บ้านโมเดิร์นทรงจั่ว ที่เชื่อมโยงคนสามวัยเข้าด้วยกัน

บ้านโมเดิร์นทรงจั่วหลังนี้ สร้างขึ้นบนที่ดินเดิมในย่านวิภาวดีจากการตัดสินใจ “ไม่รีโนเวต” เพื่อให้การใช้งานบ้านหลังใหม่นั้นตอบโจทย์ของครอบครัวที่มีถึง 3 ช่วงวัยได้ชัดเจนขึ้น ความพิเศษของบ้านหลังนี้คือการที่ผังบ้านมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงพื้นที่ของทุก ๆ คนเข้าหากัน และสร้างให้เกิดบรรยากาศอบอุ่นของครอบครัว

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ:  INCHAN Atelier

เราเริ่มต้นด้วยที่มาของบ้านซึ่งคุณเปี่ยม – มนต์เทพ มะเปี่ยม และคุณหนู-พรรณพิมพ์ พุทธรักษา มะเปี่ยม เจ้าของบ้านหลังนี้เล่าให้เราฟัง “สิบปีก่อนเราเคยอยู่คอนโดฯ เราสองคนทำงานที่ม.เกษตร และคุ้นชินพื้นที่แถบนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พอมีลูกเราก็เริ่มมองหาบ้านชั้นเดียวสำหรับสิบขวบปีแรกของลูกชาย และญาติก็แนะนำบ้านและที่ดินตรงนี้ให้” คุณเปี่ยมเล่าว่าเดิมเป็นบ้านขนาด 80 ตารางเมตร ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก พื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้านจึงเป็น Common Area เสียเป็นส่วนใหญ่ และนั่นจึงเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของบ้านที่ส่งผ่านมายังบ้านหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จซึ่งออกแบบโดย INchan atelier

“พื้นที่กลางบ้านสำหรับทุกคน”

“Common Area คือส่วนสำคัญของบ้านหลังนี้ จะเห็นว่าเข้ามาในบ้าน สิ่งแรกที่พบก็คือโต๊ะกินข้าว ไม่ว่าจะนั่งทำงาน หรือทานอาหารร่วมกันเราก็มักจะรวมตัวกันอยุ่ตรงนี้ และโต๊ะกินข้าวนี้เองที่จะเชื่อมโยงกับครัวของคุณยาย เพราะบ้านเราทำอาหารกินกันสามมื้อ เรียกว่าคุณยายใช้ครัวแทบจะตลอดเวลา พื้นที่ส่วนใหญ่จึงหนีไม่พ้นโต๊ะกลางตรงนี้และห้องครัว แต่ก็มีส่วนห้องนั่งเล่นที่เป็นทีวีกับโซฟาอยู่หลังพาร์ทิชั่นไปทางที่ติดกับสวนครับ”

ชั้นล่างของบ้านหลังนี้ จากการใช้งานแล้วแทบจะรวมกันเป็นห้องเดียวโดยมีโต๊ะทานข้าวเป็นศูนย์ และเมื่อเปิดบานระเบียงออกไปก็จะเป็น Pocket Garden ที่ยังคงเป็นความต้องการของเจ้าของบ้านแม้ว่าจะมีพื้นที่เหลืออยู่ไม่มากนัก การทำสวนที่สามารถเดินผ่านได้ และสามารถรับชมจากภายในห้องนั่งเล่นจึงเป็นอีกวิธีที่นำมาใช้แก้ปัญหา

  

“บ้านหลังคาจั่ว = บ้านที่อบอุ่น”

คุณเปี่ยมและคุณหนู มีโจทย์ที่ชัดเจนคือต้องการบ้านแบบโมเดิร์น แต่ครั้นจะเป็นบ้านโมเดิร์นที่มีหลังคาแบนก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในภาพฝันของพวกเขาเพราะในเชิงสัญลักษณ์แล้ว บ้านที่มี “จั่ว” จึงจะเป็นบ้านที่ดูอบอุ่นตั้งแต่แรกเห็น โจทย์ส่วนนี้ถูกนำไปพัฒนาโดยคุณนนท์ และออกมาเป็นหลังคาทรงจั่วที่มีการลดหลั่นกันเพื่อไม่ให้บ้านดูทึบตันจนเกินไปและผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือพื้นที่ใต้หลังคาที่กลายเป็นส่วนขยายของห้องนอนลูกชายในที่สุด

“มรดก และความผูกพันธ์”

หลาย ๆ ส่วนในบ้านหลังนี้นำองค์ประกอบมาจากบ้านของคุณยายที่ชลบุรีซึ่งเป็นเหมือนบ้านเก่าของคุณหนูนั่นเอง “เสา พื้นไม้ และฝาประกน เราได้นำเอามาจากบ้านเก่าที่ชลบุรีแล้วให้คุณนนท์ (อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ สถาปนิก) ช่วยออกแบบให้ ไม้กับเสาจึงกลายมาเป็นชานข้างบ้านที่ต่อเนื่องไปยังบ่อปลาทองและสวนข้างบ้าน ส่วนฝาปะกนได้กลายเป็นผนังตกแต่งที่โถงบันไดบนชั้นสอง ซึ่งการนำเอาองค์ประกอบเหล่านี้กลับมาใช้ ก็เพราะสองเหตุผลหลัก ๆ คือ 1. อยากให้ลูกชายรู้สึกถึงความผูกพันที่ส่งผ่านต่อกันไปรุ่นสู่รุ่น แม้บ้านหลังนี้จะสร้างใหม่ แต่ยังมีมรดกหลายๆอย่างที่ส่งต่อกันไปได้ และ 2. คืออยากให้คุณแม่(คุณยาย) รู้สึกอุ่นใจ และรู้สึกเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ร่วมกันไม่ใช่แค่เพราะเป็นบ้านที่เราสร้างขึ้นมาค่ะ”

“ห้องนอนที่สงบและสุขใจ”

เมื่อพื้นที่ชั้นล่างถูกจัดสรรเป็นพื้นที่ Common Area จนหมดแล้ว พื้นที่ห้องนอนจึงมีไว้สำหรับพักผ่อนอย่างแท้จริง ระเบียงห้องนอนนั้นแบ่งออกเป็นสองชั้นคือ ฟาซาดเหล็กด้านนอกที่ทั้งสร้างความเป็นส่วนตัวและใช้งานได้ในด้านความปลอดภัย แต่ด้วยการออกแบบให้สามารถเปิดได้จนหมด ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาบนเตียงของห้องนอนใหญ่ จึงสามารถมองเห็นเรือนยอดไม้ที่โผล่พ้นจาก Pocket Garden ที่ชั้นล่างได้ในทุกวัน “นอนเฉย ๆ ก็สุขแล้วค่ะ” คุณหนูบอกกับเรา

“บ้านลูกชายในบ้านหลังใหม่อีกที”

ห้องนอนของลูกชายนั้นมีการออกแบบให้เป็นพื้นที่สองชุด คือส่วนที่เป็นห้องนอนปกติ กับพื้นที่ขยายที่ใต้หลังคา เพราะความตั้งใจของคุณหนูและคุณเปี่ยมตั้งอยากให้ลูกชายได้ใช้ห้องนี้ไปจนถึงวัยเรียน และวัยทำงาน การมีพื้นที่ให้เขาได้หาสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือจัดการพื้นที่ของตัวเองจึงเป็นการเปิดพื้นที่ส่วนตัวที่ดีให้กับเค้า แต่ในความเป็นส่วนตัวนั้นก็ยังมีระเบียงและช่องหน้าต่างที่คุณเปี่ยมและคุณหนูจะยังมองเห็นกิจกรรมของลูกชายได้อยู่เช่นเดิม คล้าย ๆ การส่องหน้าต่างบ้านลูกประมาณหนึ่ง

และนี่ก็คือบ้านที่ส่งต่อความผูกพันจากรุ่นยายสู่รุ่นหลานได้อย่างน่าสนใจ เพราะบ้านคือศูนย์รวมของครอบครัวอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้จึงเหมือนเป็น “มรดก” ทางความสัมพันธ์ที่ส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง

เจ้าของ คุณมนต์เทพ มะเปี่ยม และคุณพรรณพิมพ์ พุทธรักษา มะเปี่ยม
ออกแบบสถาปัตยกรรม  : INchan atelier โดยคุณอินทนนท์ จันทร์ทิพย์

เรื่อง : Wuthikorn Sut
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล