ไอเดียออกแบบ “ศาลพระภูมิ” และ “ตี่จู่เอี้ย” ให้เข้ากับดีไซน์ของบ้าน

คนไทยเราให้ความนับถือ ศาลพระภูมิ และ ตี่จู่เอี้ย กันมานาน เพราะเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองสมาชิกในบ้านให้พ้นภัย และยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้รับแต่ความสุขความเจริญ

ทุกวันนี้เราเห็น ศาลพระภูมิ และ ตี่จู่เอี้ย ได้ตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ เพียงแต่รูปแบบอาจเปลี่ยนไปบ้าง โดยนำรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มาผสมผสานกับศิลปะตะวันออกหรือตะวันตก จนได้ศาลที่มีรูปลักษณ์แปลกตา และดูมีดีไซน์ที่เข้ากับบ้านกันมากขึ้น ครั้งนี้เรามีตัวอย่างศาลพระภูมิและตี่จู่เอี้ยที่มีการออกแบบได้สวยงาม เข้ากับรูปลักษณ์ของบ้านมาให้ชมกันเป็นไอเดีย

ศาลพระภูมิ

แม้ว่าการนับถือศาลพระภูมิจะเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาของศาสนาพราหมณ์ แต่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ก็ให้ความเคารพศรัทธา เพราะเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเทพารักษ์ที่ช่วยปกปักรักษาบ้านและคนในบ้านนั่นเอง

รูปแบบของศาลพระภูมิ

ศาลพระภูมินั้นไม่มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นสีใด (แต่บางคนชอบให้เป็นสีวันเกิดเจ้าของบ้าน) และไม่มีขนาดที่เป็นมาตรฐาน เราสามารถสั่งทำตามขนาดและสีที่ต้องการได้ เพื่อให้เข้ากับตัวบ้านหรือความเชื่อส่วนตัว โดยรูปแบบของตัวศาลสามารถสะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการของบ้านและอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น สมัยก่อนจะนิยมสร้างบ้านเป็นเรือนไม้ทรงไทย ตัวศาลก็จะมีรูปแบบเป็นทรงไทยหลังเล็กๆ ในยุคต่อมาเรามักคุ้นเคยรูปแบบศาลที่มากด้วยสีสันหรือประดับกระจกระยิบระยับ ซึ่งบางครั้งอาจดูไม่เข้ากับบ้านหรือสวนที่ออกแบบอย่างเรียบง่าย ปัจจุบันเราจะเห็นรูปแบบของศาลพระภูมิที่ดูแปลกตามากขึ้น ซึ่งบางแห่งสร้างจากการย่อส่วนของสถานที่จริง เพื่อให้เข้ากับอาคารที่มีอยู่

ตำแหน่งในการจัดตั้งศาลพระภูมิ

ตามปกติการตั้งศาลพระภูมิที่ถูกต้องควรตั้งอยู่ทางด้านฝั่งขวามือของพื้นที่หน้าบ้านและไม่ควรอยู่ชิดกับรั้วมากเกินไป  อาจรวมเข้าไปเป็นพื้นที่ของสวนหน้าบ้านก็ได้  ทั้งนี้การที่ศาลพระภูมิอยู่ทางมุมด้านขวาของตัวบ้าน  เพราะทางด้านซ้ายมือมักเป็นพื้นที่ซึ่งมีการใช้งานและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาตามความเชื่อดั้งเดิม แต่สุดท้ายแล้วจะตั้งไว้ตรงไหนก็ได้ที่สงบและไม่วุ่นวาย  เพื่อไม่ให้ขวางทางสัญจรของกิจกรรมในบ้าน 

ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิไม้เก่าแบบไทยล้านนา ซึ่งเลือกให้เหมาะกับบ้านที่มีลักษณะเป็นรือนไทยภาคเหนือ เมื่อวางบนโต๊ะเตี้ยคู่กับกระถางบัว ยิ่งได้อารมณ์แบบไทยๆ
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิที่เจ้าของบ้านออกแบบเอง โดยลดทอนรูปทรงมาจากตัวบ้านที่มีลักษณะเป็นบ้านไทยใต้ถุนสูงที่ปรับให้ดูทันสมัยขึ้น เพื่อให้มีความสวยงามกลมกลืนกัน
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิซึ่งมีดีไซน์ล้อรับกับตัวบ้าน ถือเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อกับงานออกแบบได้เป็นอย่างดี
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิรูปทรงโมเดิร์นแปลกตาภายใต้ความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ เป็นเหมือนจุดกึ่งกลางระหว่างความเชื่อแบบไทย
ที่ฝังรากลึกและวิถีชีวิตสมัยใหม่
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิหน้าบ้านที่ออกแบบทำจากกล่องไม้ พร้อมจัดสวนบริเวณรอบ ๆ เพื่อให้ดูกลมกลืน
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิดีไซน์โมเดิร์น
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิของบ้านนี้เป็นงานศิลปะที่เป็นงานออกแบบของคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ นักออกแบบชื่อดัง ซึ่งร่วมแสดงในนิทรรศการ “Resort สถานพักตากอากาศ” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในชื่อผลงาน “Spirit House ที่พักของวิญญาณ” เมื่อเดือนตุลาคม 2556
ศาลพระภูมิที่ดูทันสมัยซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับบ้าน แต่ก็ไม่ลืมออกแบบให้สอดคล้องกับความเชื่อเดิมที่ว่า ศาลพระภูมิต้องไม่มีช่องเปิดด้านหลัง และต้องมีช่องเปิดด้านข้าง และช่องเปิดนั้นต้องเลียนแบบจากช่องเปิดของบ้าน
ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิรูปแบบทันสมัยที่ออกแบบให้รับกับตัวบ้าน มีการปลูกสับปะรดสีขนาบสองด้านของบันได สร้างสีสันให้มุมนี้ดูสดใสขึ้น
ศาลพระภูมิ
บริเวณศาลพระภูมิออกแบบให้กลมกลืนสอดคล้องกันตัวบ้านที่อิงสไตล์ยุโรป โดยทำเป็นบ่อปลาที่อิงแนวคิดฮวงจุ้ย  คือให้มีน้ำตกและลำธารอยู่ด้วยกัน พร้อมปรับมุมนี้ให้มีลูกเล่นโดยกรุผนังน้ำตกหินและติดหน้ากากสิงห์พ่นน้ำ เพิ่มกลิ่นอายของสวนแบบยุโรปด้วย

ตี่จู่เอี้ย

ใครเป็นลูกหลานชาวจีนคงจะคุ้นชินกับ “ตี่จู่เอี้ย” หรือศาลเจ้าที่ในบ้านเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นของสำคัญที่จำเป็นต้องมีไว้คู่บ้านของครอบครัวชาวจีนเสมอ

รูปแบบของตี่จู่เอี้ย

ตี่จู่เอี้ยแบบดั้งเดิมจะมีลักษณะเหมือนศาลเจ้าขนาดจำลองและทาสีแดง ซึ่งคงจะดูเข้ากันดีกับบ้านของชาวจีนในสมัยก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งบ้านที่อยู่อาศัยของเราได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก ตี่จู่เอี้ยแบบเดิมจึงดูค่อนข้างแปลกแยก

จริงๆแล้วตี่จู่เอี้ยไม่จำเป็นต้องทาสีแดง แต่จะเป็นสีอะไรก็ได้ที่เข้ากับบ้าน หรืออาจเลือกสีที่ถูกโฉลกกับเจ้าของบ้านก็ได้ อีกทั้งยังเลือกใช้วัสดุได้ตามต้องการ โดยอาจทำด้วยไม้ย้อมสีน้ำตาลเข้มหรือหินต่างๆ และสามารถเปลี่ยนรูปแบบให้รับกับสไตล์การตกแต่งบ้านได้

ส่วนองค์ประกอบภายในตี่จู่เอี้ยมักมีรูปปั้นองค์ตี่จู้ (มือถือไม้เท้าและก้อนทอง มีหนวดสีขาว) โคมไฟ แจกันดอกไม้หรือพวงมาลัย เทียนแดงขาไม้ และกระถางธูป ซึ่งองค์ประกอบที่กล่าวมาอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ยกเว้นเพียงกระถางธูปที่ขาดไม่ได้เท่านั้น

ตำแหน่งในการจัดตั้งตี่จู่เอี้ย

สำหรับตำแหน่งในการจัดตั้งศาลนั้นมักจะใช้หลักฮวงจุ้ย โดยเชื่อว่าตำแหน่งของศาลเจ้าที่ดีจะช่วยให้สมาชิกในบ้านอยู่กันอย่างสงบสุข สามารถพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งศาลได้จากหลักดังต่อไปนี้

  • ต้องไม่เป็นมุมอับ ด้านหน้าของศาลจะต้องเปิดโล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง
  • ต้องมีแสงสว่างพอสมควร ไม่มืดทึบ
  • ด้านหลังของศาลเจ้าที่ต้องอิงพนักพิงที่แข็งแรง เช่น ผนังบ้าน
  • ไม่ควรตั้งศาลเจ้าที่ให้ด้านหลังพิงผนังห้องน้ำหรือวางไว้หน้าประตูห้องน้ำ เพราะตามหลักฮวงจุ้ยถือว่าศาลเจ้าที่เป็นธาตุไฟ ส่วนห้องน้ำเป็นธาตุน้ำ ไม่ควรวางไว้ใกล้กัน
  • ไม่ควรตั้งตู้ปลาหรืออ่างน้ำอยู่ใกล้หรืออยู่เหนือศาลเจ้าที่
  • ไม่ควรตั้งศาลเจ้าที่ในบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น ตั้งพิงผนังบันได  ศาลเจ้าที่ไม่จำเป็นต้องหันหน้าออกสู่หน้าบ้านเสมอ แต่ควรจะตั้งในทิศที่ส่งเสริมดวงชะตาของเจ้าของบ้าน
  •  ฐานที่ตั้งของศาลเจ้าที่ควรอยู่สูงกว่าพื้นถนน
ตี่จู่เอี้ย
สุดทางเดินเป็นตี่จู่เอี้ยที่ยังใช้ของดั้งเดิม แต่ทำแท่นวางใหม่ให้ดูสวยงาม และทาสีผนังใหม่ให้เข้ากันด้วย
ตี่จู่เอี้ย
ตี่จู่เอี้ยที่มีการลดทอนรายละเอียดให้ดูเรียบขึ้น แต่ยังไม่ทิ้งลักษณะเดิมไปเสียทีเดียว
ตี่จู่เอี้ย
ตี่จู่เอี้ยที่ออกแบบให้มีความทันสมัยโดยใช้กระจกฝ้าเป็นพื้นหลัง แต่ควรใช้กระจกที่มีความหนาเป็นพิเศษ และควรเป็นกระจกนิรภัยที่ไม่เป็นอันตรายเวลาแตก
ตี่จู่เอี้ย
ตี่จู่เอี้ยเป็นศาลประจำบ้านสำหรับเคารพบูชาของคนไทยเชื้อสายจีนที่มักจะหาที่ตั้งได้ไม่ลงตัวหรือขัดกับสไตล์การตกแต่งบ้านยุคใหม่เสมอ แต่ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการทำช่องไว้ใต้เคาน์เตอร์ที่ทั้งสีและดีไซน์กลมกลืนไปกับส่วนบิลท์อินของบ้านให้ดูเรียบร้อย
ตี่จู่เอี้ย
ช่องระหว่างชั้นวางของตรงนี้อยู่ตรงกับประตูทางเข้าห้อง จึงใช้เป็นที่วางตี่จู่เอี้ยได้อย่างพอเหมาะ
แก้ปัญหาเสามุมบ้านด้วยการปิดเสาและหุ้มผนัง โดยใช้ด้านหน้าเป็นที่วางตี่จู่เอี้ยดีไซน์โมเดิร์น ส่วนด้านหลังทำเป็นที่จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องไหว้ สร้างความเป็นระเบียบในการจัดเก็บ

เรื่อง: สุพจน์, ภัทรสิริ อภิชิต

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน นิตยสาร room และ my home


ข้อควรรู้ก่อนตั้งศาลพระภูมิ

ข้อควรรู้การทำบุญบ้านใหม่แบบละเอียด!

7 ไอเดียทำหิ้งพระติดผนัง กราบไหว้ได้แม้ไร้ห้องพระ