โถชักโครก ผู้สูงอายุ

เรื่องต้องรู้ เมื่อคิดจะเปลี่ยนโถส้วมนั่งยองเป็นโถชักโครกให้ผู้สูงอายุในบ้าน

โถชักโครก ผู้สูงอายุ
โถชักโครก ผู้สูงอายุ

โถชักโครก ผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะต้องยอมรับว่า ห้องน้ำ เป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้ง่าย ด้วยสภาวะร่างกายที่เสื่อมสภาพตามอายุ ทำให้เรี่ยวแรงในการจับเกาะ ทรงตัว ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะห้องน้ำรูปแบบเดิมที่ยังใช้โถส้วมแบบนั่งยอง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงภาวะอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนั่งทำธุระในช่วงระยะหนึ่ง ทั้งจากการทรงตัวที่ไม่มั่นคงและการลุกนั่งในจังหวะที่รวดเร็วเกินไป หรือนั่งนานเกินไปจึงทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ

ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยหาทางแก้ หันมาลงมือเปลี่ยนห้องน้ำแบบเก่าให้เป็นห้องนำที่ผู้อายุสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย เริ่มจากเปลี่ยนโถส้วมแบบนั่งยองให้เป็นโถชักโครก ซึ่ง บุญถาวร ผู้นำเรื่องกระเบื้องและสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ มีข้อควรคำนึงมาแนะนำให้สามารถเลือกชักโครกได้อย่างเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ดังนี้

1. พิจารณาพื้นที่ห้องน้ำว่าเหมาะสมหรือไม่

ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนโถส้วมนั่งยองให้เป็นโถชักโครก สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาในพื้นที่ห้องน้ำเก่าคือ ระยะห่างจากผนังบ้านที่วางระบบท่อประปาไว้เรียบร้อย หากรื้อโถเดิมออกจะต้องมีระยะจากผนังถึงจุดเซ็นเตอร์ที่พื้นประมาณ 30.5 เซนติเมตร มากกว่านี้ได้ แต่ไม่ควรน้อยกว่า เพื่อให้ส่วนของหม้อน้ำชักโครกพิงกับพนังอย่างพอดี ง่ายต่อการเชื่อมต่อระบบน้ำ แต่โดยทั่วไปแล้วโถนั่งยองแบบราดน้ำ เวลาติดตั้งช่างจะวางเซ็นเตอร์จากผนังแตกต่างกัน บวกลบแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 19 เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้ข้อนี้เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกและควรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกต้อง

ในกรณีที่ระยะผนังกับเซ็นเตอร์ห่างกันมาเกินไปก็มีผลเสีย คือเรื่องความมั่นคงแข็งแรง หากตัวหม้อน้ำไม่มีผนังสำหรับพิงเพื่อช่วยรับน้ำหนักแล้วก็เสี่ยงที่จะพังล้มได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงเรื่องของความสวยงามที่อาจจะไม่จรรโลงตานัก

โถชักโครก ผู้สูงอายุ
การกำหนดระยะติดตั้งสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ

2. วิธีเลือกโถชักโครกสำหรับผู้สูงอายุ

การเลือกชักโครกชิ้นใหม่ไม่ว่าจะเป็นกรณีรีโนเวทห้องน้ำใหม่ หรือสร้างห้องน้ำใหม่ สามารถใช้หลักเกณฑ์เดียวกันพิจารณา ประกอบไปด้วยหลายส่วนด้วยกันคือ

ฝารองนั่งต้องแข็งแรงปลอดภัย

โถชักโครก ผู้สูงอายุ
ฝารองนั่งวัสดุยูเรีย มีความมันวาวแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

ฝารองนั่งมีอยู่ 3 รูปทรงด้วยกันคือ ตัวโอ (O Shape) ตัวยู (U Shape) และตัววี (V Shape) เป็นส่วนที่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้สูงอายุโดยตรง จึงต้องพิจารณาเรื่องความแข็งแรงของวัสดุที่ผลิตซึ่งในท้องตลาดมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันคือเซรามิกและพลาสติก ซึ่งแบ่งเกรดตามความเหนียวของเนื้อวัสดุอีกหลายระดับไม่ว่าจะเป็น PP ABS PE และ Upvc และยูเรีย (พอลิยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์) ซึ่งฝากรองนั่งที่ทำจากยูเรียจะมีความเหนียว ไม่เหลืองซีด ทนต่อการแตกหัก จะทำให้มั่นใจในความปลอดภัยได้มากกว่า

ขนาดพอดีกับผู้ใช้

โถชักโครก ผู้สูงอายุ
ระดับความสูงของชักโครกสำหรับผู้สูงอายุจะมาสูงมากกว่าชักโครกทั่วไป

เรื่องของสัดส่วนหรือ Dimension เฟอร์นิเจอร์และสุขภัณฑ์ภายในบ้านล้วนแต่มีขนาดมาตรฐานที่กำหนดไว้ชัดเจน คือมีความกว้างประมาณ 35-40 เซนติเมตร และมีความสูงจากพื้นถึงที่รองนั่งประมาณ 37-45 เซนติเมตร สำหรับผู้สูงอายุควรเลือกที่มีความสูงประมาณ 45 เซนติเมตรเพื่อช่วยให้ลุกนั่งได้ง่ายไม่ต้องย่อตัวมากเกินไป ประกอบกับพิจารณาขนาดร่างกายของผู้ใช้เป็นหลักโดยจะต้องสัมพันธ์กับขนาดของโถชักโครกที่แบ่งไซส์เป็น S M L และ XL ทั้งนี้อย่าลืมคำนึงถึงขนาดของห้องน้ำร่วมด้วย อย่าให้รู้สึกอึดอัดหรือแออัดไปด้วยสุขภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินไป

ดีไซน์เอื้ออำนวยให้ใช้งานได้สะดวก

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือตำแหน่งของหัวกดชักโครก หรือปุ่มฟลัช บางครั้งก็ถูกดีไซน์ให้อยู่ในตำแหน่งตรงกลางหม้อน้ำด้านหลังทำให้ยากต่อการเอี้ยวตัวเพื่อเอื้อมมือกด แต่หากอยู่ในตำแหน่งด้านข้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝั่งขวามือจะทำให้ง่ายต่อการใช้งานมากกว่า ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่าหัวกดชักโครกควรเป็นคันโยก ไม่ควรเป็นแบบกดเพราะผู้สูงอายุต้องออกแรงมากกว่า

ประหยัดน้ำ และราคาเหมาะสม

โถชักโครกที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะผลิตขึ้นให้สามารถลดการใช้น้ำเพื่อประหยัดค่าใช่จ่ายภายในบ้านได้ด้วย เริ่มตั้งแต่ใช้น้ำ 2 ลิตร ไปจนถึง 5 ลิตร ต่อการกดหนึ่งครั้ง หากยิ่งใช้ในปริมาณน้อยเท่าไหร่จะยิ่งประหยัดน้ำมากขึ้น ข้อนี้จึงควรพิจารณาประกอบกับปัจจัยเรื่องราคา ที่ต้องดูว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ช่วงราคาอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ใช้สามารถรับได้หรือไม่ ที่มีในท้องตลาดตอนนี้ราคาชักโครกธรรมดาจะเริ่ม ตั้งแต่หลักพันบาท ไปจนถึงชักโครกอัตโนมัติที่มีราคาสูงถึง หลักแสนบาทเลยทีเดียว

โถชักโครก ผู้สูงอายุ

Tips

สิ่งจำเป็นอีกอย่างในห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุคือ ราวจับ (Handle) หรือราวช่วยพยุง หลังจากใช้งานโถชักโครก ช่วงจังหวะลุกขึ้นยืนผู้สูงอายุจำเป็นจะต้องมีตัวช่วยรับน้ำหนัก เพื่อให้ยืนได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นจึงควรติดราวจับไว้ข้างๆ โถชักโครกด้วยในตำแหน่งที่เหมาะสม และเป็นจุดที่เชื่อมต่อไปยังอ่างล้างมือซึ่งเป็นฟังก์ชันต่อเนื่องก่อนออกจากห้องน้ำ

สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.boonthavorn.com
LINE Official Account บุญถาวร: @boonthavorn
Facebook: www.facebook.com/boonthavorn/