บ้านสไตล์ญี่ปุ่น ในฟาร์มสเตย์บนเนินเขาสวย

บ้านสไตล์ญี่ปุ่น สร้างจากไม้เก่าที่สะสมไว้ให้เป็นบ้านชั้นเดียว โดยประยุกต์ดีไซน์และฟังก์ชันต่างๆ ให้มีกลิ่นอายเหมือนเรียวคัง

ท่ามกลางเนินเขาที่ดูเขียวไปด้วยต้นไม้สวยภายใต้ท้องฟ้าเปิดโปร่ง เมื่อมี บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น หลังนี้ตั้งอยู่ บรรยากาศโดยรอบก็ดูราวกับเป็นพื้นที่ชนบทในเมืองเล็กๆ ของประเทศญี่ปุ่นได้เลย ทั้งที่จริงแล้วที่นี่คือตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ของเรานี่เอง

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น

เพราะติดใจทิวทัศน์แบบเนินเขาสวยๆ ของเชียงใหม่ ทำให้ คุณปอ-สิทธิโชค ยอดรักษ์ และคุณเมี่ยง-สรัญภร พงศ์พฤกษา ตั้งเป้าหมายในใจว่าจะสร้างบ้านพักผ่อนของตัวเองเป็นบ้านไว้ที่นี่หลังเกษียณจากงานประจำ โดยทั้งคู่ตระเวนหาซื้อที่ดินสวยๆ ตามใจฝันอยู่นานก่อนจะมาเจอที่ดินเนินเขาตรงนี้ และใช้เวลาทำงานเพื่อเก็บเงินอีกระยะใหญ่กว่าจะพร้อมมาลงหลักปักฐานชีวิตใหม่ที่นี่ ด้วยการสร้างบ้านควบคู่ไปกับงานเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง เพื่ออยู่อาศัยและเปิดเป็นฟาร์มสเตย์ในชื่อว่า Mori Natural Farm

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
ทางเข้าเล็กๆ หน้าบ้าน มีที่นั่งไม้สำหรับนั่งถอดรองเท้า และจัดวางแผ่นหินขนาดเล็กเพื่อทำเป็นขั้นบันไดก่อนเข้าบ้านตามสไตล์ญี่ปุ่น ผนังด้านข้างยังมีป้ายไม้เขียนอักษรญี่ปุ่นฮิรางานะว่า ยินดีต้อนรับสู่บ้านวาบิซาบิ

จากบ้านส่วนตัวสู่ฟาร์มสเตย์

       ด้วยความที่คุณปอเคยทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้าให้บริษัทญี่ปุ่นอยู่นานจึงเรียนรู้และซึมซับวิธีคิดของคนญี่ปุ่นมาเยอะ บวกกับความชอบในวัสดุไม้มาตั้งแต่เด็กเพราะมีคุณปู่เป็นช่างไม้ ความฝันใหญ่ของเขาจึงเป็นการสร้างบ้านไม้ของตัวเองสักหลัง ขณะที่คุณเมี่ยงเองก็เคยทำงานเป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ และมีโอกาสไปฝึกฝนทำอาหารและทำขนมแบบโฮมเมดกับครอบครัวเพื่อนชาวญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ ก่อนที่จะย้ายมาเป็นเลขานุการให้บริษัทญี่ปุ่นที่คุณปอทำงานอยู่ เมื่อทั้งคู่พบรักและแต่งงานกัน จึงเหมือนกับเป็นการเติมเต็มความฝันแบบเดียวกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

       “ผมซื้อที่ไว้ก่อนหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีเงินสร้างบ้าน ก็เลยต้องทำงานเสริมด้วยการรับออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบสั่งทำ ซึ่งลูกค้าฝรั่งที่เกาะสมุยชอบกันมาก ทำให้เก็บเงินได้เร็วขึ้นจนพอจะเริ่มมาสร้างบ้านตรงนี้ได้ หลังแรกที่สร้างเป็น ‘บ้านโรงนา’ สร้างไว้อยู่เองและไว้เก็บอุปกรณ์เครื่องมืองานไม้กับวัสดุไม้ที่สะสมและเพาะชำต้นไม้ไปด้วย หลังนี้เลยใช้วัสดุที่หลากหลายเท่าที่หาได้ราคาไม่แพงมาก ตอนนั้นอยู่กัน 4 ชีวิต คือผม เมี่ยง โบชิ และมิกิ (สุนัขพันธุ์อาคิตะที่ทั้งคู่เลี้ยงเหมือนลูก) แล้วถึงเริ่มสร้างบ้านพักคนงานเล็กๆ เพื่อหาคนมาช่วยผมสร้างบ้านไม้ เพราะตั้งใจว่าจะทำกันเองโดยอาศัยความรู้หลากหลายที่ได้จากตอนทำงานวิศวกรไฟฟ้ามาประยุกต์”

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น

    บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่นหลังแรกที่คุณปอสร้างชื่อว่า “บ้านเรียวคัง” พร้อมห้องพักแบบ 1 ห้องนอนกับอ่างแช่ตัวที่ดูคล้ายออนเซ็นแบบญี่ปุ่น ตามมาด้วย “บ้านหลองข้าว” ที่ใช้หลองข้าวเก่ามาดัดแปลงโดยมีจุดเด่นตรงพื้นที่อเนกประสงค์ใต้ถุนบ้าน จากนั้นถึงเริ่มเปิดเป็นฟาร์มสเตย์ จนกลายเป็นที่สนใจของผู้คนชนิดที่เรียกว่าคิวจองเต็มยาวตลอดเวลา

“พอมีคนเข้าพักเราก็มีรายได้ต่อพอจะสร้างบ้านอีกหลังเป็น ‘บ้านคอตเทจ’ พร้อมกับดัดแปลงบ้านโรงนาของเราให้เป็นที่พักเพิ่มขึ้น แล้วเราขยับไปสร้างบ้านสำหรับอาศัยเองใหม่อีกหลังแบบง่ายๆ ซึ่งก็ไต่ระดับเนินเขาขึ้นไปอยู่บนสุด ตามมาด้วยการเพิ่มส่วนคาเฟ่สำหรับคนที่จองห้องพักไม่ได้เพราะเรามีห้องน้อย ก็ยังสามารถมานั่งซึมซับธรรมชาติ มองดูวิวภูเขาสวยๆ และสูดอากาศบริสุทธิ์ตรงนี้แทนได้”

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
บ้านวาบิซาบิสร้างขึ้นจากไม้เก่าหลากหลายชนิดมาผสมผสาน โดยออกแบบเน้นฟังก์ชันใช้งานจากภายในออกมาสู่หน้าตาบ้านภายนอกตามสไตล์ญี่ปุ่นดูสวยกลมกลืนไปกับธรรมชาติแบบเนินเขา

บ้านสไตล์ญี่ปุ่นจากวัสดุไทยๆ

“ชื่อว่า โมริ ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ป่า เพราะเราอยู่กับธรรมชาติไง แนวคิดการสร้างบ้านของผมก็คือเน้นกลมกลืนไปกับธรรมชาติ และผมก็ชอบบ้านสไตล์ญี่ปุ่นผสมผสานอยู่แล้ว โดยเน้นวัสดุไม้เป็นหลักผสมไปกับวัสดุอื่นที่หาง่ายในท้องถิ่น ไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นไม้ที่เราสะสมไว้เองจากลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง ผสมกับไม้มังคุด ไม้มะขาม ไม้ขนุน ไม้ตำเสาหรือกันเกราที่เก็บมาจากภาคใต้ ยังมีไม้สะเดาที่ปลวกไม่กินเพราะมันขมแต่ต้องใช้เป็นเสาไม้ในบ้านไม่เอาไปตากแดดตากฝน ส่วนพื้นเป็นพวกไม้ประดู่ไม้มะค่าที่รื้อจากบ้านเก่า ที่ชอบสุดคือไม้กระพี้เขาควายที่ผมใช้เป็นเสา 6 ต้นภายในบ้านหลังใหม่ ซึ่งตั้งชื่อว่า ‘วาบิซาบิ’ บ้านสไตล์ญี่ปุ่นหลังใหญ่ที่นอนได้ถึง 5 คน”

“บ้านวาบิซาบิ” ยังสร้างขึ้นจากไม้เก่าที่เหลืออยู่ในโรงเก็บ หลายชิ้นมีร่องรอยเดิมติดมาและอีกหลายชิ้นเป็นไม้ที่คนอื่นไม่เห็นประโยชน์ แต่คุณปอบอกว่าไม้ทุกชิ้นมีความงามและคุณค่าในตัวเอง โดยเขาออกแบบขึ้นจากฟังก์ชันจำเป็นภายในก่อนด้วยแนวคิด Inside out เพื่อให้อยู่สบายและใช้งานได้ดี รวมถึงเปิดมุมมองออกสู่วิวธรรมชาติได้รอบด้านมากที่สุด แล้วรูปร่างหน้าตาภายนอกจึงเป็นสิ่งที่ตามมา

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
ห้องนอนขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยเตียงไม้สักเก่าที่ใช้เทคนิคการเข้าเดือยไม้แบบไม่ใช้ตะปู หัวเตียงเป็นไม้เกี๊ยะหรือไม้สนที่มาจากฝากระดานบ้านเก่าให้โทนสีคล้ายไม้สนญี่ปุ่น ส่วนพื้นเป็นไม้จุมปีหรือไม้จำปีมาจากไม้กระดานเก่าที่ดูสวยเหมือนไม้สัก

       “ผมยังใส่วิถีชีวิตและความคิดแบบคนญี่ปุ่นเข้าไปผสมผสานในหลายๆ จุด อย่างก้อนหินเล็กๆ หน้าบ้านที่วางเป็นบันไดขึ้นบ้าน ภายในเน้นออกแบบฟังก์ชันให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่น้อยๆ ได้มากที่สุด เฟอร์นิเจอร์มีทั้งของมือสองจากญี่ปุ่นและที่ทำออกแบบทำขึ้นเอง บ้านมีช่องเปิดให้มองเห็นวิวภายนอกได้จากทุกมุม รวมถึงห้องนอนแบบห้องใต้หลังคาที่ผมออกแบบหน้าต่างบานกระทุ้งติดมุ้งลวดให้นอนดูดาวได้ มีระเบียงนอนเล่นอ่านหนังสือได้สบาย รวมถึงระเบียงไม้กว้างๆ หลังบ้านที่เปิดออกไปถึงสวนแบบเซน ไฮไลต์สุดก็คือห้องอาบน้ำออนเซ็นที่ผมเจาะน้ำแร่ใต้ดินมา ทดลองทำเองอยู่หลายรอบด้วยความรู้ทางวิศวกรรมที่ติดตัวมากว่าจะสำเร็จครับ”

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
ขึ้นไปชั้นลอยของบ้านเป็นพื้นที่คล้ายห้องนอนใต้หลังคา จัดวางที่นอนแบบญี่ปุ่นพร้อมชุดยูกาตะ โดยด้านในสุดยังมีระเบียงนอนเล่นหรือไว้เอนหลังอ่านหนังสือพร้อมชมวิวได้เช่นกัน
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
ไม้โครงสร้างหลังคาหรือจันทันเป็นไม้เปาตามภาษาเรียกของคนเหนือหรือไม้เต็งวางแนวสลับกับแผ่นซีเมนต์บอร์ดที่ทาสีขาวทับด้านในยังใส่ฉนวนเพื่อกันความหนาวไม่ให้เข้าตัวบ้าน
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
มุมนั่งเล่นจิบชาบนชั้นลอยตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์มือสองจากญี่ปุ่น
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
ส่วนไฮไลต์ของบ้านอยู่ที่ห้องน้ำออนเซ็นกึ่งกลางแจ้งที่คุณปอคิดค้นระบบการดึงน้ำแร่ธรรมชาติใต้ดินมาใช้เอง โดยควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ประมาณ 42-43 องศา
ห้องน้ำก็มีลักษณะกึ่งกลางแจ้งเช่นกัน เพราะต้องการดึงธรรมชาติเข้ามาอยู่ภายในจึงออกแบบให้มีพื้นที่สวนสำหรับปลูกไม้ที่ต้องการแสงน้อยอย่างเฟินหรือพลู โดยใช้แผ่นพลาสติกปูส่วนเพดานเพื่อช่วยลดแสงลงพร้อมกับเติมระแนงไม้ไว้ด้านในเพิ่มมุม
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น

 ฟาร์มเกษตรรอบๆ บ้าน

       นอกจากอยากมีบ้านไม้แล้ว อีกหนึ่งความฝันของคุณเมี่ยงก็คืออยากปลูกสตรอว์เบอร์รี่ปลอดสารไว้รับประทานเอง และนั่นคือสิ่งแรกที่คุณเมี่ยงลงมือทำกับที่ดินผืนนี้ โดยมีคุณปอช่วยวางแปลนและออกแบบแลนด์สเคปให้ฟาร์มเกษตรรอบๆ บ้านทุกหลังไว้ด้วย

       “พื้นที่ 6 ไร่ผมปลูกต้นโอ๊กไว้ 200 ต้นและวางแผนว่าจะสร้างบ้านตรงไหนบ้างและกำหนดมุมปลูกผัก ทำสวน เลี้ยงไก่ ให้สอดคล้องกันไป ทุกอย่างที่เราเลือกปลูกก็เริ่มมาจากไว้กินเองและใช้ในส่วนคาเฟ่ เพราะเราคงปลูกแบบเกษตรกรเต็มตัวไม่ไหว ที่เหลือคือให้แขกที่มาพักได้เก็บเกี่ยวเก็บกินหรือซื้อเป็นของฝากกลับบ้านได้ ดังนั้นทุกคนที่มาเข้าพักจึงมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาลว่าจะมาช่วยปลูกช่วยเก็บอะไรกันบ้าง ตั้งแต่สตรอว์เบอร์รี่ เก๊กฮวย มะละกอ ข้าวโพด กล้วย ผักสลัด มะเขือเทศ มะม่วง มันญี่ปุ่น โรสแมรี่ ลาเวนเดอร์ ทาร์ารากอน อะโวคาโด กาแฟอะราบิกา ฯลฯ ใครอยากกินเมนูอะไรก็ไปเก็บมาแล้วเข้าครัวทำได้เลย สดและปลอดสารแน่นอน”

นี่ยังทำให้คุณเมี่ยงสนุกกับการสร้างสรรค์เมนูคาวหวานจากวัตถุดิบที่มีตามฤดูกาลโดยผสมผสานความเป็นญี่ปุ่นเข้าไป เพื่อเสิร์ฟความอร่อยที่แปลกใหม่ให้โมริ คาเฟ่ ด้วยอยู่เสมอ ใครแวะไปก็อย่าลืมถามหาเมนูพิเศษๆ กันด้วย  แต่ถ้าจะให้ได้บรรยากาศฟาร์มสเตย์อารมณ์ญี่ปุ่น ใส่ชุดยูกาตะเดินถ่ายรูปสวยๆ ดื่มด่ำอากาศเย็นสบายจากเนินเขาสวยราวกับอยู่ในชนบทของญี่ปุ่น ก็ต้องจองคิวบ้านพักกันให้ได้ทางอินบ็อกซ์  Mori Natural Farm โมริ เนเชอรัลฟาร์ม เชียงใหม่ หรือโทรศัพท์ 09-0892-6958,09-5535-7491

บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
ภายในบ้านวาบิซาบิมีการใช้ไม้กระพี้เขาควายซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งจากป่าในโซนภาคเหนือรื้อมาจากบ้านเก่า ตัวไม้มีลวดลายที่สวยเฉพาะตัว และเป็นไม้ที่คุณปอชอบมาก จึงนำมาทำเป็นเสาทั้งหมด 6 ต้น บางต้นมีอายุวงปีเกือบ 200 ปี
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
ไม้ที่ใช้ในบ้านหลายชิ้นเป็นไม้เก่า หนึ่งในนั้นก็คือบันไดไม้เก่าที่เดิมมีความยาวกว่าพื้นที่ของบ้านนี้ จึงต้องตัดให้สั้นพอดีกับทางขึ้นชั้นลอย ส่วนโต๊ะใต้บันไดเป็นไม้ขนุนที่ให้สีออกเหลืองธรรมชาติใช้จัดวางเป็นมินิบาร์
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
ส่วนของฝ้าเพดานห้องน้ำที่ปลูกต้นไม้ไว้ด้านล่างนอกจากมีระแนงไม้ด้านในแล้ว บนหลังคายังวางแผงไม้ไผ่ที่เคยใช้ตากใบยาสูบซึ่งซื้อต่อมาจากชาวบ้าน เพราะเป็นไม้ไผ่ที่ไม่ขึ้นมอดแล้วและยังช่วยกรองแสงได้อีกด้วย
บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น
รอบๆ บ้านวาบิซาบิจะมีหน้าต่างบานเลื่อนอยู่หลายมุมเพื่อให้สามารถเปิดออกไปชมวิวได้สะดวก รวมทั้งบริเวณห้องใต้หลังคานี้ที่มีทั้งหน้าต่างบานเลื่อนและหน้าต่างบานกระทุ้งบริเวณฝ้าเพดาน

เจ้าของ-ออกแบบ : คุณสิทธิโชค ยอดรักษ์ และคุณสรัญภร พงศ์พฤกษา บ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่น

  • เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
  • ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
  • สไตล์ : พระจันทร์ดวงโบราณ

บ้านไม้หลังเล็ก ในฟาร์มเกษตร

บ้านไม้ชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น ที่เน้นความโปร่งโล่งแบบไทย และอยู่อย่างสมถะแบบญี่ปุ่น

บ้านไม้ไผ่ ในวิถีชนบท