13 ชื่อเขตในกรุงเทพมหานคร ที่มีที่มาจากชื่อต้นไม้ในพื้นที่ตั้งแต่อดีต

“ห้วย หนอง บาง บึง” คำนำหน้าชื่อที่ใช้บอกเล่าลักษณะของสถานที่ในระแวกนั้น ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นชื่อเรียกของสถานที่นั้น ๆ ไปในที่สุด ทั้ง เขต แขวง ตำบล หรืออำเภอ

เช่น “บาง” ใช้เรียกย่านหรือบริเวณที่มีคลองเข้าไป ซึ่งคำต่อท้ายก็มักแสดงถึงลักษณะเด่นในอดีตของสถานที่นั้น ทั้งอาชีพหลักของคนในพื้นที่ สถานที่สำคัญ เหตุการณ์สำคัญ รวมไปถึงต้นไม้พื้นถิ่นที่สามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่าในอดีตมีต้นไม้ชนิดดังกล่างขึ้นอยู่ในบริเวณนั้นมากมาย ดังเช่นเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เอง ก็มีหลายเขตที่ชื่อเรียกที่มาจากชื่อต้นไม้ที่สามารถทำให้พอเดาได้ว่าในอดีตพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะอย่างไรและมีต้นไม้ที่ปลูกได้ดีในกรุงเทพฯ ชนิดอะไรขึ้นอยู่มากมายในบริเวณนั้น ๆ

จอกแหน

เขต หนองจอก

“แอ่งน้ำจืดขนาดเล็กที่มีต้นจอก”

จอกแหน

ชื่อวิทยาศาสตร์: Pistia stratiotes L.

วงศ์: Araceae

เขตหนองจอกสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องทุ่งและเกษตรกรรม มีลำคลองไหลผ่านหลายสาย แม้ปัจจุบันก็ยังสามารถพบจอกได้ตามแหล่งน้ำบริเวณที่รกร้าง จอกคือไม้ลอยน้ำเจริญเติบโตติดกันเป็นกลุ่มลอยอยู่บนผิวน้ำ ชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Pistia หากปลูกในที่มีแสงแดดเต็มวันใบจะมีสีเขียวปนเหลือง กอใหญ่ จอกเป็นวัชพืชน้ำที่สำคัญใช้เป็นอาหารสัตว์อย่างหมู เป็ด ปลา ทั้งยังนำมาใช้เป็นอาหารเพื่อรับประทานในยามขาดแคลนอีกด้วย ปลูกเป็นไม้ประดับในอ่างขนาดเล็กร่วมกับไม้น้ำชนิดอื่น เป็นที่หลบภัยให้กับปลาเล็กได้ สามารถดูดสารที่มีพิษได้ดีมาก ดังนั้นหากปลูกในแหล่งน้ำที่มีพิษจึงไม่ควรบริโภค

รัก

เขต บางรัก

“ย่านหรือบริเวณคลองที่มีต้นรัก”

ต้นรัก

ชื่อวิทยาศาสตร์: Calotropis gigantea (L.) Dryand.

วงศ์: Apocynaceae

สันนิฐานว่าเดิมพื้นที่บริเวณนี้มีต้นรักขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของตราสัญลักษณ์ประจำเขตนั้นที่ใช้รูปดอกรัก เป็นบริเวณหนึ่งที่ชาวยุโรปและชาวต่างประเทศจากหลายประเทศเข้ามาตั้งรกรากเป็นบริเวณแรก ๆ ในกรุงเทพมหานคร เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดของต้นรักดั้งเดิมคือประเทศอินเดีย แต่ก็เข้ามาในประเทศไทยนานจนนำมาประกอบในพิธีกรรม ความเชื่อมากมาย รวมถึงงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์แบบไทยโดยเฉพาะนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย เป็นต้นไม้พุ่มที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในสภาพดินที่ไม่สมบูรณ์และมีความแห้งแล้ง เราจึงมักพบต้นรักขึ้นได้เองตามธรรมชาติทั่วไปตามที่รกร้าง บริเวณข้างถนน ริมคลองหรือหมู่บ้าน

บัว
บัวหลวง

เขต ปทุมวัน

“ป่าบัว”

บัวหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์Nelumbo nucifera Gaertn.

วงศ์: Nelumbonaceae

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณนี้มีสภาพเป็นท้องนาชานเมือง ที่มีบัวพันธุ์ไทยขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างสระบัว 2 สระ และพระตำหนักสำหรับเป็นที่ประทับพักผ่อน ต่อมาได้โปรดฯให้สร้างวัดปทุมวนารามขึ้นเป็นพระอารามหลวง บริเวณแห่งนี้จึงเรียกกันว่า ปทุมวัน ปทุม แปลว่า บัวหลวง คือไม้น้ำ มีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและเป็นไหลอยู่เหนือดินใต้น้ำ เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ในระดับน้ำลึก 15-30 เซนติเมตร กลีบดอกทั้งขาวและชมพูชุบแป้งทอดจิ้มซอสพริก กลีบดอกเป็นยาฝาดสมาน เกสรดอกเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของเกสรทั้งห้า ที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ นอกจากนั้นยังนิยมนำดอกมาบูชาพระพุทธในศาสนสถาน

มะกอกน้ำ

เขต บางกอกน้อย และ บางกอกใหญ่

“ย่านหรือบริเวณคลองที่มีต้นมะกอกน้ำ”

มะกอกน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์Elaeocarpus hygrophilus Kurz

วงศ์Elaeocarpaceae

ทั้งเขตบางกอกน้อย และ บางกอกใหญ่ มีที่มาจากชื่อคลองสำคัญคือคลองบางกอกใหญ่และคลองบางกอกน้อย โดยคลองบางกอกใหญ่ก็เคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ซึ่งคำว่าบางกอกยังเป็นคำที่ใช้เรียกบริเวณที่ตั้งของกรุงเทพมหานครในอดีต ที่คาดว่ามาจากคำว่าบางมะกอก ซึ่งก็ตรงกับชื่อเดิมของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ต้นมะกอกน้ำคือต้นไม้ยืนต้นนิยมปลูกตามริมน้ำเพื่อป้องกันตลิ่งพัง พบมากโดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มชื้นและอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำของภาคกลาง ผลนำมาแช่อิ่มกินเป็นอาหารว่างช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ บ้างใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว ทรงพุ่มสวยงาม

หญ้าแขม (ภาพโดย คุณ Jim Robbin)

เขต หนองแขม

“แอ่งน้ำจืดขนาดเล็กที่มีหญ้าแขม”

หญ้าแขม

ชื่อวิทยาศาสตร์: Phragmites karka (Retz.)Trin. Ex Steud.

วงศ์: Poaceae

ในอดีตมีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งมีน้ำท่วมขังตลอด จนมีหญ้าแขมขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นพง ชาวบ้านก็ได้ขุดบ่อไว้ริมหนองเพื่ออาศัยใช้น้ำจืด ในปี พ.ศ. 2413 พระวินัยธร (คำ) เจ้าอาวาสวัดเชิงเลนได้สร้างวัดขึ้นที่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งและตั้งชื่อวัดว่า “วัดหนองแขม” ต้นแขมเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีอายุหลายปี ช่อดอกฟูฟ่อง ดูนุ่มนวล ออกดอกเดือนธันวาคม-มิถุนายน ดอกสามารถนำมาตากแห้งทำเป็นไม้กวาดหรืองานสานได้ ใบนำมาห่อขนมได้

ต้นกุ่มน้ำ

เขต บึงกุ่ม

“แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีต้นกุ่มน้ำ”

กุ่มน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์: Crateva magna (Lour.) DC.

วงศ์: Capparaceae

ย่านนี้มีคลองสายหนึ่งซึ่งแยกจากคลองแสนแสบและไหลผ่านบึงเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีต้นกุ่มขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกแหล่งน้ำสองแห่งนั้นว่า “คลองกุ่ม” ซึ่งเป็นชื่อแขวนและ “บึงกุ่ม” เป็นชื่อเขต ต้นกุ่มน้ำเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางปลูกเป็นไม้ประดับกันมาก ด้วยทรงพุ่มและช่อดอกที่สวยงาม ควรปลูกริมน้ำหรือบ้านที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง ช่วยลดการกัดเซาะได้ ถ้ากินยอดอ่อนและช่อดอกอ่อนให้ลวกหรือดองก่อน เพราะมีกรดไฮโดรไซยานิกที่เป็นพิษ

เตยหอม

เขต คลองเตย

“ทางน้ำที่ขุดเชื่อมกับแม่น้ำที่มีต้นเตย”

เตยหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์: Pandanus amaryllifolius Roxb.

วงศ์: Pandanaceae

สันนิฐานว่ามีต้นเตย ที่ขึ้นมาก บริเวณริมคลองนั้น สมัยก่อนเป็นที่เปลี่ยว พื้นที่เป็นท้องนาและสวนผักอยู่โดยมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมใช้เรือเป็นพาหนะขึ้นล่องไปมาค้าขายตามลำคลอง ต้นไม้พุ่มล้มลุกอายุหลายปี พุ่มเล็กขึ้นเป็นกอ นิยมปลูกคลุมดินริมน้ำ รากจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย ปลูกริมทะเลได้ ใบใช้แต่งกลิ่นขนมหวานและอาหารอย่างหลากหลาย  รากต้มน้ำดื่มช่วยบำรุงหัวใจและร่างกาย

มะพร้าว

เขต ลาดพร้าว

“พื้นลาดเทต่ำที่มีต้นมะพร้าว”

มะพร้าว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cocos nucifera L.

วงศ์: Arecaceae

ในสมัยก่อนพื้นที่เขตลาดพร้าว มีการเพาะปลูกมะพร้าวเป็นจำนวนมาก ต้นไม้ยืนต้นตระกูลปาล์ม ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบเหมือนขนนก ทุกส่วนของลำต้นนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งทำเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ และประกอบอาหาร จัดเป็นต้นเศรษฐกิจที่สำคัญมากของไทย คนไทยสมันก่อนนิยมปลูกริมตลิ่งเพราะมีรากฝอยจำนวนมาก ช่วยยึดเกาะดินได้ดี แต่หากปลูกสำหรับประดับสวนควรระมัดระวังผลที่อาจตกลงมาสร้างความอันตรายได้

แคบ้าน ดอกสีแดง

เขต บางแค

“ย่านหรือบริเวณคลองที่มีต้นแคบ้าน”

แคบ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์: Sesbania grandiflora (L.) Poir.

วงศ์: Fabaceae

เชื่อว่าในสมัยก่อนบริเวณนี้มีชาวบ้านปลูกต้นแคบ้านไว้เป็นจำนวนมาก จึงกลายมาเป็นชื่อของบริเวณนี้ เนื่องจากเป็นเขตเกษตรกรรมผสมผสานแหล่งที่อยู่อาศัย ต้นแคบ้านต้นไม้ที่โตเร็ว สามารถปลูกได้ทุกที่ และมักขึ้นตามป่าละเมาะ หัวไร่ปลายนา ปล่อยให้ต้นสูง 1-2 เมตรแล้วตัดยอดให้ต้นแตกพุ่มข้าง จะเก็บดอกได้ง่าย นิยมกินทั้งยอดอ่อนและดอก โดยเฉพาะใส่ในแกงส้ม ปมรากมีจุลินทรีย์ช่วยจับกับก๊าซไนโตรเจนในอากาศช่วยผลิตปุ๋ยที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้และปรับปรุงดินไปได้ในตัวอีกด้วย

ทองหลางน้ำ

เขต วังทองหลาง

“ห้วงน้ำลึกที่มีต้นทองหลางน้ำ”

ทองหลางน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์Erythrina fusca Lour.
วงศ์Leguminosae-Papilionoideae

เดิมเป็นเขตชานเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาเวิ้งว้างแต่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งคลองแสนแสบในช่วงนี้มีลักษณะคดโค้งเป็นห้วงน้ำลึกหรือ “วัง” ขนาดใหญ่ ซึ่งมีต้นทองหลางน้ำขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ต้นทองหลางน้ำเป็นต้นไม้ยืนต้นทรงพุ่มกลม นิยมปลูกไว้ริมตลิ่ง เพราะทนน้ำท่วมขังได้ดี ใบแห้งที่ร่วงใช้ทำปุ๋ยหมักได้ดี ให้ธาตุไนโตรเจนกับพืช จึงนิยมปลูกตามสวนผลไม้หรือพื้นที่ทำเกษตรกรรม นอกจากนั้นยังนิยมทำใบมาใช้ในพิธีแต่งงาน วางศิลาฤกษ์และปลูกบ้าน ใบอ่อนกินสดกับเมี่ยงคำหรือเมี่ยงปลาทู

ต้นข้าว ในทุ่งนา

เขต บางนา

“ย่านหรือบริเวณคลองที่ปลูกข้าวทำนา”

ข้าว

ชื่อวิทยาศาสตร์: Oryza sativa L.
วงศ์: Poaceae

เดิมเป็นชุมชนอยู่อาศัยที่เติบโตและขยายตัวมาจากทางฝั่งพระโขนง ฝั่งพระประแดง และฝั่งเมืองสมุทรปราการ ซึ่งด้วยลักษณะพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มก่อนถึงปากอ่าวจึงเหมาะกับการทำนา ซึ่งก็เป็นลักษณะการทำเกษตรกรรมที่เป็นที่นิยมของไทยโดยเฉพาะภูมิภาคแถบนี้อยู่แล้ว ซึ่งจะมีลักษณะพื้นที่ราบทำเป็นคันกั้นน้ำเป็นแปลง ๆ สำหรับปลูกข้าว ข้าวเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจำพวกธัญพืชที่สามารถกินเมล็ดได้ ประเทศไทยข้าวที่ปลูกจะเป็นชนิด indica โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว มีทั้งประโยชน์ดำรงชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะคนไทยที่รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก เพื่อให้พลังงานกับร่างกาย

บอน (ภาพ จาก Studio Kealaula)

เขต บางบอน

“ย่านหรือบริเวณคลองที่มีต้นบอน”

บอน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colocasia esculenta (L.) Schott

วงศ์: Araceae

บางบอนในอดีตเป็นชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีความเก่าแก่อย่างน้อยตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีหลักฐานเป็นวรรณคดีหลายเรื่องที่กล่าวถึง ซึ่งเดิมที่ดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีลําคลองหลายสายกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่จึงเหมาะที่จะทําการเกษตรกรรม ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีต้นบอนขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณนี้ ซึ่งปัจจุบันก็อาจจะสามารถพบเห็นอยู่ได้ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ ต้นบอนเป็นไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีเหง้าใต้ดิน สามารถพบได้ทั่วไปตามที่ลุ่ม ดินโคลน บริเวณริมน้ำลำธาร หรือบริเวณที่มีน้ำขังตื้นๆ ก้านใบอ่อน ไหลและหัวใต้ดินนำมาลวกหรือต้มรับประทานเป็นอาหารได้ นิยมนำมาแกงเช่น แกงส้ม แกงกะทิ แกงบอน เป็นต้น ใบบอนดูแล้วมีความสวยงาม ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้