“ บ้านบาตร ”ชุมชนของคนทำบาตรพระ

            บ้านบาตร เป็นชุมชนเก่าแก่ที่โยกย้ายถิ่นฐานมาจากกรุงศรีอยุธยา โดยเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี และขุดคลองรอบกรุงขึ้นในปี พ.ศ. 2326 ชาวบ้านบาตรก็ได้มาตั้งเป็นชุมชนในละแวก นอกคลองจนถึงปัจจุบัน

บ้านบาตร ผู้คนในชุมชนนี้ยังได้นำความรู้เกี่ยวกับการทำบาตรพระแบบดั้งเดิมติดตัวมาด้วย เพื่อประกอบอาชีพ “ช่างทำบาตร” ซึ่งมีขั้นตอนการทำที่ละเอียดอ่อนและใช้ความอดทนสูง เนื่องจากทุกขั้นตอนทำด้วยมือ มีอุปกรณ์ไม่กี่อย่างเท่านั้นที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก

บ้านบาตร

การต่อเหล็กและตีขึ้นรูปบาตรด้วยมือนับว่าเป็น “งานบุ” ซึ่งเป็นงานช่างแขนงหนึ่งของไทย เรียกว่า “บาตรบุ” ช่างที่ทำบาตรบุจะประกอบด้วยช่างตีขอบ ช่างต่อบาตร ช่างแล่น ช่างลาย ช่างตี และช่างตะไบ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญอย่างสูง นับเป็นภูมิปัญญาที่ควรค่าต่อการสืบสาน และส่งเสริมให้อยู่คู่กับคนไทยไปตราบนานเท่านาน

ผมเองเคยเดินผ่านแถวบ้านบาตรมาก็หลายครั้ง แต่ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะเลี้ยวเข้าซอยไป สัมผัสว่าคนในซอยทำอะไรกันเสียงดังโป๊กๆ จวบจนวันเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปี ก็มีครั้งนี้ที่ได้เดินเข้าไปชมสักที ผมได้พบกับ ลุงประชุม เอโก ช่างทำบาตรพระรุ่นเก่า วัยเจ็ดสิบปี ซึ่งกรุณาเล่าเรื่องราวการทำบาตรพระให้ฟัง ทั้งยังบอกอีกว่าจะยังคงทำบาตรพระต่อไปจนกว่าจะไม่มีคนจ้างให้ทำ

ลุงประชุม เอโกมล ช่างทำบาตรพระรุ่นเก่า วัยเจ็ดสิบปี

ลุงประชุมเล่าว่าพ่อแม่เป็นคนถ่ายทอดวิชาทำบาตรให้ เรียกว่าเรียนกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยความที่อยากมีรายได้ จึงเริ่มเรียนรู้งานทำบาตรพระตั้งแต่อายุสิบสี่ปี อุปกรณ์ที่ใช้ใน การทำบาตรก็มีกรรไกรญวน และเสากะล่อนสำหรับตีบาตร ซึ่งดัดแปลงมาจากเหล็กที่อยู่ใกล้ตัวนั่นเอง

ในปี พ.ศ. 2514 ได้เกิดโรงงานผลิตบาตรพระขึ้นมา ทำให้การผลิตบาตรพระในชุมชน ลดน้อยลงไป ลุงประชุมเองก็หยุดทำไปช่วงหนึ่ง จนต่อมามีพระมาสั่งทำ เพราะขั้นตอนการผลิต และรูปทรงของบาตรพระในชุมชนบ้านบาตรเป็นไปตามแบบพระธรรมวินัยทุกอย่าง จึงรับทำบ้างแต่ก็ไม่มากเหมือนเมื่อตอนก่อนสร้างโรงงาน ปัจจุบันนี้ก็กลับมาทำเหมือนเดิมแล้ว แต่เน้นที่ งานฝีมืออย่างเดียว ไม่เน้นปริมาณ ซึ่งลุงประชุมยังบอกอีกว่าเมื่อเคาะที่บาตร เสียงของบาตรพระที่ทำมือจะดังกังวานกว่าบาตรพระที่ทำจากโรงงาน ก็ถือเป็นเสน่ห์ อย่างหนึ่งของบาตรทำมือ

แม้ในวันนี้การทำบาตรของชุมชนบ้านบาตรอาจยังดูทรงตัว ค่อยเป็นค่อยไป รอวันที่จะหยุดหรือเดินต่อไปอย่างช้าๆ ซึ่งคงไม่มีใครล่วงรู้อนาคตได้ แต่ก็ยังน่าดีใจที่มีนักออกแบบรุ่นใหม่ให้ความสนใจ โดยนำรูปแบบใหม่ๆมาผสมผสานกับการทำงานยุคเก่า

จึงกลายเป็นที่มาของผลงานออกแบบชุดภาชนะ “กลีบบัว” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก “บาตรบุ” โดยเปลี่ยนแปลงการทำบาตรบุมาเป็นการทำภาชนะเครื่องใช้ตกแต่งบ้าน นับเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นการ ต่อยอดทางการตลาด ทำให้คนในชุมชนได้ทำงานรูปแบบใหม่ๆ โดยที่ขั้นตอนและการทำงานยังเป็นแบบดั้งเดิม

คุณเฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ และคุณกวิสรา อนันต์ศฤงคาร

คุณเฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ และคุณกวิสรา อนันต์ศฤงคาร  คือ  2 นักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป จากโครงการ Innovative Craft Awards 2017 โดยสนับสนุนโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ที่ผมพูดถึงก่อนหน้านี้ ทั้งคู่เล่าให้ฟังว่า

“เริ่มจากมองหาชุมชนที่ทำงานหัตถกรรมที่อยู่ใกล้ๆตัว จนได้มาพบกับ ชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้ ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจมาก เพราะเป็นชุมชนเดียวในกรุงเทพ ที่ยังทำงานหัตถกรรมอยู่ ทั้งยังแฝงด้วยหลักพระพุทธศาสนาในทุกขั้นตอนการทำ สำหรับการทำงานแรกๆก็มีติดขัดบ้างในเรื่องความคิดของช่างที่ยังคงชินกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ตลอดเวลา จนมีการพูดคุยกันมากขึ้น ลองทำลองผิดลองถูกอยู่พอควร จนในที่สุดผลงานก็เป็นที่ยอมรับจาก เวทีประกวดระดับประเทศและนานาชาติ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ภูมิใจที่สุดคือการได้ช่วยให้ คนในชุมชนบ้านบาตรได้มีงานในรูปแบบที่แตกต่างมากขึ้น และดูมีชีวิตชีวามากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเราไม่อยากเห็นชุมชนที่มีฝีมือและมีประวัติศาสตร์ยาวนานต้องหายไป ”

การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของชีวิต ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือไม่ ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ทำให้อะไรๆเปลี่ยนไปทั้งหมด ขอเพียงแค่รู้จักและเข้าใจผสมผสานข้อดีของเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาดั้งเดิม ผมก็ยังเชื่อว่าชุมชนบ้านบาตรจะคงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปได้

สำหรับผู้สนใจอยากไปเยี่ยมชมการทำบาตรพระก็แวะไปกันได้นะครับ เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป คุณจะได้เห็นชาวบ้านออกมานั่งทำงานอยู่นอกบ้าน ซึ่งแต่ละหลังก็ จะแบ่งหน้าที่การทำงานตามความถนัดของช่างด้วย

การเดินทางมาชุมชนบ้านบาตรให้มาทางถนนบำรุงเมือง เลยวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครไปนิดเดียว เลี้ยวขวาเข้าซอยบ้านบาตรก็จะพบกับชุมชนบ้านบาตรแล้วครับ แต่อาจจะหาที่จอดรถลำบากหน่อย แนะนำให้ใช้บริการรถสาธารณะจะดีกว่าครับ

ดูวิธีทำบาตร