“ดังนั้นพูดซาราธุสตรา” หนังสือเล่มโปรดของสถาปนิกนักอ่าน เชิงชาย เรียวเรืองแสงกุล

โครงการ “ส่งความรู้ สร้างความสุข” หรือ The happy Read เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วยสองหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการอ่าน อันเป็นทักษะพื้นฐานของเยาวชนในการเรียนรู้ พัฒนา และเปิดโลกผ่านตัวอักษรที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่เข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Archimontage Design Fields Sophisticated

เพราะการอ่านคือการเปิดโลกอีกใบที่มีตัวอักษรซึ่งตีพิมพ์ลงบนเนื้อกระดาษเป็นพาหนะในการพาทุกคนออกไปท่องโลกใบนั้น เชิงชาย เรียวเรืองแสงกุล สถาปนิกผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบ Archimontage Design Fields Sophisticated ที่มีหลายผลงานถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารบ้านและสวน นอกจากการอัพรูปผลงานออกแบบลงในสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัว จำนวนรูปหนังสือที่เขาถ่ายภาพแล้วโพสต์ลงในช่องทางเดียวกันนั้นยังมีความถี่ในการเห็นมากพอที่เราจะกล่าวสรุปได้ทันทีว่า เขาเองก็เป็นสถาปนิกนักอ่านคนหนึ่งเช่นเดียวกัน

“ดังนั้นพูดซาราธุสตรา” ซึ่งเขียนโดย ฟรีดริช วิลเฮล์ม นิทเช่ และแปลโดย ศัลก์ ศาลยาชีวิน คือหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดของเชิงชาย ที่เขาอยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองอ่าน เมื่อเราเชื้อเชิญเขามาร่วมแบ่งปันหนังสือดี ๆ ให้ทุกคนได้รู้จักผ่านโครงการ “ส่งความรู้ สร้างความสุข”

โดยเนื้อหาในหนังสือว่าด้วยเรื่องราวหลังจากบุรุษผู้หนึ่งตื่นขึ้นจากหลับบนภูเขาสูง ลงมาสั่งสอนมนุษย์ข้างล่างให้พัฒนาตัวเองไปสูสภาวะสูงส่ง สภาวะที่เรียกว่า เลิศมนุษย์ หรืออภิมนุษย์

เชิงชายอธิบายว่า “เรื่องมันไม่เรียบง่ายเท่าไร เพราะคล้ายคลึงกับการกำเนิดศาสดา ที่มีความอลังการและศักดิสิทธิ์อยู่ แต่เหตุการณ์ในเรื่องบางเหตุการณ์กลับดูง่าย ๆ บทสนทนาสั้น ๆ ระหว่างชาวบ้านกับผู้รู้ นั้นสามัญธรรมดามาก ถ้อยคำในหนังสือคือการพูดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่ใช่สิ่งใดเลย มีบรรยากาศความเป็นกวีนิพนธ์คลุมไปทั้งเรื่อง”

“เรื่องราวในหนังสือว่าด้วยการโปรดสัตว์ทั่ว ๆ ไป เหมือนกับตำนานหรือกึ่งตำนานที่อื่น ๆ แต่เหตุการณ์ในนี้ดำเนินอยู่ท่ามกลางเปรียบเปรย เสียดสีสภาวะของมนุษย์กับอภิมนุษย์ให้เห็นว่าสองสิ่งนี้อยู่ใน ‘ที่’ เดียวกันแต่ก็หมุนเวียน ‘สถานะ’ กันได้หรือตลอดเวลา ทั้งยังแยกแยะสภาพของมนุษย์ออกมาได้หลากหลายแง่มุม ความหว้าเหว่สุดขีด ความชั่วช้าสุดทน กระทั่งความงี่เง่าแบบสุดโต่ง ผ่านสำนึกของมนุษย์สามสภาวะ ตั้งแต่ต่ำสุดไร้ทางเลือก ต้องปรนเปรอผู้อื่น มาถึงระดับผู้สั่งการดำรงตนเหมือนนาย และระดับที่หลุดพ้นจากระดับที่ต่ำกว่าทั้งสองแบบ ไม่ต้องโอนอ่อนหรือแข็งขืนต่อสิ่งใดรอบตัว”

“ซึ่งท้ายที่สุดไป ๆ มา ๆ มันก็เป็นจุดหมายของลัทธิ ศาสนาหลายศาสนาที่สอนให้เราละตัวตน ไม่ต่างกัน มันเป็นแก่นเดียวกัน นี่เป็นส่วนที่ชอบครับ นอกจากนี้คือความไพเราะของภาษาที่เขียนอย่างสวย มีทั้งตีแผ่เรื่องดิบ ๆ ได้นุ่มนวลหรือแบบที่บริภาษอย่างงดงามช่วยให้เรื่องที่จัดว่าจริงจังแบบนี้น่าอ่านและท้าทายเราอย่างยิ่งครับ”

เชิงชายได้ย้ำถึงแก่นแท้ของการอ่านที่ผู้อ่านจะได้รับไว้อย่างน่าสนใจว่า “การอ่านคือการอยู่กับตัวเองอย่างหนึ่ง”

“การอ่านเป็นการพิจารณาตัวเองผ่านหนังสือหรือเรื่องราวอื่นที่เรากำลังเผชิญหน้า ในความคิดของผมมันเป็นการมองย้อนเข้าไปในตัวเราโดยตัวเราเองให้เห็นตัวเราเอง มันกล่อมเกลาตัวเราได้ สร้างความละเอียดอ่อน อดทนต่อความยาวนานของการไล่เรียงที่ละบรรทัด คือการฝึกตนให้ได้เห็นชีวิต โดยพื้นฐานแล้วคล้ายกับการทำสมาธิ แค่มีเรากับหนังสือเพียงเท่านั้นไม่ต้องอาศัยทรัพยากรสิ้นเปลืองอย่างอื่นเลย แต่มันก็ช่างเผาผลาญเวลาเหมือนกัน สำหรับผมมองว่าการอ่านคือการลงทุนทางปัญญา ‘ถูก ดี และง่าย’ ที่สุดอย่างหนึ่งครับ”