ปลูกบอนที่ไม่ใช่บอนสี อโลคาเซีย(Alocasia)และโคโลคาเซีย(Colocasia) ที่น่าสะสม

เพราะกระแสต้นไม้ใบยังคงฮอตฮิตและไม่จางหายไปจากความสนใจของใครหลายๆคนง่ายๆ บางชนิดราคาถูกลง เปิดโอกาสให้เหล่านักสะสมหน้าใหม่สามารถเริ่มหามาปลูกได้สบายกระเป๋า และหลายชนิดกำลังกลับมาเป็นที่นิยมและสนใจของเหล่านักสะสมไม้ใบในขณะนี้ รวมอโลคาเซีย (Alocasia) หรือที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยในชื่อบอนกระดาด แก้วหน้าม้า หรือ นางกวัก และโคโลคาเซีย (Colocasia) ได้แก่ เผือก หรือบอนแกง ซึ่งสำหรับใครที่พึ่งเคยได้ยินหรือไม่รู้จัก ลองมารู้จักต้นไม้กลุ่มบอนเหล่านี้ที่น่าสนใจกัน

อโลคาเซียลูกผสม ‘แบมบิโนแอร์โรว์’

รู้จักอโลคาเซีย และ โคโลคาเซีย

อโลคาเซียและโคโลคาเซียเป็นสกุลหนึ่งในวงศ์ ARACEAE จึงมีลักษณะที่คล้ายกับญาติในวงศ์ตัวอื่นๆอย่างบอนสี อโกลนีมา ฟิโลเดนดรอน หน้าวัวใบ ฯลฯ โดยเฉพาะรูปทรงของดอกและรูปร่างของใบ อโลคาเซียที่เรามักนำใช้ประโยชน์และพบเห็นได้ทั่วไป คือบอนกระดาดที่เรานิยมนำมาปลูกประดับในสวนสไตล์ทรอปิคัล นอกจากนั้นยังมีไม้กอขนาดย่อมๆที่เรานิยมนำมาปลูกในกระถางตั้งไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างนางกวัก แก้วหน้าม้า หรือแก้วสารพัดนึก ส่วนโคโลคาเซียจะนิยมปลูกไว้บริโภค มีว่านมเหศวรและว่านลิงค์ดำที่เป็นต้นไม้มงคลเช่นกัน

อโลคาเซียและโคโลคาเซียเป็นต้นไม้ล้มลุกอายุหลายปี พบได้ในธรรมชาติแถบเอเชียและออสเตรเลีย มักขึ้นในป่าดิบชื้นหรือตามริมแหล่งน้ำ หลายชนิดจะเหลือเพียงเหง้าหรือกอเล็กๆในช่วงฤดูหนาว

หลายคนเข้าใจผิดหรือแยกไม่ออกระหว่างต้นไม้ในสกุลอโลคาเซีย กับ โคโลคาเซีย (Colocasia) ได้แก่ เผือก บอนแกง บอนห้วย ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อ Alocasia ที่แปลว่า “ไม่ใช่โคโลคาเซีย” จุดสังเกตที่ชัดที่สุดของต้นไม้สองสกุลนี้คือลักษณะของหัว อโลคาเซียจะมีลำต้นอยู่ใต้ดินในลักษณะของเหง้ายาว มีลำต้นเหนือดินที่เกิดจากการซ้อนกันของกาบใบ ส่วนโคโลคาเซียจะมีหัวขนาดใหญ่ชัดเจน ไม่มีลำต้น ซึ่งสังเกตได้ชัดจากการแตกหน่อ อโลคาเซียแต่ละต้นจะแตกหน่อค่อนข้างชิดกันกับต้นเดิม แต่โคโลคาเซียจะแตกหน่อห่างจากต้นเดิมมาเล็กน้อย สาระสำคัญในการจำแนกต้นไม้สองสกุลนี้ คือลักษณะการปลูก อโคคาเซียมาชอบความชุ่มชื่นและแสงแดดรำไร แต่ไม่สามารถปลูกในบริเวณที่น้ำท่วมถึงได้ มีความทนต่อน้ำท่วมขังต่ำ ในขณะที่โคโลคาเซียชื่นชอบบริเวณที่มีน้ำท่วมขังและแสงแดดจัด ยกเว้นบางพันธุ์ที่ใบมีลายด่างจะต้องการแสง 50-60 เปอร์เซ็นต์ 

อโลคาเซียสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดและพบครั้งแรกบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย

การปลูกและดูแลอโลคาเซีย

  • อโลคาเซียชอบดินร่วนชุ่มชื้นสูง ไม่ควรปล่อยให้วัสดุปลูกแห้ง แต่ต้องไม่มีน้ำขังเพราะอาจรากน่าได้ง่าย ต่างจากโคโลคาเซียที่ชอบขึ้นในบริเวณที่มีน้ำขัง
  • ชอบแสงแดดรำไรประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีบางชนิดที่ทนต่อแสงแดดจัดได้ หากร่มเกินไปต้นมักโทรม ไม่แข็งแรง
  • รดน้ำเพียงวันละครั้งก็เพียงพอ
  • การใส่ปุ๋ยสามารถใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว หรือปุ๋ยละลายช้าตามสะดวกในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยในฤดูแล้ง
  • ถ้าให้น้ำและสารอาหารเพียงพอจะมีขนาดต้นใหญ่หลายเท่าตัว แทนที่จะมีจำนวนใบหรือแตกหน่อมาก ตรงกันข้ามหากเลี้ยงให้อดอยากในกระถางเล็กๆจะให้หน่อเยอะกว่า
  • โรคแมลงที่สำคัญคือหนอนผีเสื้อ มักจะมากินก้านและใบ และอาจไปถึงเหง้า ต้องหมั่นตรวจสอบและทำลาย

ข้อควรระวัง อโลคาเซียเกือบทุกชนิดมีสารแคลเซียมออกซาเลต เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปจับตัวกับแคลเซียม ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในส่วนที่สัมผัส อาการเช่น ปากบวม และหายใจลำบาก หากสัมผัสผิวหนังก็จะเป็นผื่นแดงและคัน ควรปลูกให้อยู่ห่างจากบริเวณที่มีเด็กหรือคนเดินผ่านไปมา

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ส่วนมากใช้วิธีแยกหน่อ เมื่อต้นเริ่มแตกหน่อ หากต้องการจำนวนเยอะอาจใช้วิธีปั่นตา (tissue culture) ส่วนวิธีตัดเหง้ามาเป็นแว่นๆและชำ แต่ก็เสี่ยงต่อการเน่าและเป็นเชื้อราได้

อโลคาเซียชนิดต่างๆที่กำลังเป็นที่นิยม

อโลคาเซีย
กระดาดด่าง

1.กระดาดด่าง

อโลคาเซีย มาโครไรซอส (ด่าง)

Alocasia macrorrhizos (Variegated)

อโลคาเซีย
โอกินาว่า ซิลเวอร์ ในงานบ้านและสวนแฟร์ 2020

2.โอกินาว่า ซิลเวอร์

อโลคาเซีย ออโดร้า ‘โอกินาว่า ซิลเวอร์’

Alocasia odora ‘Okinawa Silver’

เซเรนดิพิตี้ ภาพจาก Aroidia Research

3.เซเรนดิพิตี้

อโลคาเซีย ลูกผสม ‘เซเรนดิพิตี้’

Alocasia hybrid ‘Serendipity’

อโลคาเซีย
อโลคาเซีย สคัลปรัม

4.อโลคาเซีย สคัลปรัม

A. scalprum A.Hay

อโลคาเซีย
นางกวักกลาย

5.นางกวักกลาย

อโลคาเซีย คูคัลลาตา ‘คริงเคิลส์’

A. cucullata ‘Crinkles’

นางกวักด่าง

6.นางกวักด่าง

อโลคาเซีย คูคัลลาตา ‘มูนแลนดิ้ง’

A. cucullata ‘Moon Landing’

อโลคาเซีย หนังช้าง ภาพจาก Dex Ezekie

7.อโลคาเซีย หนังช้าง

อโลคาเซีย เนบิวลา

A. nebula A.Hay

ฟรายเด๊ก  ภาพโดย Severin Candrian

8.ฟรายเด๊ก

อโลคาเซีย มิโชลิทเซียน่า ‘ฟรายเด๊ก’

Alocasia Micholitziana ‘Frydek’

อโลคาเซีย
อโลคาเซีย เลาเทอร์บาเกียนา

9.อโลคาเซีย เลาเทอร์บาเกียนา

A. lauterbachiana (Engl.) A.Hay

อโลคาเซีย บรานซิโฟเลีย

10.อโลคาเซีย บรานซิโฟเลีย

A. brancifolia  (Schott) A.Hay

อโลคาเซีย
ม้าลาย

11.ม้าลาย

อโลคาเซีย ซีบรินา

A. zebrina Schott ex Van Houtte

สติงเรย์

12.สติงเรย์

อโลคาเซีย มาโครไรซอส ‘สติงเรย์’

A. macrorhizos (L.) G.Don ‘Stingray’

เพอร์เฟิลโคล้ก

13.เพอร์เฟิลโคล้ก

อโลคาเซีย พรินเซ็ปส์ ‘เพอร์เฟิลโคล้ก’

A. princeps W.Bull ‘Purple Cloak’

แก้วหน้าม้า

14.แก้วหน้าม้า หรือ แก้วสารพัดนึก

อโลคาเซีย ลองจิโลบา

A. longiloba Miq.

แบล็ค วอลเวท ภาพ จาก smart garden guide

15.แบล็ค วอลเวท

อโลคาเซีย รีจินูล่า ‘แบล็ค วอลเวท’

Alocasia Reginula ‘Black Velvet’

โคโลคาเซียชนิดต่างๆที่กำลังเป็นที่นิยม

Colocasia esculenta ‘Mojito’
Colocasia esculenta ‘Black Coral’
Colocasia esculenta ‘Nancy’s Revenge’
Colocasia esculenta ‘White Lava’
Colocasia ‘Pharaoh’s Mask’

เรื่อง : ปัญชัช ชั่งจันทร์

สามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอโลคาเซียและไม้ใบอื่นๆ มากกว่า 500 ชนิด/ พันธุ์

ได้ที่หนังสือ ไม้ใบ : Foliage Plants

ส่งซื้อในราคาพิเศษได้ที่นี่ 

ไม้ใบ : Foliage Plants