10 สิ่งที่เราอยากให้คุณรู้ก่อนไป FREEFORM FESTIVAL

 

ช่วงปลายสัปดาห์นี้เป็นต้นไป เราจะได้เห็นกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองแห่งศิลปะ เพราะไม่ใช่แค่เทศกาล BANGKOK DESIGN FESTIVAL เท่านั้น ยังมีหนึ่งพาร์ทเนอร์กิจกรรมดีๆ อย่างเทศกาล FREEFORM FESTIVAL 2017 เกิดขึ้นด้วย และก่อนที่เราจะพาคุณไปสัมผัสงานศิลปะปลายเปิดในที่แห่งนี้ เรามี 10 เรื่องที่อยากให้คุณได้รู้

FREEFORM FESTIVAL

  1. FREEFORM FESTIVAL หรือ เทศกาลฟรีฟอร์ม 2017 คือ เทศกาลที่เปลี่ยนห้องเรียนเก่ากลางเอกมัยให้เป็นพื้นที่ทดลองการใช้เวลาร่วมกันของคนเมืองด้วยงานศิลปะปลายเปิด Exhibition ที่กินได้ เวิร์คช็อปของเด็กและผู้ใหญ่ ละครโรงเล็ก หนังสั้น อาหารและเครื่องดื่ม พื้นที่ที่ทุกคนทุกวัยโดยเฉพาะครอบครัวได้มาสนุกร่วมกัน ในทุกสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ 10 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560 ที่ ACMEN เอกมัย
  2. #CelebrateMistakes คำนี้ได้มาจากครูชาวอังกฤษของลูกสาวของหนึ่งในผู้ปั้นโปรเจค อย่างคุณพี รวมพร ถาวรอธิวาสน์ ผู้ก่อตั้งและ Managing Director ของบริษัทติโตติโต “Celebrate Mistakes” เป็นหนึ่งใน 6 ข้อของ “Growth mindset” หรือการทำให้เด็กๆ เติบโตทางด้านความคิดด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีการสอนให้ก้าวข้ามผ่านความผิดพลาดแล้ว ไม่ต้องมีการบอกว่าอะไรถูกหรือผิดมากนัก เพื่อให้ได้ค้นหาตนเอง ยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาด สมองจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และแนวความคิดนี้ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะกับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่อย่างเราก็ควรจะก้าวข้ามความผิดพลาดแล้วยอมรับมันได้เหมือนกันFREEFORM FESTIVAL
  3. FREEFORM FESTIVAL ไม่ได้พยายามเรียกตัวเองว่าเป็นงานครีเอทีฟหรืองานอาร์ต เพราะกิจกรรมของงานเปิดกว้างกว่านั้น เป็นเทศกาลอิสระ สร้าง “งานศิลปะปลายเปิด” เพื่อให้ทุกคนมาทดลองและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ไปด้วยกัน เพราะคำว่า “ศิลปะ” ไม่มีผิดถูก ไม่มีล้มเหลวหรือสำเร็จ และความสวยงามก็เป็นเรื่องของรสนิยม ในงานนี้เป็นโปรเจคเชิงอยากทดลอง จึงไม่ต้องสนใจเรื่องความผิด-ถูก เราสามารถนำสิ่งที่เคยผิดพลาดมาทดลองในงานนี้ ส่วนถ้าเกิดทำอะไรในงานนี้แล้วมันเกิดผิดพลาดขึ้นมา ก็ไม่ต้องกังวล เอามาเฉลิมฉลองเสียเลย หรือถ้าทดลองทำแล้วไม่เวิร์ค อีกวันจะเปลี่ยนวิธีนำเสนอก็ได้ มีความ Freeform ตามอย่างคอนเซ็ปต์หลัก เพื่อให้ทั้งเหล่าศิลปินและคนที่มาในงานนี้ได้แบบไม่มีอีโก้ และ #ไม่เก๊กไม่เกร็ง
  4. Logo ได้มาจากนกในรูปแบบง่ายๆ ที่เด็กทุกคน รวมถึงผู้ใหญ่เองต้องเคยวาดสมัยเราเป็นเด็ก ทั้งนก ภูเขา ต้นไม้ บ้าน ซึ่งเป็นการวาดที่ง่ายไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงาม ความสนุกที่ได้มาจากงานศิลปะที่เรานึกย้อนไปแล้วก็มีความสุขกับมันได้ทุกครั้ง
  5. กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นภายในแต่ละห้องทั้ง 3 ชั้นของอาคารเรียนร้าง รวมถึงบริเวณลานกว้างของ Acmen โดยมี อู๋-ภฤศธร สกุลไทย Design Director บริษัท PIA interior รับหน้าที่หลักในการออกแบบ ลงมือรีโนเวตพื้นที่สำหรับเทศกาลชั่วคราวนี้ ส่วนกิจกรรมให้เลือกสรรมากมายอาทิ 4 Installation เจ๋งๆ ในลานเสรี และ 5 Exhibition รวมถึงกิจกรรม Workshop ต่างๆ ที่หมุนเวียนกันตลอด 4 สัปดาห์ และบริเวณชั้น 2-3 ของอาคาร มี 18 แกลลอรี่ จัดแสดงผลงานให้ชมอย่างจุใจ
  6. งานศิลปะที่เราจะได้เห็นอาจจะไม่ใช่อย่างที่คุณคาดหวัง ความเซอร์ไพร้ส์อยู่ที่คุณจะได้เห็น Freeform’s friend ลุกขึ้นมาทำงานศิลปะที่เขาไม่ได้ทำอยู่เสมอ คาดเดาไม่ได้ จะมีอะไรบ้าง แล้วศิลปินคนไหนทำจะอะไรเป็นพิเศษ ต้องลองไปดู
  7. เด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมสามารถจับและบอมบ์งานศิลปะของเหล่าศิลปินที่มาร่วมจัดแสดงงานได้ และหลังจากนั้นอาจจะได้เห็นงานศิลปะของเด็กๆ ได้กลับมาจัดแสดงด้วยก็เป็นได้
  8. อีกหนึ่งกิจกรรมผ่อนคลายอย่างโรงละครและหนังสั้น ที่นำทีมโดย Bangkok Theatre Festival และคณะละครคุณภาพเยี่ยมกว่า 10 คณะ มาให้ชม แน่นตารางทั้ง Theatre 1 และ 2 เลยทีเดียว
  9. “คบเด็กสร้างบ้าน” ในบริเวณลานกว้างเป็นการสร้างบ้านทดลองสำหรับคน มีการนำแนวคิดภูมิปัญญาไทย อย่าง “เรือนไทย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของที่อยู่อาศัยที่เพื่อตอบโจทย์ปัญหา และความต้องการพื้นฐานในการใช้ชีวิตของคนไทยอย่างที่สุด มาลดทอนรายละเอียด ทดลองประกอบ ดัดแปลงด้วยโครงสร้างทันสมัย ให้เป็นพื้นที่ที่คนเมืองมาทดลองใช้ทำกิจกรรม และพักผ่อน
  10. บัตรราคา 100 บาท ต่อสุดสัปดาห์ (ศุกร์-อาทิตย์) เด็กสูงน้อยกว่า 120 ซ.ม. เข้าฟรี ในงานไม่มีที่จอดรถ แนะนำให้ใช้ BTS โดยลง BTS เอกมัย จะต่อวินมอเตอร์ไซค์ หรือเดินเข้ามาก็ไม่ไกล พิกัด : Acmen ถนน เอกมัย

สุดสัปดาห์นี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่พาลูกๆ ไปใช้เวลาร่วมกันได้ หรือใครก็ตามที่มองหาที่ทำกิจกรรมดีๆทำยามว่าง เราอยากให้คุณไปสัมผัสสิ่งที่เราพูดมาทั้งหมดนี้ด้วยตัวเอง! แล้วมาร่วมแสดงออกถึงพลังในการสร้างสังคมสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นไปพร้อมกันนะ

 

อ่านต่อ :

3 เหตุผลที่คนรักงานศิลปะควรไปชมนิทรรศการ Selection Market at YELO House


เรื่อง Pari
ภาพ นันทิยา , เอกสารประชาสัมพันธ์