สร้างสภาวะสบาย น่าอยู่ ภายใน อาคารเก่า

ยอมรับว่าภาพแรกที่เราได้เห็นบ้านหลังนี้จากที่ไกลๆ ช่างดูคล้าย อาคารเก่า หลังหนึ่ง เป็นตึกเหลี่ยมๆที่สร้างจากอิฐบล็อกแสนธรรมดา กระทั่งได้ก้าวผ่านประตูใหญ่เข้าไป เราจึงได้เข้าใจกับภาพที่เห็น

“จริงๆผมอยากให้ดูเก่าแบบนี้แหละครับ” คุณนนท์ – อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ เจ้าของบ้านและสถาปนิกผู้ก่อตั้งสำนักงานสถาปัตย์ INchan Atelier อมยิ้มบางๆ ก่อนเล่าให้ฟังต่อไปว่า “อยากทำบ้านที่เป็น Building Block แบบนี้มานานแล้ว ผมชอบงานของ Louis Isadore Kahn สถาปนิกชาวอเมริกัน ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ซึ่งเมื่อความคิดเราโตขึ้นก็มุ่งความสนใจไปในช่วงที่เขาเข้าไปทำงานในอินเดียและบังคลาเทศ เพราะอยากรู้ว่าเขาจะจัดการกับแนวคิดของเขาที่มีต่อพฤติกรรมของคนที่นั่น รวมถึงแดดลมฝนของประเทศแถบนั้นได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น การที่เขาเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่น ทำให้อาคารเหล่านั้นกลมกลืน ไม่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเกร็ง ขณะเดียวกันงานออกแบบเหล่านั้นก็ทำให้ผู้ใช้งานมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่งผลให้งานของเขามีอิทธิพลกับงานสถาปนิกท้องถิ่นมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเรารู้สึกตื่นเต้นมาก บ้านหลังนี้ก็เช่นกัน ผมเลือกใช้อิฐบล็อกหรือบางทีเรียกว่าซีเมนต์บล็อกเป็นวัสดุหลักของภายนอกอาคาร เพราะเสน่ห์ของงานก่อให้ผิวสัมผัสที่ดูหยาบ หนักแน่น และเนื้อวัสดุที่มีรูพรุนก็ช่วยป้องกันความร้อนและเก็บสะสมความเย็นให้ตัวอาคาร  นอกจากนี้ผนังซีเมนต์บล็อกยังทำให้เราสามารถควบคุมงบประมาณได้ค่อนข้างดี แต่ในส่วนของ ‘ความเก่า’ ที่เกิดขึ้นเป็นความประทับใจส่วนตัวที่เก็บมาจากการได้ไปเห็นอาคารและบ้านเรือนที่จังหวัดตราด ซึ่งเป็นเมืองชายทะเล มีฝนตกชุก จึงทำให้อาคารที่นั่นมีคราบและร่องรอยที่เด่นชัด บางคนอาจไม่ชอบ แต่ผมกลับรู้สึกว่าร่องรอยและคราบเหล่านั้นคือ ‘กาลเวลาที่ถูกบันทึกลงไปในความทรงจำของอาคาร’ เมื่อเราทำบ้านของตัวเอง จึงอยากให้อาคารเป็นไปในแนวทางนั้นเช่นเดียวกัน”

เมื่อมองจากภายนอกบ้านหลังนี้อาจดูคล้ายตึกขนาดย่อมหลังหนึ่ง แต่ด้วยการออกแบบทำให้พื้นที่ภายในมีความเป็นบ้านได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยชั้นล่างสุดเป็นพื้นที่ของสวนและสำนักงานสถาปัตย์ จากนั้นจึงเป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัว นอกจากคุณนนท์แล้ว ยังมีภรรยา คุณพลอย –ธริศราย์ จันทร์ทิพย์ และลูกที่กำลังจะเกิดในอีกไม่กี่เดือนนี้ รวมถึงคุณแม่ของคุณพลอยด้วย ส่วนชั้นสองเป็นเหมือนกับพื้นที่ส่วนกลางของบ้านโดยมีห้องนั่งเล่น ครัว และส่วนรับประทานอาหารอยู่ด้วยกัน  ชั้นสามแบ่งเป็นห้องของคุณแม่ และห้องนอนคุณนนท์กับคุณพลอย

ความพิเศษอีกอย่างของบ้านหลังนี้อยู่ที่ชั้นสี่ เป็นส่วนที่คุณนนท์เรียกว่า “Atelier” หรือห้องทำงานศิลปะ ซึ่งออกแบบมาเพื่อทำตามความฝันของคุณนนท์และคุณพลอย

“เรามีเรื่องที่เคยอยากทำ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆอย่างจึงต้องหยุดเอาไว้ จนเมื่อเราสร้างอาคารหลังนี้ เลยตั้งใจให้ชั้นนี้เป็นทั้งห้องทำงานศิลปะของพลอย ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรูปหรือทำงานหัตถศิลป์ ส่วนตัวเราเองก็จะได้มีโอกาเก็บงานศิลป์และงานออกแบบที่สนใจด้วย”

คุณนนท์ยังบอกอีกว่าบรรยากาศในห้องทำงานศิลปะจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามองค์ประกอบที่สนใจในช่วงนั้น “มาถึงจุดหนึ่งที่ทำให้เริ่มเข้าใจว่าสถาปัตยกรรมไม่ใช่ทุกอย่างของเรา พื้นที่ทางสถาปัตย์ต่างหากที่น่าจะรองรับตัวตนอื่นๆให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ชีวิตถึงจะถูกเติมเต็มและอิ่มเอม จึงทำให้สนใจเรื่องศิลปะและธรรมชาติมากขึ้น อย่างงานศิลปะนี่เหมือนมีชีวิตหนึ่งอยู่ในนั้น เป็นชีวิตที่ศิลปินใส่ตัวตนของเขาลงไป ภาพบางอย่างเมื่อนำมาใส่ไว้ในพื้นที่หนึ่งๆแล้วกลับเติมเต็มพื้นที่นั้นได้อย่างลงตัว เราจึงเริ่มที่จะสนใจการเรียบเรียงและจัดวางทั้งงานศิลปะ ต้นไม้ และสิ่งของต่างๆ เพื่อหาจังหวะที่พอดีกับชีวิตเรา ซึ่งถ้าไม่มีบ้านหลังนี้ เราคงจะสร้างพื้นที่ที่อธิบายแนวคิดของเราออกมาไม่ได้”  นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้บ้านหลังนี้มีผลงานศิลปะจากหลากหลายศิลปินและธรรมชาติสอดแทรกอยู่ในทุกมุม

ในส่วนของการออกแบบพื้นที่ คุณนนท์ได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แคบยาวนั้นสามารถเป็นได้มากกว่าแค่ห้องสี่เหลี่ยม ซึ่งยังคงได้แรงบันดาลใจจากหลุยส์ อิซาดอร์ คาห์น  ก่อให้เกิดอาคารที่มีรูปแบบเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น โดยคุณนนท์ออกแบบให้ผนังด้านทิศเหนือยื่นออกไปจากอาคาร ลักษณะเป็นดับเบิลฟาซาด เพื่อสร้างจังหวะเปิด-ปิดขนาดใหญ่สำหรับชมวิวเมือง วิวสวน และรับแสงธรรมชาติที่ไม่ร้อนจัดได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีสภาพเป็นชายคาไว้กันฝนสาดในตัว ซึ่งพื้นที่ที่ยื่นออกไปยังออกแบบให้ใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกันอีกด้วย เป็นทั้งสวนกระถาง ส่วนขยายของพื้นที่รับประทานอาหาร หรือแม้แต่ครัวไทย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการตีความลักษณะความชอบของคนในบ้าน ผ่านการใช้งานที่สอดประสานไปตามแต่ละพื้นที่  ส่วนผนังด้านทิศใต้ซึ่งโดนแดดโดยตรงตลอดทั้งวัน ภายนอกจะไม่ค่อยมีช่องเปิดมากนัก จะมีบ้างก็เพื่อนำลมและแสงเข้าตามสมควร และวางแผนให้เป็นผนังไม้เลื้อย ก่อนที่ภายในจะเว้นระยะไว้สำหรับเป็นทางสัญจร เพื่อป้องกันความร้อนเข้ามาสู่พื้นที่อยู่อาศัยอีกทีหนึ่ง

“ในเรื่องเลเยอร์ของผิวอาคารเกิดจากการจัดการเรื่องการป้องกันแดดลมฝน ขณะเดียวกันการออกแบบในส่วนนี้ก็ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภายในเช่นเดียวกัน เราสร้างผนังยื่นออกไปอีกชุด แล้วจึงคิดหาวิธี คัด ตัด เจาะ เพื่อให้แสงและลมสามารถแทรกตัวผ่านเข้ามาในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทอดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นช่องเปิดใหญ่ๆหรือแค่กรอบเล็กๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพื้นที่ในแง่มุมต่างๆกัน ซึ่งทั้งหมดจะกำหนดขึ้นจากลักษณะการใช้งาน เจ้าของพื้นที่นั้นๆ และบริบทโดยรอบ อย่างคุณแม่ของพลอยชอบทำอาหาร ในส่วนนี้เราจึงออกแบบให้มีช่องเปิดขนาดใหญ่อยู่ทั้งก่อนและหลังพื้นที่ครัว เพื่อลมจะได้วิ่งผ่านจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งได้สะดวก ลดกลิ่นอับจากการทำอาหาร ซึ่งในครัวไทยนั้นก็ออกไปใช้พื้นที่ระเบียงที่เปิดโล่ง เพื่อจะได้ทำอาหารได้อย่างเต็มที่ แต่ในทางกลับกัน คุณแม่ก็ชอบห้องนอนที่สงบเงียบ เราจึงทำช่องเปิดที่เล็กเพียงขนาดกรอบรูปเอาไว้ให้ได้มองวิวต้นไม้ที่ด้านนอกเท่านั้น ขณะที่ห้องนอนของผมกับพลอยจะเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ เพราะผมต้องการให้แสงและลมสามารถเข้ามาในห้องได้อย่างเต็มที่นั่นเอง”

ทั้งแสงและลมเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบที่คุณนนท์อธิบายถึงการ “ดำเนิน” ไปในบ้านหลังนี้ คุณนนท์ได้หยิบยกเอาลักษณะการเชื่อมพื้นที่อย่างบ้านญี่ปุ่นเข้ามาใช้ แต่ละห้องจะมี “บรรยากาศ” แตกต่างกันไปตามการใช้งาน สร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นสุนทรียะให้บ้านได้เป็นอย่างดี

“จริงๆแล้วรวมไปหมดทั้งชื้น ร้อน หนาว สว่าง มืด และเสียงต่างๆ อย่างห้องรับแขกนอกจากการรับแสงรับลมแล้ว ผมก็พยายามนำเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้จากสวนกระถางบริเวณระเบียง คนที่มาที่นี่มักจะเริ่มงงว่าอยู่ชั้นไหนแล้ว เพราะเราออกแบบให้ทุกชั้นเป็นเหมือนบ้าน ตั้งแต่การออกแบบบันไดให้มีหน้าบันไดที่แตกต่างกันไปทุกชั้น  ทำให้เราสามารถวางผังแต่ละชั้นได้แตกต่างกัน จนถึงการออกแบบระยะยื่นเข้ายื่นออกและบรรยากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ทำให้การ ‘ดำเนิน’ ไปในบ้านมีความเพลิดเพลิน ไม่อุดอู้เหมือนบ้านสี่เหลี่ยมที่ซ้ำๆกันไปสี่ห้าชั้น”

สุดท้ายเราถามถึงเรื่องการมีสำนักงานสถาปัตย์ของตัวเองอยู่ในบ้านด้วยจะได้พักผ่อนหรือ ซึ่งคำตอบของคุณนนท์ก็ทำให้เราเข้าใจผลงานของเขามากขึ้นเช่นกัน

“เราไม่ได้มองว่าเป็นที่ทำงานแต่แรก เรามองเหมือนเป็นแล็บเป็นที่ที่เราต้องใช้เวลา ตอนแรกๆเคยคุยกันว่าจะแบ่งให้ออฟฟิศไปอยู่อีกฝั่งของที่ดิน แยกขาดจากกันไปเลย แต่สุดท้ายคำพูดที่ว่า ‘มาอินจันก็เหมือนมาบ้านเรา’ ซึ่งเราชอบพูดกับทุกคนก็ทำให้เราเลือกที่จะรวมเอาบ้านและสำนักงานเข้าไว้ด้วยกัน บางคนเลือกที่จะไม่เอางานกลับมาทำที่บ้าน แต่เราเชื่อในการบรรจงคิด และทำไปอย่างสม่ำเสมอ เหมือนการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ถึงแม้ว่าเราจะรู้ภาพรวมแล้ว แต่การค่อยๆลงลึกไปในรายละเอียด สุดท้ายก็จะได้ภาพรวมที่สมบูรณ์กว่าที่เราคิดไว้ตอนแรก เพราะเวลาที่เราค่อยๆ ออกแบบให้ลูกค้า มันเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ รายละเอียดของการสร้างชีวิต ใช้ชีวิต และเติมเต็มชีวิต นั่ง นอน ยืน เดิน ผิดระยะไปนิดเดียวก็จะเสียเจตนาได้ เลยกลายเป็นว่าเราไม่อยากตัดขาดงานกับชีวิตออกจากกัน  ซึ่งสิ่งนี้ก็ทำให้คนเห็น ‘อินจัน’ เป็นชีวิตทั้งชีวิตของเราชัดขึ้น”

นี่คือบ้านที่สอดประสานโลกหลายใบเอาไว้ด้วยกันในแบบ INchan Atelier ด้วยการเชื่อมโยง “งานศิลป์” “ธรรมชาติ” และ “สถาปัตยกรรม” เข้าด้วยกัน เพื่อนำพาสิ่งที่ยากจะเข้าใจให้สามารถจับต้องได้แบบเป็นรูปธรรม เร็วๆนี้พวกเขาจะเปิดเซ็กชั่นใหม่ในชื่อ INchan Atmosphere เพื่อตอบสนองการตกแต่งด้วยงานศิลป์และงานออกแบบในมุมมองอันละเมียดอย่างที่เราเห็นในบ้านหลังนี้กันไปแล้วนั่นเอง

เจ้าของ : คุณอินทนนท์ – คุณธริศราย์ จันทร์ทิพย์
ออกแบบ – ตกแต่งภายใน : INchan Atelier
รับเหมาก่อสร้าง : บริษัทพิกัด คอนซัลแตนท์ จำกัด

 

เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : นภิษฐา พงษ์ประสิทธิ์


อ่านต่อ : S49 RESIDENCE – ทลายกำแพง รีโนเวตตึกแถว ที่ปิดทึบให้โปร่งโล่ง