เพลิงไหม้ บ้านถล่ม เกี่ยวข้องกันอย่างไร ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

ไม่มีใครต้องการให้อัคคีภัยเกิดขึ้น เจ้าของบ้านทุกคนจึงควรทำความเข้าใจสาเหตุของเภทภัยให้ทันท่วงที เพื่อป้องกันการสูญเสียให้ดีที่สุด

บ้านและสวน คุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ถึงกรณีของเหตุ ไฟไหม้บ้าน และถล่มของบ้าน 3 ชั้นในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุการถล่มของอาคาร และการป้องกันอัคคีภัยร้ายแรงที่เจ้าของบ้านทุกคนสามารถทำได้

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

Q : กรณีเพลิงไหม้จนถึงขั้นทำให้อาคารถล่ม เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

A : หลักการของสาเหตุที่ทำให้อาคารวิบัติได้ ในเชิงวิศวกรรมมีทั้งหมดเพียง 4 ข้อเท่านั้น ซึ่งเป็นหลักการสากลเลยนะครับ ถ้าเกิดการพังทลาย วิศวกรจะมองแค่ 4 ข้อเท่านั้น

  • ข้อแรก ออกแบบและคำนวณถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราอยากรู้ว่าออกแบบถูกหรือไม่นั้น เราก็ต้องเอาแบบมาดู เอารายการคำนวณมาดู เพื่อจะดูได้ว่า ในแบบมีการออกแบบอย่างไร มีการต่อเติมไปจากแบบเดิมบ้างหรือไม่ และการคำนวณโครงสร้างถูกต้อง อาคารแข็งแรงเพียงพอหรือไม่
  • ข้อที่ 2 การใช้วัสดุและการก่อสร้างว่าทำตามแบบตามมาตรฐานหรือไม่ ไม่ใช่ตามแบบเสา 40 x 40 เซนติเมตร แต่สร้างออกมา 20 x 20 เซนติเมตร หรือเหล็กใส่แค่ 6 มิลลิเมตร แต่ตามแบบ 9 มิลลิเมตร อย่างนี้
  • ข้อที่ 3 ใช้งานผิดวัตถุประสงค์ไหม ไม่ใช่ออกแบบเป็นบ้านพักอาศัย แล้วมาใช้เป็นโรงงานหรือใส่เครื่องจักรเข้าไป ก็เสร็จครับ ออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น แต่ต่อเติมเป็น 5 ชั้น หรือออกแบบหลังคาเป็นพื้นที่เอาไว้เดินธรรมดา แต่เวลาใช้จริงมีการเอาแท๊งค์น้ำไปวาง 4 – 5 แท๊งก์
  • ข้อ 4 มีปัจจัยอื่นเร่งให้เกิดการวิบัติ เช่น แผ่นดินไหว พายุฝน หรืออย่างกรณีนี้ก็คือ อัคคีภัย

เพราะฉะนั้นแล้ว วิศวกรก็จะใช้เกณฑ์ 4 ข้อนี้เท่านั้นเอง ก็จะสามารถเข้าใจว่า อาคารนั้นๆ พังทลายได้ยังไง

ไฟไหม้บ้าน
ขอบคุณภาพ : อมรินทร์ทีวี

Q : กรณีอัคคีภัย ต้องรุนแรงแค่ไหนอาคารถึงถล่ม

A : อาคารจะวิบัติได้ ถ้าพูดภาษาบ้านๆ ก็คือ ไฟต้องแรง และต้องนานครับ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเมื่อเกิดไฟไหม้คือ  การเผาไหม้ที่ยาวนาน ไฟเนี่ยเวลามันเกิดความร้อน ปกติแล้ว 8 นาที ก็น่าจะขึ้นไป 600 องศาแล้ว อาคารทั่วไปที่เป็นบ้าน หรืออาคารพาณิชย์คอนเกรีตเสริมเหล็กเนี่ย จะถูกออกแบบให้ทนต่อความร้อนได้ประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย

ยกตัวอย่างเช่น บ้านเดี่ยวคอนกรีตเสริมเหล็ก ถ้าเกิดได้รับความร้อน 600 องศาเซียลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง การรับกำลังของอาคารอาจจะเหลือแค่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ เพราะฉะนั้นแล้วถ้าไฟไหม้เกิน 2 ชั่วโมงไปแล้ว ถือว่าอันตรายมากๆ

Q : มาจากมาตรฐานของวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง?

A : ถูกต้องครับ เพราะฉะนั้น เกณฑ์ข้อ 1 และข้อ 2 ที่ผมบอกไป ต้องทำให้ได้ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม มันอยู่ที่การใช้งานระยะยาวด้วย อย่างเวลาผ่านไปคอนกรีตมันจะมีรอยร้าว มีรูพรุน ในรูพรุนจะมีไอน้ำ เวลาน้ำเจอความร้อนจะกลายเป็นไอใช่ไหมครับ เมื่อมันกลายเป็นไอปริมาณมาก มันก็ทำให้เกิดคอนกรีตระเบิดขึ้นมาได้

กรณีอาคารพังทลาย เราจึงต้องให้ความสำคัญกับเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อแรก ว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ แต่พอมีตัวเร่ง มีไฟไหม้ มีแผ่นดินไหว มีพายุฝน ก็จะเป็นตัวเร่งให้อาคารพังทลายลงได้ง่ายขึ้น

Q : จุดสังเกตว่าอาคารกำลังวิบัติ

A : เวลาเกิด ไฟไหม้บ้าน อันดับแรกเราสามารถสังเกตด้วยตา ในกรณีกฤษฎานคร บางมุมกล้องเราจะเห็นว่าอาคารมีการแอ่นตัว แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ มันมีเสียงดัง ปัง ปัง ปัง พอมันมีเสียงดังเนี่ย เรารู้ได้เลยว่า มันไม่ทันแล้ว เพราะเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นเอง หลังจากที่เกิดเสียง ปัง อาคารก็จะทลายลงมาทันที

อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ ให้สังเกตด้วยตาก่อน เราสังเกตได้ว่า ถ้าคอนกรีตร่อน ก็แสดงว่าไฟมันถึงเหล็กแล้ว กำลังของอาคารก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันขึ้นอยู่ด้วยว่าในอาคารมีวัสดุไวไฟหรือไม่ เพราะวัสดุพวกนี้อาจกลายเป็นเชื้อเพลิงที่เร่งให้ความร้อนสูงขึ้นกว่าเดิมได้

Q :วัสดุอาคารมีผลต่อสาเหตุ หรือการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ จนถึงการถล่มของอาคารได้บ้างหรือไม่

A : ปกติอาคารที่พักอาศัยแล้วก็อาคารพาณิชย์เตี้ยๆ ก็มักจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด อาจจะมีบ้านสมัยใหม่บ้างที่ใช้เหล็กรูปพรรณ คือตามหลักถ้าเป็นโครงสร้างคอนกรีตก็ต้องอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ถ้าใช้เหล็กจริงๆ อย่างน้อยที่สุด เขาก็มักจะพ่นวัสดุที่เป็นฉนวน อย่างที่เรามักจะเห็นในอาคารจอดรถก็พอช่วยได้

ขอบคุณภาพ : อมรินทร์ทีวี

Q :อายุของอาคาร มีผลต่อสาเหตุการเกิดเหตุเพลิงไหม้จนถึงการถล่มของอาคารบ้างหรือไม่

A : จริงๆ แล้ว โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างดีๆ อยู่ได้ถึง 150 ปีสบายเลย แต่ทุกวันนี้ พวกอาคารบ้านพักอาศัยอาจจะทำไม่ได้มาตรฐาน ผ่านไปสัก 10 – 20 ปี ก็อาจจะเกิดความเสียหาย เช่น คอนกรีตร่อน ถ้าทำได้ดีปกติแล้ว 40 – 50 ปี บ้านพักอาศัยสามารถอยู่ได้สบาย เหมือนที่เราเห็นว่าบ้านเก่าๆ เช่น อาคารสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพการก่อสร้าง ถ้าบ้านสมัยใหม่ๆ ที่มีมาตรฐานต่ำ ไม่กี่สิบปีก็จะเกิดการหลุดร่อนแล้ว ทีนี้พอยิ่งรวมกับการใช้งานที่อาจไม่ตรงจุดประสงค์ หรือการต่อเติม และโดยเฉพาะปัจจัยเร่ง อย่างอัคคีภัย ก็ยิ่งทำให้พังทลายได้เร็วขึ้น

Q :สำหรับเจ้าของบ้าน สมมุติว่าอยู่บ้านมาอายุ 20 – 30 ปีแล้ว จะทำย่างไรได้บ้าง

A : ทำได้ครับ แล้วถ้าหมั่นคอยดูแลก็มักจะไม่มีปัญหา จริงๆ 20 ปี บ้านก็ยังถือว่าใหม่อยู่มาก การทรุดตัวก็ยังน้อยมากๆ เพราะฉะนั้นบ้านที่มีอายุในระยะ 20 ปี ถ้ายังไม่มีการแตกร้าว ไม่มีรอยร้าว โดยเฉพาะสำคัญเช่นในตำแหน่งเสา คาน ก็ยังถือว่าอยู่ได้สบาย อย่างผมก็เดินดูรอบๆ บ้านทุกวันครับ การคอยหมั่นดูแลจุดผิดปกติต่างๆ ในบ้านด้วยตัวเองก็เป็นวิธีการป้องกันปัญหาระยะยาวของบ้านที่ทำได้เสมอ

Q :แนะนำอย่างไรสำหรับคนที่กำลังจะรีโนเวตบ้าน

A : อันดับแรกนะครับ ต้องปรึกษาวิศวกร เพราะเขาจะสามารถชี้ได้ว่าการออกแบบบ้านเก่าเป็นอย่างไร ก่อนที่เราจะไปก่อผนังเพิ่ม ก่อนที่จะไปต่อเติมในจุดต่างๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เป็นงานยากที่ทำได้ครับ แต่ต้องระวัง

ไฟไหม้บ้าน
ขอบคุณภาพ : อมรินทร์ทีวี

Q :หากเจ้าของบ้านต้องการปรับปรุง ต่อเติมบ้าน สามารถทำได้อย่างไรโดยไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการวิบัติของอาคารในกรณีต่างๆ

A : ควรจะมีแบบ ถ้าไม่มีแบบจะอ้างอิงได้ยากมาก ถ้าไม่มีแบบก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบ เขาจะมีอุปกรณ์ มีการเคาะ มีเครื่องส่งสัญญาณเข้าไป ทุกวันนี้ก็ไม่ได้แพง จะเดินมาหาวิศวกรก็ได้ หรือหาทางอินเตอร์เนตก็ได้ครับ รับตรวจบ้านเก่า อะไรต่างๆ มีให้บริการอยู่แล้ว

Q :การออกแบบโครงสร้างใหม่เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ หรือป้องกันอาคารถล่มจากเหตุเพลิงไหม้ ทำได้อย่างไรบ้าง

A : อันดับแรกก็ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะเขาเรียนมาทางด้านนี้ เขาจะมีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ทั้งสถาปนิกและวิศวกร แน่นอนสถาปนิกที่เป็นผู้ออกแบบเขาก็ต้องควบคุมดูแลอย่างรอบด้าน มั่นใจได้มากกว่าที่จะหาแบบจากกูเกิ้ล หาจากพินเทอเรส แล้วก็ไปหาช่างมาทำครับ กรณีแบบนี้มีให้เห็นมากครับ เหมือนคำพังเพยที่บอกว่าเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย

Q :มีกฎหมายอาคารที่เกี่ยวกับการป้องกันเพลิงไหม้?

A : กฎหมายอาคารบ้านเรา ไม่ได้ล้าหลังเลยนะครับ ใช้ได้เลยล่ะ ไม่เชย ซึ่งสามารถศึกษาได้จากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อัพเดตล่าสุด ปี พ.ศ.2558 กฎหมายฉบับนี้ก็เป็นกฎหมายที่ครอบคลุม


เรื่อง: กรกฎา


กฎหมายต่อเติม/รีโนเวทบ้าน ต่อเติมแค่ไหนไม่ต้องขออนุญาต

รู้ไว้..ก่อนผิด กฎหมายบ้าน