บ้านโมเดิร์นลอฟต์ ทรงกล่องที่ออกแบบจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ตัดทอนองค์ประกอบให้ดูโมเดิร์น และจัดสรรพื้นที่ภายในสลับฟังก์ชัน เปลี่ยนห้องนอนให้มาอยู่ชั้นล่างและให้พื้นที่ส่วนกลางอย่างมุมนั่งเล่น รับแขก อยู่ชั้นบนเพื่อให้ได้ชมวิวมุมสูง
DESIGNER DIRECTORY: สถาปนิก : D Kwa Architectural Design Studio โดยคุณสาริน นิลสนธิ / เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณแดเนียล – คุณปิยะวรรณ แวลลีย์
บ้านสไตล์โมเดิร์นลอฟท์
เบื้องหลังงานประดิษฐ์นวัตกรรมหรือแม้แต่งานออกแบบคุณภาพดี มักเริ่มต้นมาจากการคิดให้ดีและแตกต่างไปจากเดิมอยู่เสมอ งานสถาปัตยกรรมก็เช่นกันสถาปนิกมักตั้งคำถามถึงสิ่งเดิมที่มีอยู่ สิ่งที่เราพบเห็นจนชินตานำมาคิดต่าง ต่อยอด เเละพัฒนาไปสู่คำตอบของสิ่งที่ดีกว่า เพื่องานสถาปัตยกรรมที่ช่วยเติมเต็มความสุขและความสะดวกสบายของการใช้งานในทุกตารางนิ้วของบ้านได้มากขึ้น
คงเหมือนกับบ้านหลังนี้ที่เริ่มต้นจากการตั้งคำถามร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับเจ้าของบ้าน นำมาซึ่งแนวคิดการออกแบบที่แตกต่างกลายเป็นข้อดีและจุดเด่นของบ้านเท่ ๆ บนที่ดินขนาดประมาณ 880 ตารางเมตร หลังนี้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ บ้านสูง 3 ชั้นที่ออกแบบเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่และมีพื้นผิวดิบเท่แบบโมเดิร์นลอฟต์ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 400 ตารางเมตร ตัวบ้านวางอยู่ฝั่งซ้ายสุดของที่ดิน โดยแบ่งพื้นที่ฝั่งขวาเป็นที่จอดรถและเปิดพื้นที่โดยรอบบริเวณให้โล่งกว้างดูสบายตาไม่อึดอัด ไม่แผ่ตัวบ้านเต็มพื้นที่เหมือนบ้านทั่วไป บ้านหลังนี้เป็นของครอบครัวแวลลีย์ ประกอบด้วยคุณแดเนียล เเละคุณยะ – ปิยะวรรณ แวลลีย์ น้องวาเนสสา และน้องอิซาเบล ลูกน้อยที่น่ารักทั้งสองคน
เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงออกไอเดียในการตกแต่งภายใน โดยได้สถาปนิกหนุ่มมากฝีมืออย่าง คุณเอก – สาริน นิลสนธิ จาก D Kwa Architectural Design Studio เป็นผู้ออกแบบบ้านเท่ ๆ หลังนี้ คุณยะเล่าให้ทีมงาน “บ้านและสวน” ฟังว่า “เราคิดและตั้งคำถามกับสถาปนิกถึงความนิยมในการวางส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และส่วนครัว ซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ แต่ใช้งานบ่อยที่สุดไว้ชั้นล่างและวางพื้นที่ส่วนตัวอย่าง ห้องนอน ที่ใช้งานในระยะเวลาสั้น ๆ ไว้ชั้นบน ทำให้วิวที่เราเห็นบ่อยที่สุดกลายเป็นวิวชั้นล่างที่ไม่สวย เราจึงคิดสลับฟังก์ชันให้ห้องนอนมาอยู่ชั้นล่าง และกลุ่มพื้นที่ใช้งานบ่อย ๆ อย่าง ห้องนั่งเล่น ไปอยู่ชั้นบนแทน เราจึงได้เห็นมุมมองในภาพกว้างที่สวยกว่าเดิม”
ไม่เฉพาะแต่หน้าตาหรือการวางผังบ้านที่ดูเท่และแตกต่างเท่านั้น แม้แต่สวนและทางเข้าก็ยังแปลกไม่ซ้ำใคร ถ้าเราเดินผ่านประตูใหญ่เข้ามาด้านในจะเห็นทางเดินมุ่งเข้าสู่ตัวบ้านที่ออกแบบโดยหล่อแผ่นพื้นคอนกรีตให้มีเหลี่ยมมุม ซิกแซก ดูเป็นเส้นสายกราฟิกที่น่าสนใจ สวนหน้าบ้านปลูกหูกระจงเพียง 2 ต้น ตั้งโดดเด่นอยู่เหนือต้นถั่วบราซิล ซึ่งเป็นพืชคลุมดินที่ปลูกจนกลายเป็นพื้นสีเขียว ขนาดใหญ่ดูเป็นสวนเท่ ๆ แบบกราฟิก ผนังอาคารเกือบทั้งหมดออกแบบเป็นคอนกรีตเปลือยที่เกิดจากการหล่อกับแบบจริง ๆ ร่วมด้วยการฉาบแต่งบนผนังก่ออิฐธรรมดาเลียนแบบคอนกรีตเปลือย และการใช้อิฐตกแต่งผนังในบางส่วนเน้นย้ำความดิบเท่แบบลอฟต์
คุณเอกเล่าว่า “การจัดวางพื้นที่สลับกันระหว่างส่วนใช้ชีวิตประจำวันกับส่วนพักผ่อน นอกจากได้มุมมองที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีข้อดีอีกหลายอย่างทั้งห้องนอนจะเย็นอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่สัมผัสแดดมากในตอนกลางวัน ลดการใช้พลังงานในบ้านได้ ออกแบบพื้นที่นั่งเล่นที่อยู่ชั้นบนให้เป็นโถงเพดานสูง ความร้อนจึงลงมาถึงตัวเรา ได้ยากเพราะลมธรรมชาติพัดพาความร้อนออกไปเสียก่อน บ้านจึงเย็นและอยู่สบายขึ้น”
นอกจากจะมีห้องนอน 3 ห้องในชั้นล่าง รวมถึงส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และส่วนครัวในชั้นสองแล้ว ยังมีชั้นลอยที่ออกแบบเป็นห้องทำงาน และห้องอเนกประสงค์ลอยอยู่เหนือพื้นที่นั่งเล่น โดยเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างเหล็ก H-Beam และ I-Beam ทาสีเทาเข้ม ร่วมด้วยการปูพื้นไม้จริงสีน้ำตาลแดงช่วยให้บ้านดูอบอุ่นขึ้น นับว่าบ้านนี้มีรายละเอียดของงานปูน งานเหล็ก และงานไม้ครบถ้วน หลากหลาย ดูไม่น่าเบื่อ
“บ้านนี้จึงถือเป็นการท้าทายความเชื่อเดิม ๆ ของการออกแบบ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนไปสู่ความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ นำมาซึ่งต้นแบบของบ้านที่อยู่สบาย สวย เท่ ไม่ซ้ำใคร เป็นหนึ่งในบ้านที่ผมชอบและไม่หวงห้ามเลยหากใครจะนำไปเป็นไอเดียในการออกแบบบ้านของตัวเองครับ”
เรื่อง : “ศุภชาติ บุญแต่ง”
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข
สไตล์: ณัฏฐนันท์ ประเสริฐรัสมี