นกกรงหัวจุก (นัก)ร้องเสียงทอง ที่มีสีสันสวยงาม

ไม่แปลกใจ หากใครได้สัมผัสใกล้ชิดกับ นกกรงหัวจุก (นัก)ร้องเสียงทอง ที่มีสีสันสวยงามแล้วจะหลงรักแบบถอดตัวไม่ขึ้น อย่างเช่นคุณหนุ่ม สุชาติ พงศ์ดำรง จากที่เลี้ยงด้วยใจรัก สู่นักพัฒนาสายพันธุ์แนวหน้าของเมืองไทย

ปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่า นกกรงหัวจุก หรือนกปรอดหัวโขน มีกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะหลงเสน่ห์สีสัน ที่สวยงามหรือเสียงอันไพเราะของนกกรงหัวจุกก็ตาม ทำให้ ณ เวลานี้ ตลาดนกกรงหัวจุก มีมูลค่าเม็ดเงินหลายสิบล้านบาท โดยเฉพาะใครมีนกกรงหัวจุกสวยและเก่ง แข่งชนะเลิศ เท่ากับมีเพชรเม็ดงามอยู่ในมือ ด้วยเหตุนี้เองทำให้นกกรงหัวจุก ที่เคยเป็นนกที่เลี้ยงไว้ดูสวยงามกลายเป็นนกที่สามารถทำรายได้ให้แก่เจ้าของได้ เช่นเดียวกับ คุณหนุ่ม – สุชาติ พงศ์ดำรง ผู้ที่หลงรักในสีสันและน้ำเสียงอันไพเราะ จนต่อยอดกลายเป็นนักพัฒนาสายพันธุ์ เจ้าของ “นนทปรีชา” ฟาร์มนกกรงหัวจุกที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ วันนี้ได้ให้เกียรติเปิดบ้านให้ บ้านและสวน Pets เข้าชมนกกรงหัวจุกอย่างใกล้ชิดและให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเอง ที่สำคัญอนุญาตให้เราถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอพร้อมคลิปเสียงนกกรงหัวจุกชั้นครู เรียกว่าเอ็กซ์คลูซีฟจริง ๆ ค่ะ!!!

คุณหนุ่ม สุชาติ พงศ์ดำรง เจ้าของฟาร์มนกกรงหัวจุก นนทปรีชา ฟาร์มนกกรงหัวจุกทีมีชื่อเสียงระดับประเทศ พร้อมรับประกันคุณภาพนกทุกตัวที่ได้จากฟาร์มนี้ไป

ลักษณะทั่วไปของนกกรงหัวจุกหรือปรอดหัวโขน

แก้มและคอจนถึงหน้าอกจะมีสีขาวและมีสีแดงเป็นเส้นอยู่ข้างหูลงมาถึงหน้าอกเหมือนเป็นเส้นแบ่งขนสีขาวกับสีดำที่มีอยู่ทั่วทั้งตัว ขนส่วนหัวจะรวมกันเป็นเหมือนหน่อตั้งอยู่บนหัวสูงขึ้นไปเหมือนหัวโขน ใต้ท้องมีขนสีขาว นกกรงหัวจุกเป็นนกที่มีชื่อเสียงในการแข่งขัน ประกวดด้านการประชันเสียงกว่านกอื่น ๆ เนื่องจากเป็นนกที่มีเสียงอันไพเราะ และมีเพลงหรือเสียงร้องที่หลากหลายกว่านกอื่น ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยง ว่าผู้เลี้ยงจะดูแล เอาใจใส่นกกรงหัวจุกได้ดีมากน้อย เพียงใด หรือ ที่เรียกว่า มือน้ำเลี้ยงนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงนกกรงหัวจุก

การเริ่มต้นของเลี้ยงนกของผม ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนครับ เริ่มจากผมเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงมาหลายอย่าง สุนัข ปลาสวยงาม นกสวยงาม ตั้งแต่เด็ก ๆ ที่บ้านป๊า(พ่อ) ก็เลี้ยงสัตว์เลี้ยงหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็มี นกพิราบ นกหงส์หยก ตัวผมก็เลยผูกพันธ์ และคิดว่าการมีสัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา พอผมซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ก็เลยมองหานกกรงหัวจุกมาเลี้ยง เพราะเป็นนกร้องที่มีเสียงเพราะ เพียงเพื่อให้ตอนเช้า ๆ ก่อนไปทำงานได้นั่งดื่มกาแฟ และฟังเสียงนกที่สวนหน้าบ้านก็แค่นั้น นี่คือเรื่องราวเริ่มต้นของการเลี้ยงนกกรงหัวจุก จากนั้นก็ค่อย ๆ เริ่มสะสมนกกรงหัวจุกสีพิเศษต่าง ๆ มาเลี้ยงครับ

ความรู้สึกตอนไหนที่รู้ว่าจะต้องเลี้ยงอย่างจริงจังแล้ว

จากจุดที่ผมเริ่มซื้อนกกรงหัวจุกสีพิเศษ ๆ มาเลี้ยง ซึ่งสมัยนั้นราคาค่อนข้างแพงและหาค่อนข้างยาก ทำให้เริ่มศึกษาข้อมูลการเพาะเลี้ยงจากหนังสือ และอินเตอร์เน็ต อ่านไปอ่านมาจนคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ โดยไม่ลำบากเกินไป ก็เริ่มลงมือทดลองเพาะเลี้ยงจาก 1 คู่ ก็ขยายมาเรื่อย ๆ

จากที่ผมเองค่อนข้างมั่นใจในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์มาจากการอ่าน ทำให้ระหว่างที่เพาะเลี้ยงอยู่ จึงไม่เสียเวลามากนัก และก็ประสบความสำเร็จในปีแรกๆที่ทำ ก็เลยเป็นที่มาของการเริ่มพัฒนา สายพันธุ์นกกรงหัวจุกสีใหม่หรือสีที่พบเห็นได้น้อยมาก ออกสู่วงการผู้นิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุก ซึ่งสมัยนั้นก็มีรุ่นพี่ในวงการทำมาก่อน แต่ก็ยังไม่มากและก็เข้าถึงค่อนข้างลำบากผมเลยเริ่มเห็นช่องทาง การต่อยอดที่จะเพาะขยายพันธุ์ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจให้คนที่นิยมเลี้ยง และผู้ที่สนใจเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม

ความแตกต่างของนกกรงหัวจุกในแต่ละภาค

นกกรงหัวจุก เป็นนกประจำถิ่น ถิ่นในที่นี้ คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นะครับ เริ่มตั้งแต่ อินเดีย จีนตอนใต้ เกาะฮ่องกง เวียดนาม ลาม เมียนม่า ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปินส์ ส่วนในประเทศไทย นกกรงหัวจุก มีอยู่ทกุจังหวัดครับ แต่ถ้าให้จำแนกคงต้องอ้างอิงตามเสียงและทำนองการร้อง พวกเราเรียกว่า สำนวนเพลงของนกในถิ่นต่างๆ เช่น นกเหนือ หมายถึง นกภาคเหนือ ที่ดังๆและเด่นๆ ก็น่าจะเป็นนกแพร่ เราเรียกกันว่า นกที่ร้องสั่นและมักร้องเบิ้ล แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัวนะครับ นกใต้ หมายถึง นกภาคใต้ เราเรียกนกที่ร้องเพลงประจำถิ่นนี้ว่า เพลงแม่บท แล้วก็มีการแยกสำนวนออกไปอีกว่า เป็นแม่บทเพลง 3 เพลง 4 ที่เด่น ๆ เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน จากนกทั่วๆไปคือ นกจะตัวค่อนข้างใหญ่ โครงสร้างสวย ร้องดัง ชัดถ้อยชัดคำ ส่วนนกอุดร หมายถึง นกจากถิ่นจังหวัดอุดร เป็นนกที่ผมเองก็ยังไม่เคยมี เคยแต่ได้ยินเขามากันว่า มีสำนวนเพลงเป็นเอกลักษณ์ และนิยมเลี้ยงกัน มาถึง นกละอู หรือ นกโซนเทือกเขาตะนาวศรี เป็นนกที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ทั้งรูปทรงโครงสร้าง สำนวนเพลง และนิสัยของสายพันธุ์นี้ ทำให้ผมรักและสะสมมากที่สุดไม่แพ้นกสีพิเศษเลย

1.นกกรงหัวจุกด่าง 2.นกกรงหัวจุกสีน้ำตาลอ่อนหรือที่เรียกกันในวงการว่าสีโอวัลติน 3.นกเผือกตาแดง 4.นกกรงหัวจุกสีโอวัลตินด่าง

สำหรับการแยกนกกรงหัวจุกสีพิเศษ ผมขอจำแนกตามแนวทางการพัฒนาสายพันธุ์ ที่ผมมีอยู่แล้วกันนะครับ

1. นกด่าง คือ นกสีปกติตามธรรมชาติ แต่มีความพิเศษกว่าตรงที่มีจนสีขาวแซมออกมา จะมากจะน้อยแล้วแต่นก และก็มีการนำแนกความพิเศษมากน้อยออกไปอีกว่า เป็นนกด่างปากดำ นกด่างปากขาว นกด่างคิ้วแดง นกด่างเล็บขาว
2. นกสี คือนกที่มีสีขนแปลก เช่น นกสีน้ำตาลอ่น (พวกเราเรียกว่า สีโอวัลติน) , นกสีขาว (พวกนี้เป็นนกด่างขาว หรือบ้างตัว ขาวทั้งตัว) , นกสีเทา
3. นกเผือก คือนกสีขาว ตาแดง (Albino หรือสัตว์เผือก) นกกลุ่มนี้ มีลักษณะที่ชัดเจนมาก ๆ ขนสีขาว หรือสีขาวครีม ประกอบกับ ดวงตาสีแดง ที่เป็นเอกลักษณ์ของสัตว์เผือก
4. ผมเชื่อว่ายังมีนกสีพิเศษ ที่เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์อีก กลุ่มหนึ่ง ที่อาจจะเป็น นกด่างสีเทา, นกด่างสีโอวัลติน, นกสีโอวัลตินตาแดง เป็นต้น

กฏหมายเกี่ยวกับนกกรงหัวจุกที่ควรรู้

นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย (ประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีนกชนิดนี้อาศัยอยู่) แต่มีการอนุญาตให้เพาะเลี้ยขยายพันธุ์ได้ตามกฏหมาย ซึ่งผมขอแนะนำคร่าว ๆ นะครับ
1.นกที่จะนำมาเลี้ยงต้องได้มาจากฟาร์มเพาะนกที่ได้รรับอนุญาตให้ดำเนินการเพาะพันธุ์อย่างถูกต้อง และมีใบอนุญาตตามกฏหมาย
2. ผู้เลี้ยงจะได้รับนก พร้อมเอกสารใบกำกับการจำหน่าย (เอกสารราชการ) จากฟาร์มที่ถูกกฏหมาย แล้วนำไปจดแจ้งครอบครองที่ ส่วนงานอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ตามพื้นที่ของผู้เลี้ยง เราเรียกกันว่า แจ้งครอบครองนก
3. สำหรับผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยง ก็สามารถขออนุญาตได้เช่นกัน โดยติดต่อกับส่วนงานอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ในพื้นที่ของท่านได้เลย ผมขอแนะนำเบื้องต้นว่า ควรเลือกนกที่สนใจเลี้ยง และสนใจเพาะเลี้ยงก่อน แล้วศึกษาจากรุ่นพี่ ๆ ที่มีประสบการณ์เพื่อจะได้ไม่เสียเงินหรือเสียเวลา
4. การเลี้ยงนกกรงหัวจุกไม่ยาก ไม่ซับซ้อน เพราะนกชนิดนนี้ อยู่ง่าย เลี้ยงง่าย กินง่าย ไม่สกปรก มีภูมิต้านทานสูง

ฟาร์มนนทปรีชา มีการพัฒนานกกรงหัวจุกสายพันธุ์ใดออกมาบ้าง มีจุดเด่นอย่างไรที่ทำให้แตกต่าง และมีชื่อเสียงอย่างมากในปัจจุบัน

นนทปรีชา ในสมัยแรก ๆ เป็นนามปากกาของผม ผู้นิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุกสีพิเศษที่มักจะเอานกมาโชว์ ให้เพื่อน ๆ ดู ต่อมา นนทปรีชา ก็กลายเป็นชื่อคนที่พัฒนาสายพันธุ์นกสีพิเศษ ออกมาแบ่งปัน ให้เพื่อนๆที่ต้องการนำไปต่อยอด เนื่องจากเดิม ผมมีนกสีพิเศษหลายตัว บางตัวก็เพาะได้เร็ว และบางตัวก็เพาะออกมาได้ภายหลัง ทำให้ระหว่างช่วงเวลาที่เพาะเลี้ยงอยู่นั้น ผมจึงมีนกสีพิเศษออกมาอยู่เรื่อย ๆ อีกทั้งผมเองก็ได้ทดลองเพาะพันธุ์ข้ามสีกัน ทำให้เราเองก็ได้สีใหม่ ๆ ออกมาด้วย จุดนี้ละมั้งครับ ที่ทำให้ กลุ่มผู้นิยมเลี้ยงนกกรงหัวจุก ชื่นชอบผลงานนกจากที่บ้าน นนทปรีชา

การประกวดนกกรงหัวจุก รางวัลที่ได้รับต่าง ๆ และเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ

ถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และถ้วยประทานจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่คุณหนุ่มภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

สำหรับการประกวดนก ของผมนั้น รางวัลสูงสุดในชีวิต ก็คือถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และถ้วยประทานจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ส่วนเรื่องที่ภาคภูมิใจระหว่างที่เลี้ยงนก ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ผมได้รับเลือกเป็นตัวแทน จากผู้นิยมเลี้ยงนก สายร้อง เข้าร่วมเป็นกรรมการร่างมาตราฐานฟาร์มนกสวยงาม จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ องค์การมหาชน (www.bedo.or.th) ผมเข้าร่วมประชุมและร่างมาตราฐานฟาร์มนกสวยงาม โดยใช้เวลาเกือบ 3 ปี กว่าจะออกมาเป็นพระราชบัญญัติ และมีผลประกาศใช้งานในราชกิจจานุเบกษา (https://www.acfs.go.th/standard/download/GAP_ORNAMENTAL-BIRD-FARM.pdf )

สำหรับคนทั่วไปที่อยากเลี้ยงนกกรงหัวจุก ต้องเริ่มต้นอย่างไรบ้าง

– การเริ่มเลี้ยงนกกรงหัวจุก สำหรับผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เลี้ยงไว้ฟังนกร้อง น่าจะเริ่มจาก หานกกรงหัวจุกเพศผู้ ควรเป็นนกจากฟาร์มที่มีมาตราฐานการเพาะเลี้ยง
– วิธีการเลี้ยง ก็ไม่ยุ่งยาก ให้อาหารสำเร็จรูป และผลไม้สุก เช่นกล้วย มะละกอ กับน้ำสะอาด
– กรงเลี้ยง นกกรงหัวจุก มาตราฐานที่นิยมเราเรียกว่า กรงแขวน ทำจากไม้ ขนาด 15-17 ซี่

สุดท้ายอยากฝากอะไรสำหรับแฟน ๆ ของบ้านและสวน Pets

เรื่องที่อยากฝาก ก็น่าจะเป็น 2 เรื่อง
1. สำหรับมือใหม่ อยากให้ลองสอบถามก่อน ฟาร์มที่ดีจะให้คำแนะนำที่ดี และเลือกนกที่เหมาะกับลูกค้าได้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์
2. สำหรับผู้สนใจเพาะเลี้ยง เป็นอาชีพเสริม ขอให้ตั้งใจและค้นคว้าศึกษาตามมาตราฐานและกฏหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

การเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก หรือสัตว์เลี้ยงชนิดใดก็ตาม หากเราต้องการประโยชน์จากเขามากขึ้น เราก็ต้องใส่ใจเขามากขึ้น จะทำเหมือนเลี้ยงเล่น ๆ ไม่ได้ นกกรงถึงแม้วันนี้จะหาซื้อได้ง่ายขึ้น แต่ทำให้ยากมากขึ้นในการจะคัดเลือกนกที่มีสายพันธุ์ที่ดี และมีคุณลักษณะที่ดี ถ้าเราช่วยกันคัดพันธุ์ที่สวย ๆ นกที่มีโครงสร้างสวย ๆ การฝึกนกให้ร้องในสำนวนที่เพราะ ๆ ผมเชื่อว่า นกกรงหัวจุก จะเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศตัวใหม่ ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงมากกว่าเดิม

เจ้าของ : คุณสุชาติ พงศ์ดำรง
เรื่อง : ลีฬภัทร กสานติกุล
ภาพ : อนุพงษ์ ชัยสุขเกษม