กัญชา vs กัญชง ประวัติความเป็นมาและความต่างในความเหมือน

กัญชง นาทีนี้คงไม่มีพืชชนิดไหนฮอตฮิตเท่า “กัญชา” อีกแล้ว หลายคนสงสัยว่า กัญชามีดีอย่างไร ทั้งที่ในบ้านเราจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งครอบคลุมทุกส่วนของพืชไม่ว่าจะเป็นใบ ดอก ยอด ผล ยาง ลำต้น รวมถึงสารที่มีอยู่ในพืชด้วย

ขณะที่บางประเทศได้ทำการศึกษาวิจัยและใช้สารสำคัญในกัญชาเพื่อรักษาโรคร้าย จึงทำให้หลายฝ่ายต้องการผลักดันให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดทางให้เกิดการวิจัยค้นคว้ากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ กัญชง

ปีนี้มีโอกาสไปชมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 16 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับกัญชามาแบ่งปัน โดยเฉพาะข้อมูลจากกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กระทรวงสาธารณสุข ในหัวข้อ กัญชาคือสิ่งเสพติดอันตรายหรือยารักษาโรคร้ายกันแน่?

กัญชา กัญชง
กัญชา ภาพจากเพจ ปฏิวัติกัญชา

กัญชาเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี บ้างก็มองว่าเป็นสารเสพติดที่ก่อให้เกิดอาการมึนเมา บ้างก็เป็นของเล่นสนุกของเหล่าหนุ่มสาวและศิลปินที่ทำให้ผ่อนคลายเกิดแรงบันดาลใจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสมุนไพรชั้นเยี่ยมที่ช่วยรักษาให้ใครหลายคนรอดพ้นจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง

มีบันทึกว่า การใช้กัญชาครั้งแรกของโลกมีขึ้นเมื่อราว 4,700 ปีที่แล้ว โดยจักรพรรดิเสินหนงแห่งประเทศจีน ได้ใช้พืชชนิดนี้เป็นสมุนไพรรักษาโรคข้อต่ออักเสบ มาลาเรีย และโรคไข้รูมาติก ต่อมาเมื่อราว 2,500 ปีที่แล้ว เริ่มถูกสั่งห้ามในจีน เนื่องจากได้รับการสันนิษฐานว่าทำให้เด็ก ๆ และวัยรุ่นไม่เคารพผู้ใหญ่ ทำให้สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

ส่วนในประเทศไทย เราใช้กัญชาในการรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในตำรับแพทย์แผนไทยถึง 98 ตำรับ ส่วนใหญ่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ อาการปวด ตกเลือด ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ลงแดง ขับลม และบำรุงกำลัง

ในปี ค.ศ.1961 กัญชากลายเป็นของต้องห้าม ไม่ใช่สมุนไพรหรือของเล่นสนุกของหนุ่มสาวอีกต่อไป เพราะหลังจากที่สหประชาชาติประกาศลงนามในสนธิสัญญาร่วมเพื่อปราบยาเสพติดให้หมดไปจากโลกนี้ ผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมถึงประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐอเมริกา จึงประกาศสงครามยาเสพติด โดยเปลี่ยนกัญชาขึ้นเป็นสารเสพติดประเภท 1 ซึ่งมีความรุนแรงเทียบเท่ากับเฮโรอีน พร้อมกับเชิญชวนให้ทั่วโลกร่วมทำสงครามยาเสพติดเช่นกัน

ส่วนการปราบปรามกัญชาในประเทศไทย เริ่มในสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศ โดยขณะนั้นได้มีพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ.2477 ซึ่งห้ามให้ผู้ใดปลูก นำเข้า ซื้อขาย หรือเสพกัญชาเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะได้รับโทษทั้งจำและปรับอย่างรุนแรง จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2522 รัฐบาลไทยออก พ.ร.บ. ยาเสพติดที่ใช้กันมาถึงปัจจุบัน โดยจัดกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5

หลังจากกำหนดให้กัญชากลายเป็นยาเสพติดชนิดรุนแรง ทำให้เกิดการวิจารณ์จากแพทย์และนักวิชาการทั่วโลก เพราะแม้ว่ากัญชาจะมีฤทธิ์ให้มึนเมาและเสี่ยงต่อการเสพติด แต่มีประโยชน์มากในเชิงการรักษาโรค ในปี ค.ศ.1972 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงตัดสินใจจัดประเภทยาเสพติดใหม่ โดยเลือกให้กัญชาเป็นยาเสพติดชนิดไม่ร้ายแรง และสามารถใช้ในเชิงการผ่อนคลายได้ใน “ร้านกาแฟ”

การรักษาโรคโดยใช้กัญชาได้รับความสนใจมากขึ้นในโลกตะวันตก เนื่องจากทีมแพทย์จากอเมริกาสามารถนำกัญชามารักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งและโรคเอดส์ ในปี ค.ศ.1996 จึงประกาศให้แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่สามารถใช้กัญชาในเชิงการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย ปัจจุบันกว่า 20 ประเทศ เปลี่ยนให้กัญชากลายเป็นพืชถูกกฎหมาย แต่ก็ยังมีข้อบังคับที่แตกต่างกันออกไป

ส่วนในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีบทที่อนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์หรือศึกษาวิจัยในมนุษย์ได้ คาดว่าจะเกิดขึ้นจริงในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ภายใต้การทำงานของคณะทำงาน 4 คณะ คือ คณะทำงานเพื่อการพัฒนาการปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ คณะทำงานเพื่อพัฒนาการสกัดฯ คณะทำงานเพื่อพิจารณานำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ และคณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมฯ

กัญชา กัญชง พ.ร.บ.กัญชา
ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเษตร https://web.facebook.com/pr.doae

กัญชาและกัญชงแตกต่างกันอย่างไร

กัญชาเป็นพืชล้มลุกในวงศ์ Cannabaceae จัดอยู่ในสกุล Cannabis มีทั้งหมด 3 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดต่างกันทั้งลักษณะทางกายภาพและการออกฤทธิ์ นั่นคือ

  • Cannabis sativa ลำต้นตั้งตรง ใบประกอบแบบรูปมือ มีใบย่อย 5-8 ใบ ใบเรียวยาว ขอบใบจักฟันเลื่อย ออกดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแบบแขนงที่ซอกใบและปลายกิ่ง ส่วนดอกเพศเมียออกเป็นช่อกระจะบนปลายยอดและซอกใบ ต้นสูงแต่ออกดอกน้อยกว่ากัญชาชนิดอื่น ออกฤทธิ์ในลักษณะกระตุ้น เพิ่มความอยากอาหาร ลดอาการซึมเศร้า และช่วยบรรเทาไมเกรน แต่ผลข้างเคียงคือ อาจมีอาการคลื่นไส้
  • Cannabis indica ใบประกอบแบบรูปมือ มีใบย่อย 5-8 ใบ ใบกว้างและสีเข้มกว่า sativa ใช้เป็นสัญลักษณ์ของใบกัญชาที่เห็นกันทั่วไป ต้นไม่สูงแต่ออกดอกมาก นิยมใช้กันในทางการแพทย์ ช่วยให้ผ่อนคลาย ระงับอาการปวด รักษาโรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า และโรคกล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย
  • Cannabis ruderalis ลักษณะพิเศษคือใบมีสามแฉกและขนาดเล็กกว่าชนิดอื่น ออกฤทธิ์หลากหลาย แต่ไม่ได้รับความนิยมจึงไม่ค่อยมีบันทึกไว้
กัญชง
กัญชง ภาพจาก https://www.marketwatch.com

สำหรับความแตกต่างระหว่างกัญชา (marijuana) และกัญชง (hemp) แอดมินเพจปฏิวัติกัญชา ให้ข้อมูลว่า ทั้งกัญชาและกัญชงเป็นพืชชนิดเดียวกัน มีลักษณะภายนอกแตกต่างกันน้อยมาก แต่สามารถสังเกตในเบื้องต้นได้คือ กัญชงมีใบแคบเรียวและสีเขียวอ่อนกว่า มีลำต้นสูงและแตกกิ่งก้านน้อยกว่า ช่อดอกมียางน้อยกว่ากัญชา จึงมีการนำกัญชงไปใช้เป็นพืชเส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้าและเยื่อกระดาษ

ถ้าต้องการจำแนกให้ลึกลงไป ให้พิจารณาจากสารประกอบที่เรียกว่าแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) โดยเฉพาะ สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นั่นคือ THC (delta-9-Tetrahydrocannabinol) และสารสำคัญอีกชนิดคือ CBD (cannabidiol) ซึ่งช่วยยับยั้งการออกฤทธิ์ของ THC ถ้าต้นที่มีสาร THC น้อยกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักแห้ง จะถือว่าเป็น hemp หรือกัญชง แต่ถ้ามีค่า THC สูงกว่านี้ถือว่าเป็น marijuana หรือกัญชา กรณีใช้ทางการแพทย์ต้องสกัดสาร THC, CBD รวมถึงสารประกอบแคนนาบินอยด์อื่นๆ ออกมาจากต้น ซึ่งแตกต่างจากการเสพกัญชาที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยตรง

 

เรื่อง อังกาบดอย

ภาพ เพจปฏิวัติกัญชา


กัญชา : ความจริงที่คุณต้องรู้

พืชสมุนไพร ปลูกประดับสวนและรักษาโรคได้

มาปลูก 5 สมุนไพรฝรั่ง ไว้กินเองได้ที่บ้านกันเถอะ