เอกสารสิทธิ์ที่ดิน

รู้ไว้อย่าให้ใคร หลอกขายที่ดิน !! ความแตกต่างของ เอกสารสิทธิ์ที่ดิน

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน
เอกสารสิทธิ์ที่ดิน

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน มีชื่อเรียกหลายประเภท อยากรู้ไหมคะว่าแต่ละประเภทเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึง เอกสารสิทธิ์ที่ดิน ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่เราอาจพบเจอได้บ่อยๆ เท่านั้นนะคะ ซี่งมีดังนี้

  • ส.ค.1 คือ ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นเพียงหลักฐานการแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าคุณกำลังครอบครองที่ดินแปลงใดอยู่ ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่อย่างใด และไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่ใช้แสดงเจตนาว่าจะสละการครอบครองให้แก่ผู้รับโอนได้เท่านั้น ทั้งนี้ ส.ค.1 สามารถใช้เป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดิน น.ส.3 หรือ น.ส.3ก. ได้ก็ต่อเมื่อทางราชการมีการประกาศโครงการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ หรือเมื่อมีการยื่นขอโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะราย
  • น.ส.2 คือ หนังสือแสดงความยินยอมให้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราวจากทางราชการ ซึ่งผู้มีใบจับจองจะต้องจัดการทำประโยชน์ในที่ดินให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ของที่ดินที่จัดให้ภายใน 3 ปี โดยสิทธิดังกล่าวไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นได้ ซึ่งเมื่อทำประโยชน์ตามเงื่อนไขข้างต้นครบกำหนดระยะเวลาแล้ว จึงมีสิทธินำมาขอออกโฉนดที่ดิน น.ส.3 หรือ น.ส.3ก.ได้
  • น.ส.3 คือ หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว โดยได้มีการรังวัดและจัดทำแผนที่ของที่ดินแล้ว
  • น.ส.3ก. คือ หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว แต่ต่างจาก น.ส.3 ตรงที่มีการรังวัดและจัดทำแผนที่ของที่ดินนั้นจากระวางภาพถ่ายทางอากาศเรียบร้อยแล้ว
  • โฉนดที่ดิน คือ หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยมีความหมายรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่มีการประทับตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ซึ่งออกให้ตามกฎหมายเก่า แต่ก็ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอย่างสมบูรณ์ สามารถใช้สิทธิในที่ดินได้เต็มที่ มีสิทธิในการจัดจำหน่าย รวมถึงสิทธิในการปกป้องขัดขวางไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาละเมิดสิทธิตนในที่ดินนั้นด้วย

เมื่อรู้ข้อมูลความแตกต่างของ เอกสารสิทธิ์ที่ดิน ตามข้างต้นแล้ว คราวนี้ใครจะมาหลอกขายที่ดินคุณ โดยอ้างสิทธิเกินกว่าที่มีเพื่อขายที่ดินในราคาสูงเกินจริงล่ะก็ รับรอง! ไม่ได้แอ้มเงินคุณแน่นอนค่ะ

Photo : ธีรภัทร กระจ่างวุฒิชัย

อ่านต่อ : ทำอย่างไรดีหากมีบ้านอยู่ใน ที่ดินตาบอด !

อ่านต่อ : ซื้อที่ดินติดสัญญา ภาระจำยอม ผู้ซื้อยกเลิกสัญญาได้หรือไม่?