น้ำยาเร่งราก

รีวิวน้ำยาเร่งรากยี่ห้อต่างๆในท้องตลาด สำหรับปักชำต้นไม้

น้ำยาเร่งราก
น้ำยาเร่งราก

เชื่อว่าในช่วงที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ต้นไม้ในสวนเริ่มแตกกิ่งก้านยืดยาวให้ต้องตัดแต่งใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะเริ่มตัดและขยายพันธุ์ต้นไม้ด้วยวิธีง่ายๆอย่างการปักชำ

โดยเฉพาะกับเหล่าต้นไม้ใบและต้นไม้ด่างสะสมที่ช่วงเวลานี้สามารถปลูกเพื่อทำจำนวนและจำหน่ายต่อได้ ซึ่งหากนำกิ่งที่ตัดไปปักชำเลย รากก็อาจแตกช้าไม่รวดเร็วทันใจ เราจึงจำเป็นต้องมีตัวช่วยอย่าง น้ำยาเร่งราก ปัญหาคือในท้องตลาดก็มีหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ เราจึงขออาสากวาดซื้อทุกยี่ห้อที่หาได้ มาทดลองปลูกเปรียบเทียบรากให้เห็นผลกันจะๆไปเลยว่าแต่ละยี่ห้อให้ผลเป็นอย่างไร

น้ำยาเร่งราก
นำ้ยาเร่งรากทั้งหมดที่ใช้ในการทำลองครั้งนี้

เราใช้กิ่งของต้นเล็บครุฑด่างที่ปลูกและขยายพันธุ์ง่ายในระดับกลางๆมาเป็นตัวทดสอบร่วมกับยาเร่งรากทั้งหมด 5 ยี่ห้อ ได้แก่ ไฮรูท-V,เอิร์ทรูท,บี-1,ไลเกอร์-รูท และเอ็กโซติค กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช้ยาเร่งรากเลย โดยเราใช้กิ่งเล็บครุฑด่างที่ตัดมาจุ่มยาเร่งราก จากนั้นนำไปปลูกต่อในถาดตะกร้าพลาสติกที่ภายในใช้แกลบดำเป็นวัสดุปลูก ระยะเวลาทดลองปลูกประมาณ 1 เดือน

รากที่ไม่ได้ใช้ยาเร่งรากเลย

ไม่ได้ใช้ยาเร่งราก

ปกติแล้วต้นเล็บครุฑด่างสามารถตัดแล้วนำไปปักชำในดินหรือปักชำน้ำได้เลย ซึ่งสามารถแตกรากออกมาได้เอง แต่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร โดยการปักชำน้ำจะได้ผลดีกว่าปักชำดิน ในการทดลองครั้งนี้พบว่าบางกิ่งที่ปักชำไม่เกิดรากและตายไปจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นหากสังเกตดีๆ รากจะแตกแค่บริเวณแผลและรอยตัดเท่านั้น ซึ่งทำให้มีรากออกน้อยกว่าต้นที่จุ่มยาเร่งรากก่อนปลูก

น้ำยาเร่งราก
ยาเร่งราก ยี่ห้อ ไฮรูท-V

ยาเร่งราก ยี่ห้อไฮรูท-V

มีลักษณะเป็นสารสังเคราะห์ชนิดผงต่างจากยี่ห้ออื่นๆที่เป็นของเหลว ประกอบด้วยวิตามินบี1 เหล็กคีเลท โปรตีน อะมิโน ซิลิกอน ที่มีประโยชน์ต่อการแตกรากของต้นไม้ ช่วยให้รากเจริญเติบโตได้ดี ฟื้นตัวเร็ว ซึ่งวิธีใช้คือ นำผงยาเร่งราก 30 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงนำไปปักชำในแปลง

ผลการทดลอง คือ มีรากแตกออกมาจำนวนหนึ่งที่บริเวณเปลือกของกิ่งที่มีอายุมาก แต่บริเวณแผลที่ตัดไม่ค่อยมีรากแตกออกมาเท่าใดนัก

น้ำยาเร่งราก
ยาเร่งรากยี่ห้อ เอิร์ทรูท

ยาเร่งราก ยี่ห้อเอิร์ทรูท

สารเร่งรากที่ช่วยให้กิ่งปักชำสามารถแตกรากใหม่ได้รวดเร็ว ได้ปริมาณรากมากและมีความแข็งแรงสูง ใช้ได้กับต้นไม้ทุกชนิด โดยใช้น้ำยาทาไปในบริเวณที่ตัด รอยปลิด หรือรอบบากที่กิ่งพันธุ์ ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าไปกระตุ้นให้รากแตกรากใหม่อย่างรวดเร็ว

ผลการทดลอง คือ มีรากออกมาเป็นจำนวนมากและยาวกว่ากิ่งที่ใช้ยาเร่งรากยี่ห้ออื่นอย่างเห็นได้ชัด แต่น้ำยาค่อนข้างแรง อาจเหมาะกับต้นไม้ที่มีเนื้อกิ่งแข็งเท่านั้น เพราะกิ่งของต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ทดลองจะเหี่ยวตายไปในช่วงสัปดาห์แรก แต่ต้นที่รอดจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่แนะนำให้นำไปใช้กับการปักชำในน้ำ

น้ำยาเร่งราก
ยาเร่งราก ยี่ห้อ บี-1

ยาเร่งราก ยี่ห้อบี-1

ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารรองหรือธาตุอาหารเสริม อย่างแมกนีเซียมและกำมะถัน ช่วยเสริมปริมาณการแตกรากในกิ่งตอนหรือกิ่งปักชำ ทำให้ต้นไม้ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ลดการโทรมของต้นไม้ขุดล้อม ช่วยให้ต้นไม้ดูดสารอาหารได้มากขึ้น วิธีใช้คือนำน้ำยาเร่งรากปริมาณ 50 ซีซีกับน้ำ 20 ลิตรแล้วรดไปที่แปลงปลูก

ผลการทดลอง คือ มีรากแตกออกมาในระดับหนึ่ง ทั้งบริเวณเปลือกของกิ่งที่มีอายุมากและแผลที่ตัด เหมาะกับใช้ปักชำน้ำและปักชำในดิน

ยาเร่งราก ยี่ห้อไลเกอร์-รูท

ยาเร่งราก ยี่ห้อไลเกอร์-รูท

สารสกัดอินทรีย์กรดฟูลวิคที่อยู่ในกลุ่มของกรดฮิวมิคแต่มีขนาดโมเลกุลเล็กกว่า ต้นไม้จึงดูดซึมได้ดีกว่า ช่วยในเรื่องการงอกของเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งการเติบโตของราก ทำให้เกิดราก เหมาะกับการใช้ขยายกล้าไม้ทั้งกิ่งตอนและกิ่งปักชำ วิธีใช้คือ น้ำยาเร่งราก 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำเปล่า 2 ลิตร จากนั้นแช่กิ่งที่ตัดเพื่อปักชำ ไว้ 20-30 นาที แล้วนำไปปักชำ

ผลการทดลอง คือ มีรากแตกออกมาในระดับดี แทบไม่มีกิ่งที่ตายหรือไม่ออกรากเลย เกิดรากทั้งในบริเวณเปลือกของกิ่งที่มีอายุมากและแผลที่ตัด เหมาะกับใช้ปักชำน้ำและปักชำในดิน

ยาเร่งราก ยี่ห้อเอ็กโซติค

น้ำยาเร่งราก ยี่ห้อเอ็กโซติค

ปุ๋ยเคมีน้ำที่ให้ธาตุอาหารรองคือ แคลเซียม ซึ่งช่วยให้ต้นไม้แข็งแรง คุณสมบัติส่วนใหญ่คือการช่วยสร้างโปรตีนให้ส่วนต่างๆแน่นขึ้น สามารถสะสมอาหารและเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ วิธีใช้คือนำกิ่งปักชำลงในน้ำยาเร่งราก 3-5 นาที จากนั้นนำขึ้นมาทิ้งไว้ให้หมาด แล้วจึงปลูกกิ่งปักชำลงในแปลงทดลอง

ผลการทดลอง คือ มีรากแตกออกมาในระดับที่ดี โดยเฉพาะบริเวณเปลือกของกิ่งที่มีอายุมาก แต่บริเวณแผลที่ตัดไม่ค่อยมีรากแตกออกมาเลย บางกิ่งมีปริมาณรากที่แตกออกมามากน้อยแตกต่างกันไป


หมายเหตุ : การทดลองนี้ใช้กับต้นไม้แค่หนึ่งชนิด ซึ่งหากนำไปใช้กับต้นไม้ชนิดอื่นอาจได้ผลการทดลองที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้อาจมีตัวแปรภายนอกอย่างแสงแดด ความชื้น และอุณหภูมิเป็นสิ่งเร้าทำให้เกิดผลการทดลองดังกล่าว


เรื่อง : ปัญชัช

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข