บ้านขนาดเล็ก ที่สวนกับบ้านเป็นพื้นที่เดียวกัน

บ้านขนาดเล็ก ของคนรักต้นไม้ กับการออกแบบพื้นที่พักอาศัยโดยผนวกสวนเเละฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายในบ้านบรรยากาศโปร่งสบายเเบบดับเบิ้ลสเปซ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: STUDIO LOCOMOTIVE

บ้านขนาดเล็ก หลังนี้ เริ่มต้นจากความชื่นชอบต้นไม้ และรักสัตว์ ของ คุณปริม-ปาริชาติ พัดบุรี อีกทั้งยังมีเป้าหมายที่อยากสร้างบ้านแบบไม่เป็นหนี้ในจังหวัดภูเก็ตบ้านเกิด แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งงบประมาณและขนาดที่ดิน คุณโปร-คุณธนาฒย์ จันทร์อยู่ สถาปนิกแห่ง Studio Locomotive จึงออกแบบโดยมุ่งความสำคัญไปที่การตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตพื้นฐานเป็นเรื่องแรก เช่น เรื่องความปลอดภัย พื้นที่เพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการวางแผนเกี่ยวกับขั้นตอนและความซับซ้อนด้านการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับงบประมาณ ไปพร้อม ๆ กับการช่วยประหยัดพลังงานระหว่างวัน ซึ่งทั้งหมดได้กลายเป็นเป้าหมายของการออกแบบบ้าน ให้เป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่คู่สามีภรรยาต้องการ

บ้านขนาดเล็ก

บ้านขนาดเล็ก

บ้านขนาดเล็ก
ส่วนนั่งเล่นหน้าบ้านมีช่องหน้าต่างที่สามารถเปิดรับลมได้โดยยังคงความเป็นส่วนตัวเพราะมีรั้วบ้านด้านนอกกั้นขอบเขตไว้อีกชั้นหนึ่ง และอาศัยพื้นที่ยื่นยาวของระเบียงห้องนอนชั้นบนช่วยเป็นชายคาและกันสาดป้องกันแดดและฝนไม่ให้เข้าถึงภายในได้โดยตรง

บ้านขนาดเล็ก

บ้านหลังนี้มีลักษณะด้านหน้าเเคบเเละยาวลึกเข้าไปด้านใน ดูคล้ายกับรูปแบบของอาคารพาณิชย์ แต่ด้วยการตั้งอยู่ในที่ดินของตัวเอง เจ้าของจึงสามารถเปิดช่องด้านข้างอาคารได้ เพื่อให้เเสงเเละอากาศถ่ายเทได้ดี  สว่างปลอดโปร่ง ไม่ร้อน โดยได้เลือกทำช่องเปิดด้านหน้า ด้านหลัง และกลางบ้าน โดยเฉพาะช่องเปิดที่กลางบ้าน ซึ่งมีเเสงธรรมชาติส่องเข้ามาจากบนหลังคาที่ยกสูงขึ้น ช่วยให้ความร้อนลอยตัวออกสู่ภายนอกได้ และช่องเปิดนี้ยังใช้หลังคาเเบบใส แสงจึงส่องเข้ามาถึงพื้นที่ใช้สอยทุกส่วนในบ้านได้ ขณะที่บันไดและทางเชื่อมห้องนอนยังทำมาจากเหล็กตะแกรง แสงสามารถลอดผ่านลงมาถึงชั้นล่างอย่างทั่วถึง เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ซึ่งเป็นคอร์ตสวนอยู่ในบ้าน

บ้านขนาดเล็ก
พื้นที่ในบ้านมีบรรยากาศกึ่งกลางแจ้งเพราะได้แสงเงาธรรมชาติจากช่องหน้าต่างหน้าบ้านและช่องเปิดตรงกลางซึ่งสามารถใช้เป็นมุมปลูกต้นไม้และให้น้องหมาวิ่งเล่นได้สบาย
บ้านขนาดเล็ก
คอร์ตกลางบ้านมาจากแนวคิดแบบฉิมแจ้ของบ้านตึกแถวของคนภูเก็ตซึ่งนิยมเปิดช่องกลางบ้านให้แสงและลมเข้าถึงได้มาใช้แก้ปัญหาความมืดและอับทึบของบ้านสไตล์นี้ โดยปรับให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ไว้กลางบ้าน
ส่วนของบันไดทางขึ้นจึงเลือกใช้วัสดุเหล็กรูเพื่อเปิดช่องให้แสงส่องผ่านได้เช่นกัน
บ้านขนาดเล็ก
รูปทรงบ้านที่เรียบง่ายคล้ายตึกแถวเพราะต้องการประหยัดงบประมาณ โดยโครงสร้างหลักของบ้านเป็นเหล็กจึงมองเห็นเส้นเหล็ก I-Beam สีดำนั้นอย่างชัดเจน

บ้านขนาดเล็ก

บ้านขนาดเล็ก
ห้องนอนเน้นความเรียบง่ายในโทนสีขาว มีเฟอร์นิเจอร์เพียงน้อยชิ้นแต่เน้นฟังก์ชันใช้งานเท่าที่จำเป็น และยังเปลือยให้เห็นโครงสร้างบ้านที่เป็นเหล็ก I Beam อย่างตั้งใจ
ม้านั่งยาวสไตล์ Bay Window ของห้องนอนสำหรับมองออกไปบริเวณคอร์ตต้นไม้กลางบ้าน เป็นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมมาออกแบบให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ไปด้วย
ภายในห้องน้ำเน้นตกแต่งด้วยวัสดุมาตรฐานเพื่อประหยัดงบประมาณ และยังมีช่องทางหมุนเวียนของลมทั้งในส่วนของผนังบานเกล็ดและช่องให้ลมร้อนได้ไหลออกไปที่ฝ้าเพดาน

บ้านหลังนี้ยังเลือกใช้วัสดุและเทคนิคในการก่อสร้างโดยอิงจากความเข้าใจและความสามารถพื้นฐานของช่างในพื้นที่ งานเหล็กต่าง ๆ การก่อช่องลม ปูนเปลือยขัดมัน ทั้งนี้เพื่อลดความยุ่งยากและการเกิดความผิดพลาด เป็นผลให้ควบคุมงบประมาณได้ดียิ่งขึ้น

พื้นที่ชั้นล่างเน้นฟังก์ชันของการใช้สอยส่วนกลางร่วมกัน จากส่วนนั่งเล่นด้านหน้าแล้วก็ยังมีส่วนรับประทานอาหารและครัวด้านในซึ่งเป็นงานบิลท์อินจุดเดียวในบ้าน ทุกมุมเปิดโล่งแบบ Open Plan เหมือนกับการใช้พื้นที่อเนกประสงค์ใต้ถุนบ้านไทยแบบเดิมๆ ส่วนชั้นบนมีเพียงแค่สองห้องนอน คือห้องที่อยู่ส่วนหน้าบ้านและห้องที่อยู่ส่วนหลังบ้านทำให้เกิดความเป็นส่วนตัวระหว่างกัน

“ที่คอร์ตกลางบ้านยังมีส่วนของบันไดที่เราเลือกใช้เหล็กรู แต่ไม่ได้เน้นให้ดูเท่นะ เพราะต้องการให้แสงจากหลังคาส่องลงมาถึงต้นไม้ข้างล่างได้ และทำให้ภายในบ้านโปร่งสว่างมากขึ้น ตอนกลางวันก็ไม่ต้องเปิดไฟหรือใช้เครื่องปรับอากาศเลย ช่วยประหยัดพลังงานและค่าไฟไปได้อีก”

ส่วนพื้นที่ห้องที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและจำเป็นต้องมีผนังกั้น เช่น ห้องนอน และห้องน้ำ ถูกวางให้อยู่ชั้นสองทั้งหมด เพื่อให้บ้านทำผนังเท่าที่จำเป็น แต่เติมช่องหน้าต่างเพื่อมองเข้าหาวิวสวนไม้เลื้อยกลางบ้านได้อยู่

บ้านขนาดเล็ก
คอร์ตกลางบ้านไม่เพียงแต่ทำให้ช่องแสงและลมที่หมุนเวียน แต่ยังทำให้คุณภาพชีวิตของคนในบ้านดีขึ้นเพราะสามารถทำกิจกรรมที่ชอบตามมุมต่างๆ ได้โดยยังคงมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างอบอุ่นใจแม้จะอยู่คนละชั้นก็ตาม

แม้ว่าพื้นที่ในบ้านจะมีขนาดจำกัด แต่คุณปริมก็ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ของการปลูกต้นไม้มากเป็นพิเศษ “ที่ชอบต้นไม้น่าจะได้มาจากแม่ค่ะ ตอนเด็กๆ ปริมช่วยแม่รดน้ำต้นไม้มาตลอด พอมีบ้านเราก็อยากมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ด้วย ซึ่งคุณโปรเลือกเปิดคอร์ตไว้กลางบ้านเพื่อให้ต้นไม้ช่วยสร้างมุมมองสวยๆ ให้กับคนในบ้านได้มองเห็นจากทุกมุม แทนที่จะไปเน้นเรื่องงานตกแต่งอื่นๆ และด้วยปริมาณช่องแสงมุมนี้ปริมเลยเลือกปลูกไม้ใบไม้ประดับเป็นหลักซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกฟิโลและหน้าวัวใบ ทุกๆ เช้าเวลาเดินลงมาจากห้องนอนก็จะได้มานั่งดูต้นไม้พวกนี้ ได้เห็นการงอกใบใหม่ ได้เห็นแนวเลื้อยที่เพิ่มสูงขึ้น มันเหมือนได้เจอเรื่องเซอร์ไพร้ส์เล็กๆ ที่ทำให้เรามีความสุขได้ทุกวันค่ะ”

สุดท้ายแล้วความงามของบ้านหลังนี้หาใช้การตกแต่งไม่ แต่คือการถูกเติมเต็มด้วยการใช้งาน ความชอบ และความสนใจที่ลงตัว ไม่ว่าจะต้นไม้ประดับ งานคราฟท์ และงานศิลปะซึ่งจะค่อย ๆ เติบโตเพิ่มเรื่องราวไปพร้อมกับการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้านต่อไปในอนาคตนั่นเอง

 


DESIGNER DIRECTORY : สถาปนิก : Studio Locomotive

เรื่อง Studio Locomotive
ภาพ Beer Singnoi
เรียบเรียง วุฒิกร สุทธิอาภา

อ่านต่อ พื้นที่เฉพาะของบ้านขนาดเล็กที่ให้ความสำคัญกับขนาดและสัดส่วน