ประเภทสระว่ายน้ำ

ประเภทของ สระว่ายน้ำ

ประเภทสระว่ายน้ำ
ประเภทสระว่ายน้ำ

เนื่องจากการสร้าง สระว่ายน้ำ ในบ้านถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว และเป็นงานก่อสร้างเฉพาะทางที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เจ้าของบ้านจึงควรพิจารณาเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ เพื่อให้ได้สระว่ายน้ำที่มีคุณภาพ แข็งแรง ทนทานต่อสภาพอากาศต่างๆ และที่สำคัญต้องก่อสร้างเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย ทั้งนี้เราสามารถแบ่งประเภทของสระว่ายน้ำตามวิธีก่อสร้างได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.สระว่ายน้ำคอนกรีต

สระว่ายน้ำคอนกรีต

โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และก่อสร้าง ณ ที่ก่อสร้างนั้นๆ โดยใช้การผูกเหล็กตามลักษณะรูปทรงของสระว่ายน้ำ เดินระบบท่อในชั้นเหล็ก แล้วเทคอนกรีตหล่อในที่ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งพื้นและผนังเพื่อป้องกันการั่วซึม นิยมปิดผนังและพื้นสระด้วยกระเบื้องเซรามิกหรือโมเสก จากนั้นก็ทำการติดตั้งเครื่องกรองและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น ข้อดีของโครงสร้างชนิดนี้คือ มีความแข็งแรงทนทาน และออกแบบรูปทรงได้หลากหลาย แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการทำฐานราก (เข็มตอก หรือเข็มเจาะ) และบ่มคอนกรีต การก่อสร้างจึงใช้เวลามากกว่า

2.สระว่ายน้ำสำเร็จรูป

สระว่ายน้ำสำเร็จรูป ไฟเบอร์

ปัจจุบันผู้ผลิตสระว่ายน้ำสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีการผลิตผนังโครงสร้างสระเป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูป โดยใช้ไฟเบอร์เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับผนังโครงสร้างสระแทนการหล่อคอนกรีต หรือก่อผนังสระด้วยคอนกรีตบล็อก ซึ่งอาจเกิดการรั่วซึมได้มากกว่า ข้อดีของการก่อสร้างสระว่ายน้ำประเภทนี้ จะช่วยลดระยะเวลางานโครงสร้างลงได้ค่อนข้างมาก

สระว่ายน้ำสำเร็จรูปจะติดตั้งบนโครงสร้างรับน้ำหนักที่เราเตรียมไว้ ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ แบบแรกใช้แผ่นพลาสติกพิเศษหรือผ้าไวนิลที่ผลิตขึ้นมาสำหรับสระว่ายน้ำมาปูเพื่อเก็บกักน้ำ โดยใช้แรงดันน้ำเป็นตัวบังคับให้ผ้าไวนิลติดแนบกับโครงสร้างสระ

และอีกรูปแบบหนึ่งคือ สระว่ายน้ำที่หล่อผนังและพื้นด้วยวัสดุไฟเบอร์กลาสมาจากโรงงาน สระว่ายน้ำประเภทนี้จึงไร้รอยต่อและหมดปัญหาการรั่วซึม ส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะออกแบบให้มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ก่อสร้างได้รวดเร็วและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ มีให้เลือกหลายรูปทรงทั้งแบบเราขาคณิตและฟรีฟอร์ม เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด เพียงแค่นำมาติดตั้งบนโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กในพื้นที่ที่เตรียมไว้ แล้วติดตั้งงานระบบก็สามารถใช้งานได้เลย

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อด้อยของสระว่ายน้ำทั้งสองประเภท

สระว่ายน้ำคอนกรีต

ข้อดี

  • แข็งแรง เพราะก่อสร้างจากวัสดุที่มีความทนทาน แต่ต้องใช้วิศวกรคำนวณโครงสร้างและบริษัทก่อสร้างสระที่มีมาตรฐาน สามารถใช้งานได้นาน 30-40 ปี
  • สามารถออกแบบรูปทรง ความลึก และเลือกใช้วัสดุปูผิวได้หลากหลาย ทำให้เข้ากับทุกพื้นที่ได้อย่างลงตัว
  • สามารถเพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ เช่น มีจากุชชี่นวดตัว และการเพิ่มพรรณไม้ให้สัมพันธ์กับสระว่ายน้ำ
  • เลือกใช้ได้ทั้งระบบน้ำล้น (Overflow) และสกิมเมอร์ (Skimmer)

ข้อด้อย

  • ราคาค่าก่อสร้างสูง
  • การก่อสร้างยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 3-5 เดือน โดยขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของสระ

สระว่ายน้ำสำเร็จรูป

ข้อดี

  • ก่อสร้างง่าย ไม่มีวัสดุเลอะเทอะในระหว่างการก่อสร้าง
  • ใช้เวลาในการก่อสร้าง 30-60 วัน
  • ควบคุมงบประมาณการก่อสร้างได้ดี งบไม่บานปลาย
  • ในกรณีที่ไม่ต้องการใช้งาน สามารถเปลี่ยนแปลงและรื้อถอนได้ง่าย

ข้อด้อย

  • มีรูปแบบและรูปร่างที่ไม่หลากหลาย จึงอาจไม่เหมาะสมกับบางพื้นที่
  • สระที่ใช้แผ่นพลาสติกเป็นวัสดุปูพื้นบ่อ อาจดูไม่สวยงาม และสัมผัสของพื้นสระไม่เนียนเรียบเท่ากับสระที่หล่อจากไฟเบอร์
  • ไม่ถาวร ต้องมีการรีโนเวททุกๆ 5-8 ปี
  • เป็นระบบสกิมเมอร์เท่านั้น

TIP:

โดยเฉลี่ยแล้วราคาค่าก่อสร้างสระว่ายน้ำสำเร็จรูปจะมีราคาถูกกว่าสระว่ายน้ำคอนกรีตประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพหน้างานและความยากง่ายในการเข้าถึงพื้นที่ก่อสร้างสระว่ายน้ำด้วย สำหรับสระว่ายน้ำคอนกรีตที่มีความลึกประมาณ 1.20 เมตร ปูผิวด้วยกระเบื้องหรือโมเสก ราคาค่าก่อสร้างประมาณ 20,000–30,000 บาทต่อตารางเมตร (ขึ้นอยู่กับสภาพหน้างาน)

หมายเหตุ : สนับสนุนข้อมูลโดย บริษัทพูลแอนด์สปา จำกัด

POOL&SPA
พูลแอนด์สปา POOL&SPA

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม เรื่องน่ารู้..ก่อนสร้างสระว่ายน้ำ