การเดินระบบ ท่อประปา เป็นส่วนสำคัญในการสร้างหรือต่อเติมบ้าน ไปทำความรู้จักท่อแบบต่างๆ และวิธีเลือกใช้ให้ถูกต้องกัน
เรื่องระบบ ท่อประปา ที่ใช้ในบ้านกันนั้น เชื่อว่าแทบทุกคนคงยกหน้าที่ให้ช่างเป็นคนจัดการโดยที่เราไม่รู้เลยว่าระบบท่อประปาที่ใช้ในบ้านนั้นติดตั้งแบบไหน มีท่อทั้งหมดกี่แบบ หรือมีข้อควรสังเกตอะไรบ้างระหว่างที่ช่างกำลังติดตั้งระบบ ครั้งนี้ บ้านและสวน จะมาให้ข้อมูลเรื่อง ท่อประปา ฉบับเข้าใจง่าย เพื่อจะได้เข้าใจตรงกับช่าง และรู้เท่าทันกันไว้ก่อน

ระบบน้ำประปาในบ้าน
ระบบประปาที่ใช้ในบ้าน ปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท จะขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านและพื้นที่ของอาคาร ดังนี้
ระบบที่ 1 แบบจ่ายน้ำขึ้น
เป็นระบบที่นิยมใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป เหมาะกับบ้านที่มีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น โดยระบบนี้จะติดตั้งปั๊มน้ำและแท็งก์น้ำไว้ชั้นล่าง ซึ่งแท็งก์น้ำจะกักเก็บน้ำไว้ก่อนจากมิเตอร์หน้าบ้าน แล้วจึงผ่านเข้าสู่ปั๊มน้ำ เพื่อแจกจ่ายน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน ทั้งนี้ควรติดตั้งระบบท่อบายพาสไว้เผื่อด้วย เผื่อกรณีไฟฟ้าดับหรือปั๊มน้ำชำรุด ท่อบายพาสนี้จะจ่ายน้ำจากมิเตอร์เข้าสู่บ้านได้โดยตรง
ระบบที่ 2 แบบจ่ายน้ำลง
ระบบนี้มักจะเห็นได้ตามอาคารชั้นสูง และบ้านที่มีผู้อาศัยจำนวนมาก มีห้องน้ำหลายห้อง จึงทำให้ต้องมีจุดจ่ายน้ำ 2 จุด โดยระบบนี้จะทำงานคล้ายกับแบบแรก แต่จะแตกต่างตรงมีแท็งก์น้ำอีกตัวอยู่บนอาคาร ซึ่งปั๊มน้ำจะสูบน้ำจากแท๊งก์น้ำข้างล่างขึ้นไปยังแท็งก์น้ำข้างบน จากนั้นแท็งก์น้ำข้างบนก็ทำหน้าที่จ่ายน้ำไปยังจุดใช้งานต่างๆ ภายในบ้านนั่นเอง
ท่อประปาประเภทต่างๆ
เห็นอยู่หลากหลายไปหมด ทั้งท่อสีฟ้า สีเทา สีเหลือง แถมบางทีมีท่อเหล็ก ท่ออะไรอื่นๆ อีก แล้วเคยสงสัยไหม? ว่าสีที่ต่างกันนั้นทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร? เราเลยจะมาบอกเรื่องนี้กันให้เข้าใจชัดกัน
ท่อพลาสติก

เป็นท่อที่นิยมใช้กันตามบ้านทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีแยกย่อยอีกตามสีเพื่อให้ง่ายต่อการเลือกใช้งาน ดังนี้
ท่อ PVC เป็นท่อที่เห็นคุ้นตากันดี ซึ่งท่อพีวีซีนี้ยังแบ่งตามสีใช้งานได้อีกตามนี้
ท่อสีเหลือง เป็นท่อสำหรับร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ เพราะสามารถทนต่อความร้อนได้อย่างดี
ท่อสีฟ้า เป็นท่อที่ใช้กับระบบน้ำ เช่น น้ำดี น้ำเสีย และการระบาย สามารถทนแรงดันน้ำได้มากน้อยตามประเภท การใช้งาน (มีหลายเกรด)
ท่อสีเทา เป็นท่อที่ใช้สำหรับการเกษตร หรือน้ำทิ้งก็ได้ ราคาค่อนข้างถูก ไม่ค่อยแข็งแรง จึงควรจะติดตั้งแบบลอย ไม่ควรนำไปฝังดิน

ท่อ PP-R เป็นท่อที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรไพลีน ที่มีคุณภาพและความหนาแน่นสูง แสงลอดผ่านไม่ได้ มีน้ำหนักเบา ทนต่อแรงกระแทกสูง และทนต่อการใช้ระบบน้ำร้อนได้ 95 องศาเซลเซียส จึงเหมาะสำหรับการใช้งานระบบท่อน้ำประปา ท่อน้ำร้อน ท่อน้ำเย็น และงานท่อประเภทอื่น แถมข้อต่อใช้ความร้อนผสานเป็นเนื้อเดียวกัน จึงมั่นใจได้ว่าไม่เกิดปัญหารั่วซึมแน่นอนที่บริเวณจุดเชื่อมต่อ

ท่อ PE มีลักษณะเป็นท่อสีดำคาดฟ้า หรือสีส้ม หากเป็นท่อสำหรับน้ำประปาจะคาดเป็นสีฟ้า หากเป็นท่อสายไฟฟ้าจะคาดสีส้ม ซึ่งท่อ PE ผลิตจากพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง ผิวสัมผัสภายในท่อมีความลื่นมัน ทำให้น้ำที่ส่งภายในท่อมีการไหลที่ดี และเนื้อพลาสติกมีความสะอาด จึงเหมาะกับการใช้งานเป็นท่อประปาสะอาด ส่วนลักษณะภายนอกมีความแข็งแรง หยืดหยุ่นดี น้ำหนักเบา ตัวเนื้อมีสารป้องกันแสง UV ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้งานได้ทั้ง ท่อน้ำประปาในบ้าน ท่อน้ำเสีย หรือท่อสำหรับการเกษตรก็ได้เช่นเดียวกัน
ท่อเหล็ก

ปกติจะไว้ใช้ภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งที่นิยมกันจะมี 2 แบบ ดังนี้
ท่อเหล็กอาบสังกะสี หรือท่อประปากัลป์วาไนซ์ เกิดจากการนำท่อดำไปชุบสังกะสีเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดสนิม โดยแบ่งตามความหนาเป็น 4 ประเภท คือ คาดเขียว (หนาสุด), คาดแดง, คาดน้ำเงิน, คาดเหลือง (บางสุด) ข้อดีที่เด่นชัดเลยจะเป็นเรื่องความแข็งแรง แม้จะโดนรถใหญ่ทับก็ยังไม่เป็นไร ซึ่งสีที่นิยมนำมาใช้งานเดินท่อประปา เดินสายไฟทั้งในและนอกอาคารจะเป็นสีน้ำเงิน เหลือง และแดง

ท่อ SYLER เป็นท่อเหล็กกล้าชุบสังกะสี ภายนอกจะเคลือบด้วยผงโพลีเอทิลีนป้องกันสนิมอีกชั้นหนึ่ง จึงทำมให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้นกว่าเดิมมาก ส่วนภายในถูกบุด้วยพลาสติกโพลีเอทิลีน(PE) เพื่อป้องกันการเกิดสนิมภายใน ข้อดีของท่อแบบนี้ คือ แข็งแรง ทนทาน รับแรงดันได้ถึง 50 bar และอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส และติดตั้งง่าย สามารถโยกย้ายเปลี่ยนแปลงรูปการติดตั้งได้โดยง่าย
เรื่อง – Gott