ตรวจห้องน้ำ

เช็คลิสต์ ตรวจห้องน้ำ อย่างละเอียด ก่อนตรวจรับบ้าน – คอนโดใหม่

ตรวจห้องน้ำ
ตรวจห้องน้ำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ห้องน้ำเป็นส่วนสำคัญของที่พักอาศัย และยังนับเป็นจุดที่มักเกิดปัญหาบ่อยครั้ง เช่น ปัญหาน้ำรั่วซึม ท่อตัน หรือส่งกลิ่นรบกวน

ดังนั้นก่อนตรวจรับบ้านหรือคอนโดใหม่ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบความเรียบร้อยโดยละเอียด บ้านและสวน School มีเช็คลิสต์ ตรวจห้องน้ำ อย่างละเอียดมาฝาก

โถส้วม

  • ตรวจสอบภายนอกก่อนว่าการติดตั้งสุขภัณฑ์ และยาแนวเรียบร้อยสวยงามหรือไม่ โถส้วมต้องไม่มีรอยแตกร้าว ผิววัสดุไม่มีรอยเปื้อน รอบฐานโถส้วมว่าไม่มีรอยน้ำซึม
  • เปิดฝาถังเก็บน้ำที่อยู่ด้านหลังโถส้วม ตรวจดูความสะอาด การติดตั้งอุปกรณ์ภายในว่าเรียบร้อยหรือไม่ น้ำเข้าถังเก็บน้ำไหลได้ดีหรือไม่ เมื่อน้ำเต็มถัง ลูกลอยและวาล์วปิดสนิทหรือไม่ ต้องไม่มีเสียงน้ำไหลเมื่อน้ำเต็มถัง ถ้ามีแสดงว่าระบบติดตั้งไม่ถูกต้อง
  • ลองเทน้ำรอบๆ ฐานโถส้วมให้ทั่วแล้วกดชักโครก ถ้าพบว่ามีฟองอากาศผุดที่รอบฐานโถส้วม แสดงว่าการติดตั้งโถส้วมไม่ถูกต้อง การติดตั้งโถส้วมที่ผิดพลาดนี้เป็นเหตุให้กลิ่นเหม็นของท่อส้วมไหลออกมาด้านนอก
  • ตรวจสอบความสามารถในการชำระล้าง โดยฉีกเศษขนมปังขาวเป็นชิ้นพอประมาณใส่ลงในโถส้วม ลองกดชักโครกแล้วดูว่าเศษขนมปังถูกชำระออกไปได้หมดหรือไม่ ถ้าติดขัดก็แสดงว่าการติดตั้งสุขภัณฑ์นั้นมีปัญหา

ท่อน้ำ

ดูข้อต่อของท่อว่ามีน้ำรั่วซึมที่จุดไหนหรือไม่ ถ้าพบให้นำเศษผ้าที่เตรียมมาเช็ดให้แห้ง แล้วตรวจสอบใหม่ว่ามีรอยรั่วบริเวณนั้นจริงหรือไม่

ก๊อกและวาล์ว

  • ลองเปิดฝักบัว ก๊อกน้ำอ่างล่างหน้า ก๊อกที่ผนัง และในทุกๆ จุดให้สุด แล้วดูว่าน้ำไหลได้ดีหรือไม่ มีก๊อกหรือฝักบัวไหนไหลอ่อน หรือฝักบัวรูตันหรือไม่
  • ลองปิดก๊อกแล้วเปิดใหม่ หมุนเปิด - ปิด 2 - 3 ครั้ง หรือมากครั้งที่สุดเท่าที่ทำได้ ดูว่าก๊อกเป็นอย่างไร ติดขัดหรือฝืดหรือไม่เมื่อปิดก๊อกต้องไม่มีน้ำหยดออกมาจากหัวก๊อกหรือฝักบัว
  • ตรวจสอบบริเวณข้อต่อระหว่างฝักบัวกับสายน้ำดีว่าติดตั้งได้ดีหรือไม่ ต้องไม่มีน้ำซึมหลังจากปิดก๊อกแล้ว
  • ตรวจสอบสายฉีดชำระ ซึ่งบริเวณข้อต่อของสายน้ำดีกับหัวฉีดมักมีน้ำรั่วซึมอยู่เสมอ ให้ลองฉีดน้ำจากสายชำระหลาย ๆ ครั้ง เพื่อดูว่าปุ่มเปิด-ปิดควบคุมน้ำทำงานได้ดีหรือไม่ มีน้ำรั่วซึมหรือเปล่า

ระบบระบายน้ำ

  • เริ่มไล่จากอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ ที่อาบน้ำ รูระบายน้ำทิ้งที่พื้นห้องน้ำ ให้ตรวจสอบโดยขังน้ำที่จุดทดสอบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำและอ่างล้างจาน ให้ใช้จุกหรือตัวกั้นน้ำปิดสะดืออ่างหรือช่อง
    ระบายน้ำออกไว้ ถ้าไม่มีให้ใช้เศษผ้าอุดช่องระบายน้ำให้แน่นเพื่อขังน้ำไว้แทน จากนั้นรองน้ำให้เต็มอ่างจนถึงระดับช่องน้ำล้น ปล่อยให้น้ำไหลออกที่ช่องน้ำล้นประมาณครึ่งนาที ดูว่าระบายน้ำออกได้ดีหรือไม่
  • เปิดที่กั้นน้ำให้น้ำไหลออก ดูว่าการระบายน้ำเป็นอย่างไร ไหลออกได้ดีหรือไม่ ถ้าไหลช้าจนผิดสังเกต แสดงว่าท่อระบายน้ำน่าจะมีปัญหา
  • ตรวจสอบพื้นว่ามีรอยแตกร้าว รั่วซึมหรือไม่ เมื่อเปิดน้ำลงบนพื้นต้องมีการระบายน้ำที่ดี ไม่มีน้ำขังตามจุดต่างๆ

อุปกรณ์อื่น

  • กระจกเงา ราวแขวนผ้าเช็ดตัว ที่ใส่กระดาษชำระ ที่วางสบู่ ฯลฯ ดูว่าติดตั้งได้เรียบร้อย สวยงาม แน่นหนาและแข็งแรงหรือไม่ ต้องไม่ชำรุดเสียหาย ไม่มีสนิมบนอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ
  • ลองเปิดและปิดประตูกั้นส่วนอาบน้ำหลายๆ ครั้ง ดูว่าติดตั้งเรียบร้อยหรือไม่
  • ตรวจสอบโคมไฟแสงสว่างหน้ากระจกว่าใช้งานได้ดี เปิดติด ไม่กระพริบ ถ้าพบปัญหาให้แจ้งโครงการดำเนินการแก้ไขก่อนลงชื่อรับโอนห้องชุด
  • ถ้าโครงการห่ออุปกรณ์และสุขภัณฑ์ด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันฝุ่นในระหว่างก่อสร้าง ให้ฉีกพลาสติกนั้นออกเพื่อทำการตรวจสอบได้สมบูรณ์โดยไม่ต้องเกรงใจ ต้องตรวจสอบคุณภาพของสินค้าให้แน่ใจว่ามีสภาพที่สมบูรณ์ สมควรให้ผ่านการตรวจสอบหรือไม่

เจ้าของบ้านมือใหม่ควรตรวจสอบห้องน้ำตามขั้นตอนที่กล่าวมานี้ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจตามมาภายหลัง

 

ข้อมูลจาก: ตรวจสุขภาพคอนโดก่อนรับโอน ฉบับปรับปรุง

เรื่อง: วิญญู วานิชศิริโรจน

ภาพ: แฟ้มภาพนิตยสารบ้านและสวน นิตยสาร Room