4 อาคารโบราณในภาคเหนือที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของหัวเมืองเหนือ ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ส่งผลให้ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจ โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมอันงดงาม เราขอพาไปสัมผัสเรื่องราวของ 4 อาคารในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมของเมืองไทยมาฝากกัน 

อาคารหย่งเชียง

ที่ตั้ง: เลขที่ 2 – 4  ถนนวิชยานนท์  ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ : นายกิมยง (ต้นตระกูลตันกิมยง)
บูรณะโดย : คุณธนกฤต  เทียนมณี
ผู้ครอบครอง : คุณสลิล  ทิพย์ตียาภรณ์
ปีที่สร้าง : พ.ศ. 2447

บ้านโบราณ

บ้านโบราณ

รถมุ่งหน้าสู่ถนนท่าแพ ผ่านสะพานนวรัฐ ผู้คนมากหน้าหลายตาขับรถสวนไปมาแทรกด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติขี่จักรยานเป็นระยะ จุดหมายของเราในครั้งนี้คือ อาคารหย่งเชียง ครั้งแรกที่เราได้ยินชื่ออาคารแห่งนี้ก็คาดเดากันไปต่างๆ นานาว่าจะต้องเป็นอาคารค้าขายสไตล์จีนแน่ๆ กระทั่งมายืนอยู่ตรงหัวมุมถนน เราได้พบตึกเก่าทาสีขาวสะอาดสลับกับไม้ระแนงสีน้ำตาลเข้มบนระเบียง เมื่อเข้าไปภายในก็พบกับ คุณธนกฤต เทียนมณี สถาปนิกผู้บูรณะและเป็นผู้ดูแลอาคารแห่งนี้

อาคารหย่งเชียงในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “เตียหย่งเชียง” ส่วนภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “หลงชาง” หรือ “หลุงชาง” มีความหมายว่า “ความเจริญรุ่งเรือง” สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2447 (ตามโฉนดที่ดิน) โดย นายจีนกี กีเซ่งเฮง บุตรชายของเล่าก๋งเตียบู้เซ้ง ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนพ่อค้าชาวจีนย่านวัดเกตุในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นต้นตระกูลเตียหย่งเชียง (ตียาภรณ์) อาคารหลังนี้นายจีนกี กีเซ่งเฮง สร้างให้บุตรชาย คือ นายทองอยู่ ตียาภรณ์ (นามจีนคือ เตียหย่งเชียง) เพื่อใช้เป็นร้านค้าและเก็บสินค้า โดยสร้างขึ้นพร้อมๆ กับตลาดวโรรส (กาดหลวง) ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมือง นายทองอยู่ได้ครอบครองอาคารมาตลอดช่วงอายุขัยของท่านจนตกทอดถึง รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์  ตียาภรณ์ ในปี พ.ศ. 2515 ปัจจุบันอาคารได้ตกทอดมาถึงลูกสาว คือ คุณสลิลทิพย์ ตียาภรณ์ โดยในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการปรับปรุงอาคารเพื่อให้สามารถประกอบกิจการการค้าต่อไปได้

ผนังอิฐมอญ

ภายในอาคารที่เย็นสบาย แรกทีเดียวคิดว่าเกิดจากการใช้เครื่องปรับอากาศ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพราะตัวอาคารก่ออิฐมอญก้อนหนาตามลักษณะการก่อสร้างแบบโบราณที่กำแพงหนาทำหน้าที่รับน้ำหนัก (wall bearing) อาคารจึงเย็นสบาย อาคารหย่งเชียงเป็นอาคารสองชั้น กว้าง 14.20 เมตร ยาว 13.80 เมตร ผังพื้นอาคารเป็นรูปตัวแอล (L) หลังคาเป็นแบบปั้นหยาผสมจั่ว เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาผสมกับจีน ด้านหน้าอาคารทั้งสองด้านที่ติดกับถนนท่าแพและถนนวิชยานนท์ก่ออิฐเป็นเสาขนาด 75 เซนติเมตร เว้นช่องเป็นจังหวะตลอดแนวอาคารทั้งสองด้าน ร่นผนังของอาคารชั้นล่างเพื่อให้เกิดทางเดินเท้า (arcade) ลักษณะของโครงสร้างอย่างที่กล่าวไปข้างต้นใช้การก่ออิฐรับน้ำหนักหนา 60 เซนติเมตร เพื่อรับน้ำหนักพื้นชั้นสอง โดยการใช้คานไม้ขนาด 4 นิ้ววางสอดเข้าไปในผนังก่ออิฐเพื่อรับโครงสร้างพื้นและประตูหน้าต่าง มีการก่ออิฐเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม (arch) และเจาะช่องระบายอากาศเป็นรูปวงกลมเหนือประตูหน้าต่างทุกบาน ด้านในอาคารบูรณะให้คล้ายกับสภาพเดิมมากที่สุด แต่ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องตลาด ตัวบันไดและราวบันไดเป็นไม้ทำแบบให้คล้ายยุคเดิมโดยตกแต่งด้วยลายฉลุ ปิดช่องโล่งด้านบนด้วยหลังคาโครงเหล็กสีดำใส่แผ่นหลังคาสังกะสีสีขาว ห้อยโคมไฟแบบโบราณ

บันไดไม้ บ้นไดไม้ห้องนอนสไตล์วินเทจ ระเบียงไม้

อาคารหย่งเชียงแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเจ้าของอาคารในการรักษาตึกแถวค้าขายแบบดั้งเดิม เป็นตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมแบบก่ออิฐผสมไม้ยุคแรกๆ ของเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันอาคารหลังนี้ยังมีการใช้งานอยู่nโดยชั้นล่างเปิดเป็นร้านกาแฟและร้านขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวแวะนั่งพักเพื่อชมงานศิลปะและเขียนโปสต์การ์ดหาคนที่คิดถึงได้ ด้านบนเป็นโรงแรมขนาดเล็กมีระเบียงที่สามารถออกมานั่งมองสี่แยกมุมถนนและผู้คนในเมืองเชียงใหม่ได้


บ้านตึก (กลุ่มอาคารภายในบ้านของหลวงอนุสารสุนทร)

ที่ตั้ง: เลขที่ 26 – 44 ถนนท่าแพ เลขที่ 10, 12 และ 14 ถนนวิชยานนท์ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ : หลวงอนุสารสุนทร ร่วมกับช่างพื้นเมือง
ผู้ครอบครอง : บริษัทสุเทพ จำกัด
ปีที่สร้าง : ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 – 2475

บ้านโบราณ

หากใช้เส้นทางเลียบถนนท่าแพ คุณจะพบตึกแถวด้านหน้าที่มีป้ายเขียนว่าทางเข้า เมื่อเลี้ยวรถผ่านช่องระหว่างตัวตึกเข้ามาด้านในจะพบต้นไม้น้อยใหญ่บริเวณลานด้านในนี้ เมื่อลงจากรถจะมองเห็นจุดแสดงรถโบราณของหลวงอนุสารสุนทร คุณอนันต์ชัย นิมมานเหมินท์ ทายาทผู้ดูแลกลุ่มอาคารหลังนี้ กรุณาเล่าถึงประวัติศาสตร์อาคารอายุกว่าร้อยปี ซึ่งมีเรื่องราวและความเป็นมาน่าสนใจ บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของยุคสมัย และเหมือนได้ย้อนกลับไปดูภาพในอดีตอีกครั้ง
หลวงอนุสารสุนทร (พ.ศ. 2410 – 2477) มีนามเดิมว่า สุ่นฮี้ ชัวย่งเสง ท่านเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ได้วางรากฐานด้านการค้าของเชียงใหม่ให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ และได้สร้างอาคารหลายหลังในบริเวณบ้านเพื่อทำการค้าและพักอาศัย หลวงอนุสารสุนทรเป็นผู้มีหัวก้าวหน้าทั้งในด้านการค้า สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ อาคารกลุ่มนี้จึงสร้างโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ล้ำสมัยมากที่สุดในยุคนั้น ทายาทได้สืบทอดธุรกิจของท่านต่อมาในนาม ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลอนุสารเชียงใหม่ จนถึงทุกวันนี้ โดยบุคคลสำคัญหลายคนของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นทายาทของตระกูลได้เกิดและอยู่อาศัยที่บ้านตึกนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีตราชบัณฑิต อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายกระทรวง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ นักวิชาการคนสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ บิดานายธารินทร์ และนายศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์ สถาปนิกและนักวิชาการคนสำคัญ เป็นต้น”

คุณอนันต์ชัยพาเราเดินชมกลุ่มอาคารบ้านตึกซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก เนื่องจากเป็นอาคารก่ออิฐหลังแรกที่สร้างนอกกำแพงเมือง ประกอบด้วยอาคารเก่าจำนวน 5 หลัง คือ

1. เรือนแถว สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2440 – 2445 (ไม่ทราบปีที่สร้างแน่ชัด) ลักษณะเป็นอาคารเรือนแถว 2 ชั้น โครงสร้างกำแพงก่ออิฐรับน้ำหนัก พื้นเรือนเป็นพื้นไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินขอ ชั้นบนมี 4 ห้องและชั้นล่างอีก 4 ห้อง ใช้เป็นอาคารพักอาศัย
2. ตึกหลวง สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2440 – 2445 ลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น โครงสร้างกำแพงก่ออิฐรับน้ำหนัก ไม่มีเสาและคาน พื้นด้านในปูพื้นไม้หลังคามุงกระเบื้อง ชั้นล่างใช้เป็นที่ขายสินค้าชื่อว่าห้างชัวย่งเสง ชั้นบนเป็นสำนักงานธุรกิจ ร้านขายผ้าไหม ที่ทำการด้านการเงิน และที่พักอาศัย ภายในอาคารยังมีห้องมั่นคงใช้เก็บรักษาเงิน ภายในห้องมีกำแพงหนาและแข็งแรง เปรียบเทียบได้กับห้องนิรภัยในปัจจุบัน
3. ตึกแดง สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2464 – 2466 เป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น โครงสร้างกำแพงรับน้ำหนัก พื้นด้านในเป็นพื้นไม้ หลังคามุงกระเบื้อง หลวงอนุสารสุนทรสร้างให้บุตรสาว (นางกิมฮ้อ) ชั้นล่างเป็นร้านค้า ชั้นบนใช้พักอาศัย อาคารกรุมุ้งลวดทั้งหลัง มีห้องน้ำแบบสมัยใหม่คือ มีฝักบัวอาบน้ำ อ่างล้างหน้า และส้วมชักโครกทำจากอังกฤษ ใช้บ่อเกรอะ Septic Tank ใช้ตะเกียงน้ำมัน ตะเกียงลานที่มีใช้เฉพาะบ้านฝรั่งในขณะนั้น และยังมีฝาไหล (ช่องระบายลมแบบล้านนา) ที่หลวงอนุสารสุนทรได้ คิดประดิษฐ์กลไกการเปิด – ปิดขึ้นแทนแบบที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งยังใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน
4. ตึกขาว สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2475 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น หลวงอนุสารสุนทรสร้างให้บุตรชาย (นายแพทย์ยงค์ ชุติมา) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหลังแรกๆ ของเชียงใหม่ เพราะสร้างหลังจากที่รถไฟมาถึงเชียงใหม่ โดยขนส่งปูนซีเมนต์และเหล็กเส้นมาจากกรุงเทพฯ มีห้องน้ำที่ทันสมัย หน้าต่างกรุมุ้งลวดทั้งหลัง บานหน้าต่างกันไฟทำจากแผ่นเหล็ก
5. ครัวไฟ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2475 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น เป็นครัวไฟขนาดใหญ่ เพราะต้องทำอาหารเลี้ยงคนประมาณ 40 – 50 คน มีหอสูงสำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ เป็นหอน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กแห่งแรกของเชียงใหม่

บ้านโบราณ บ้านโบราณ ฝาผนังไม้ ระเบียงยาว ระเบียงไม้

อาคารทั้ง 5 หลังอยู่ในความดูแลของทายาทผู้สร้างมาโดยตลอด มีการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี ทั้งตัวอาคาร อุปกรณ์ประกอบอาคารต่างๆ เครื่องเรือน เครื่องใช้ กล้องถ่ายรูป และภาพถ่ายจำนวนมากของหลวงอนุสารสุนทร การซ่อมแซมต่อเติมอาคารมีเพียงเล็กน้อย เพื่อความจำเป็นในการใช้งานหรือเพื่อซ่อมแซมส่วนชำรุดเสียหายเท่านั้น ปัจจุบันอาคารยังอยู่ในสภาพดีและใช้งานตามปกติทุกหลัง ยกเว้นครัวไฟที่ใช้เป็นที่เก็บข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูล สิ่งของทุกชิ้นได้รับการเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นและสืบหาข้อมูล นอกจากนี้พื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านยังได้เปิดเป็นศูนย์ศิลปะบ้านตึก จัดแสดงนิทรรศการศิลปะของนักศึกษา และเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Baan Tuek Art Center


บ้านยอดคำเรือนแก้ว

ที่ตั้ง: เลขที่ 24  ถนนสิงหนาทบำรุง  ตำบลจองคำ อำเภอเมืองฯ  จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ : ไม่ปรากฏหลักฐานผู้ออกแบบ
ผู้ครอบครอง : คุณเสาวณีย์  วรรณศิริ
ปีที่สร้าง : พ.ศ. 2480

บ้านโบราณ บ้านไม้เก่า

ในเช้าวันที่แดดอ่อนและมีหมอกปกคลุมเบาๆ บนถนนสิงหนาทบำรุงภายในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ภาพบ้านไม้เก่าที่ตั้งเรียงรายตลอดถนนทั้งสายคือเสน่ห์ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของเมืองนี้ เมื่อไปจนสุดปลายถนนเราจะพบ “บ้านยอดคำเรือนแก้ว” ร้านยาสมุนไพรประจำเมือง ซึ่งดูแลโดย คุณเสาวณีย์ วรรณศิริ หรือที่ทุกคนในชุมชนรู้จักกันดีในนาม “ป้าเสาวณีย์” เธอผู้นี้ยังเป็นเสมือนโฆษกประจำชุมชนอีกด้วย

บ้านยอดคำเรือนแก้วเดิมเป็นบ้านของคุณตาโก่ตี่ ต่อมานายคำนึง วรรณศิริ หรือนายกะลา ยอดคำ ได้ซื้อต่อเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและค้าขาย นายกะลาเป็นผู้มีจิตใจงาม ชอบซื้อปลาในตลาดไปปล่อยเสมอและไม่กินเนื้อสัตว์ กินแต่ถั่วและมะขามเปียก เขาเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 90 ปี ปัจจุบันบ้านหลังนี้ครอบครองโดยทายาทของนายกะลา ซึ่งก็คือป้าเสาวณีย์นั่นเอง โดยใช้เป็นที่พักอาศัย ร้านขายยาของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และขายของที่ระลึกประเภทอัญมณี ตลอดจนงานแกะสลักต่างๆ

บ้านโบราณ บ้านไม้เก่า
ป้าเสาวณีย์เล่าให้ฟังว่า เดิมบ้านหลังนี้ปิดร้างเอาไว้เพราะเธอต้องตามเสด็จไปกับมูลนิธิ พอ.สว. ต่อมาเมื่อย้ายกลับมาอยู่บ้านจึงเริ่มปรับปรุงซ่อมแซม โดยดูแลทุกกระบวนการช่างด้วยตัวเอง รวมทั้งได้ปรึกษากับทีมคุณประกิจ คำภิไหล สถาปนิกประจำชุมชน ซึ่งได้อธิบายถึงลักษณะของบ้านว่าเป็นอาคารไม้สองชั้น ตัวบ้านคล้ายบ้านแถว
3 คูหา ชั้นล่างมีพื้นที่เชื่อมต่อทั่วถึงกันเพื่อใช้เป็นพื้นที่ค้าขาย ด้านหลังเป็นห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร และห้องน้ำ บันไดบ้านตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตก ขึ้นจากด้านทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือ บรรจบกับห้องโถงของชั้นสอง บนชั้นนี้ประกอบด้วยห้องโถง ห้องนอน 2 ห้อง ห้องน้ำ หิ้งพระ (เข่งเจ้าพารา) และระเบียงด้านหน้าซึ่งในอดีตออกแบบให้สามารถส่งสินค้าขึ้น – ลงให้คนขี่ช้างเพื่อนำไปค้าขายได้

บันไดไม้ ฝ้าไม้
โครงสร้างและพื้นอาคารเป็นไม้ หลังคาทรงปั้นหยาผสมจั่วมุงสังกะสีจากอังกฤษ ใต้หลังคาด้านหน้าและระเบียงมีหลังคายื่นออกมาอีกชั้นหนึ่ง มีการประดับบริเวณเชิงชายด้วยไม้ฉลุลายสวยงาม ชั้นสองของบ้านมีช่องแสงระบายอากาศและระบายความชื้น ประตูหน้าบ้านเป็นบานเฟี้ยมไม้โบราณทรงสูง หน้าต่างชั้นสองสามารถเปิดได้ถึงพื้นเพื่อก้าวข้ามสู่ระเบียงด้านหน้า ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยใหญ่ของพม่ากับตะวันตกที่มีความสวยงามลงตัว

ด้วยความตั้งใจเก็บรักษาสมบัติของบรรพบุรุษไว้ ปัจจุบันป้าเสาวณีย์ได้ซ่อมแซมพื้นชั้นล่างโดยปรับปรุงฐานรากใหม่เพื่อเสริมความมั่นคง รวมทั้งทาสีเคลือบเนื้อไม้ทั้งอาคาร ระหว่างที่เธอเล่าให้พวกเราฟังก็นำรูปถ่ายระหว่างการซ่อมแซมอาคารให้ทีมงานดูเพื่อเป็นข้อมูล พวกเรารู้สึกได้ถึงความทุ่มเทของเธอ เพราะใต้ถุนบ้านสูงจากพื้นดินเพียง 60 เซนติเมตร แต่เธอก็มุดตัวลงไปเพื่อเทปูนเสริมฐานรากด้วยตัวเอง พื้นด้านหน้าอาคารที่เคยเป็นลำรางสาธารณะ ตอนนี้ไม่มีน้ำผ่าน ทำให้พื้นหน้าบ้านทรุด ป้าเสาวณีย์จึงจัดแจงเปลี่ยนกระเบื้องหน้าบ้านให้เป็นทางเดินสวยงาม ด้านหลังบ้านมีการต่อเติมบ้านใหม่ขึ้นอีกหลัง ที่น่าสนใจคือทางเชื่อมของบ้านใหม่และบ้านเก่าทำให้เราไม่รู้สึกว่าบ้านหลังนี้มีบ้านใหม่ซ่อนอยู่ด้านหลัง ทางเข้าบ้านที่เชื่อมกับอาคารเดิมนั้นเป็นหน้าต่างไม้บานเล็กๆ ป้าเสาวณีย์บอกว่าไม่อยากเปลี่ยนแปลงสภาพบ้านเดิมที่มีความ
สวยงามอยู่แล้ว

ป้าเสาวนีย์ยังได้เข้าร่วมกับชมรมอนุรักษ์บ้านเก่าเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อร่วมอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมของเมืองแม่ฮ่องสอนเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นศิลปวัฒนธรรมของเมืองที่เต็มไปด้วยมนตร์เสน่ห์แห่งอดีตที่ยาวนานแห่งนี้ต่อไป


พิพิธภัณฑ์มีชีวิต เมืองแม่ฮ่องสอน

ที่ตั้ง : เลขที่ 27  ถนนสิงหนาทบำรุง  ตำบลจองคำ อำเภอเมืองฯ  จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สถาปนิก / ผู้ออกแบบ : ไม่ปรากฏหลักฐานผู้ออกแบบ
สถาปนิกผู้บูรณะ : คุณประกิจ  คำภิไหล
ผู้ครอบครอง : กรมธนารักษ์  ดูแลโดยเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
ปีที่สร้าง : พ.ศ. 2497

บ้านโบราณ บ้านไม้เก่า

ภาพตัวเมืองเล็กๆที่ดูอบอุ่น โอบกอดด้วยขุนเขา มีสายหมอกลอยเอื่อย ทำให้เราสลัดอาการเมารถทิ้งไปจนหมด ไม่ใช่แค่ธรรมชาติเท่านั้น แต่บ้านเมืองอันแสนสงบเรียบง่ายและวิถีชีวิตแบบเนิบช้าของผู้คนก็พาให้เราหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเช่นกัน เรามีนัดกับ คุณโต้ง – ประกิจ  คำภิไหล สถาปนิกผู้บูรณะ“อาคารศูนย์ประสานงานพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เมืองแม่ฮ่องสอน” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสิงหนาทบำรุง ก่อนถึงเวลานัดหมายเรามีโอกาสเดินสำรวจบริเวณโดยรอบ และได้ทราบประวัติความเป็นมาว่า อาคารแห่งนี้เดิมเคยเป็นบ้านของแม่เฒ่าจองโอ่งและสามี หลังสามีเสียชีวิต แม่เฒ่าจองโอ่งขายบ้านหลังนี้ให้ครูฤทธิ์ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนบ้านจองคำ ครูฤทธิ์ใช้เป็นทั้งที่พักอาศัยและขายกาแฟในตอนเช้าของทุกวัน หลังจากนั้นบ้านหลังนี้ก็เปลี่ยนมือมาเป็นของป้าแก้ว ซึ่งซื้อมาเพื่อใช้เป็นที่ขนส่งสินค้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ได้ซื้ออาคารหลังนี้เพื่อใช้เป็นที่ทำการ จนถึงปี พ.ศ. 2548 องค์การแห่งนี้ได้ปิดตัวลง กรมธนารักษ์จึงเข้ามาดูแลต่อ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2552 เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนโดย คุณสุเทพ  นุชทรวง นายกเทศมนตรีในขณะนั้น ได้ดำเนินการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์

เมื่อถึงเวลานัดหมายเราได้พบคุณโต้ง ซึ่งเล่าให้ฟังว่า การปรับปรุงอาคารยังคงรูปแบบของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแบบมีชีวิตของแม่ฮ่องสอน สิ่งที่ทำให้ที่นี่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวโดยทั่วไปคือ ไม่ได้มีเพียงข้าวของจากในท้องถิ่นมาแสดงเพียงอย่างเดียว ชั้นล่างของอาคารยังมีนิทรรศการหมุนเวียน ห้องฉายสื่อแนะนำการท่องเที่ยวเมืองแม่ฮ่องสอนและบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการไปเยือนที่แห่งนั้นและสัมผัสวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จริงๆ

บ้านโบราณ บ้านไม้เก่า บ้านโบราณ บ้านไม้เก่า

ส่วนด้านหลังเป็นส่วนบริการสาธารณะ มีบันไดอยู่กลางอาคาร พื้นที่ชั้นสองประกอบด้วยห้องโถงห้องแสดงงานถาวร ระเบียงด้านหน้าและด้านข้างอาคาร โครงสร้างพื้นชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กขัดมันผสมสีเขียว ส่วนโครงสร้างพื้นและวัสดุปูพื้นชั้นสองเป็นไม้ ผนังอาคารเป็นโครงคร่าวไม้กรุแผ่นไม้ตีซ้อนเกล็ด หลังคาโครงสร้างไม้เดิมที่เสริมความแข็งแรงบางส่วนและมุงกระเบื้องลอนคู่ หน้าต่างเป็นบานลูกฟักไม้ ประตูทางเข้าด้านหน้าอาคารเป็นประตูบานเฟี้ยมของเดิม เหนือประตูเป็นช่องระบายอากาศลักษณะผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยใหญ่กับสถาปัตยกรรมตะวันตกที่มีความเรียบง่าย สวยงาม นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงบ่อน้ำเดิมและพื้นที่ว่างด้านข้างอาคารให้เป็นลานกิจกรรม เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีพื้นที่ในการแสดงออกและเรียนรู้ร่วมกัน  บ้านโบราณ

บันไดไม้ บันไดไม้ บ้านโบราณ บ้านไม้เก่าบ้านโบราณ บ้านไม้เก่า
อาคารแห่งนี้แสดงให้เห็นแนวคิดของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารไม้ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่สวยงาม เป็นการปรับเปลี่ยนการใช้สอยภายในใหม่โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมากนัก ถือเป็นการช่วยรักษามรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าของเมืองแม่ฮ่องสอน รวมถึงสะท้อนคุณค่าความงามและอัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่นที่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย  บ้านโบราณ


เรื่อง : ปาริฉัตร สกุลเจริญพรชัย

ภาพ : วีระพล สิงห์น้อย

เอกสารอ้างอิง : หนังสือ 183 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย  เล่ม 2

ชม 5 บ้านเก่าทรงคุณค่า ที่เปรียบเสมือนมรดกของสถาปัตยกรรมไทย

เรือนไม้หลังงามจากยุคล่าอาณานิคมของเมืองไทย