โรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง (Cognitive dysfunction syndrome : CDS)

โรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง หากจะเรียกให้ถูกต้องคือ โรคสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยง (Cognitive dysfunction syndrome หรือ CDS) เป็นโรคระบบประสาทที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในสุนัข แต่ยังพบได้น้อยในแมวในประเทศไทย ซึ่งช่วงอายุสามารถพบได้ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงเริ่มมีอายุ 7-8 ปีขึ้นไป

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า โรคสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยงนั้นมีกระบวนการเกิดโรค หรือ พยาธิกำเนิดคล้ายกับ “โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)” ในมนุษย์มาก บางครั้งเราอาจเรียกโรคนี้ว่า โรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เห็นภาพกระบวนการเกิดและอาการ รวมทั้งแนวทางการรักษาที่คล้ายกับการรักษาในมนุษย์เช่นกัน

โรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นได้อย่างไร

สารที่เป็นปัจจัยโน้มนำหลักที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง ได้แก่ โปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ (β-amyloid หรือ Aβ) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ในมนุษย์ โดยโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์นี้จะเกิดจากกระบวนการเสื่อมของสมองหรืออาจเกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมบางชนิด เช่น เอนไซม์บางตัว ทำให้มีการสร้างโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์นี้ขึ้นมาและเกิดการเกาะตัวรวมกันในสมอง เรียกว่า อะไมลอยด์พลัค  (amyloid plaque หรือ senile plaque) ได้ โดยโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์เมื่อเริ่มก่อตัวจะมีขนาดเล็กซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยของโปรตีนขนาดใหญ่บนผนังเซลล์สมองที่เรียกว่า อะไมลอยด์พรีเคอเซอร์โปรตีน (amyloid precursor protein หรือ APP) จนได้เป็นโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ซึ่งมีความเป็นพิษต่อเซลล์สมอง (รูปที่ 1) จากนั้นจะรวมกันกลายเป็นองค์ประกอบหลักของอะไมลอยด์พลัค  โปรตีนเบต้าอะไมลอยด์นี้มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำและรวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มก้อนโปรตีนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการกำจัดโปรตีนชนิดนี้ออกจากสมองเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก จึงเกิดการสะสมในปริมาณมากและหลายตำแหน่งในสมอง

โรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง
รูปที่ 1 กระบวนการก่อตัวของโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์จากการย่อยสลายอะไมลอยด์พรีเคอเซอร์โปรตีนบนผนังเซลล์สมอง

เมื่อมีการสร้างอะไมลอยด์พลัคมากขึ้นจะส่งผลให้มีการตายของเซลล์สมองแบบลุกลามกินพื้นที่สมองมากขึ้น โดยสมองส่วนที่ได้รับผลกระทบจะเป็นสมองที่มีหน้าที่ในการเรียนรู้ รับรู้ความรู้สึก ความจำ ลักษณะนิสัยและการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย จะพบการฝ่อลงหรือเนื้อสมองที่ทำหน้าที่เหล่านี้มีขนาดเล็กลง (brain atrophy) เช่น สมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งทำหน้าที่ในส่วนของความจำระยะยาว รวมทั้งการมีรอยหยักในสมองที่กว้างขึ้น (รูปที่ 2) หรือสมองส่วนควบคุมวงจรหลับตื่น (sleep-wake cycle) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบการขยายใหญ่ของโพรงสมอง (ventriculomegaly) อีกด้วย ความเสียหายของเซลล์สมองภายหลังจากการมีอะไมลอยด์พลัคนั้นยังสามารถเกิดขึ้นได้จากกระบวนการอื่นๆ เช่นกัน ได้แก่ การอักเสบ ความผิดปกติของการทำงานของไมโตคอนเดรีย การสร้างอนุมูลอิสระ จนทำให้เซลล์สมองตายด้วยกระบวนการอะพอพโทซิส (apoptosis) โดยเซลล์สมองที่มีความเสียหายจะเป็นเซลล์ในกลุ่มที่สร้างสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญต่อการทำงานของสมองโดยเฉพาะสารอะเซติลโคลีน ส่งผลให้มีอาการของอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยงตามมา

โรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง
รูปที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบความแตกต่างของสมองสุนัขปกติกับสมองสุนัขที่มีปัญหาโรคสมองเสื่อม

อาการของสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะสังเกตจากอะไรได้บ้าง

สัตว์เลี้ยงที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มที่พบได้บ่อย ได้แก่

  1. อาการมึนงง หลงทิศทาง การรับรู้หรือเรียนรู้ได้น้อยลง หลงลืม สูญเสียการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เช่น จะพบอาการเดินเข้ามุมบ้านหรือติดตามซอกหลืบจะไม่สามารถถอยออกจากตำแหน่งนั้นได้ (รูปที่ 3) สัตว์เลี้ยงอาจจะร้องหรือเห่าโวยวายให้เจ้าของพาออกจากบริเวณนั้น หรือบางครั้งยืนอยู่เฉยๆตรงบริเวณนั้นเป็นเวลานาน เป็นต้น
  2. ปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงตัวอื่น หรือ กับเจ้าของเปลี่ยนไป จากเคยเล่นด้วยกันเป็นประจำอาจแยกตัวออกห่างหรือทะเลาะกัน แสดงถึงอาการรำคาญเมื่อมีสัตว์เลี้ยงตัวอื่นเข้ามาใกล้ อาจแยกตัวจากเจ้าของแสดงอาการไม่สนใจเมื่อเจ้าของกลับบ้านหรือเข้ามาใกล้
  3. วงจรการหลับตื่นผิดปกติไป จะพบว่าสัตว์เลี้ยงจะใช้เวลาในการนอนตอนกลางวันมากขึ้น ในขณะที่เวลากลางคืนจะตื่นบ่อย นอนน้อย อาจตื่นมาเดินเรื่อยเปื่อยจนกว่าจะเหนื่อยถึงจะกลับไปนอนต่อ หรือตื่นมาเห่าร้องโวยวายโดยไม่มีสาเหตุตลอดทั้งคืน แต่หากอาการลุกลามไปมากอาจพบว่าสัตว์เลี้ยงจะนอนตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ปลุกตื่นได้ยากขึ้น
  4. สูญเสียการดูแลสุขลักษณะของตัวเอง สัตว์เลี้ยงอาจแสดงอาการขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางจากที่เคยฝึกไว้ให้ขับถ่ายที่ใดที่หนึ่งในบ้านหรือสนามหญ้าหน้าบ้าน สัตว์เลี้ยงอาจแสดงอาการสับสนสถานที่ขับถ่าย อาการนี้สามารถพบได้บ่อยในแมวที่ได้รับการฝึกขับถ่ายในกระบะทรายเป็นประจำ แต่ในแมวที่มีอาการอัลไซเมอร์จะพบว่าไม่ขับถ่ายในกระบะทรายเหมือนเดิม
  5. สัตว์เลี้ยงอาจมีอาการย้ำคิดย้ำทำ เดินวนเป็นวงกลมไปทางซ้ายหรือทางขวาด้านใดด้านหนึ่ง หรืออาจจะทั้ง 2 ด้าน มีอาการกระวนกระวาย เดินเรื่อยเปื่อยไม่มีจุดหมายปลายทาง หากไม่เหนื่อยจะไม่หยุดเดิน
โรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง
รูปที่ 3 อาการสุนัขมีอาการมึนงงยืนติดผนังเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการอื่นได้อีก เช่น ร้องโหยหวน มีอาการชัก อัมพาต คอเหยียดเกร็งหงายไปด้านหลัง หรือ opisthotonus (รูปที่ 4) ซึ่งสามารถพบได้ในระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ถึงการสูญเสียเนื้อสมองใหญ่ หรือ ซีรีบรัม (cerebrum) ไปอย่างรุนแรง

โรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง
รูปที่ 4 สุนัขเป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย มีอาการเหยียดเกร็งทั่วตัว (opisthotonus) จากการสูญเสียสมองใหญ่

จะทราบได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์

การวินิจฉัยอาการอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยงนั้นปัจจุบันต้องอาศัยข้อมูลหลายๆ ด้านมาประกอบกัน ทั้งข้อมูลของสัตว์เลี้ยง อายุ เพศ พันธุ์ ทำหมันหรือไม่ ลักษณะร่างกายว่าอ้วนหรือผอม ระยะเวลาการแสดงอาการ การลุกลามของอาการช้าหรือเร็ว เพราะข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเกิดโรค เช่น สุนัขเพศเมียที่ทำหมันแล้วมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์มากกว่าเพราะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและการศึกษาในคนพบการรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทนทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ได้ หรือ ภาวะอ้วนก็เป็นปัจจัยโน้มนำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าเช่นกัน

นอกจากนี้ต้องทราบผลการตรวจสุขภาพทั่วไป ร่วมกับผลการตรวจเลือด ปัสสาวะ และการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น ตับ และ ไต เป็นต้น ร่วมกับการใช้ข้อมูลจากแบบสอบถามในการวิเคราะห์ว่าสัตว์เลี้ยงมีปัญหาสมองเสื่อมหรือไม่ โดยแบบสอบถามนี้จะให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเป็นผู้ตอบคำถามหรือสามารถทำได้เองที่บ้านเพื่อประเมินอาการสัตว์เลี้ยงของตน ดังนั้นข้อมูลภาวะสมองเสื่อมจะมาจากการสังเกตของเจ้าของสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก โดยจะแสดงถึงความถี่ของอาการในแต่ละหมวดว่ามีความถี่มากน้อยแค่ไหน และทำการประเมินความรุนแรงของอาการเป็นระดับคะแนน (รูปที่ 5)

โรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง
รูปที่ 5 แบบสอบถามอาการสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยง ที่มา: แบบสอบถามโรคสมองเสื่อมในสุนัข ศูนย์ระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

จากแบบสอบถาม เมื่อรวมคะแนนจากหมวด ก.-ง. แล้ว สามารถจัดระดับคะแนนความรุนแรงของอาการสมองเสื่อมได้ ดังนี้

  1. ระดับคะแนน 0-7 เป็นระดับคะแนนปกติสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีอายุ
  2. ระดับคะแนน 8-23 เป็นระดับคะแนนที่บ่งบอกถึงสัตว์เลี้ยงเริ่มมีอาการสมองเสื่อมเล็กน้อย
  3. ระดับคะแนน 24-44 เป็นระดับคะแนนที่บ่งบอกถึงสัตว์เลี้ยงมีอาการสมองเสื่อมปานกลาง
  4. ระดับคะแนน 45-95 เป็นระดับคะแนนที่บ่งบอกถึงสัตว์เลี้ยงมีอาการสมองเสื่อมรุนแรง

เมื่อทราบระดับคะแนนของภาวะสมองเสื่อมแล้วสามารถยืนยันเพิ่มเติมได้ด้วยการสแกนสมองด้วยวิธีต่างๆ เช่น การทำซีทีสแกน (CT-scan) หรือ การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อดูการฝ่อของสมองตามตำแหน่งต่างๆ  (รูปที่ 6)

รูปที่ 6 ภาพเอ็มอาร์ไอของสมองสุนัขที่เป็นโรคอัลไซเมอร์

ความจำเป็นในการที่ต้องสแกนสมองคือเพื่อยืนยันว่าอาการสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นเกิดจากการฝ่อของสมองจากโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ เพราะยังมีโรคของสมองอื่นๆ ที่สัตว์เลี้ยงแสดงอาการสมองเสื่อมและให้คะแนนอาการของสมองได้สูงเช่นกัน เช่น โรคเนื้องอกในสมอง สมองอักเสบ สมองกระทบกระเทือน โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้หากเกิดกับสัตว์เลี้ยงสามารถแสดงอาการคล้ายสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน นอกจากนี้สารพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลวโดยเฉพาะในกรณี ตับวาย หรือ ไตวาย ก็สามารถแสดงอาการคล้ายสมองเสื่อมได้เช่นกัน จึงต้องทำการตรวจเลือดและการทำงานของอวัยวะภายในอย่างละเอียด การยืนยันโรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยงได้ดีที่สุดในปัจจุบันคือการตรวจพบโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ในเนื้อเยื่อสมองภายหลังจากการเสียชีวิต

โรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยงสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

จากข้อมูลปัจจุบันการรักษาโรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยงนั้นยังไม่มียาที่จำเพาะในการรักษาโรคให้หายได้ เนื่องจากกระบวนการเกิดโรคที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีความผิดปกติเกิดขึ้นหลายกระบวนการร่วมกัน นอกจากนี้การตายของเซลล์สมองยังกินบริเวณกว้างขึ้นเรื่อยๆ และเซลล์สมองที่ตายไปแล้วไม่สามารถสร้างทดแทนขึ้นมาใหม่ได้ การรักษาโรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันจึงเน้นไปที่การชะลอการตายของเซลล์สมอง โดยให้ยาหรือสารเข้าไปขัดขวางกระบวนการของโรค เช่น การใช้สารต้านอนุมูลอิสระ สารบำรุงการทำงานของเซลล์สมอง ยาลดอักเสบ วิตามินบำรุงประสาท เป็นต้น

โดยปัจจุบันมีการศึกษาถึงการใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะสารสกัดจากพืชสมุนไพรและผลไม้เพื่อพัฒนานำมาใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ยังมีการให้ยาในกลุ่มเพิ่มสารสื่อประสาทชนิดต่างๆ ที่ขาดไปจากความเสียหายของเซลล์สมอง ได้แก่ สารอะเซติลโคลีน และ นอร์อีพิเนฟริน หากสัตว์เลี้ยงพบอาการชักเกร็งต้องได้รับยาระงับชักด้วยเช่นกัน ในบางกรณีหากสัตว์เลี้ยงไม่สามารถนอนได้ตอนกลางคืน มีอาการร้องโวยวายจำเป็นต้องได้รับยาปรับการนอน เช่น เมลาโตนิน เป็นต้น เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้พักผ่อนและไม่ให้ส่งเสียงรบกวนเจ้าของสัตว์เลี้ยงและเพื่อนบ้านในเวลากลางคืนอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยด้านการใช้เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) เพื่อนำมาปลูกถ่ายเพื่อทดแทนเซลล์สมองที่สูญเสียไปจากโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย ซึ่งต้องติดตามผลการศึกษาต่อไปในอนาคต

จะป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในสัตว์เลี้ยงได้หรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ และกระบวนการเกิดโรคนั้นยังมีบางส่วนที่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในสัตว์เลี้ยง เนื่องจากความเสียหายหลักของเซลล์สมองเกิดจากโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์เป็นหลัก ซึ่งผลที่ตามมาหลัก ๆ คือการเกิดสารอนุมูลอิสระขึ้นมาทำลายเซลล์ประสาท วิธีป้องกันอย่างหนึ่งที่สามารถทำได้คือการเสริม “สารต้านอนุมูลอิสระ” ให้แก่สัตว์เลี้ยงเมื่อเข้าข่ายช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ เช่น สัตว์เลี้ยงที่มีอายุมากกว่า 7-8 ปีขึ้นไป โดยสารต้านอนุมูลอิสระนี้ไม่ได้ให้เพื่อยับยั้งการเกิดโรค แต่เพื่อป้องกันและลดความเสียหายต่อเซลล์ประสาทไม่ให้เกิดความรุนแรงมากและยังชะลอการตายของเซลล์ประสาทหากมีการเกิดโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ขึ้นในสมอง ซึ่งอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสำหรับสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันนั้นมีหลายชนิด สามารถสอบถามได้จากสัตวแพทย์ตามสถานพยาบาลสัตว์ใกล้บ้านท่านได้

การดูแลหมาสูงอายุ หรือ หมาแก่ ให้แข็งแรงและอายุยืนยาว

บทความโดย

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ สุวรรณา, อว.สพ.อายุรศาสตร์

ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Assistant Professor Nirut Suwanna, DVM, MS, PhD, DTBVM

Department of Companion Animal Clinical Sciences, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University