ครั้งแรกของกิ่ง ก้าน ใบ จากประเทศไทย ที่ได้ไปจัดสวนที่งาน RHS Chelsea Flower Show 2021

ได้ประกาศศักดาความเป็นไทยสู่สากลกับสองสถาปนิกไทยรุ่นใหม่ คุณบอย – ธวัชชัย ศักดิกุล และ คุณพลอย – พลอยทับทิม สุขแสง แห่งบริษัทกิ่ง ก้าน ใบ จำกัดได้รับคัดเลือกให้โชว์ฝีมือจัดสวนบ้านในเมือง (Sanctuary Garden)ในงาน อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์ 2021 (RHS Chelsea Flower Show) มหกรรมแสดงดอกไม้และจัดสวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยผลงานสวนชื่อ The Calm of Bangkok ที่นำเสนอแง่มุมความวุ่นวายของกรุงเทพมหานครแต่แฝงด้วยความสงบเงียบและเรียบง่าย ท่ามกลางผู้เข้าร่วมประกวดจัดสวนจากทั่วโลก โดยจัดแสดงในวันที่ 21 – 26 กันยายน 2564 ในย่านเชลซี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกกว่า 166,500 คน และผู้คนทั่วโลกเข้าถึงจากสื่อข่าวสารและโซเชียลมีเดียต่างๆ ราว 1.9 พันล้านคน

บรรยากาศภายในสวนนอกจากความสวยงามแล้วยังเน้นไปที่ความรู้สึกของผู้ใช้งานจริงถึงการพักผ่อนที่เรียบง่ายผ่านรูปแบบการนอนเปลญวนที่แสนสบายแบบไทยๆ
มีการออกแบบที่เน้นการนอนในสวนใต้ต้นไม้ที่สบายผ่านทิศทางการวางตำแหน่งของเปลญวนที่ไม่ว่าจะหันหัวนอนไปทิศทางไหนก็จะได้ร่มเงาจากต้นไม้และผนังด้านหลังตลอดทั้งวัน
ฉากหลังใช้ม่านทำจากเชือกธรรมชาติทอมือจากภูมิปัญญาไทยที่ดึงรูปแบบมาจากเปลญวนฝีมือของคุณยายฉลวย สังขรัตน์ วัย 95 ปี ชุมชนหัตถกรรม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มาใช้เพื่อสร้างความเชื่อมต่อกันและเส้นสายที่ดูละเอียดลออ

“ก่อนหน้านี้เคยเดินทางไปเที่ยวชมงาน RHS Chelsea Flower Show ที่เชลซี รู้สึกได้ถึงความท้าทาย มีความใฝ่ฝันว่าอยากเห็นผลงานจัดสวนของคนไทยในเวทีต่างประเทศบ้าง จึงมุ่งเป้าจะไปเป็นขั้นตอนเริ่มจาก สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไปสู่ลอนดอน ซึ่งงาน อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์  ที่ลอนดอน จะเป็นงานระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดและเป็นความใฝ่ฝันของนักออกแบบสวนทั่วโลก แต่แทนที่จะเริ่มจากประเทศใกล้บ้าน เรากลับมุ่งมั่นจะไปเวทีใหญ่นี้ให้ได้ เรามีประสบการณ์ในการจัดสวนโชว์ในงานบ้านและสวนตลอด 3 ปี ในประเทศไทย ในการประกวด RHS Chelsea Flower Show 2021 นี้มีกฏกติกา เกณฑ์การตัดสินที่ละเอียดและมาตรฐานอันเข้มงวด เราได้ฝ่าด่านการประกวด ได้รับเลือกจากคณะกรรมการให้เป็น 1 ใน 6 สวน ของหมวดสวนบ้านในเมือง (Sanctuary Garden) ด้วยผลงานที่มีชื่อว่า The Calm of Bangkok สวนสไตล์ Minimal Modern ที่เหมาะกับการพักผ่อนเรียบง่าย ลึกซี้งและสวยงาม ” คุณบอยเล่า

สวนที่ดูแสนเรียบง่าย สะท้อนการพักผ่อนและสุขสบายบนเปลญวนแบบไทยๆที่เราคุ้นเคย แต่ต่างชาติต่างชื่นชม รวมถึงการจัดวางมุมพักผ่อนที่หันหน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นจะเกิดแสงและทอดเงาเป็นลวดลายจากโครงสร้างและพรรณไม้ที่ค่อยๆเปลี่ยนไปตามห้วงเวลา แต่แดดจะไม่ส่องตาเมื่อนอนพักผ่อน ไม่ว่าจะหันหน้าไปทิศไหนก็ตาม นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจากบ่อน้ำกลมขนาดเล็กปูพื้นด้วยกรวด และนำประติมากรรมจากท่อน้ำมาวางพาดเป็นน้ำตก เกิดเป็นเสียงน้ำไหลรินให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เย็นฉ่ำ สื่อถึงความร่มเย็นและสงบได้เป็นอย่างดี แนวคิดในการออกแบบผลงานสวน “The Calm of Bangkok” ยังต้องการเปลี่ยนมุมมองของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่แสนจะวุ่นวายด้วยกิจกรรมความเคลื่อนไหวและตึกรามที่ดูไม่เป็นระเบียบ สู่เนื้อในที่เรียบง่ายและผ่อนคลายซึ่งแอบซ่อนอยู่ แฝงไว้ด้วยความงดงามทางวัฒนธรรมผ่านการออกแบบสวนในสไตล์มินิมอลโมเดิร์น ซึ่งเป็นสไตล์การจัดสวนที่ลดทอนรายละเอียด เน้นสัดส่วนและองค์ประกอบที่เรียบง่ายแต่คมชัด ผสมผสานวัฒนธรรมไทยเข้ากับดีไซน์ทันสมัย เน้นความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างมั่นคง ใช้ได้ยาวนาน และดูแลรักษาง่ายมาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้ที่แสวงหามุมสงบท่ามกลางความวุ่นวาย

ประติมากรรมทำจากท่อน้ำทั้งสีขาวและสีเทาออกแบบมาเพื่อสื่อถึงความวุ่นวานและไม่เป็นระเบียบของพื้นที่ภายนอกที่รายล้อมสวนในกรุงเทพมหานคร
บ่อน้ำใช้รูปแบบน้ำตกที่ต่อมาจากงานประติมากรรมของท่อน้ำมาหักและไหลลงสู่บ่อน้ำทรงกระบอกสีดำดูเรียบง่ายแต่โดดเด่นด้วยตำแหน่งกึ่งกลางและสีที่เลือก
สายน้ำที่ตกลงสู่บ่อน้ำช่วยสร้างความเคลื่อนไหวให้กับสวนดูมีชีวิตชีวาและไม่นิ่งจนเกินไป
แม้ว่าสีสันของงานฮาร์ดสเคปในสวนจะมีไม่มากด้วยโทนสีขาว ดำและเทา แต่สวนก็ดูสดใสขึ้นด้วยสีสันจากไม้ใบ

“ผลงานสวน The Calm of Bangkok มีขนาดพื้นที่ 36 ตารางเมตร เตรียมต้นไม้ไว้กว่า 1,200 ต้น เป็นสวนของบ้านในเมืองขนาดกลาง เมื่อมองจากด้านหน้าจะเป็นต้นไม้และดอกไม้หลายพันธุ์ หลากเฉดสีและและมีรูปทรงใบที่แตกต่างกัน จัดเรียงผสมผสานซ้อนทับ มีวัสดุแท่งโลหะ หรือ Pipe Sculpture สูงๆต่ำๆ แทรกอยู่ด้วย เปรียบเสมือนความไม่เป็นระเบียบและความยุ่งเหยิงของกรุงเทพฯ ถัดมาเป็นทางเดินที่ออกแบบด้วยแผ่นหินแกรนิตเซาะร่องตามยาว นำสายตาเข้ามาสู่ Shelter พื้นที่ศาลาพักผ่อนด้านในสุดที่เป็นตัวแทนของความสุข ความมั่นคงและความสงบที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย โดยระหว่างทางเดินเข้ามานั้นจะได้ซึมซับกับบรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา รวมถึงพันธุ์ไม้ล้อมรอบที่ให้ความเป็นส่วนตัวและใกล้ชิดธรรมชาติ ส่วนโครงสร้างของ The Shelter เป็นไม้โทนสีเย็น เสาสูงเปิดโล่งรับลม รอยต่อเสาใช้ประกับเหล็ก ยกพื้นจากระดับดินทำให้ดูมีมิติ ส่วนผนังหลังคากรุด้วยผ้าซีทรู ให้ความรู้สึกโปร่งเบาและไม่อึดอัด แขวนเปลซึ่งถักทอด้วยเชือกธรรมชาติจากภูมิปัญญาไทยออกมาเป็นลวดลายและโทนสีโมเดิร์นด้วยฝีมือของคุณยายฉลวย สังขรัตน์ วัย 95 ปี ชุมชนหัตถกรรม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการผสมผสานความเป็นไทยและนำเสนอในแบบโมเดิร์นได้เป็นอย่างดี ข้างเปลวางโต๊ะไม้มะม่วง ผนังบางส่วนขึงด้วยเชือกถักล้อรับกัน ส่วนด้านหลังจะเป็นกำแพงเขียวของต้นไม้ให้อากาศบริสุทธิ์” คุณพลอยเล่า

เกณฑ์การตัดสินและการให้คะแนน ของงานระดับโลกนี้ละเอียดมาก กรรมการไม่ได้ตัดสินจากเพียงความสวยงามของสวน แต่พิจารณาถึงมาตรฐานการทำงาน การวางแผน และความพิถีพิถันในการนำเสนอสวนในทุกแง่มุม ทำให้ต้องวางแผนและคำนวณเป็นพิเศษ ต้นไม้ที่เป็นประเภทไม้ดอก ดอกจะต้องออกในวันที่แสดงโชว์ จึงจะได้คะแนน เน้นการปลูกลงดินจริงๆ ต้นไม้ ดอกไม้ ต้องโตในพื้นที่จริงๆ เท่านั้น  แหล่งที่มาของวัสดุที่ใช้ต้องได้รับการรับรองว่ามีมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงพฤติกรรมและมารยาทในการทำงานในทุกขั้นตอน

คาลล่า ลิลี่ดชว์ลวดลายของใบที่มีเส้นสายสวยงาม
ซุ้มกระต่ายเขียวออกดอกสีขาวดูน่ารัก
มหาหงษ์ต้นไม้ตระกูลข่าออกดอกสีขาวเป็นฉากหลัง

คุณบอยสรุปท้ายให้ข้อคิดเห็นถึงคุณค่าและการใช้ประโยชน์ของสวนบ้านในเมืองในภาวะโควิด-19 ว่า “สังคมและโลกที่น่าอยู่ เริ่มต้นได้จากสวนภายในบ้าน สวนของบ้านในเมืองเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคนเมืองยุค Next Normal มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายระลอกที่ทำให้คนไทยและหลายประเทศใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทำงานที่บ้าน เด็กๆสลับเรียนออนไลน์ที่บ้าน การใช้พื้นที่สวนกลางแจ้งในบ้านนับเป็นการเชื่อมต่อชีวิตกับธรรมชาติ สายลมและแสงแดด ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจ ทั้งเสริมสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว อันเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งของชีวิตที่ดีและมีความสุข อีกทั้งเป็นพลังของคนเมืองที่จะช่วยกันลดสภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ชุมชนและสังคมที่เราอยู่อาศัยอีกด้วย”

กกลังกา
เฟินเกล็ดหอย


เรื่อง : เอกสารประชาสัมพันธ์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ