ผู้กำกับภาพยนตร์สายอินดี้ รีโนเวตตึกแถวเก่า ให้เป็นบ้านสองบ้านในตึกเดียว

ผู้กำกับภาพยนตร์สายอินดี้ รีโนเวตตึกแถวเก่าให้เป็นบ้านสองบ้านในตึกเดียว

ผู้กำกับภาพยนตร์สายอินดี้ รีโนเวตตึกแถวเก่า ให้เป็นบ้านสองบ้านในตึกเดียว
ผู้กำกับภาพยนตร์สายอินดี้ รีโนเวตตึกแถวเก่า ให้เป็นบ้านสองบ้านในตึกเดียว

DESIGNER DIRECTORY 

เจ้าของ: คุณต้องปอง จันทรางกูร
ตกแต่ง: Lean Architect 

แม้ว่าบ้านเดี่ยวพร้อมพื้นที่สีเขียวรอบๆ จะเป็นรูปแบบบ้านในฝันของใครหลายคน แต่ด้วยสนนราคาที่ดินซึ่งสูงขึ้น อีกทั้งเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทาง หรืองบประมาณที่จำกัด จึงทำให้เกิดการดัดแปลงสถานที่รูปแบบต่างๆ เพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัยกันมากขึ้น รวมไปถึงตึกแถวเก่าที่อาจเป็นมรดกของครอบครัวหรือเป็นอาคารเช่าที่ราคาไม่สูงมากเกินไป เพียงแค่ปรับปรุงพื้นที่ภายในก็สามารถตกแต่งให้เป็นบ้านอยู่สบายๆ ได้เช่นกัน รีโนเวตอาคารพาณิชย์

คุณอ๊อง-ต้องปอง จันทรางกูร ผู้กำกับภาพยนตร์สายอินดี้ ก็เห็นความเป็นไปได้ของตึกแถวเก่าขนาด 2 ชั้นครึ่งย่านสามเสนที่เจ้าของปล่อยให้เช่าในราคาไม่แพง เขาจึงเกิดไอเดียอยากปรับฟังก์ชันแบบ รีโนเวตอาคารพาณิชย์ ที่เปิดหน้าบ้านโล่งด้วยกระจกติดกรอบอะลูมิเนียมเพื่อเน้นแสงสว่างเฉพาะแค่ด้านหน้า แต่ภายในมืดทึบนี้ให้เป็นบ้านพักอาศัย แต่ความท้าทายไม่ได้อยู่แค่งานปรับปรุงสเปซภายในเท่านั้น ด้วยพื้นที่หน้ากว้างเกือบ 4 เมตร ลึกประมาณ 10 เมตรนี้ยังต้องแบ่งออกเป็นบ้านสำหรับสองครอบครัวเล็กๆ ไว้ด้วยกันอีก รีโนเวตอาคารพาณิชย์

กลุ่มตึกแถวพาณิชย์ที่มีอายุราว 50 ปี ส่วนใหญ่เปิดเป็นร้านค้าขายอยู่ริมถนน แต่สำหรับคุณอ๊องมีไอเดียปรับให้เป็นบ้านของสองครอบครัว โดยนำสีเขียวดั้งเดิมที่ใช้ตกแต่งภายในมาทาตัวอาคารด้านนอกให้สดใส แล้วตั้งชื่อบ้านไว้ว่า “บุญ จันทร์ งาม” ซึ่งมาจากคำในนามสกุลของเจ้าของร่วมทั้ง 3 คน
ตึกแถวมีหน้ากว้างราว 4 เมตร เมื่อต้องแบ่งพื้นที่ใช้งานสำหรับสองครอบครัวจึงทำประตูทางเข้าแยกเป็นสองบาน บานซ้ายนำไปสู่บ้านชั้นบน ส่วนบานขวาเข้าสู่บ้านชั้นล่าง เป็นการใช้พื้นที่เดียวกันแต่แยกให้มีอิสระจากกัน

“เมื่อก่อนที่นี่เป็นโฮสเทลเก่าข้างล่างมีห้องน้ำรวม ส่วนข้างบนวางเตียงสองชั้นไว้แน่นๆ ตัวอาคารน่าจะอายุประมาณ 50 ปีแล้ว ภายในค่อนข้างทรุดโทรมและอับทึบมาก ผมมีงบประมาณไม่มากนักแต่ก็อยากได้บ้านสองครอบครัวที่โปร่งสบาย มีอิสระจากกัน และมีฟังก์ชันที่ครบในตัว”

คุณอ๊องนำแนวคิดนี้ไปปรึกษาทีมสถาปนิกจาก Lean Architect ซึ่งมาสำรวจพื้นที่แล้วจึงเกิดแนวคิดการแบ่งพื้นที่ใช้สอยแบบทับซ้อนระหว่างสองครอบครัว โดยกั้นแยกตั้งแต่ทางเข้าด้านหน้าให้เป็นสองประตู ครอบครัวแรกได้พื้นที่ชั้นล่างในขนาดหน้ากว้างเกือบ 3 เมตรพร้อมกับชั้นลอย (เล่าเต๊งของอาคารพาณิชย์เดิม) ซึ่งขยายพื้นที่ใช้สอยได้เต็มหน้ากว้าง 4 เมตร ขณะที่ครอบครัวที่สองได้ทางเดินเล็กๆ ซึ่งกั้นแยกไว้เกือบเมตรจากหน้าบ้านเพื่อขึ้นไปสู่ชั้นสองและสามารถใช้พื้นที่ของตัวเองได้เต็มทั้งชั้น

เมื่อรื้อฝ้าเพดานเดิมออกจึงได้โถงภายในที่ค่อนข้างสูงโปร่งสบาย แม้จะต้องกั้นพื้นที่จาก 4 เมตรให้เหลือเกือบ 3 เมตรก็เลยไม่รู้สึกอึดอัด โดยมุมนี้ยังคงพื้นกระเบื้องเดิมเอาไว้ ส่วนผนังทาสีขาวสว่างและบางส่วนที่เคยเป็นผิวปูนหลุดล่อนก็กะเทาะออกเพื่อโชว์แนวอิฐเดิม เพิ่มมุมมองเท่ๆ แบบอินดัสเทรียล
ด้วยพื้นที่ออกไปในทางยาวและลึก การจัดวางฟังก์ชันจึงแนบไปกับผนังอาคารควบคู่ไปกับทางเดินของบ้าน เช่น ส่วนรับประทานอาหารมุมนี้ที่ใช้ขาโต๊ะเก่ามาผสมท็อปกระเบื้องขนาดใหญ่ ผนังติดกระจกเงาบานยาวเพื่อช่วยสะท้อนมุมห้องให้ดูกว้างและไม่อึดอัด
ห้องนอนและส่วนนั่งเล่นบนอยู่บริเวณชั้นลอยเหมือนห้องสไตล์ดูเพล็กซ์สมัยใหม่ โดยมีบันไดที่ทำขึ้นมาใหม่ให้เน้นความโปร่งตา และเสริมสัมผัสที่อบอุ่นด้วยแผ่นไม้เก่าที่ตัดแบ่งจากความยาวเดิม 3 เมตรเพื่อวางเป็นขั้นบันไดได้อย่างพอดี

ทีมสถาปนิกเล่าแนวคิดให้ฟังว่า “เรากั้นพื้นที่เพื่อจัดสเปซใหม่ ทำให้บ้านใช้งานได้ดีและอยู่สบาย ประหยัดงบด้วยการใช้โครงสร้างเดิมที่ยังแข็งแรงดีอยู่ พื้นและผนังไม้บางส่วนที่ผุพังก็ซ่อมเป็นจุดๆ ไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ของอาคารได้ดีด้วย  เราเปิดฝ้าเพดานบ้านชั้นล่างให้โล่งมองเห็นพื้นไม้ชั้นบนสวยๆ แล้วแกะไม้อัดที่ปิดช่องแสงด้านหน้าออก ทำให้เห็นลวดลายช่องลมเก่า เลยปรับมาใช้กระจกปิดแทนเพื่อให้แสงธรรมชาติยังสามารถส่องเข้ามาในบ้านได้ ตัวประตูหน้าบ้านใช้ไม้เก่าเติมช่องแสงเป็นกระจกลายดอกพิกุล พื้นกระเบื้องลายเดิมดูสวยอยู่แล้วก็เก็บไว้ ส่วนผนังกั้นที่ก่อเพิ่มก็ใช้อิฐแค่ฐานล่างด้านบนเป็นผนังเบา และใส่กันเสียงเพิ่มเข้าไปเพื่อให้แต่ละครอบครัวได้ความสงบส่วนตัว แต่ผนังอีกด้านเป็นผนังฉาบปูนเดิมซึ่งผิวบางส่วนแตกร่อน เราจึงสกัดผิวออกเพื่อโชว์แนวก่ออิฐด้านในให้ดูเท่ๆ แบบอินดัสเทรียลไปเลย”

ฟังก์ชันอีกด้านของทางเดินเป็นส่วนของแพนทรี่ซึ่งใช้ชุดครัวสำเร็จรูป มาเติมท็อปกระเบื้องและติดมือจับแบบโบราณเพื่อเชื่อมอารมณ์เก่าๆ ให้ต่อเนื่องกับบ้าน ผสมกับความดิบเท่ของเคาน์เตอร์ปูนเปลือยในส่วนของอ่างล้างจาน
ห้องน้ำอยู่ด้านในสุดของบ้าน เดิมทีเป็นพื้นที่อับทึบไม่มีแสงธรรมชาติเลย ทีมสถาปนิกจึงกั้นผนังใหม่เพื่อเปิดช่องรับแสงและลมผ่านด้านหลัง มาช่วยเพิ่มความโปร่งสบายและระบายความชื้นของห้องน้ำไปในตัว
ห้องน้ำทำแยกเป็นสองห้องระหว่างส่วนชักโครกและส่วนอาบน้ำ โดยใช้ไม้เก่ามาออกแบบเป็นประตูติดด้วยกระจกสีแบบโบราณ

ส่วนที่เพิ่มเติมมาสำหรับบ้านชั้นล่างคือบันไดโครงเหล็กโปร่งๆ ที่ใช้ไม้เก่ายาว 3 เมตรมาตัดแบ่งเพื่อทำเป็นขั้นบันได และการวางระบบห้องน้ำด้านในที่จำเป็นต้องยกพื้นให้เกิดสเต็ปเพื่อซ่อนระบบต่างๆ ไว้ด้านล่าง เติมเคาน์เตอร์บิลท์อินในส่วนของอ่างล้างจานผสมไปกับตู้ครัวสำเร็จรูป จากนั้นผสมผสานด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่ามือสองที่นำมาขัดสีใหม่ให้สวยงาม ชิ้นใหม่สุดของบ้านเป็นเตียงนอนโครงเหล็กที่โปร่งตาบริเวณชั้นลอย บ้านหลังนี้จึงมีมุมมองแบบดูเพล็กซ์ที่มีฟังก์ชันค่อนข้างทันสมัยอยู่ในร่องรอยโครงสร้างเดิมๆ

ขณะที่บ้านชั้นบนเริ่มต้นด้วยอารมณ์น่าค้นหาผ่านทางเดินเล็กๆ ไปสู่บันไดไม้เก่าของอาคารที่พาขึ้นไปบนชั้นสองซึ่งเป็นโถงสูงโปร่งสบายตา แบ่งสเปซชัดเจนระหว่างส่วนครัวซึ่งมีโต๊ะรับประอาหารและ แพนทรี่กับส่วนห้องนอนและมุมนั่งเล่นด้านใน เพิ่มความสดใสด้วยการทาสีเขียวพาสเทลลงบนผนังไม้เก่า ที่สำคัญคือยังมองเห็นร่องรอยเดิมของอาคารทั้งจากผนังและเพดานไม้ ช่องลม และหน้าต่างเหล็กดัดโบราณ สิ่งที่เติมเข้ามามีเพียงเฟอร์นิเจอร์หวายและไม้กับส่วนบิลท์อินในห้องครัว

ใช้พื้นที่เต็มหน้ากว้าง 4 เมตรบริเวณชั้นลอยให้เป็นมุมห้องนอน ส่วนด้านในจัดวางตู้เก็บของและโต๊ะไม้มือสองผสมผสานไปกับเก้าอี้หวายตัวใหม่
ใช้พื้นที่เต็มหน้ากว้าง 4 เมตรบริเวณชั้นลอยให้เป็นมุมห้องนอน ส่วนด้านในจัดวางตู้เก็บของและโต๊ะไม้มือสองผสมผสานไปกับเก้าอี้หวายตัวใหม่
เพราะมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดจึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็นเพื่อให้มีสเปซว่างๆ สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย

“เราเน้นการใช้หวายสำหรับบ้านชั้นบนเพื่อไม่สร้างน้ำหนักให้โครงสร้างเดิมมากเกินไป และก็มีการเจาะช่องพื้นด้านหลังเพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามา ของเดิมด้านหลังบ้านมืดทึบมากๆ เพราะไม่มีแสงเลย ต้องยอมเสียพื้นที่ไม่ถึง 1 ตารางเมตรทั้งชั้นบนชั้นล่างเพื่อกั้นผนังใหม่และทำช่องหน้าต่างทะลุระหว่างบ้านทั้งสองหลัง เราเรียกมุมนี้ว่าเป็นน้ำใจทางสถาปัตยกรรม”

คุณอ๊องบอกว่าจริงๆ แล้วเขารู้สึกชอบความโปร่งสบายของบ้านชั้นบนมากกว่า แต่บ้านชั้นล่างก็ให้มุมมองที่ทันสมัยดี “ผมว่าการอยู่ในอาคารเก่ามันให้อารมณ์เฉพาะตัว ร่องรอยที่ผุพังบอกถึงการใช้งานมาก่อนและกลายเป็นเสน่ห์ของบ้านเก่าที่น่าเก็บไว้ เพราะถ้าจะรื้อทำใหม่หมดผมว่าไปสร้างใหม่เลยดีกว่า แต่อยู่แบบนี้ก็ได้บรรยากาศเก่าๆ ครับ”


เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข

Live T(w)ogether  สองบ้านในตึกเดียว(บ้านสวย ต.ค.62)