ขลุ่ยบ้านลาว ประวัติศาสตร์ทางดนตรีที่ยังมีลมหายใจ

          ในฐานะที่ผมเกิดที่ฝั่งธนบุรี ก็อดภูมิใจอยู่ลึกๆไม่ได้ว่าในย่านนี้มีชุมชนเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์น่าเรียนรู้ บ่อยครั้งที่มีเพื่อนๆแวะเวียนมาหา ขลุ่ยบ้านลาว

เมื่อพูดคุยเรื่องกินเรื่องเที่ยวแล้ว ชุมชนเหล่านี้มักเป็นพระเอกให้พูดถึงเสมอๆ ครั้งนี้ก็เช่นกันที่ผมจะขอพูดถึง ชุมชนบ้านลาว แหล่งผลิต “ขลุ่ย” ที่ทรงคุณค่าแห่งหนึ่งของฝั่งธนบุรี ขลุ่ยบ้านลาว

ขลุ่ยบ้านลาว

“ชุมชนบ้านลาว” หรือ “ชุมชนวัดบางไส้ไก่” ตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้าน สมเด็จเจ้าพระยา ซอยอิสรภาพ 15 ถนนอิสรภาพ ชุมชนนี้เกิดจากการกวาดต้อนผู้คนจากนครเวียงจันทน์ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในยุคนั้นผู้อพยพจากเวียงจันทน์จะกระจัดกระจาย ไปตั้งรกรากตามที่ต่างๆในแผ่นดินสยาม สาเหตุที่ไม่ให้อยู่รวมกันก็เพื่อเป็นการป้องกัน การแข็งเมือง ไม่ให้เกิดการกระด้างกระเดื่องขึ้นได้

ว่ากันว่าชาวลาวที่อพยพมาตั้งรกรากที่สยามในครั้งนั้นได้นำวิชาความรู้เชิงช่างติดตัวมาด้วย ดังปรากฏให้เห็นตามชุมชนต่างๆ เช่น ชุมชนตีมีด บ้านต้นโพธิ์ ที่มีชื่อเสียงในการทำมีด “อรัญญิก” ส่วนชุมชนบ้านลาวนั้นมีความสามารถในการทำแคนและขลุ่ย (น่าเสียดายที่ปัจจุบันการทำแคนไม่ได้รับการสืบสานต่อ)

สาเหตุที่มีการทำขลุ่ยก็มาจากความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน จึงคิดผลิตเครื่องดนตรีไว้ คลายเหงาเท่านั้น เพิ่งเริ่มมีการทำเป็นธุรกิจจริงๆจังๆก็เมื่อ 50 ปีก่อนนี่เอง ซึ่งครูช่างที่มีชื่อเสียง ในการทำขลุ่ยก็คือ นายหร่อง และเป็นปู่ของ พี่ช้าง คุณสุนัย กลิ่นบุปผา ทายาทช่างทำขลุ่ยรุ่นที่ 4 แห่งชุมชนบ้านลาว

พี่ช้างเล่าให้ฟังว่า “ยุคแรกของการทำขลุ่ยนั้นยังไม่ได้มาตรฐาน กระทั่งมีนักวิชาการ ด้านดนตรีเข้ามาให้ความรู้เรื่องมาตรฐานเสียง จึงมีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ มาถึงรุ่นพ่อผม ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 (ลุงจรินทร์ กลิ่นบุปผา) ก็มีการนำไม้เนื้อแข็งมาใช้ รวมถึงนำเครื่องจักร มาช่วยผลิต ต่างจากสมัยก่อนที่ใช้ไม้รวกเพียงอย่างเดียว สำหรับลวดลายบนตัวขลุ่ย ก็ใช้ตะกั่วหลอมให้เหลว แล้วใช้กระบวยตักมารดบนตัวขลุ่ยให้เกิดลายที่งดงาม แต่ปัจจุบันการทำลวดลายจากตะกั่วก็หมดไป เพราะการสูดดมเข้าไปเป็นเวลานานนั้นอันตรายมาก ทำให้ร่างกายเจ็บป่วย”

ขลุ่ยที่ชุมชนบ้านลาวผลิตมีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

  1. ขลุ่ยหลิบ เป็นขลุ่ยขนาดเล็กที่ใช้ในวงดนตรีไทย
  2. ขลุ่ยเคียงออ หรือขลุ่ยกรวด ให้เสียงต่ำกว่าขลุ่ยหลิบ ส่วนใหญ่ใช้เล่นเพลงลูกทุ่งทั่วไป
  3. ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยที่คนส่วนใหญ่รู้จักและอาจเคยเรียนเมื่อตอนเด็กๆ
  4. ขลุ่ยรองออ ใช้เล่นในวงปี่พาทย์มอญ ให้เสียงหวาน
  5. ขลุ่ยอู้ จะมีแค่ 6 รูโน้ต ต่างจากขลุ่ยทั่วไปที่มี 7 รู เพื่อไม่ให้เสียงไปแข่งกับขลุ่ยประเภทอื่น ขลุ่ยอู้มีไว้เพื่อใช้เป็นเสียงเบส

นอกเหนือจากนี้ก็เป็นขลุ่ยนกที่เลียนเสียงนก แต่เป่าเป็นเพลงไม่ได้ และขลุ่ยสากล ใช้เล่นกับวงดนตรีสากลทั่วไป ซึ่งจะมีเสียงเฉพาะคีย์นั้นๆ

ทุกวันนี้พี่ช้างยังคงทำขลุ่ยอยู่ ส่วนใหญ่เป็นการสั่งทำพิเศษ เมื่อถามว่าหากจะสั่งทำต้องรอนานแค่ไหน บอกเลยว่ามีคิวจองถึงช่วงปลายๆปีนี้เลยทีเดียว และในตอนท้ายของการสนทนาพี่ช้างบอกกับผมว่า

“ผมไม่ค่อยห่วงอนาคตของช่างขลุ่ย เพราะที่ผ่านมาผมก็ได้ถ่ายทอดวิชาให้ผู้สนใจได้เรียนรู้เรื่องการผลิตขลุ่ยอยู่แล้ว ใครสนใจเรียนผมก็สอนให้ฟรี เพื่อให้เขานำไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งผมเชื่อว่าการทำแบบนี้จะทำให้ขลุ่ยของชุมชนบ้านลาวไม่สูญหายแน่นอน”

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจเครื่องดนตรีไทยประเภทขลุ่ย สามารถติดต่อเข้าไปชมการผลิต หรือสั่งทำได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-3133- 9941 (พี่ช้าง) และ 08-6772- 2204 (พี่ต่าย)

ขอบคุณข้อมูล

คุณสุนัย กลิ่นบุปผา (พี่ช้าง)

เรื่อง: “ไตรรัตน์ ทรงเผ่า”
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข


คนทำ หัวโขน : งานศิลป์ชั้นสูงที่ทุกคนสามารถทำได้