“สาธุ” : ฝ้าย-ใยกัญชง-สีธรรมชาติ สู่เสื้อผ้าที่ถักทอจากสัญชาตญาณ

ย้อมร้อน ย้อมเย็น

เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์

“ถ้าผู้หญิงท้อง หรือผู้หญิงมีรอบเดือน มายืนใกล้หม้อย้อมจะทำให้ย้อมไม่ติด สีด่าง และไม่สวย”

แม่อุ๊ยจันทร์บอกเมื่อถามถึงเทคนิคการย้อมให้สีติดเส้นฝ้ายสม่ำเสมอ หลังจากที่หญิงสูงวัยเริ่มโยนเปลือกไม้ที่สับเป็นชิ้นเล็กลงหม้อต้มที่มีน้ำด่าง ไอร้อนจากเตาฟืนระอุ น้ำเริ่มเดือด เปลือกประดู่ในหม้อเริ่มเปลี่ยนสีให้น้ำกลายเป็นสีชมพูเข้ม ก่อนแม่อุ๊ยจะจุ่มเส้นใยธรรมชาติลงไป แล้วบอกว่า “รอประมาณ 1 ชั่วโมง”

เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์
เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์

การย้อมสีธรรมชาติมีอยู่ 2 แบบ คือ ย้อมร้อน กับย้อมเย็น ย้อมร้อนคือแบบที่เล่าไปแล้วข้างต้น ส่วนใหญ่วัตถุดิบจะเป็นเปลือกไม้ และแก่นไม้ที่ต้องใช้ความร้อนในการสกัดสี ส่วนย้อมเย็นจะเป็นการสกัดสีจากวัตถุดิบโดยการหมักให้ได้น้ำสี แล้วนำสีที่ได้จากการหมักมาย้อมกับเส้นใย เช่น การย้อมคราม และย้อมฮ่อม ทั้งสองวิธีต้องใช้สารช่วยย้อม หรือสารกระตุ้นสีที่เรียกว่า มอร์แดนท์ธรรมชาติ (mordants) ได้แก่ น้ำด่าง น้ำสนิมเหล็ก น้ำปูนใส น้ำโคลน น้ำกรดจากมะนาว และน้ำมะขามเปียก เพื่อให้สีธรรมชาติติดแน่นในเส้นด้าย ใช้ได้ทั้งก่อนย้อมสี ใช้พร้อมย้อมสี และใช้หลังย้อมสี

เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์

เวลาผ่านเกือบ ๆ หนึ่งชั่วโมง เหมือนสีที่ย้อมรอบแรกไม่เข้มถูกใจแม่อุ๊ยสักเท่าไหร่นัก เธอจึงเพิ่มน้ำด่างอีกถ้วย ตามด้วยเปลือกประดู่อีกกำมือลงไปในหม้อที่กำลังเดือด เราเห็นเส้นด้ายเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม สักพักแม่อุ๊ยก็ยกม้วนด้ายขึ้น ก่อนนำไปแขวนเพื่อผึ่งลมให้แห้งในที่ร่ม สีแดงอมชมพูที่เห็นตอนย้อมเสร็จค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเมื่อแห้งสนิท

กี่เอวเย็บมือ ฝีเข็มที่ต่างของแต่ละชาติพันธุ์

เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์

“กี่เอว” ไม่ใช่การถามถึงจำนวนอวัยวะในร่างกาย หากแต่เป็นกรรมวิธีการทอผ้าแบบโบราณของชาวปกาเกอะญอที่จะใช้ร่างกายส่วนลำตัวผูกกับกี่ทอผ้า จากนั่นค่อย ๆ ทอมือทีละเส้นจนได้ผืนผ้าตามลวดลายที่วางไว้ หลังจากได้ผ้าผืนใหญ่แล้วจะตัดแพตเทิร์นตามแบบเสื้อ ก่อนส่งมาให้ช่างเย็บมือเย็บประกอบเป็นเสื้อผ้าตามที่ออกแบบไว้

ภาพจาก facebook Satu
เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์
เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์

“โชคดีที่ผมเคยทำงานร่วมกับหลาย ๆ ชาติพันธุ์มาก่อน ทำให้ได้เห็นภูมิปัญญาและความรู้จากกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งไทยวน ปกาเกอะญอ และม้ง แต่ละชนเผ่าจะมีลายผ้าที่ต่างกัน หยิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานได้ อย่าง ม้ง จะทำเรื่องกัญชงได้ดี ส่วนปกาเกอะญอจะเก่งเรื่องฝ้าย เราจึงจะได้เห็นภูมิปัญญาแต่ละถิ่นมาอยู่ในงานของสาธุ”

ความนัยของเนื้อผ้าที่ถูกซื้อไป

เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์

“เสื้อหนึ่งตัวที่ซื้อไป เขาอาจจะคิดว่าใส่แล้วสวย เท่ หรือดูโดดเด่นจากคนอื่น แต่ไม่รู้ว่าคนซื้อไปจะอินอย่างเราไหม เขาจะรู้ไหมว่ามันเป็นฝ้ายปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ แม่อุ๊ยทำเส้นใยแต่ละเส้นจากเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่สืบต่อกันมากว่าร้อยปี ผ้าที่ช่วยให้ชุมชนมีรายได้ ฟื้นองค์ความรู้ให้ยังอยู่ เราก็ปลื้มอยู่ในใจของเราคนเดียว คนที่จะสวมใส่เสื้อผ้าของสาธุก็ไม่ต้องมีอะไรมาก แค่มั่นใจก็พอ

“หากการสวมใส่เสื้อผ้าใยธรรมชาติคือเทรนด์ใหม่ วันนี้เป็นเทรนด์ได้ ถึงเวลาหนึ่งก็อาจจะมีเทรนด์ใหม่มาแทนที่ เหมือนคนเรากินอาหารที่ชอบจนอิ่ม กินบ่อย ๆ ก็เลี่ยน ต้องหาของกินเมนูใหม่ หากวันนั้นมาถึงก็ไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไรต่อ แค่วันนี้ได้ทำ ได้ใช้ความรู้สึก และทำตามสัญชาตญาณที่มี ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องที่ว่าถ้าโลกเปลี่ยน แล้วเราจะต้องทำอย่างไร”

 

จากคนที่เคยถูกกล่าวหาว่าบ้า สู่เส้นทางศิลปิน

เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์

“ตอนวัยรุ่น แม่เคยคุยกับผมว่าอาจจะต้องไปหาหมอจิตเวชเพราะผมเหมือนคนบ้า

เพียงเพราะผมเชื่อเรื่องธรรมชาติ และคิดไม่เหมือนคนอื่น ๆ เท่านั้น

แต่โชคดีที่แม่ยังเชื่อเรา”

ชายหนุ่มเล่าติดตลกด้วยรอยยิ้มอันใสซื่อ หลังจากที่เรียนรู้มาค่อนชีวิตถึงความหลากหลายที่มีอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล

“การที่เราเชื่อเรื่องความเป็นธรรมชาติ เราเชื่อได้อย่างบริสุทธิ์เลยว่าอันนี้คือความสุขที่ง่าย แม้การเลือกเส้นทางนี้จะโดนตราหน้ามาเยอะเหมือนกัน เราต้องมั่นใจมาก ๆ ที่จะไม่เดินบนเส้นทางปกติอย่างที่คนอื่นเขาเดินกัน พอเราคิดไม่เหมือนคนอื่น เราก็จะถูกสังคม คนรอบข้าง กล่าวหาในความต่าง เพียงแค่เขาไม่เชื่อเหมือนเรา นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของเขานะครับที่จะคิดแบบนั้น เราเองก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่เขาคิดด้วย เมื่อเราเข้าใจคนอื่น ปัญหาก็จะไม่เกิด ไม่มีความขัดแย้ง เราก็จะค้นพบความสุขในชีวิตได้”

การตกผลึกทางความคิดของชายวัย 33 ปี สู่เส้นทางศิลปินเมื่อ “สาธุ” แบรนด์เสื้อผ้าได้โบกมือทักทายวงการศิลปะกับการจัดแสดงในรูปแบบ Exhibition ในชื่อ “สาธุนำทาง” นำเสนอแนวคิด 4 เรื่องราว คือ ภูมิ การนำเสนอความเป็นชาติพันธุ์ ท้องถิ่น กำเนิด ก็คือเสื้อที่ได้มาจากการเกิดของแม่ โดยใช้แพตเทิร์นกางเกงของชาวปกาเกอะญอ เจาะช่องตรงเป้าแล้วสวมหัวจากตรงนั้นให้เหมือนการคลอดลูกของแม่ สนุก มีแนวคิดจะทำเสื้อที่ก้าวข้ามนิยามของเสื้อผ้าที่ต้องใส่สบาย  โดยทำเสื้อผ้าที่มันสนุกก้าวข้ามคติเก่า ๆ คือใส่แล้วร้อน ทรมาน แต่ทุกคนอยากใส่ และ มือใครยาวสาวได้สาวเอา งานคอนเซ็ปต์ที่ตั้งใจเสียดสีการสร้างถนนที่มีแต่หลุมบ่อขรุขระ สื่อสารผ่านเสื้อลายทางที่มีแขนยาวลากไปตามพื้นถนนได้

“ตอนนี้ก็มีอีกหนึ่งความฝันคือ ตั้งใจอยากไปแสดงงานต่างประเทศในมุมศิลปะเสื้อผ้า ผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ พาผมมาไกลกว่าที่คิด มาไกลกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้มาก เพราะผมเชื่อมาตลอดว่าผมทำได้”

เสื้อย้อมสีธรรมชาติ สาธุ งานคราฟต์

เสื้อผ้าใยธรรมชาติที่เขาสวมใส่ เท้าเปล่าที่พาเราไปสำรวจแปลงปลูกฝ้ายในทุ่งนา บ้านไม้ไผ่ที่ตั้งเด่นอยู่ท้ายหมู่บ้าน เสียงหัวเราะพึงใจของ สาธุ เด็กชายวัย 7 ขวบ ที่กระโดดเล่นน้ำอย่างสุขสันต์ ภรรยาสาวที่อุ้มท้องรอวันคลอดในอีกไม่กี่วัน และ “แม่” ผู้เป็นแรงผลักดันในการตัดเย็บเสื้อผ้าของเขาที่ยังคงคอยหนุนหลังอยู่ไม่ไกล ทำให้เราไม่แปลกใจเลยสักนิดที่คุณแบงค์จะกล้าพูดได้อย่างเต็มคำว่า วันนี้เขากำลังอยู่ในความฝันของตนเอง

สวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์สาธุ เสื้อฝ้าจากใยธรรมชาติ สีธรรมชาติ ได้ที่ สาธุ-satu

ชมนิทรรศการ สาธุนำทาง ได้ที่ บ้านข้างวัด เชียงใหม่ 

เรื่อง JOMM YB

ภาพ นันทิยา บุษบงค์