รีโนเวตบ้านชั้นเดียว เป็นบ้านสองชั้น ทำได้จริงหรือไม่?

รีโนเวตบ้านชั้นเดียว ให้กลายเป็นบ้านสองชั้น ทำได้จริงหรือไม่? ไม่อยากรื้อบ้านทั้งหลังแต่อยากขยายขึ้นไปชั้นสอง ถ้าตอบตรงๆ ก็คงจะต้องตอบว่า ทำได้จริง! และทำไม่ได้!

เพราะมีเงื่อนไขขั้นตอนในแง่ของโครงสร้างและกฏหมายอยู่ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นบ้านและสวนจึงอยากขอแจกแจงให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจว่า รีโนเวตบ้านชั้นเดียว เป็นบ้านสองชั้น ทำได้หรือไม่? ถ้าทำได้จริง ทำได้เพราะอะไร? และถ้าทำไม่ได้ มีหลักการและเรื่องที่ควรคำนึงอย่างไร? เพื่อจะได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจสร้างบ้านหรือต่อเติมต่อไปนะครับ

กรณีตอบว่าทำไม่ได้

กรณีออกแบบเผื่อต่อเติมชั้นสอง

ทำไม่ได้เพราะ เพราะว่าการออกแบบบ้านนั้นไม่นิยมเผื่อโครงสร้างมากกว่าที่จะสร้าง เหตุผลก็คือในการขออนุญาตนั้นจะต้องทำในครั้งเดียว หากการคำนวญโครงสร้างนั้นมีการเผื่อชั้นสองชั้นสาม การขออนุญาตก็จะต้องขอไปในทันที ซึ่งเขาไม่ทำกันเนื่องจากมีความยุ่งยากเกินไป

กรณีตั้งใจออกแบบให้ชั้นสองมีโครงสร้างอยู่ในพิกัดเสาเดิม

ทำไม่ได้ถ้าหากไม่ใช้โครงสร้างเบาเช่น โครงสร้างไม้ หรือ โครงสร้างเหล็ก เพราะไม่ได้ออกแบบรอรับการต่อเติมไว้ อาจก่อความเสียหายกับโครงสร้างเดิมได้ อีกทั้งยังจำเป็นต้องขออนุญาตใหม่อีกด้วย

กรณีตอบว่าทำได้

ในกรณีที่ทำได้นั้น สามารถเลือกออกแบบได้หลายวิธี

วิธีที่ 1 ออกแบบโดยใช้ฐานรากใหม่

รีโนเวตบ้านชั้นเดียว

วิธีนี้จะใช้การลงเข็มและทำฐานรากเพื่อทำโครงสร้างของชั้นสองใหม่ ข้อเสียคือจะไม่ได้อยู่ในแนวพิกัดเสาเดิม แต่สามารถออกแบบให้แนวเสาใหม่เข้ามาอยู่ชิดกับแนวเสาเดิมได้ จากนั้นจึงออกแบบให้ชั้นหนึ่งกับชั้นสองต่อเชื่อมเป็นอาคารเดียวกัน
*ต้องปรึกษาวิศวกรและสถาปนิกตั้งแต่เริ่มต้น

วิธีที่ 2 ออกแบบโครงสร้างชั้นสองด้วยโครงสร้างเบา

รีโนเวตบ้านชั้นเดียว

วิธีนี้คือการรื้อโครงสร้างหลังคาออกมาก่อนแล้วจึงต่อเติมชั้นสองโดยเลือกใช้โครงสร้างเบา ทั้งนี้โครงสร้างเดิมต้องได้รับการพิจารณาจากวิศวกรเสียก่อนว่า สามารถรับแรงได้จริง และปลอดภัย หากเป็นกรณีที่ออกแบบเผื่อต่อเติมชั้นสองอยู่แล้ว อาจพิจารณาเลือกใช้โครงสร้างแบบ “ผนังรับน้ำหนัก” จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ หากการต่อเติมทำให้เกิดน้ำหนักมากกว่าเดิมเกิน 10% จำเป็นที่จะต้องขอยื่นอนุญาตเสียก่อน

วัสดุสำหรับโครงสร้างและผนังที่เหมาะกับการต่อเติมชั้นสองแบบโครงสร้างเบา

โครงสร้าง อาจพิจารณาเป็นโครงสร้างไม้ หรือ โครงสร้างเหล็กกล่องแบบ Light Guage
ผนังเบา อาจเลือกใช้ได้ทั้ง แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เมทัลชีต หรือบานอลูมิเนียม แต่ไม้อัดและวัสดุจำพวกกระดาษหรือขี้เลื่อยอัด อาจเสื่อมสภาพในเวลาไม่นาน
หลังคา ควรเลือกใช้หลังคาเมทัลชีท โดยอาจบุ Foam Isulate เพื่อซับเสียงและกันความร้อนเพิ่มเติม

วิธีที่ 3 ออกแบบสำหรับก่อสร้างเพิ่มเติมในภายหลังโดยแยกโครงสร้างออกจากกัน

วิธีนี้เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเริ่มจากการทำความเข้าใจในผังแม่บทของบ้านก่อน หรือที่สถาปนิกมักเรียกว่า Master Plan ในแรกเริ่มอาจสร้างบ้านชั้นเดียวก่อน จากนั้นเมื่อครอบครัวเริ่มขยายจึงเริ่มสร้างบ้านชั้นครึ่งเพื่อต่อเชื่อกับบ้านหลังแรก และสร้างบ้านยกใต้ถุนต่อไปเป็นหลังที่สามก็จะทำให้เราได้บ้านเล่นระดับที่มีพื้นที่เหมาะสมกับการใช้งาน

ข้อควรระวังคือวิธีการนี้ควรวางแผนกับสถาปนิกและวิศวกรมาตั้งแต่เริ่มเพื่อทำแบบก่อสร้างทั้งหมดเอาไว้เป็นชุดเดียว เมื่อต้องต่อเติมจะได้ไม่ผิดแผนและไม่สิ้นเปลืองการสำรวจหน้างานซ้ำ ควรเลือกใช้วัสดุที่ทนทาน และสามารถก่อสร้างต่อเชื่อมกันในภายหลังได้โดยง่ายเช่น โครงสร้างเหล็ก หรือคอนกรีตเปลือย เป็นต้น

และนี่ก็คือคำตอบของคำถามที่ว่า รีโนเวตบ้านชั้นเดียว เป็นบ้านสองชั้น ทำได้จริงหรือไม่? ซึ่งจะว่าทำได้มันก็ได้อยู่ แต่จะว่าไม่น่าทำก็อาจจะเพราะว่ายุ่งยากไปซักนิด อย่างไรท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณาดูตามความเหมาะสมเอานะครับ ถ้ามีคำถามก็ส่งเอาไว้ได้ที่ facebook.com/baanlaesuanmag ใส่แฮชแท๊คว่า #ช่างประจำบ้าน ไม่ช้าจะมีทีมงานมาช่วยหาคำตอบให้กับทุกท่านอย่างแน่นอน


  • เรื่อง : นายช่างตู่ ณ วัดไทร
  • เรียบเรียง : วุฒิกร สุทธิอาภา

กฎหมายรีโนเวทบ้าน ต่อเติมแค่ไหนไม่ต้องขออนุญาต

ต่อเติมรั้วให้สูงกว่าเดิม ต้องขออนุญาตเพื่อนบ้านไหม?

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag