สวนใจ๋ฮัก

สวนใจ๋ฮัก น้ำพริกจากสวนผสมผสาน ลดรายจ่ายสร้างรายได้

สวนใจ๋ฮัก
สวนใจ๋ฮัก

เราเคยอ่านเรื่องราวตัวอย่างการทำเกษตรแบบ สวนผสมผสาน จากหลายแห่ง การทำเกษตรรูปแบบนี้ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศ การระบาดของศัตรูพืช และความผันแปรของราคาผลผลิตเท่านั้น

แต่ยังช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำให้เกษตรกรอยู่ได้แบบพึ่งพาตัวเองเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับสวนใจ๋ฮัก ในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ที่ได้ผลลัพธ์จากการทำ สวนผสมผสาน อย่างเป็นรูปธรรมสวนผสมผสาน

 

สวนผสมผสาน

หนังสือ Garden & Farm Vol.16 เครื่องแกงและพืชเครื่องเทศ รวบรวมเรื่องราวของสวนเกษตรซึ่งหลายท่านต่อยอดสร้างรายได้ด้วยการนำมาทำเครื่องแกง น้ำพริก และเมนูอาหารท้องถิ่น รวมถึงข้อคิดจากผู้ผลิต รับซื้อ และที่ปรึกษาการผลิตพืชตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practices) เพื่อส่งออก เป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจปลูกพืชเครื่องเทศเป็นอาชีพ

สวนผสมผสาน
คุณกุ๊กไก่กับสวนผักผสมผสาน

คุณกุ๊กไก่ – สุพัตรา คุณาคำ เกษตรกรสาวแกร่งแห่งสวนใจ๋ฮัก อดีตพนักงานขายผู้ผันตัวมาทำเกษตร ด้วยจุดเริ่มต้นเพียงเพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายในบ้าน

“กุ๊กกลับบ้านมาแล้วไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ก็เริ่มจากเอาเมล็ดพันธุ์ผักที่แม่เก็บไว้มาปลูกรอบบ้าน โดยเฉพาะผักพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ เพราะอยากลดค่าใช้จ่ายเป็นหลัก อีกอย่างเมื่อก่อนน้องโดนัทลูกสาวป่วยบ่อย ไม่ค่อยแข็งแรง เลยปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี เพราะอยากให้คนในครอบครัวได้กินอาหารที่ปลอดภัย

“กุ๊กเริ่มจากคนที่ทำเกษตรไม่เป็นเลยแต่อยากทำ รอบ ๆ บ้านมีที่ว่างตรงไหนก็ไปถางหญ้า เอาเมล็ดไปปลูก ทำแบบนี้ทุกวันจนมีคนเห็นความตั้งใจก็ให้ไปทำบนที่ดินของวัด ซึ่งเป็นที่สาธารณะของหมู่บ้าน ครั้งแรกไปทำกุ๊กเจออุปสรรคทั้งเรื่องสภาพดินซึ่งเป็นดินเปรี้ยวและน้ำไม่พร้อม ลงทุนกับเงินทั้งหมดที่มีเพื่อนำไปปรับพื้นที่ตรงนั้น แต่ก็ไม่ได้ผลผลิตเลย เพราะเราไม่มีความรู้และไม่ได้ศึกษาก่อนว่าพื้นที่แบบนี้ปลูกอะไรได้บ้าง เราคิดแค่ว่าอยากปลูกก็ปลูก นั่นเป็นบทเรียนบทแรก

“ถึงครั้งแรกไม่สำเร็จก็ไม่ท้อ ยังทำต่อ คนที่เขาเห็นเราทำจริงจังก็ให้กำลังใจ โชคดีที่ยังมีเมล็ดพันธุ์ผักที่แม่เก็บรวบรวมไว้เหลืออยู่ ทำให้ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ซึ่งช่วยต่อลมหายใจได้ ก่อนย้ายมาปลูกในที่ของอาในอำเภอลองซึ่งไม่ไกลจากบ้านนัก แต่ก็ยังมีปัญหาน้ำไม่พอในช่วงหน้าแล้ง

“ผลผลิตผักที่ได้เอามาวางขายหน้าบ้าน มีเยอะขึ้นก็เอาไปขายตามตลาดนัด พอเริ่มมีคนรู้จักก็ให้เราไปขายในร้านอาหารเพื่อสุขภาพของหน่วยงานรัฐ ในโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ได้ผลตอบรับที่ดีนัก ราคาขายไม่คุ้มกับการลงทุน พืชไม่สวยงามน่ากินเหมือนผักตามแผงที่มีสีสวย ขนาดใหญ่ เพราะผู้บริโภคต้องการของราคาถูกแต่ได้ปริมาณเยอะ สุดท้ายผลผลิตมีมากขายไม่หมด ก็นำไปแจกจ่ายชาวบ้าน ให้โรงเรียนทำอาหารกลางวัน นำไปช่วยงานต่าง ๆ ทั้งงานบุญและงานขาวดำ

“นอกจากนี้ก็แก้ปัญหาโดยนำพืชผักเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นพริกแกงต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าตอบโจทย์ได้ดีมากกว่าการนำไปขายแบบสด แถมยังช่วยเพิ่มมูลค่า เก็บไว้กินได้นานโดยไม่ต้องใส่สารกันบูด สะดวกกับผู้บริโภคที่ต่างใช้ชีวิตเร่งรีบและยุ่งกับการทำงาน”

ในสวนเล็ก ๆ พื้นที่ไม่ถึงไร่แห่งนี้ปลูกพืชผักสวนครัวที่กินกันในชีวิตประจำวัน มีพืชเครื่องเทศท้องถิ่นอย่างพริกแด้โด้ มะแข่วน ข่าเหลือง ฯลฯ เลี้ยงเป็ดบริเวณลำรางเพื่อเก็บไข่ขายและทำไข่เค็ม พืชผักชนิดไหนมีมากก็แปรรูปให้เก็บไว้กินได้นาน เช่น ข้าวเกรียบผัก พริกตากแห้งใช้เป็นวัตถุดิบทำน้ำพริก

“นอกจากผักกินใบและผักกินผล กุ๊กเน้นปลูกพืชเครื่องเทศท้องถิ่นที่ใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารเหนือ เช่น พริก หอม กระเทียม มะแขว่น มะข่วง ข่า ตะไคร้ ในสวนเรามีทุกอย่าง พริกเครื่องแกงที่ทำอยู่เป็นสูตรดั้งเดิมที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ที่สำคัญคือเราปลูกโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ทำให้มั่นใจว่าได้วัตถุดิบเครื่องแกงสดใหม่และปลอดภัย

ต้นมะแขว่นอายุประมาณ 2 ปีที่ปลูกแทรกในสวน

“ข้อดีของการปลูกพืชเหล่านี้คือปลูกง่าย ทนต่อสภาพอากาศ ไม่ค่อยเป็นโรค พืชท้องถิ่นบางชนิดมีอายุยืน ปลูกครั้งหนึ่งเก็บกินได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และดูแลง่ายมาก ๆ เพียงแค่ทำความเข้าใจว่าเขาชอบสภาพแวดล้อมแบบไหน ดินแบบไหน แสงแดดแบบไหน อีกทั้งยังเป็นการช่วยอนุรักษ์พืชพันธุ์ดั้งเดิมไว้ ซึ่งมีเอกลักษณ์เรื่องกลิ่นหอมและคุณภาพดีกว่าเครื่องแกงที่ปรุงมาจากพืชที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใหม่ เราจะสังเกตได้ว่าแม้พริกเครื่องแกงเหมือนกัน แต่ทำไมรสชาติ ความหอม สีสันแตกต่างกัน นั่นแหละคือคำตอบที่กุ๊กสัมผัส เรียนรู้ และเข้าใจด้วยตัวเอง

“สูตรอาหารของเราใช้วัตถุดิบเครื่องเทศไม่มาก ทำง่าย ๆ ในครัว เช่น พริกข่าโบราณ พริกมะเขือส้มมะเก่า พริกน้ำย้อย รวมถึงพริกเครื่องแกงเหนือ ทำตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าต้องการ อย่างพริกลาบเหนือแป้ สามารถใช้ทำเมนูอาหารเหนือได้หลายเมนู เช่น แกงแคเหนือ แกงอ่อมเหนือ แกงไก่ใส่ฟัก แกงผักกาดจ้อนใส่กระดูกอ่อนหมู เป็นต้น

“การแปรรูปพืชผักต่าง ๆ ที่เราปลูกเอง นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย

ผลิตภัณฑ์น้ำพริกแปรรูปและข้าวเกรียบผักจากสวนใจ๋ฮัก
น้ำพริกมะเขือส้มมะเก่า เป็นน้ำพริกสูตรดั้งเดิมที่ทำง่ายและกินง่าย ใช้วัตถุดิบไม่มาก จิ้มกินกับข้าวเหนียวร้อน ๆ หรือข้าวสวย

“สิ่งที่กุ๊กทำตลอดหลายปีมานี้ไม่เพียงแค่เรื่องรายได้และความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัวเท่านั้น แต่กุ๊กได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น ค่อย ๆ พัฒนาทำในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเรา ได้เรียนรู้เรื่องความอดทน การมองชีวิตให้ง่ายขึ้นไม่ซับซ้อน ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้เข้าใจคำว่าพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มีความสุขเมื่อครอบครัวของเรามีชีวิตอยู่แบบพอมีพอกิน ไม่ฟุ่มเฟือย รู้จักการแบ่งปัน และได้รักษาสูตรเครื่องแกงจากปู่ย่าตายายไว้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา”

หนังสือ Garden & Farm Vol.16 เครื่องแกงและพืชเครื่องเทศ ภายในเล่มอัดแน่นด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องแกงและพืชเครื่องเทศ ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา การเดินทางของเครื่องแกงและพืชเครื่องเทศเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งชนิดที่เป็นพืชท้องถิ่นและชนิดที่ถูกนำเข้ามาสู่แผ่นดินไทยในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน จนกลายมาเป็นเครื่องเทศหลักของครัวไทยและนิยมปลูกกันแพร่หลายในปัจจุบัน

ขอขอบคุณ : คุณสุพัตรา คุณาคำ สวนใจ๋ฮัก ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่

เรื่อง : วิรัชญา

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

อัปเดตข่าวสารงานเกษตรได้ที่บ้านและสวน Garden&Farm

กาฟีฟาร์ม ฟาร์มเกษตรน่าเที่ยว