ข้างบ้านเดือดร้อน

ก่อสร้างบ้าน แล้ว ข้างบ้านเดือดร้อน ผู้ว่าจ้าง หรือผู้รับเหมา ต้องรับผิดชอบ

ข้างบ้านเดือดร้อน
ข้างบ้านเดือดร้อน

ว่าจ้างผู้รับเหมามา ก่อสร้างบ้าน ให้ ปรากฏว่าในระหว่างการก่อสร้างนั้น เศษอิฐ หิน ปูน กระเด็นหรือตกหล่นไปยังข้างบ้าน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

อยากทราบว่าผมซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง หรือผู้รับเหมา ก่อสร้างบ้าน ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายครับ

  • การจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างมาทำการก่อสร้างบ้านนั้น ถือเป็นการทำสัญญาชนิดหนึ่งที่ทางกฎหมายเรียกว่า สัญญาจ้างทำของ ซึ่งเป็นสัญญาที่มุ่งความสำเร็จของงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 “อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อ ผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น”
  • ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ถึงความรับผิดทางละเมิดในการกระทำของผู้รับจ้างไว้ว่า

การว่าจ้างทำของ ซึ่งผู้รับจ้างไม่ต้องทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง เพียงแต่ทำให้สำเร็จตามกิจการที่ว่าจ้างเท่านั้น คือ มุ่งถึงผลความสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง ดังนั้น หากผู้รับจ้างไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำงานที่ว่าจ้างนั้น โดยหลักแล้วผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้นด้วย เว้นเสียแต่ว่า ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง ซึ่งเฉพาะข้อยกเว้น 3 ประการนี้เท่านั้นที่ผู้ว่าจ้างจะต้องรับผิดด้วย ให้ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ทำละเมิดโดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428  “ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตน ให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”

ตัวอย่างกรณีข้อยกเว้นที่ผู้ว่าจ้างทำของจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง

1. ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ คือ ว่าจ้างให้เขาทำอะไรแล้วเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นเพราะการงานที่สั่งให้ทำแล้ว ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ทำละเมิด เช่น จ้างสร้างบ้านให้รุกล้ำเขตที่ดินของคนอื่น ในส่วนของผู้รับจ้างจะต้องรับผิดหรือไม่ก็ต้องพิจารณาว่ารู้หรือไม่รุกล้ำ ถ้ารู้ก็ต้องรับผิดด้วยฐานทำละเมิดโดยจงใจ

2. รับผิดเพราะคำสั่งที่ตนให้ไว้ คำสั่งตามมาตรา 428 ไม่ใช่คำสั่งในเชิงบังคับบัญชา แต่เป็นคำสั่งเชิงแนะนำเท่านั้น เช่นสั่งให้ผู้รับเหมาตัดรากของต้นหางนกยูงออกเพื่อวางแนวท่อระบายน้ำ หากต่อมาเกิดเหตุ ต้นหางนกยูงล้มลงทับผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย ผู้ว่าจ้างต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เป็นต้น

3. รับผิดเพราะการเลือกหาผู้รับจ้าง เช่น การเลือกผู้รับจ้างที่ไม่มีความรู้ความสามารถในการงานที่จะทำนั้นให้มาทำงานให้ เป็นต้น


อ่านเพิ่มเติม

เพื่อนบ้านก่อความเดือดร้อนรำคาญ แก้ไขอย่างไร ในทางกฎหมาย

รู้ไว้..ก่อนผิด กฎหมายบ้าน

ติดตามบ้านและสวน