สวนเบญจกิติ ควรเป็นสวนป่ากลางเมืองหรือสวนแบบมิกซ์ยูส

ขณะนี้มีการดำเนินการสร้างสวนเบญจกิติ ณ บริเวณโรงงานยาสูบเดิม ถนนรัชดาภิเษก  ติดกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กำลังปิดบูรณะอยู่ โดยเฟสแรกออกแบบเป็นสวนน้ำซึ่งแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปี 2547 บนพื้นที่130 ไร่ ใครผ่านไปแถวนั้นคงจะเห็นกันแล้ว หลายคนคงเคยไปใช้บริการกันมาแล้วด้วยซ้ำ ผู้รับผิดชอบการสร้างสวนนี้คือกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ดำเนินการหลังจากได้รับการส่งมอบพื้นที่จากโรงงานยาสูบ ซึ่งย้ายไปอยู่ที่อื่น เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้มอบให้กรุงเทพมหานครรับไปดูแลบริหารจัดการต่อ

สวนเบญจกิติ
โครงการ สวนเบญจกิติ ส่วนที่เป็นสวนน้ำที่อยู่ด้านหน้าเสร็จไปแล้ว ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างสวนป่าในส่วนที่อยู่ถัดมา

สวนป่าบนพื้นที่ 259 ไร่ บนทำเลทอง

สวนเบญจกิติ ส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในขณะนี้มีพื้นที่ 259 ไร่ ตามแผนการคือจะออกแบบเป็นสวนป่า มีพรรณไม้ออกดอกทั่วสวน มีพิพิธภัณฑ์ หอสูงชมเมือง อาคารนันทนาการและกีฬา ในเฟสสองที่เป็นสวนป่านี้ใช้งบประมาณก่อสร้าง 652 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

พื้นที่ทั้งหมดนี้ไม่ถึงกับใหญ่โตเป็นเมืองก็จริงแต่ก็ไม่เล็ก คะเนว่าน่าจะพอๆกับสวนลุมพินี  ทำเลก็อยู่กลางเมืองขนาดนั้น มีรถไฟฟ้าผ่าน ด้านหน้าติดถนนรัชดาภิเษก ด้านหลังติดทางด่วน มีโลคัลโรด ออกจากทางด่วนมาเข้าสวนนี้ได้เลย เป็นทำเลทองที่นักลงทุนคงน้ำลายหกแต่ก็ต้องกลืนน้ำลายกลับไป เพราะเขานำมาทำสวนสาธารณะเสียแล้ว ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี ความจริงการทำอะไรๆให้เป็นสาธารณะก็ดีทั้งนั้น เพราะชาวบ้านจะได้มาใช้ประโยชน์กันได้อย่างทั่วหน้าและเสมอภาคกัน

เมืองในสวน ที่ครอบคลุมไปด้วยพันธุ์ไม้ สายน้ำ ลำธาร บ่อ สระ จะมีหอสูงชมเมืองด้วยก็ได้ ถ้าอยาก (ภาพ : www.dwell.com)
(ภาพ : www.benoy.com)

ฝันกันเล่นกับสวนแบบมิกซ์ยูส

สวนในความคิดของผม ถ้าพื้นที่ทั้งหมดนี้นำมาทำเป็นทั้งสวนป่า สวนน้ำ ย่านธุรกิจการค้า การบริการสาธารณะที่รวมอยู่ด้วยกันจะได้หรือไม่ โดยยำให้ทุกฟังก์ชันอยู่รวมกันบนพื้นที่นี้  เพราะทำเลดังกล่าวมีมูลค่าสูง น่าจะใช้งานให้คุ้มค่า หากเป็นสวนอย่างเดียวประโยชน์ก็คงจะตกอยู่กับคนใกล้ๆแถวนั้น เพราะคงไม่มีใครถ่อจากตลิ่งชัน บางบอน ไปใช้สวนนี้ในชีวิตประจำวันเป็นแน่

แต่การมาพูดอะไรตอนนี้ก็สายไปแล้ว เพราะเขาทำโครงการนี้ไปถึงไหนๆแล้ว เอาเป็นว่าลองมาฝันกันเล่น ละกันนะครับ เผื่อมีคราวหน้าจะลองเสนอไอเดียกะเขาบ้าง ที่จะลองฝันดูต่อไปนี้ก็เป็นความฝันแบบฝันกันจริงๆ เพราะเข้าใจดีว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น การจะให้ราชการมาทำโครงการอะไรที่ประหลาดออกไปมันยาก ยิ่งเป็นโครงการแบบมิกซ์ยูสที่ต้องผสมเอาเรื่องของความงามและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วยก็ยิ่งต้องอาศัยหลายปาร์ตี้เข้าไปอีก แล้วถ้าเอาเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ไม่พ้นต้องมีเรื่องเงินๆทองๆ เราก็รู้ๆกันอยู่ว่าข้าราชการไทยนั้นมือสะอาด ท่านคงไม่อยากต้องมาแปดเปื้อนเสียหายกับเรื่องเงินๆทองๆเหล่านี้

ท่อระบายน้ำฝนข้างถนนทำเป็นลำธารน้ำไหล (ภาพ : www.svrdesign.com)
กินกันข้างถนนใต้ร่มไม้สวยๆ ไม่มีฝุ่น ไม่มีควัน ไม่มีเสียงอึกทึก (ภาพ : worldlandscapearchitect.com)
(ภาพ : www.copley-wolff.com)

“ย่าน” ที่ผสมผสานการใช้งานหลายอย่างไว้ด้วยกัน

ความฝันของผมเป็นอย่างนี้ครับ เราทำพื้นที่นี้ให้เป็น “ย่าน” ที่ผสมผสานการใช้งานหลายอย่างไว้ด้วยกัน โดยย้อมคลุมด้วยความเป็นสวน ไม่ว่าจะเป็นสวนน้ำ สวนป่า สวนไม้ดอก สวนพรรณไม้ประจำจังหวัด หรือจะเพิ่มสวนอะไรเข้าไปอีกก็ได้ตามสะดวก คือเป็นเมืองสวนนั่นเอง จะเติมไฮไลต์ประเภทหอสูงชมเมืองที่ท่านผู้บริหารฝันไว้ก็ได้ ไม่แปลก

ในส่วนที่จัดเป็นพื้นที่ธุรกิจนั้นอาจจำกัดประเภทกันสักหน่อย เช่น เป็นธุรกิจเทคโนโลยีระดับสูงและนวัตกรรมสำหรับสตาร์ตอัพ ศิลปะและการออกแบบ อาหารการกิน ทั้งหมดนี้จะมิกซ์กันเข้าไปได้ไหม ผมว่าได้นะ และได้ดีด้วย

ทีนี้ลองมาดูมาสเตอร์แพลนและดีไซน์ไอเดียกัน นั่นคืออาคารสูงจะอยู่รอบๆนอกของพื้นที่ ยกเว้นด้านหน้า อาคารทั้งสูงและเตี้ยต้องออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ จะยกเอาธรรมชาติต้นไม้ใบหญ้าไปครอบคลุมไว้จริงๆเลยหรือจะเลือกใช้วัสดุที่ดูกลมกลืนกับธรรมชาติก็แล้วแต่  พื้นที่โครงการทั้งหมดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนในลึกเข้ามาเป็นอาคารขนาดลดหลั่นลงมากระจายกันอยู่ในพื้นที่ ภายในพื้นที่ทั้งหมดไม่อนุญาตให้รถราจากภายนอกวิ่งเข้ามา ยกเว้นรถบรรทุกและรถฉุกเฉินบางประเภท ส่วนรถที่นอกเหนือจากนี้จะต้องจอดที่ขอบนอกทั้งสี่ด้าน ซึ่งเป็นที่การทำที่จอดรถใต้ดินหลายๆชั้น ใครมาธุระที่ไหนก็พยายามวนไปจอดใกล้ๆเป้าหมายของตัวเอง จากนั้นจะมีรถสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้า ไม่มีคนขับบริการ รถไฟฟ้าไม่มีคนขับนี้ดำเนินการโดยสตาร์ตอัพในโครงการนั่นเอง ถือเป็นการทดลองและพัฒนางานของเขา หรือใครจะเดินหรือวิ่งไปก็ได้ มีทางเลื่อนแบบสนามบินให้บริการบนทางเท้า

รถไฟฟ้าสาธารณะไร้คนขับในโครงการ (ภาพ : www.railway-technology.com)

การผสานสวน เมือง และเทคโนโลยี

ถนนในโครงการจะมีฟุตปาธและเกาะกลางถนนขนาดใหญ่มากและปลูกต้นไม้ไว้ทุกที่ จัดเป็นทั้งสวนป่า สวนไม้ดอก สวนน้ำ และสวนอะไรก็ได้ที่อยากจัด ใต้ถนนเป็นอุโมงค์ใหญ่ใช้เป็นท่อระบายน้ำ เดินท่อสายไฟ และเคเบิลบริการต่างๆที่คนเดินเข้าไปดูแลรักษาได้ คือพื้นถนนเป็นส่วนหลังคาของอุโมงค์นั่นเอง ทางระบายน้ำฝนริมขอบถนนทำเป็นลำธารเล็กๆ มีไม้น้ำ ไม้พุ่ม ไม้ดอกขึ้นปิดขอบ ใต้ท้องลำธารโรยกรวดแม่น้ำไว้ โดยกระจายลำธาร บ่อ หรือสระให้อยู่ทั่วทั้งพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องออกแบบให้เป็นสวนน้ำก้อนหนึ่ง สวนป่าอีกก้อนหนึ่ง แบบนั้นง่ายต่อการทำก็จริงแต่มันไม่สวย

บนฟุตปาธขนาดใหญ่จะมีซุ้มที่ออกแบบสวยๆดีไซน์ดีๆอยู่เป็นระยะ ใช้เป็นซุ้มขายของ ส่วนใหญ่เป็นซุ้มขายอาหาร บางที่ก็จัดเป็นที่นั่งกินอาหารแบบเอ๊าต์ดอร์สวยๆ พอถึงหน้าฝนก็เลื่อนหลังคามาปิดให้ร่ม ปัจจุบันมีหลังคาแบบนี้ที่ดีๆสวยๆมากมาย พัดลมไอน้ำ พัดลมปรับอากาศก็ช่วยลดอุณหภูมิได้หากจำเป็น แต่เมืองสวนที่ร่มรื่นนี้ ร่มไม้ย่อมช่วยปกป้องความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดีอยู่แล้ว แถมฝุ่นละอองก็น้อย คาร์บอนมอนอกไซด์จากรถก็ไม่มี เพราะเราไม่ให้รถยนต์เข้ามาวิ่ง คิดดู…สวรรค์ชัดๆ

ซุ้มขายของ ขายอาหารข้างถนน ถูกกฎหมาย ไม่ต้องวิ่งหนีเทศกิจ (ภาพ : lestasters.blogspot.com)
(ภาพ : www.shiftspacedesign.com)

“การกิน” และ ความเป็น “สาธารณะ”

ในโครงการนี้เราให้ความสำคัญกับ “การกิน” เป็นอย่างมากและเป็นการกินแบบ “สาธารณะ” จริงๆ นั่นคือสตรีทฟู้ดซึ่งมีอยู่ตามซุ้มริมถนนทั่วไป บางที่ก็เป็นที่จอดของฟู้ดทรัก ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนจะหมดความนิยมลงไป คงจะหาที่จอดยาก น่าเสียดายที่กลายเป็นแฟชั่นฮือฮาที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความจริงฟู้ดทรักเป็นสตรีทฟู้ดที่น่าสนใจมาก ไม่เป็นไรมาจอดในเมืองของเรานี่แหละเพราะเรามีที่จอดเยอะ ดังได้กล่าวไว้แต่แรกแล้วว่าย่านนี้เป็นย่านของคนเดิน คนเดินเป็นเจ้าถนนไม่ใช่รถรา ดังนั้นทุกอย่างจะออกแบบไว้ทั้งเพื่อความสะดวกและความงามสำหรับคนเดินดินเป็นหลัก

ของเหลือจากอาหารหากเป็นของเน่าเสียเราจะรวบรวมนำกลับมาใช้ทำประโยชน์ เช่น ทำเป็นปุ๋ย หรือทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ส่วนอาหารเหลือที่ยังกินได้ นำมาบริหารจัดการนำส่งผู้ยากไร้ขาดแคลนต่อไปทุกวัน

สำหรับผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดก็คัดเลือกจากคนจนๆแถวนั้นนั่นแหละ มีคนจนให้เลือกเยอะ หรือชาวบ้านที่โดนไล่ที่ไปทำศูนย์การค้าแถวๆนั้น ถือเป็นไพรออริตี้

สตรีทฟู้ดที่อยู่บนซุ้มริมถนนจะถูกออกแบบระบบรองรับไว้เป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นซุ้มเล็ก ซุ้มใหญ่ น้ำ ไฟ ท่อน้ำทิ้ง หรือที่ทิ้งขยะจะต้องมีพร้อม นอกจากสตรีทฟู้ดที่อยู่ริมถนนแล้ว อาจจัดให้เข้าไปอยู่รวมกันในโกดังเก่าของโรงงานยาสูบด้วยก็ได้ โกดังเก่าทั้งหลายนี้ยังบูรณะนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆได้อีกมาก โดยเชื่อมทางเดินระหว่างโกดังแต่ละหลังด้วยหลังคากระจก (เพื่อรับแสง และเพื่อไม่ให้การต่อเติมรบกวนรูปลักษณ์ของความเป็นโกดัง ซึ่งเราต้องการรักษาไว้) ต่อกันหลายๆโรงทำเป็นที่แสดงงาน พิพิธภัณฑ์ สำนักงาน หรืออะไรได้อีกหลายอย่างตามแต่จะจินตนาการโดยไม่ต้องรื้อทิ้ง

สตรีทฟู๊ดส์ในโกดังเก่าของโรงงานยาสูบ เป็นเหมือนโรงอาหารของใครก็ได้ (ภาพ : kaylchip.com)

“ย่าน” ที่เป็นศุนย์สุขภาพครบวงจร

อีกอย่างที่น่าจะผนวกรวมเข้าไปในโครงการนี้ด้วยเลยคือโรงพยาบาลยาสูบเก่า ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลสวนเบญจกิติเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาไปแล้ว และเปิดรับบริการบุคคลภายนอกเต็มรูปแบบ ได้ยินว่าจะมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ศุนย์สุขภาพครบวงจร เป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ฟังดูเป้าหมายเข้าท่ามากๆครับ น่าจะเข้ามาอยู่ในรั้วเดียวกัน เป็น “ย่าน” เดียวกันกับโครงการไปเลยจะกลมกลืนกันได้มากทีเดียว

ระบบพลังงานในโครงการมีการพูดถึงการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ นับเป็นเรื่องดี แต่ในความฝันของผมคิดถึงการพัฒนาใช้พลังงานทางเลือกทุกชนิดเท่าที่มีทดลองใช้กันอยู่และที่ยังคิดกันไม่ออก (แต่กำลังคิดกันอยู่) ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวมวล อะไรก็แล้วแต่ โดยให้สตาร์ตอัพในโครงการนี่แหละทดลองนำมาใช้งาน จะเป็นการใช้โดดๆหรือใช้ผสมผสานแบบไฮบริดก็ว่ากันไป โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์นั้นในบ้านเรามีการส่งเสริมและนำมาใช้กันนานแล้ว แต่มาถึงวันนี้ยังไปไม่ถึงไหน ซ้ำยังได้ยินว่าโซลาร์เซลล์ที่เอาไปติดให้ชาวบ้านไกลปืนเที่ยงใช้นั้นเอาเข้าจริงใช้การได้ไม่ถึง 30%   ในขณะที่ชาวโลกเขาพัฒนาแผงโซลาร์และตัวเก็บพลังไปถึงไหนๆกันแล้ว เอาเป็นว่าโครงการของเราจะใช้วิธีก้าวกระโดดแบบ  Leapfrog กัน คือข้ามไปศึกษาและทดลองใช้งานแบบ Advance Technology กันเลย ไม่ต้องมางมตามคนอื่น ให้สมกับที่ตั้งใจว่าจะให้เป็นถิ่นของการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงจริงๆ

ในเรื่องการบริหารโครงการนั้นทางราชการไม่ควรเข้าไปทำเอง ควรให้เอกชนที่มีความรู้ ความสามารถ มีรสนิยม และข้อสำคัญมี “อุดมการณ์สาธารณะ” เข้าไปทำ ไม่ต้องให้นักลงทุนใหญ่ทำ เพราะเขามีอะไรให้พัฒนาเยอะอยู่แล้ว เอาคนที่มีอุดมการณ์แบบฉลาดๆหน่อย และข้อสำคัญสถานที่แห่งนี้เริ่มมาจากจุดประสงค์เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ดังนั้นสิ่งที่ต้องยึดถือไว้เป็นหลักก็คือ ความเป็นสวนและประโยชน์สาธารณะ การลงทุน ที่มาของเงินทุนที่ได้รับและวิถีทางธุรกิจจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าด้วยสมการอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากสวนสาธารณะทั่วไป และต่างจากองค์กรธุรกิจทั่วไปด้วย ต้องเป็นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่ที่หรูหราราคาแพง และต้องเป็นที่ก่อกำเนิดประโยชน์ใหม่ๆแก่ส่วนรวมจริงๆ เหนือสิ่งอื่นใด ต้องเป็นที่ฝึกการบริหารท้องที่อย่างฉลาด คำนึงถึงส่วนรวมและข้อสำคัญมีความโปร่งใส ซึ่งนี่เองจะเป็นสิ่งที่เราทำเพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานและเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านอย่างแท้จริง


เรื่อง : ประพันธ์ ประภาสะวัต


The Editor’s View : Setouchi Triennale 2019

THE EDITOR’S VIEW | ROOM x A.P. HONDA

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag