โรงเรือนแคคตัส งบ 5 แสน ของคุณหมอนักสะสม

คุณหมอเอ-จิราภรณ์ เฟื่องทวีโชค แพทย์หญิงในจังหวัดอุดรธานี คือนักสะสมแคคตัสและไม้อวบน้ำที่เริ่มแรกนั้นเธอแทบไม่มีความรู้เรื่องต้นไม้มาก่อนเลย เพียงแต่ต้องการทำงานอดิเรกในช่วงที่ว่างเท่านั้น

โดยมีจุดเริ่มต้นจากแคคตัสหนึ่งถาดที่วางทิ้งในโรงเรือนที่แทบไม่ได้ใช้งาน จนกลายมาเป็นงานอดิเรกแสนรักที่ปลุกความสนุกในการทดลองอะไรใหม่ ๆ พร้อมกับโรงเรือนที่ตั้งใจออกแบบมา เพื่อให้คนได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับต้นไม้ได้อย่างสะดวกสบาย

รอบบ้านปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแก่ตัวบ้าน  แต่ไม่ปลูกรอบโรงเรือนเพราะต้องการให้แสงแดดส่องลงมาถึงแคคตัส โดยเลือกใช้วัสดุก่อสร้างโรงเรือนและสวนในโทนสีเดียวกับตัวบ้าน เพื่อให้ความรู้สึกเชื่อมต่อกัน
โต๊ะสนามไม้สีขาวสำหรับนั่งเล่นในสวนพร้อมชมวิวจากโรงเรือนหลังงามและสวนกระถางขนาดเล็ก ปลูกกุหลาบและริบบิ้นชาลีด่างที่จัดวางอย่างเรียบง่าย
โรงเรือนสองหลังสร้างให้เดินเชื่อมถึงกันได้ ผ่านซุ้มหลังคาที่เชื่อมกับตัวบ้านไปยังโรงเรือนหลังแรกและต่อไปยังโรงเรือนหลังที่สองที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อปลูกแคคตัสให้ได้ปริมาณมากขึ้น

เริ่มต้นจากแค่อยากมีโรงเรือน

แรกเริ่มเดิมทีคุณหมอเอเป็นเพียงคนที่ชื่นชอบ การแต่งบ้านและอยากมีบ้านในฝันสไตล์อเมริกันคันทรี ในที่สุดก็เริ่มวางผังและออกแบบบ้านหลังใหม่ขึ้นองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือโรงเรือนเพาะชำต้นไม้ที่เธอมองว่าในวันหนึ่งอาจใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมในวัยเกษียณ เช่น ปลูกต้นไม้ ทว่าต้นไม้ส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็สามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่จำเป็นต้องปลูกในโรงเรือน ในที่สุดก็ไม่ค่อยได้ใช้งานจริงสักเท่าไร

แคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียมสีสันสวยงามกำ ลังออกหน่อสำหรับเตรียมนำไปแยกหน่อเพื่อปลูกเป็นต้นใหม่ที่จะได้สีสันและลวดลายเหมือนกับต้นแม่
ต้นไม้ที่เกิดจากการขยายพันธุ์ใหม่ปลูกในถาดขนาดต่างๆ ด้านล่างสุดใส่ดินปลูก ชั้นถัดไปเป็นพีทมอสส์  แล้วจึงวางหน่อแคคตัส  จากนั้นใส่ทรายรอบๆ ปิดผิวเครื่องปลูกและป้องกันไม่ให้หน่อขยับ

วันหนึ่งน้องชายของคุณหมอเอ ซึ่งชื่นชอบการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการปลูกต้นไม้ ได้นำแคคตัสมาให้ 1 ถาด ตอนแรกเธอนำไปวางทิ้งไว้ในโรงเรือนโดยไม่ได้สนใจ กระทั่งเมื่อเดินมาดูอีกที แคคตัสในถาดเจริญเติบโตได้ดี จึงเปลี่ยนนำมาใส่กระถางดินเผาและค่อย ๆ ตั้งวางเรียงรายในโรงเรือน จาก 1 ถาดเป็น 2 ถาด และต่อยอดไปอีกหลาย ๆ ต้นในเวลาต่อมา ทำให้คุณหมอเอกลับมาใช้งานโรงเรือนมากขึ้น เธอทดลองปลูกเลี้ยงทั้งแคคตัสและไม้อวบน้ำ โดยหาความรู้จากหลากหลายช่องทาง จนกลายเป็นงานอดิเรกที่ทำให้เธอมีความสุขและรู้สึกผ่อนคลาย

“หลังจากโรงเรือนหลังแรกเต็ม เราก็มาทำเพิ่มอีกหลังเพื่อขยายพันธุ์ใหม่มากขึ้น เราชอบแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium) เพราะสนุกกับการผสมพันธุ์ให้เกิดสีสันและลวดลายที่มีความเฉพาะตัวในแบบของเราเอง รู้สึกเหมือนได้เป็นศิลปินที่รังสรรค์ให้เกิดสีสันที่เป็นเอกลักษณ์สวยงามบนแคคตัสของเราเอง”

โครงสร้างและวัสดุทำโรงเรือน

คุณหมอเอใช้งบประมาณส่วนใหญ่ในการเปลี่ยนหลังคาของโรงเรือนหลังเดิมที่มีปัญหารั่วซึม จนทำให้แคคตัสที่ตั้งในบริเวณที่้ำหยดเริ่มประสบปัญหารากเน่าและตายในที่สุด โดยเปลี่ยนมาใช้แผ่นอะคริลิกใสที่แข็งแรงและทนทานสามารถใช้งานได้เป็นระยะเวลานาน มีซาแรนสีขาวที่ช่วยกรองแสงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และยังใช้โครงสร้างเหล็กทาสีขาวอมเทาเช่นเดียวกับสีที่ทาในบ้าน คลุมด้วยผนังมุ้งลวดและผ้าใบพลาสติกใสโดยรอบ  สามารถดึงขึ้นเพื่อเปิดโล่ง และดึงลงมาคลุมเพื่อป้องกันความชื้นหรือศัตรูพืชภายนอก

โรงเรือนหลังใหม่สร้างให้มีระเบียงและหลังคาต่อยื่นออกมาสำ หรับปลูกแคคตัสสายพันธุ์ที่มีความทนทานและราคาไม่สูงมาก  เช่น  แคคตัสที่ใช้เป็นไม้กราฟหรือต่อตอ

พื้นปูไม้เทียมแผ่นยาวเช่นเดียวกับพื้นระเบียงบ้านเพื่อให้ความรู้สึกเชื่อมถึงตัวบ้าน โดยมีร่องสำหรับระบายน้ำรอบด้าน เมื่อรดน้ำจึงไม่เกิดน้ำท่วมขังและเป็นอันตรายกับคนที่ใช้งาน อีกทั้งยังทำให้อากาศในโรงเรือนแห้งและไม่เกิดโรคจากความชื้น ซึ่งพบได้บ่อยในแคคตัสและไม้อวบน้ำ

เทคนิคการดูแลต้นไม้

“สำหรับแคคตัสสกุลยิมโนคาไลเซียมจะชื่นชอบแสงรำไรถึงแดดจัด อากาศถ่ายเท ยิ่งอากาศเปลี่ยนจากกลางวันร้อนและกลางคืนเย็นยิ่งดี สีสันที่ได้จะยิ่งสวย ยิ่งมีสีที่สวยอย่างสีชมพูอ่อนปรากฏ ต้นนั้นก็จะโตช้ากว่าต้นที่มีสีเขียวเยอะ  รากจะเดินช้ามาก ดังนั้นเราจึงต้องใช้การต่อตอเพื่อให้แคคตัสสายพันธุ์ที่รากเดินเร็วกว่าช่วยหาสารอาหารให้ ซึ่งปกติก็จะใช้แคคตัสสามเหลี่ยมมาเป็นตอ  แต่สำหรับเราอยากทดลองอะไรใหม่ ๆ ก็จะมีตออื่นที่มีความสวยงามมากขึ้น  เช่น ตอหนามดำ  ทำให้ดูน่ามองมากกว่า”

แคคตัสสกุลแอสโตรไฟตัมเป็นสกุลที่ได้รับความนิยม  เพราะไม่มีหนามทิ่มให้ระคายมือสามารถขยายพันธุ์ง่ายๆ โดยการแยกหน่อจากต้นที่ขึ้นใกล้กัน
คุณหมอเอนำ เครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาประยุกต์เป็นอุปกรณ์ขยายพันธุ์  ทั้งผสมเกสรและผ่าเพื่อต่อตอ  ซึ่งใช้ได้ถนัดมือมากกว่าอุปกรณ์การเกษตรทั่วไป

เช่นเดียวกับภาชนะปลูก คุณหมอเอเลือกใช้กระถางดินเผาที่ดูสวยน่ามองกว่ากระถางพลาสติกที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้กัน แม้กระถางดินเผาจะอมความชื้นที่ไม้อวบน้ำไม่ชอบ แต่การใช้วัสดุปลูกอย่างดินภูเขาไฟกับดินก้ามปูที่ร่อนเอาแต่เนื้อดินในอัตราส่วนเท่ากันก็ช่วยระบายอากาศได้ดี ร่วมกับการรดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้ง ก็ทำให้วัสดุปลูกไม่ชื้นจนเกินไป แล้วบำรุงด้วยการใส่ปุ๋ยละลายช้าสูตร 3 เดือน และพ่นน้ำผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาทุกเดือนเพื่อป้องกันโรครากเน่า

คุณหมอเอยังทิ้งท้ายถึงคนที่อยากมีโรงเรือนปลูกต้นไม้เป็นของตัวเองว่า “นอกจากคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงเรือนแล้ว  สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมคือการออกแบบโรงเรือนให้เป็นพื้นที่ที่ผู้ใช้อยู่แล้วสบายตัว คือเข้ามาอยู่แล้ว ไม่ร้อนจนเกินไป สบายใจ รู้สึกผ่อนคลาย ก็จะทำให้เราอยากเข้ามาใช้งาน งานอดิเรกก็เหมือนกับเพื่อน อาจมีอะไรที่ไม่ลงตัวหรือสมบูรณ์แบบทั้งสำหรับตัวเราและต้นไม้ แต่หากให้ความใส่ใจ ค่อย ๆ ปรับกันไป เราก็จะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข”

นิตยสาร บ้านและสวน ปี 2565 ฉบับที่ 546

เรื่อง : ปัญชัช

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล