รีโนเวทภายในตึกแถว ให้ดูไม่ธรรมดา

“ตึกแถว” หรือ “อาคารพาณิชย์” เป็นรูปแบบอาคารที่เห็นได้ทั่วไปในเมืองไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ คุณตี๋ – ณรงค์ โอถาวร เจ้าของและผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เติบโตมากับอาคารประเภทนี้  พร้อมๆกับคำถามที่อยู่ในใจมาตลอดว่า การออกแบบตึกแถวจะสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้หรือไม่ กระทั่งเมื่อถึงเวลาที่คุณตี๋และ คุณพิม – พิมพิดา โอถาวร  ภรรยา คิดจะสร้างบ้านของตัวเอง การ รีโนเวทตึกแถว อายุประมาณ 30 ปี ซึ่งตั้งอยู่ในย่านสี่พระยาจึงเริ่มขึ้น แม้ว่าสภาพภายนอกของบ้านจะดูไม่ต่างจากตึกแถวในละแวกเดียวกัน แต่สำหรับพื้นที่ภายในนั้นบอกได้เลยว่าไม่ธรรมดา

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: SO Architect

รีโนเวทตึกแถว

รีโนเวตตึกแถว

ผมคิดเสมอว่าการออกแบบนั้นมีอยู่ในทุกขั้นตอน แม้แต่การปล่อยอะไรก็ตามไว้ดังเดิม ถ้าหากว่าผ่านความคิดมาดีแล้ว ก็ถือว่าสิ่งนั้นผ่านการออกแบบมาแล้วเช่นกัน

หน้าตาภายนอกของบ้านดูไม่ต่างจากเดิมมากนัก คุณตี๋ยังคงเก็บฟาซาดที่ติดตั้งเหล็กดัดเอาไว้ ทำให้ทีแรกเราขับรถเลยบ้านหลังนี้ไป เพราะหากไม่สังเกตก็คงจะไม่เห็นประตูที่ดัดแปลงเอาบานเหล็กเก่ามาผสมกับกรอบเหล็กแผ่นและบานไม้

ทางเข้าของบ้านไม่ต้องใหญ่โต แม้จะเป็นตึกแถวสองคูหาที่เชื่อมให้เป็นหลังเดียวกัน แต่ในส่วนคูหาหนึ่งนั้นเรายังคงเอาไว้เป็นทางเข้าไปสู่โกดังเก็บของที่ชั้นสี่ ซึ่งเราเองไม่ได้ใช้ ก็ปล่อยให้ยังคงเป็นแบบเดิม

เมื่อเราเดินเข้าสู่ภายในบ้านก็ได้พบพื้นที่นั่งเล่นซึ่งมีช่องให้แสงธรรมชาติสาดไล้ผนังกรวดล้างลงมายังสวนขนาดเล็กที่อยู่ด้านหลังบ้าน ผมชอบจังหวะของแสงที่สลัวๆหน่อย ดูอบอุ่นและมีความเป็นธรรมชาติ ทั้งยังให้ความรู้สึกสงบด้วย

คุณตี๋ออกแบบให้ด้านหลังบ้านมีช่องแสงขนาดใหญ่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากพื้นที่ดับเบิลสเปซอย่างชั้นลอย แบบที่ตึกแถวในไทยนิยมทำกัน กลับกันที่พื้นที่นี้มักอยู่ด้านหน้าบ้าน แต่คุณตี๋เลือกนำไปไว้ด้านหลังสุด นอกจากสุนทรียะของแสงธรรมชาติที่ตกกระทบพื้นผิวอันขรุขระของผนังกรวดล้างแล้ว ดับเบิลสเปซและช่องแสงในส่วนนี้ยังเป็นเหมือนปล่องที่ทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศจากหน้าบ้านระบายออกสู่ปล่องด้านบนทางท้ายบ้านได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

การสร้างพื้นที่ดับเบิลสเปซขนาดใหญ่ด้านหลังบ้านไม่เพียงสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้แก่บริเวณชั้นล่าง แต่การออกแบบเป็นผังเปิด ผสมกับการสร้างพื้นที่ดับเบิลสเปซที่สอดรับกับชั้นลอยด้านบนและบานกระจกบริเวณมุมรับประทานอาหาร ทำให้เกิดสภาวะน่าสบายที่ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ในบ้าน เพราะเมื่อขึ้นไปยังชั้นสองหากมองผ่านผนังบานเฟี้ยมกระจกที่หันออกสู่สวนหลังบ้าน ก็จะเห็นการสร้างสวนสวยแบบ Pocket Garden ที่ทำให้การอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ไม่อึดอัดเหมือนตึกแถวทั่วไป

การออกแบบที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือการให้จังหวะแสงในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป แต่มีจังหวะตอบรับต่อเนื่องกัน

“จริงๆก็เป็นเหมือนการแก้ปัญหาที่ตึกแถวมีข้อจำกัดเรื่องช่องเปิด อีกอย่างสิ่งเหล่านี้ก็มาจากรสนิยมส่วนตัวด้วย พิมชอบพื้นที่สว่างๆ ส่วนผมชอบแสงสลัว ๆพอมาทำบ้านที่เป็นพื้นที่ของคนสองคนก็เลยต้องแบ่งจังหวะพื้นที่ของแต่ละคนให้ลงตัวและสัมพันธ์ไปกับลักษณะของแสงที่สามารถใช้ได้ในแต่ละพื้นที่ เลยเกิดเป็นจังหวะเฉพาะของบ้านนี้ขึ้นมา เช่น จากพื้นที่ชั้นล่างที่มีแสงธรรมชาติอาบไล้มาอย่างเบาบาง เมื่อเดินขึ้นมาชั้นบนก็จะเป็นพื้นที่ค่อนข้างสว่างของห้องนั่งเล่นที่รับแสงจากหน้าต่างหน้าบ้าน และกลับเป็นพื้นที่สลัวอีกในมุมรับประทานอาหารและบาร์ ก่อนจะไปสว่างอีกครั้งที่ส่วนแต่งตัวและห้องน้ำที่ชั้นบน ด้วยข้อจำกัดและลักษณะของพื้นที่ก็เลยเหมือนเป็นความเฉพาะขึ้นมา”

อ่านต่อหน้า 2