การจัดการกับต้นไม้ และพื้นที่สวนที่อยู่ติดกับบ้านหรือพื้นที่สวนคอร์ตยาร์ด

คอร์ตยาร์ดและบริเวณข้างบ้านไม่อาจดูสวยงามสมบูรณ์ได้เลยหากขาดสวนและต้นไม้ แต่ด้วยลักษณะพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมจากหลายทางและติดกับโครงสร้างสถาปัตยกรรม ทำให้พื้นที่ต้นไม้และสวนที่อยู่ติดกับบ้าน รวมไปถึงพื้นที่สวนคอร์ตยาร์ด มีจุดเด่นและรายละเอียดต่างจากสวนที่จัดทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภายนอกอาคาร หรือสเปซกว้าง ๆ ที่โอบล้อมอาคารเอาไว้

ตาม บ้านและสวน มาเรียนรู้วิธี การจัดสวนใกล้โครงสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้ต้นไม้และการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ลักษณะนี้กันเถอะ

รากของต้นไม้ใหญ่ในความเป็นจริงต่างจากที่เราคิดมากนัก รากจะมีขนาดและความลึกลงไปในดินเหมือนการแผ่กิ่งก้านด้านบน เพราะต้นไม้ใหญ่ที่โตแล้วจะหยุดแทงรากแก้วลึกลงดินแต่จะแผ่เป็นรากแขนงไปด้านข้าง โดยระยะการแผ่จะเป็นครึ่งหนึ่งหรือสองเท่าของความสูงของต้น

การเลือกไม้ประธาน

การเลือกไม้ยืนต้นเป็นตัวเลือกแรกที่หลายคนเลือกใช้ เพราะ ให้ความรู้สึกของสวนและธรรมชาติได้ในทันทีที่ปลูก ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความร้อนจากแดดแก่คอร์ตยาร์ดและพื้นที่ภายในบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่มีช่องเปิดทางทิศตะวันตกและทิศใต้ อีกทั้งด้วยลักษณะทรงต้นที่ส่วนใหญ่จะสูงตรงและแผ่ออกด้านบน ทำให้บริเวณใต้ต้นไม้ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกมาก สิ่งสำคัญในการเลือกไม้ยืนต้นมีทั้งเรื่องของกิ่งที่อาจหักและระบบรากที่อาจไปทำอันตรายแก่โครงสร้างฐานรากของบ้านที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งเรามองไม่เห็น จึงมีข้อควรระวัง ดังนี้

– พื้นคอร์ตยาร์ดควรมีระยะความกว้างที่มีแสงแดดส่องถึง อย่างน้อย 4 เมตร โดยต้นไม้ควรมีรูปทรงต้นแบบพีระมิด รูปทรงกระบอก หรือรูปทรงไข่ที่สูงชะลูดขึ้นด้านบน เนื่องจากต้นไม้ทุกชนิดโดยเฉพาะไม้ยืนต้นต้องการแสงแดดในการสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร ระยะดังกล่าวเป็นระยะแคบที่สุดที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งพอจะเจริญเติบโตและแผ่กิ่งก้านได้ในพื้นที่ที่มีร่มเงาจากอาคารมาทาบเกือบทั้งวัน ซึ่งก็มีต้นไม้เพียงบางชนิดเท่านั้นที่สามารถเติบโตได้ในพื้นที่จำกัดขนาดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ประเภทปาล์ม น้ำเต้าต้น ลั่นทม ไทรใบสัก ยางอินเดีย เป็นต้น ซึ่งหากมีพื้นที่กว้างขวางก็สามารถเลือกใช้ต้นไม้อื่นที่เหมาะสมกว่าได้

– ไม้ยืนต้นที่ปลูกควรจะมีกิ่งที่สูงโปร่งไม่แผ่ออกด้านข้างมากนัก เนื้อไม้โดยเฉพาะบริเวณกิ่งต้องแข็งแรง ไม่เปราะหรือหักง่าย นอกจากนั้นยังควรหมั่นตัดแต่งให้เรือนยอดไม่สูงเด่น แน่นทึบ หรือเทน้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป ให้มีขนาดทรงพุ่มเหมาะสมกับตัวกระบะปลูกหรือภาชนะปลูกที่มีรากอยู่ใต้ดิน

– ระบบรากไม่แผ่ออกด้านข้างมากเกินไปและไม่ลอยเหนือดิน ต้นไม้ในเขตร้อนส่วนมากเมื่อโตเต็มที่รากแก้วจะค่อย ๆ หายไป รากทั้งหมดจะกลายเป็นรากแขนง ซึ่งเราสามารถคาดเดาขนาดของรากข้างใต้ได้จากการแผ่ของกิ่ง ต้นไม้ที่ไม่แนะนำให้ปลูกจะมีรูปทรงลำต้นเป็นฉัตร หรือแผ่ออกกว้างด้านข้าง เช่น จามจุรี หางนกยูงฝรั่ง หูกระจง หูกวาง การตัดแต่งรากทำได้โดยการเปิดหน้าดินเหนือรากและตัดให้มีระยะห่างจากโครงสร้างอาคารประมาณ 50 เซนติเมตร ระวังไม่ให้เนื้อไม้ฉีกขาด จากนั้นจึงกลบดินตามเดิม

-หลีกเลี่ยงต้นไม้ที่มีคุณสมบัติไม่พึงประสงค์และอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ เช่น ต้นไม้ที่มียางเป็นพิษ ต้นไม้ที่มีขนคันตามผิวใบหรือลำต้น และต้นไม้ที่มีใบหรือดอกขนาดเล็กที่ร่วงเป็นปริมาณมาก ซึ่งนอกจากจะต้องเหนื่อยในการทำความสะอาดแล้ว ยังอาจไปอุดตันระบบระบายน้ำรอบคอร์ตยาร์ดได้อีกด้วย

สำหรับไม้ยืนต้นที่มีอยู่เดิมในบริเวณคอร์ตยาร์ดให้ตัดรากห่างจากโครงสร้างสำคัญอย่างฐานรากอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และหลีกเลี่ยงการเทพื้นลานคอนกรีตรอบๆ เพราะรากต้นไม้จะไม่สามารถรับน้ำได้ ควรเว้นเป็นพื้นดินที่น้ำซึมลงดินได้ตามรัศมีของทรงพุ่มด้านบน

การเลือกไม้พุ่ม

ไม้พุ่มเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการปลูกทดแทนไม้ยืนต้นในพื้นที่คอร์ตยาร์ดที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก อีกทั้งยังมีอาคารสูงล้อมรอบอยู่ ทำให้แสงแดดส่องลงมาได้น้อย มีลมค่อนข้างแรง หรือไม่ต้องการร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ช่วย ไม้พุ่มส่วนใหญ่นั้นไม่ต้องเตรียมระบบโครงสร้างฐานรากที่รองรับน้ำหนักหรือการแผ่ขยายของราก โดยอาจเลือกไม้พุ่มขนาดใหญ่ที่ปลูกทดแทนไม้ยืนต้นได้  ซึ่งต้นที่ยังพอเจริญเติบโตได้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเพียงครึ่งวัน ได้แก่ กะพ้อ แก้ว แก้วเจ้าจอม จั๋งจีน จันทน์ผา พุดกังหัน โมก หมากเขียว หมากเหลือง เป็นต้น

ไม่แนะนำให้ปลูกไม้พุ่มร่วมกับไม้ยืนต้นในคอร์ตยาร์ดที่มีขนาดไม่ใหญ่ เนื่องจากในอนาคตเมื่อไม้ยืนต้นเจริญเติบโตเต็มที่จะไปบดบังแสงแดดให้ส่องลงมาถึงไม้พุ่มด้านล่างได้น้อยลง ทำให้รูปทรงของไม้พุ่มที่เราปลูกไม่ตั้งตรงและแตกกิ่งก้านสาขา แต่จะยืดขึ้นไปหาแสงแดด อีกทั้งยังมีจำนวนใบและดอกน้อยกว่าปกติ จนอาจตายได้ในที่สุด นอกจากนี้การปลูกไม้พุ่มคู่กับไม้คลุมดินเตี้ย ๆ หรือปลูกในพื้นที่โล่งยังช่วยให้ไม้พุ่มดังกล่าวดูสูงขึ้นด้วย

ไม้พุ่มหลายชนิดและขนาดนำมาจัดวางเป็นมุมสวนหย่อมบริเวณพื้นที่คอร์ตยาร์ด ควรจัดเพียงทิศใดทิศหนึ่งที่แสงแดดส่องลงมาได้ ซึ่งต้นที่สามารถปลูกได้ส่วนมากจะเป็นไม้สไตล์ทรอปิคัล เช่นปาล์ม ปรง และหมากผู้หมากเมีย

การเลือกไม้คลุมดิน

เหมาะสำหรับพื้นที่คอร์ตยาร์ดที่มีขนาดใหญ่พอที่แสงแดดจะสามารถส่องลงมาถึงพื้นด้านล่างได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่ช่วงแสงและเงาทอดยาวกว่าปกติ หรือเป็นพื้นที่ลานแข็งปูด้วยคอนกรีตมาก่อนการเลือกปลูกไม้คลุมดินหรือหญ้า เพราะ ไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องระบบรากที่อาจไปรบกวนโครงสร้างของฐานรากหรือน้ำหนักจากชั้นดินปลูกและตัวต้นไม้เอง แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือการเลือกชนิดพรรณไม้ที่ปลูก หากเป็นสนามหญ้า แม้จะเป็นหญ้ามาเลเซียที่สามารถเติบโตได้ในพื้นที่แสงแดดครึ่งวัน ก็ควรแน่ใจว่าบริเวณคอร์ตยาร์ดจะมีแสงส่องถึงอย่างน้อยครึ่งวันเพียงพอ ยิ่งหากปลูกร่วมกับต้นไม้ใหญ่ยิ่งควรหาไม้คลุมดินชนิดอื่นสำหรับปลูกทดแทนหญ้า เช่น หนวดปลาดุกแคระ พลูด่าง สะระแหน่ประดับ

การใช้กรวดและหญ้าเล่นลวดลายกับพื้นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งนอกจากช่วยเรื่องความสวยงามและสร้างจุดเด่นให้พื้นที่คอร์ตยาร์ดแล้ว ยังเป็นการลดภาระในการดูแลหญ้าทั้งสนามหรือไม้คลุมดินด้วย

ต้นไม้และงานโครงสร้างของบ้าน

เพราะต้นไม้ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ คือ ต้นไม้ที่แข็งแรง ประหยัด และเหมาะกับการรักษาไว้ที่สุด ก่อนสร้างบ้านจึงควรสำรวจต้นไม้ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ให้ดีเสียก่อนว่าต้นไม้ต้นไหนยังมีรูปทรงที่สวยงามและระบบรากไม่มีปัญหาต่ออาคารในอนาคต จากนั้นจึงออกแบบวางแปลนให้พื้นที่คอร์ตยาร์ดโอบล้อมต้นไม้ดังกล่าว ซึ่งในพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงอย่างกรุงเทพฯ ควรระวังเรื่องรากแขนงบริเวณผิวดินด้วย ตัวบ้านและงานโครงสร้างควรอยู่ห่างจะบริเวณรากผิวดินอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และในขั้นตอนการก่อสร้างเองต้องตรวจตราน้ำปูนคอนกรีตจากการก่อสร้างไม่ให้ไหลไปที่ราก หรือได้แรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็มมากเกินไป หากพิจารณาว่าอาจส่งผลกระทบก็จำเป็นต้องล้อมออกมาพักอนุบาลไว้ชั่วคราว ก่อนนำกลับไปปลูกไว้ตามเดิม

สำหรับต้นไม้ล้อมขนาดใหญ่ที่ต้องการนำมาปลูกในคอร์ตยาร์ดควรพิจารณาช่วงเวลาในการนำเข้ามาปลูกหรือวางเตรียมไว้สำหรับรอปลูกภายในบริเวณคอร์ตยาร์ด ก่อนที่จะสร้างประตูและกำแพงที่อาจทำให้การขนย้ายเข้ามาภายในยุ่งยากและไม่สะดวกนัก โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งคนไม่สามารถยกได้เอง จำเป็นต้องใช้เครนยก แต่ก็ควรนำเข้าหลังงานโครงสร้างเทคอนกรีตเสร็จสิ้นแล้วระยะหนึ่ง ดังนั้น การออกแบบสวนคอร์ตยาร์ด ควรทำพร้อมกับการออกแบบและก่อสร้างบ้านไปด้วยเลยจะดีที่สุด

เมื่อเราวางแผนการปลูกต้นไม้ใหญ่ตั้งแต่ต้น จะทำให้สถาปนิกสามารถออกแบบช่องแสงและตัวบ้านให้เหมาะสมกับต้นไม้ดังกล่าว อีกทั้งยังทำให้ต้นไม้ที่ปลูกใหม่สวยงามได้เร็วกว่าการเตรียมต้นไม้ใหญ่หลังสร้างบ้านเสร็จ

จากนั้นทำค้ำยันให้มั่นคงซึ่งแนะนำให้ทำค้ำยันแบบถาวร เพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่ต้นไม้ล้มทับตัวบ้าน โดยใช้เสาเข็มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ตอกลงดินลึก 2-3 เมตร จากนั้นเทปูนคอนกรีตเสริมเหล็กรัดหัวเสาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30-40 เซนติเมตร โดยมีแป้นเหล็กเชื่อมด้านบนขนาด 20 x 20เซนติเมตร ยึดด้วยเหล็กเส้นกัลวาไนซ์ที่ฐานตอม่อทำมุมเอียงรับกับลำต้น ทั้ง 4 ด้าน

ภาพตัดแสดงการทำค้ำยันแบบถาวร ไม่ให้ต้นไม้ที่นำมาปลูกล้มเอนลงได้ โดยเฉพาะหากเกิดมีลมพายุ

ระยะและความลึกของกระบะปลูก

การปลูกต้นไม้ในคอร์ตยาร์ตส่วนใหญ่นิยมปลูกภายในกระบะปลูก เพื่อควบคุมรากต้นไม้ให้ชอนไชอย่างเป็นระเบียบและไม่กระทบต่อโครงสร้างหรือสิ่งก่อสร้างโดยรอบ ซึ่งกระบะปลูกมีทั้งแบบมีก้นเป็นคอนกรีตด้านล่าง ซึ่งควรมีท่อระบบน้ำที่บริเวณก้นกระบะปลูกด้านล่างสุด และกระบะปลูกหล่อคอนกรีตที่ทำเป็นเพียงขอบด้านข้างเท่านั้น สำหรับกระบะปลูกหญ้าหรือไม้คลุมดินทั่วไป อาจทำกระบะสูงสำหรับใส่ดินปลูกและทรายบริเวณผิวดินเพียง 20-30 เซนติเมตรก็พอ แต่หากต้องการปลูกไม้ใหญ่หรือไม้พุ่มรวมอยู่ด้วยต้องมีความสูงของกระบะ หรือชั้นดินอย่างน้อยประมาณ 50-80 เซนติเมตร

หากปลูกไม้ใหญ่หรือไม้พุ่มภายในกระบะปลูกชั้นล่างเหนือท่อระบายน้ำหรือชั้นดินเดิมควรใช้หินทั่วไปขนาด 6-12 นิ้วรองก้นก่อน เพื่อให้รากต้นไม้ยึดเกาะกับหินด้านล่าง ลดโอกาสในการโค่นล้มได้ง่าย ส่วนชั้นกลางให้ใส่หินขนาดรองลงมาตามความเหมาะสมเพื่อสะดวกต่อการระบายน้ำ ด้านบนสุดสำหรับต้นไม้ควรใส่ดินผสมที่หนาอย่างน้อย 6-12 นิ้ว

หากปลูกต้นไม้ในกระถางสำเร็จรูปควรเลือกขนาดกระถางที่เหมาะสมกับต้นไม้ โดยทั่วไปจะมีอัตราส่วนระหว่างขนาดต้นด้านบนเหนือผิวดินกับตัวกระถางประมาณ 3:2 จากนั้นควรใส่หินขนาดใหญ่รองชั้นล่างสุดหนา 1-3 นิ้วก่อน และควรหลีกเลี่ยงการไปวางในบริเวณที่ลมแรง โดยเฉพาะไม้ยืนต้นและไม้พุ่มขนาดใหญ่ เพราะแรงลมจะทำให้ต้นไม้เหวี่ยงไปมาและกระถางอาจล้มแตกได้ง่าย

กระบะสำหรับปลูกไม้ใหญ่และจัดสวนภายในคอร์ตยาร์ด ซึ่งภายในกระบะควรรองด้วยวัสดุกันความชื้นหรือวัสดุกันชื้นใต้กระถาง เช่น แผ่นยางกันซึม
กระบะสำหรับปลูกสนามหญ้าหรือไม้คลุมดินในบริเวณคอร์ตยาร์ด

ออกแบบฟังก์ชันในสวน

สวนคอร์ตยาร์ดมักมีการใช้งานที่ไม่ได้เจาะจงนัก โดยทั่วไปจะใช้เป็นจุดเชื่อมต่อของบ้านจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งโดยผ่านพื้นที่เปิดโล่งและสวน หรือทำหน้าที่เพียงสร้างทิวทัศน์ของธรรมชาติให้ภายในและภายนอกบ้านเท่านั้น บางครั้งก็อาจทำหน้าที่เป็นได้ทั้งสองอย่าง ดังนั้น การใช้งานทั่วไปคือการกำหนดทางเดินภายในสวนคอร์ตยาร์ดว่าเดินจากห้องใดไปห้องใด ซึ่งสวนคอร์ตยาร์ดจะทำหน้าที่เชื่อมต่อการใช้งานของห้องนั้น ๆ เช่น ทำหน้าที่เชื่อมต่อเป็นทางลัด ระหว่างห้องนั่งเล่นไปสู่ห้องครัว ตัวคอร์ตยาร์ดอาจทำหน้าที่เป็นมุมกินข้าวสำหรับนอกบ้านได้ แต่หากสวนคอร์ตยาร์ดมีขนาดไม่ใหญ่มากควรเน้นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่สามารถยกย้ายได้ง่าย กลายเป็นลานโล่ง เพื่อสะดวกกับการเดินหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมได้เรื่อย ๆ

หากยังไม่มีฟังก์ชันที่ชัดเจนด้วยขนาดพื้นที่ไม่มาก และหลายฟังก์ชันสามารถทำในบ้านได้ อาจออกแบบเป็นมุมนั่งเล่นโดยใช้ประโยชน์จากกระบะปลูกเพื่อลดพื้นที่ในการเดินผ่านและยังสร้างความโดดเด่นให้สวนได้อีกด้วย ซึ่งควรมีการวางระบบไฟสำหรับให้แสงสว่างที่เหมาะสมและปลอดภัยและวางระบบสำหรับรดน้ำต้นไม้ตามสมควร

การจัดสวนใกล้โครงสร้างอาคาร
คอร์ตยาร์ดของบ้านบริเวณที่ได้รับแสงแดดมากที่สุด ออกแบบให้เป็นส่วนสำหรับปลูกต้นไม้ ส่วนที่ได้รับแสงน้อยอยู่ติดกับตัวบ้านเป็นลานอเนกประสงค์สำหรับเป็นมุมนั่งเล่น
การจัดสวนใกล้โครงสร้างอาคาร
พื้นที่ขอบกระบะปลูกหรือแปลงปลูกออกแบบให้เป็นที่นั่งยาวสำหรับนั่งเล่นและวางของได้เมื่อยังไม่ได้มีการใช้งาน อีกทั้งยังทำให้สวนดูเป็นระเบียบ น่าสนใจมากขึ้น

เรื่อง : ปัญชัช

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน