร์ และคุณกฤษฏิ์ อหิงสโก

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามร่วมเชียร์และโหวตให้กำลังใจ เพื่อให้ผลงานที่คุณชื่นชอบได้รับรางวัลมหาชนและขวัญใจมหาชนออนไลน์กันได้ ระหว่างวันที่ 5-14 สิงหาคม 2565 ที่งานบ้านและสวนแฟร์ Midyear 2022 บริเวณใกล้กับซุ้มทางเข้าหน้าฮอลล์ 102 ไบเทค บางนา และช่องทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่น 34 HD

ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น >> https://bit.ly/3zZwaUu

ผลงานที่ผ่านการคัดเลือก 10 ทีมสุดท้าย

1.คุณภรต พีระเสถียร และคุณธนภูมิ ธนาไพศาล
แนวคิด : Just go แค่ออกเดินทางกัน

การออกแบบมุมของห้องนั่งเล่นที่สื่อถึงการผจญภัยของชีวิตผ่านเฟอร์นิเจอร์และต้นไม้ที่มีความทนทานและไม่ต้องการการดูแลมากมาย อีกทั้งยังเป็นมุมพลังงานดีๆ ที่พร้อมต้อนรับการกลับมาจากการใช้ชีวิตหรือการเดินทางที่บางครั้งอาจใช้เวลานาน และพร้อมที่จะสนับสนุนการผจญภัยของชีวิตครั้งใหม่ให้ไปได้ไกลมากกว่าเดิม

2.คุณพีรวิช เหมภากรสกุล
แนวคิด : Gangubai Tea Corner (มุมจิบน้ำชาของคังคุไบ)

สวนหน้าบ้านที่ต้อนรับแขกด้วยสำรับน้ำชาแบบอินเดียและโซฟานั่งพื้นที่เน้นงานฝีมือและสีสันสวยงามสะดุดตา มาพร้อมพรรณไม้สะสมอย่างแคคตัสและไม้ใบฟอกอากาศ เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้พื้นที่ใช้งาน อีกทั้งยังโชว์ร่วมกับของสะสมจำพวกกระถางดินเผาที่มีสีสันและลวดลายสวยงามไม่เหมือนใคร ผสมผสานการตกแต่งด้วยผนังปูนสีสไตล์ลอฟต์ กลายเป็นมุมพักผ่อนที่สามารถเก็บไม้สะสมได้หลายชนิด พร้อมโชว์ของตกแต่งได้พร้อมๆ กันในกลิ่นอายแบบอินเดีย

3.คุณรัชชานนท์ ไทยแก้ว
แนวคิด : Green Corner  Gallery – Plant Library Collection –  

มุมข้างบ้านทาวน์โฮมที่มีโครงสร้างเป็นชั้นวางของ โดยแบ่งสัดส่วนตามพรรณไม้สะสมที่มีขนาดแตกต่างกัน และเลือกใช้วัสดุที่หาได้ตามท้องตลาด สามารถติดตั้งได้ง่ายไม่ซับซ้อน เสมือนนั่งอยู่ในแกลเลอรี่งานศิลปะตามพิพิธภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าของต้นไม้ให้เป็นดั่งงานศิลปะชิ้นหนึ่ง อีกทั้งยังมีการแบ่งพื้นที่โซนสะสมต้นไม้กับพื้นที่ชมต้นไม้ เพื่อให้เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจของคนในครอบครัว

4.คุณธนพล อัญมณีรัตน์
แนวคิด : Relieve Vibe

ปัจจุบันคนในสังคมส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะโรคเครียด สวนนี้จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ที่ช่วยชาร์จพลังผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5  และแฝงการบำบัดจิตใจไว้ด้วย อย่างการรับรู้โดยใช้เรื่องของเฉดสี เช่น ไม้ดอกสีฟ้า น้ำเงิน และม่วง ช่วยให้เกิดความสงบ และฉากม่านด้านหลังที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย อีกทั้งยังสอดแทรก Garden Bar เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมสัมผัสได้ถึงความสบายใจและสบายกาย

5.คุณอมร อิเคดะ และคุณธนวัช ชุนห์ขจร
แนวคิด : Corner Garden

ปัจจุบันการอยู่อาศัยในเมืองมีความแออัดมากขึ้น แต่มีพื้นที่สีเขียวน้อยลง การออกแบบนี้จึงตอบโจทย์การใช้ชีวิตด้วยสวนแนวตั้ง โดยเลือกใช้โครงสร้างเป็นโลหะและไม้ จัดวางในรูปแบบเฉียงให้ลมไหลผ่าน ทำให้อากาศภายในไหลเวียน ตกแต่งด้วยต้นไม้และพืชพรรณต่างๆ เพื่อช่วยลดทอนความร้อนจากแสงแดดและสร้างความเป็นส่วนตัว อีกทั้งยังติดตั้งด้วยไฟเบอร์กลาสโปร่งแสงและหลังคาผ้าทรงซาแรน ที่ทำให้แสงธรรมชาติสามารถส่องผ่านได้ นอกจากนี้ยังมีมุมนั่งเล่นเล็กๆ สำหรับดื่มด่ำกับบรรยากาศความเขียวขจีโดยรอบอีกด้วย

6.คุณเบญจมาศ ถือมาลา
แนวคิด : Green Belt

สวนหลังบ้านสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงาน แต่ยังมีใจรักในการซื้อและสะสมต้นไม้ และอยากใช้เวลาในวันหยุดอันน้อยนิดพักผ่อนในศาลา สัมผัสธรรมชาติ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายจากการทํางาน สวนนี้จึงเลือกใช้พรรณไม้ที่ไม่ต้องดูแลมาก อย่างไม้โขดที่หาง่าย ปลูกง่าย และโตช้า ทําให้รูปทรงไม่เพี้ยน และเลือกใช้โทนสีเขียว ขาว น้ำตาล เพื่อให้รู้สึกร่มรื่น สงบ และผ่อนคลาย เหมาะแก่การพักผ่อน

7.คุณวิทยา กาญจนโกศล
แนวคิด : จาก “อาม่าการ์เด็นท์” เป็น “อาม่าคาเฟ่”

“อาม่า ทำไมอาม่าชอบมานั่งชมสวนหน้าบ้านทุกวันเลยล่ะ เอาอย่างนี้ไหม! เดี๋ยวหนูทำเป็นร้านกาแฟให้อาม่านั่งเฝ้าเลย อาม่าจะได้ไม่เบื่อ” – บทสนทนากำเนิดสวน 

8.คุณสมพงษ์ กุลวโรตตมะ
แนวคิด : Reflecting Yourself

มุมสวนเล็กๆ หลังบ้านที่เกิดจากคำถามหลักว่า “ฉันเป็นใคร” และ “ฉันซึ่งแตกต่างจะอยู่อย่างมีความสุขได้อย่างไร”

สวนนี้จึงเป็นเงาสะท้อนความเชื่อและตัวตนของฉัน = การมีชีวิต
สะท้อนความเข้าใจโลกแวดล้อมและธรรมชาติของพรรณไม้ = การได้ใช้ชีวิต

ภาพรวมสวนออกแบบให้เป็นงานโครงสร้างเหล็ก กระจก และพรรณไม้สะสม สร้างสรรค์ผ่านภาพของคู่ตรงข้าม ที่แม้จะแตกต่างแต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

9.คุณทัศน์พล ทัศน์กระแสร์ และคุณกฤษฏิ์ อหิงสโก
แนวคิด : Brick Space and Sandbox

พื้นที่ของผู้ชื่นชอบต้นไม้และสะสมต้นไม้ที่จะได้ระเบิดไอเดียสร้างสรรค์ และแต่งมุมสวยด้วยต้นไม้สะสมได้อย่างอิสระ โดยภายในห้องจะเลือกปลูกต้นไม้ขนาดเล็กและทนร่มได้ดี รวมถึงการใช้อิฐช่องลมทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนอยู่ในสวนภายนอกอาคาร อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการวางได้ตามต้องการ เหมาะสำหรับคนเมืองในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในห้องทำงาน บ้าน หรือหอพักที่มีพื้นที่จำกัดในการปลูกต้นไม้

10.คุณคณิน สิทธิประสงค์
แนวคิด : “Art Gallery

นำเสนอมุมสวนไม้สะสมในทีม Minimal Art Gallery  ยกมุมแสดงงานศิลปะมาไว้ในสวน เปรียบไม้สะสมเป็นงานศิลป์ พื้นที่สวนเป็นส่วนแสดงงาน โดยจำลองสวนริมระเบียงแดดจัดกับกลุ่มไม้ทนแล้งในกลุ่มซัคคิวเลนต์ เช่น ยูโฟร์เบีย  ที่ปราศจากใบ โชว์ฟอร์มกิ่งก้าน พร้อมกำแพงกระจกหลากมิติสะท้องแสงเพิ่ม และองค์ประกอบอื่นๆ ในโทนสีเทาดำ มีรูปทรงเรียบง่ายแบบเรขาคณิต เป็นการชื่นชมไม้สะสมไปพร้อมกับการเสพงานศิลป์ในเวลาเดียวกัน

keyboard_arrow_up