เลื่อย

วิธีใส่ใบเลื่อย และการเลือกใช้ใบเลื่อยตัดเหล็กที่ถูกต้อง

เลื่อย
เลื่อย

ใส่ใบเลื่อยกันผิดอยู่หรือเปล่า? เวลาเลื่อยจึงกินแรง มาดูวิธีเปลี่ยนใบเลื่อยเหล็กที่ถูกต้อง ไม่ทำให้ใบเลื่อยเสียหายง่าย สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเลือกใช้ใบเลื่อยให้ถูกประเภท ก็จะช่วยให้ทำงานได้เรียบร้อยและเบาแรง

เลื่อย

วิธีเปลี่ยนใบเลื่อยตัดเหล็ก

1.ถอดใบเลื่อยตัดเหล็กที่แตกหัก บิดงอ หรือเสียหายออกจากโครงเลื่อยเดิม แล้วนำ ใบเลื่อย ที่ต้องเปลี่ยนใหม่มาใส่แทน โดยสังเกตเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์คล้ายๆ ลูกศรบอกทาง ซึ่งพิมพ์อยู่บนใบเลื่อยนั่นเอง ถ้ามีลูกศรกำกับอยู่ก็ให้ใส่ใบเลื่อยไปตามทิศทางนั้นๆได้เลย

2.กรณีที่ใบเลื่อยตัดเหล็กไม่มีสัญลักษณ์ลูกศรบอกทาง ให้พิจารณาจากคมฟันของใบเลื่อยแทนได้ โดยให้ฟันเลื่อยชี้ไปด้านหน้า

3.ปรับตั้งระยะโครงเลื่อยให้พอดีกับขนาดความยาวของ ใบเลื่อย ตัดเหล็ก จากนั้นประกอบใบเลื่อยเข้ากับโครงเลื่อยให้เรียบร้อย

เลื่อย

4.จากนั้นขันสกรูหรือนอตหางปลาเพื่อปรับความตึงใบเลื่อยตัดเหล็ก โดยขันให้ตึงพอประมาณ (บิดแค่ตึงมือก็หยุดได้) แล้วให้สังเกตใบเลื่อยว่าอยู่ในแนวหรือตำแหน่งเดียวกับโครงเลื่อยหรือไม่ โดยใบเลื่อยต้องไม่บิดไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะเป็นสาเหตุทำให้ใบเลื่อยหัก หรือเลื่อยไม่ตรงแนวได้


เทคนิคการเลือกใบเลื่อยตัดเหล็กให้เหมาะกับงาน

ปกติแล้วโครง เลื่อย มือตัดเหล็กหรือตัดวัสดุอื่นๆที่ใช้กันทั่วไปนั้น จะมีขนาดความยาวมาตรฐานอยู่ที่ 12 นิ้ว ส่วนหน้ากว้างใบเลื่อยที่ใช้คือ 1/2 นิ้ว โดยสามารถแบ่งตามชนิดของวัสดุที่นำมาใช้ทำใบเลื่อยได้ดังนี้

เลื่อย

1.ใบเลื่อยคาร์บอนสตีล (Carbon Steel)

มีราคาถูก ผลิตจากเหล็กมาตรฐาน นำมาชุบแข็งเพื่อเพิ่มความทนทาน แต่มีความยืดหยุ่นน้อย จึงเปราะและแตกหักง่าย รวมถึงฟันเลื่อยก็สึกง่าย เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ใช้ตัดชิ้นงานเป็นครั้งคราว เช่น ท่อพีวีซี หรือพวกโลหะต่างๆ

2.ใบเลื่อยไฮสปีดสตีล (High Speed Steel)

มีราคาปานกลาง ผลิตจากเหล็กคุณภาพสูง (เกรด A) นำมาชุบแข็ง ทนต่อแรงบิดงอได้ระดับหนึ่ง ฟันเลื่อยมีความคม จึงตัดชิ้นงานได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับมือสมัครเล่น ผู้รักงาน DIY และช่างมืออาชีพที่ต้องการความรวดเร็วในการตัดชิ้นงานและใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

3.ใบเลื่อยตัดเหล็กไบเมทัล (BI-METAL)

มีราคาสูง สามารถบิดงอได้โดยไม่แตกหัก เพราะตัวใบเลื่อยมีส่วนผสมของโลหะ 2 ชนิด อาทิ ไฮสปีดสตีลและอัลลอย เชื่อมติดกันด้วยกระแสไฟฟ้าแรงสูง ใบเลื่อยมีความคมสูง แต่ก็มีความยืดหยุ่นในเวลาเดียวกัน จึงปลอดภัยกับผู้ใช้งาน เหมาะกับช่างมืออาชีพหรือผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการตัดชิ้นงาน ไม่ต้องเสียเวลามาเปลี่ยนใบเลื่อยบ่อยๆ

ใบเลื่อย
ภาพตัวอย่างการทดสอบการอ่อนตัวของใบเลื่อยคาร์บอนสตีล
ใบเลื่อย
ภาพตัวอย่างการทดสอบการอ่อนตัวของใบเลื่อยไฮสปีดสตีล

18T, 24T และ 32T คือ?

ตัวเลข 18T หรือ 18TPI ที่ปรากฏบนใบเลื่อยตัดเหล็กนั้นคือ จำนวนของฟันเลื่อยต่อความยาว 1 นิ้ว (Teeth Per Inch) ทั้งนี้ฟันเลื่อยที่มีลักษณะคล้ายกับลิ่มเรียงซ้อนกันตามความยาวของใบเลื่อย จะทำหน้าที่ตัดวัสดุ โดยอาศัยแรงกดหรือแรงดันจากมือผู้ใช้งาน ดังนั้นการเลือกใช้ใบเลื่อยที่มีฟันหยาบหรือละเอียดนั้น จึงขึ้นอยู่กับวัสดุและลักษณะงานนั่นเอง

ใบเลื่อย

ใบเลื่อยขนาด 18T (หยาบ)

ใช้กับวัสดุมีเนื้อไม่แข็งมาก เช่น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม พลาสติก เป็นต้น เหมาะกับงานตัดเหล็กที่ต้องการความรวดเร็ว

ใบเลื่อย

ใบเลื่อยขนาด 24T (ปานกลาง)

‘เหมาะกับงานตัดเหล็กที่มีความหนา และต้องการความรวดเร็ว เช่น เหล็กหล่อ เหล็กกล่อง เหล็กโครงสร้าง ทองเหลือง ฯลฯ

ใบเลื่อย

ใบเลื่อยขนาด 32T (ละเอียด)

เหมาะกับงานที่ต้องการความประณีต สามารถใช้ตัดเหล็กแผ่นบางๆ หรือสเตนเลสได้

TIP 

หลังจากใช้งานแล้วควรทำความสะอาดใบเลื่อยทุกครั้ง ด้วยการปัดด้วยแปรงให้เศษขี้เลื่อยหลุดออกจากฟันเลื่อย ก่อนที่จะทาด้วยน้ำมันอเนกประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดสนิม


เรื่อง : พจน์ ผลิตภัณฑ์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม


เลื่อย ประเภทต่างๆ และการเลือกใช้

วิธีลับมีด กรรไกร ให้กลับมาคมกริบด้วยกระดาษทราย