สถานการณ์งบประมาณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เมื่อเวลา 13.30น วันพุธที่ 26 กันยายน ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดงานแถลงข่าว “สถานการณ์งบประมาณของหอศิลปกรุงเทพฯ” ที่ส่งผลผลกระทบต่อการทำงานของหอศิลปเอง รวมแถลงถึงมาตรการที่ต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ในขณะกำลังจะมีงานสำคัญอย่าง บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ทีกำลังจะเกิดขึ้นในเดือน ตุลาคม นี้

ในงานนี้ มีผู้ร่วมแถลงข่าวทั้งหมด 4 ท่านได้แก่ ผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพฯ และ ผศ.ดร. อลิศร์ เทียนประเสริฐ นักวิชาการอิสระ 

สำหรับใครที่ยังไม่ทราบเรื่องราวเรามีคำแถลง(ฉบับสรุป) ที่มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กรที่บริหารจัดการหอศิลปกรุงเทพฯ  ได้แถลงไว้ ณ วันที่ 26 กันยายน 2561 มาฝากัน

“มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ได้รับการโอนสิทธิการบริหารอาคารหอศิลปกรุงเทพฯ จากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 ซึ่งสอดคล้องกับการที่กรุงเทพมหานครได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยเรื่องข้อตกลงความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานครและพันธมิตรด้านศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ “จะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน สร้างสรรค์ องค์ความรู้แขนงต่างๆ ของศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเสนอแนะ ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพ ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณ ทุน ในการศึกษา วิจัย การดำเนินงานและพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมของเมือง” 

หอศิลปกรุงเทพฯ จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมปีละกว่า 400 รายการ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร ในหมวดเงินอุดหนุน 55% คิดเป็นเงินประมาณ 40,000,000 บาท (สี่สิบล้านบาท) และมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ จัดหารายได้เพิ่มเติมอีก 45% ในปีงบประมาณ 2561 สภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบ ในข้อบัญญัติงบประมาณ ปี 2561 จัดสรรงบประมาณในหมวดรายจ่ายอื่น เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จำนวน 40,000,000 บาท (สี่สิบล้านบาทถ้วน) เพื่อเป็นงบประมาณในการบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเป็นงบประมาณที่ตั้งให้กับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ทว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี 2561 สำนักวัฒนธรรมฯ ไม่ได้เบิกจ่ายงบประมาณให้กับหอศิลปกรุงเทพฯ ตามแผนงานที่ได้เสนอไป ทำให้การบริหารงานอาคารและกิจกรรมของหอศิลปกรุงเทพฯ เริ่มประสบปัญหา 

สำหรับปีงบประมาณ 2562 ที่จะมาถึงนี้ (1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2562 ) มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ได้เสนอแผนการดำเนินงาน และขอรับงบอุดหนุนต่อกรุงเทพมหานคร ผ่านสำนักวัฒนธรรมฯ เพื่อให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร แต่เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นการเสนอแปรญัตติงบประมาณ ปี 2562 วาระที่ 2 ก่อนที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะลงมติในวาระที่ 3 เพื่อเห็นชอบข้อบัญญัติงบประมาณ ปี 2562 ผู้บริหารกรุงเทพมหานครมิได้เสนองบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ต่อสภากรุงเทพมหานคร ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่า งบประมาณปี 2562 ของกรุงเทพมหานคร จะไม่มีงบประมาณในการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ ในส่วนของการดำเนินงานพื้นฐาน ด้านสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่ารักษาความปลอดภัย ค่ารักษาความสะอาด และค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซมอาคาร ฯลฯ และกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการให้บริการ และแผนงานจัดนิทรรศการศิลปะ และกิจกรรมที่ได้วางแผนไว้ มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ และคณะทำงานอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมให้ดำเนินงานได้ต่อไปในสถานะการณ์ปัจจุบัน ระหว่างรอการพิจารณาเรื่องงบประมาณสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครต่อไป และขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ ตลอดมา และมาร่วมรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านที่เห็นความสำคัญของ “พื้นที่เรียนรู้ผ่านศิลปะ” และการให้บริการสาธารณะทางด้านปัญญา มาร่วมช่วยกันสนับสนุนการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ ในรูปแบบและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ ดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน”

ภายในงานแถลงข่าว ผศ. ปวิตร  โชว์จดหมายแจ้งใบแจ้งระงับการใช้น้ำชั่วคราว จากการประปานครหลวง ว่าจะมีการตัดน้ำวันนี้ (26 ก.ย.) และ ยังพูดติดตลกปนเศร้าว่า “ถ้าใครจะเข้าห้องน้ำตอนนี้ ต้องรีบหน่อยนะครับ”

จากปัญหาดังกล่าวอาจทำให้งานศิลปะนานาชาติขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนนี้ตุลาคมนี้ อย่าง งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 และ เทศกาลละครกรุงเทพ ที่จะได้วางแผนใช้สถานที่ของหอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงงาน อาจจะต้องปรับเปลี่ยนแผน การแสดงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ หอศิลปกรุงเทพฯ ที่อาจจะต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวว่า

“เราต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เรามาขอใช้พื้นที่ ในเวลาเดียวกันเราเอากิจกรรมดีๆมาให้กับพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อศิลปิน แต่เพื่อคนที่มาดู ทั้งในและต่างประเทศ จะคนกรุงเทพหรือต่างจังหวัด เยาวชน หรือ ผู้สูงวัยก็มาชมงานนี้ได้ สถานที่จัดงานอื่นๆของเราเองมีปัญหา อย่างเช่น วัดวาอาราม อาคารมรดกโลก เราก็แก้ปัญหากันไปเพราะเราลงทุนไปแล้ว กระบวนการเราหยุดไม่ได้ ต้องเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ให้คิดว่าเป็นบทเรียนที่ดีเหมือนเจอยาขม เราต้องตั้งสติและคิดว่าเราจะประคองสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร น้ำหมด ไฟไม่มี แอร์หมดไม่ตายครับ ก็ให้รู้กันไปว่าเราจะแสดงงานศิลปะแล้วใช้พัด หรือ พัดลมไปด้วยได้ไหม“ ศ.ดร.อภินันท์ กล่าว และ ยังฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “กทม.ไม่ใช่ศัตรูกับเรา เราต้องทำงานร่วมกันกับเขา ที่ผ่านมาก็มีหลายคนก็พยายามเชื่อมต่อประสานกันตรงนี้ เราต้องมาช่วยเจอกันครึ่งทาง ส่วนในบริบทของบางกอก อาร์ตเบียนนาเล่นนั้น ทางหอศิลปกรุงเทพฯ จะมีแผนจัดการ หรือ เปิดให้บริการอย่างไร บอกมาเลย ทางเราพร้อมยินดีสนับสนุนทุกอย่าง”

ทางด้าน ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพฯ   ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการการจัดแสดงที่จะถูกลดเวลาลงทำให้ตารางเวลาที่วางแผนไว้แล้วล่วงหน้า จะเกิดความไม่ชัดเจน  และอาจผลกระทบต่อศิลปินโดยตรง อีกทั้งความไม่แน่นอนเรื่องความพร้อมของสถานที่อาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดคำถามว่าต้องย้ายสถานที่การแสดงหรือไม่

และ สุดท้าย นักวิชาการวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในวงการ ผศ.ดร. อลิศร์ เทียนประเสริฐ ได้แสดงทัศนะในฐานะประชาชนคนหนึ่งว่า  “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยทุกคน ไม่เฉพาะแค่ปัญหาของหอศิลป์ ทุกภาคส่วนต้องร่วมือคุยกัน งานวันนี้ถือแค่เป็นจุดเริ่มต้น การนับหนึ่งที่จะแก้ปัญหาเท่านั้น”

ครูเล็ก- ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2557 ได้เดินทางมาร่วมรับฟังงานแถลงข่าวนี้เช่นกัน

บรรยากาศระหว่างงานแถลงข่าว ที่ สื่อมวลชน นักศึกษา และ ประชาชนทั่วไป เข้ามาร่วมมารับฟังอย่างเนืองแน่น

ในขณะที่งานแถลงข่าวใกล้จะสิ้นสุดลง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้เดินทางมาถึง  โดยกล่าวว่า ตนเองได้เป็นตัวแทนจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มารับฟังเรื่องร้องทุกข์ พร้อมกล่าวให้กับผู้มาร่วมงานทุกฝ่ายว่า ตอนนี้นายกฯได้รับถึงทราบปัญหาแล้วและไม่ได้นิ่งนอนใจ และมอบหมายให้ตนเองมาร่วมฟังปัญหา และ ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ขณะกำลังเล่าถึงความห่วงใย่ในประเด็นนี้ จาก นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ก่อนจะเสร็จสิ้นงานแถลงข่าว พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ได้ออกมารับฟังและรับหนังสือจาก จุมพล อภิสุข ตัวแทนจากเครือข่ายศิลปิน ภายนอกห้องแถลงข่าว2018

สุดท้ายนี้เราก็หวังว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะคลื่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เพราะว่าอีกไม่กี่วัน เทศกาลงานศิลปะระดับโลกอย่างงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว เราหวังว่าทุกฝ่ายจะหาทางออกของปัญหานี้ได้ร่วมกัน

 

เรื่อง และ ภาพ: สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x