ช่างเขียนเบญจรงค์สมัยใหม่ที่เขียนลายจากคำถามในจินตนาการ

คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คนไทยทุกคนหันมาใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน หยิบภาชนะเบญจรงค์มาใช้บนโต๊ะอาหาร หรือแต่งบ้านด้วยถ้วยโถที่ลงรักปิดทอง ตราบเมื่อรูปแบบของหัตถศิลป์ไทยเหล่านี้ ยังเป็นของสูงค่าในดีไซน์ดั้งเดิมที่ดูห่างไกลจากวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แต่ชายหนุ่มรุ่นใหม่ 2 คนนี้กลับมองเห็นความเป็นไปได้ในงานฝีมือหัตถกรรมที่มีรากของภูมิปัญญา เมื่อนำมารวมกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เขาร่วมส่งผลงานการออกแบบเข้าประกวดผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ Innovative Craft Award 2018 (ICA) ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT และได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป แม้จะเป็นการส่งผลงานประกวดครั้งแรกก็ตาม เบญจรงค์

Where are you from?

ปัจจุบัน คุณธนวัฒน์ คล่องวิชา ทำงานเป็นนักออกแบบเครื่องประดับให้ EK Thongprasrt และทำงานโปรเจ็คท์ในเชิง Conceptual ที่ต้องมองหาวัสดุหรืองานหัตถกรรมมาใช้อยู่เสมอ ขณะที่ คุณประพันธ์พงษ์ สุขแสวง เคยเป็น Visual Merchandiser ให้ร้าน Siwilai และปัจจุบันทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ โดยทั้งคู่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องต่างคณะจากรั้วจามจุรีและมีโอกาสได้มาทำงานโปรเจ็คท์ร่วมกัน

“พอได้ร่วมงานก็รู้สึกว่ามีมุมมองและแนวคิดคล้ายๆ กัน ก็พอดีกับที่เราสนใจขั้นตอนการทำงานประกวดกับ SACICT เลยชวนกันมาลอง โดยปีนี้โครงการมีหัวข้อว่า Mass X Clusivity ซึ่งเรานึกไปถึงการนำงานหัตถกรรมที่โดดเด่นจากภูมิภาคต่างๆ มาผสมผสานกัน ทำให้เกิดเก้าอี้ชื่อว่า Where are you from? ที่มีส่วนประกอบของหวายสานเข้ากับไม้มาทำเป็นเบาะรองนั่งกับงานเซรามิก ส่วนขามีทั้งงานลงรักปิดทอง เซรามิกบลูแอนด์ไวท์ และเครื่องเขิน แยกแต่ละชิ้นงานออกเป็นข้อต่อเพื่อสามารถสลับต่อกันได้ด้วยระบบน็อกดาวน์ที่ประกอบต่อเองได้ด้วยเกลียว โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ ความยากที่สุดก็คือการรวมงานหัตถศิลป์และวัสดุที่มีข้อจำกัดทั้งหมดมาไว้ในชิ้นเดียวให้ได้”

 

 

To be continued

หลังจากส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว ทั้งคู่ยังออกแบบผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด SACICT ได้เชิญให้เข้าร่วมทำงานกับ 11 ชุมชนช่างและทายาทช่างศิลปหัตถกรรมเครื่องเบญจรงค์เพื่อออกแบบเบญจรงค์ในมุมมองใหม่

“ปกติเราไม่ได้ใช้เบญจรงค์ในบ้านเลย ทำให้อยากออกแบบงานเบญจรงค์ที่แม้แต่เราเองก็ยังอยากใช้ โดยได้ร่วมงานกับชุมชนช่างเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี (แดงเบญจรงค์) สมุทรสาคร และเบญจรงค์แกลเลอรี่ มหาสารคาม ทำออกมา 3 คอลเล็กชั่นในชื่อ ‘To be continued’  ที่ปรับมุมมองของลายเบญจรงค์ดั้งเดิมมาเป็นลวดลายเหมือนพิกเซลที่เบลอๆ ดูมีความป็อบขึ้นกับลายเพ้นต์ตวัดปลายพู่กันแบบภาพอิมเพรสชั่นนิสม์ ทำให้วางโถเบญจรงค์ไว้บนโต๊ะกินข้าวได้อย่างไม่เคอะเขิน อีกชิ้นเป็นต่างหูเบญจรงค์ที่แยกการใช้สีทั้ง 5 ออกไปบนชิ้นโลหะ ทองเหลือง และมุข แทนที่จะรวม 5 สีไว้บนงานชิ้นเดียว ส่วนชิ้นสุดท้ายเป็นพานเพ้นต์ลายเบญจรงค์ดั้งเดิม แต่เปลี่ยนรูปทรงพานเป็นทรงกลมตั้งบนห่วงทองเหลือในเส้นสายแบบ เรขาคณิตที่เข้าไปอยู่บนโต๊ะในบ้านโมเดิร์นได้เลย ทั้งหมดนี้เราพยายามจะบอกว่าเบญจรงค์สามารถพัฒนาเป็นอะไรต่อไปได้อีกในอนาคต ต้องติดตามกันต่อไป”

Keep Going

          “ในฐานะของนักออกแบบ เรายังอยากพัฒนางานหัตถกรรมให้ไปได้ไกลขึ้น เพิ่มช่องทางตลาดให้กว้างขึ้น แทนที่จะมาเน้นทำของปริมาณมาก ก็ลองมาทำปรับดีไซน์ใหม่ในจำนวนจำกัดแต่ราคาดี เพราะเรามี know-how ที่ดีอยู่แล้ว สร้างคาแร็กเตอร์ให้ดีและนำจุดเด่นของงานฝีมือมาพัฒนาฟังก์ชันให้เข้าใกล้กับชีวิตประจำวันได้มากขึ้น แม้แต่งานที่เราออกแบบไปก็ยังอยากนำมาพัฒนาต่อไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้น็อกดาวน์หรืองานเบญจรงค์ เราชอบคิดชอบจินตนาการและตั้งคำถามจากสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก่อน เหมือนที่ไอน์สไตน์บอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ แล้วค่อยมาลดทอนและปรับให้เกิดฟังก์ชันที่ใช้งานได้จริง ในอนาคตเราอาจสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาเพื่อสานต่องานแนวนี้ก็ได้”

 

บุคคล

คุณธนวัฒน์ คล่องวิชา และคุณประพันธ์พงษ์ สุขแสวง

 

เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล


เรื่องที่น่าสนใจ