วิธีง่ายๆในการปรับพื้นที่สำหรับเด็กภายในบ้าน

พื้นที่สำหรับเด็ก บ้านซึ่งเคยเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ผู้ใหญ่ เมื่อถึงวันที่จะมีชีวิตน้อยๆ มาอยู่ร่วมด้วย ย่อมเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดีและต้องเตรียมการกันยกใหญ่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลง “บ้าน” อย่างไรให้เหมาะสมกับการเติบโตของเด็กๆ

พื้นที่สำหรับเด็ก หากใครเคยมีประสบการณ์จะทราบดีว่าถ้าเป็นลูกหลานคนแรกของพ่อแม่ ของปู่ย่าตายาย หรือของลุงป้าน้าอา แทบทุกบ้านจะเตรียมทุกอย่างแบบจัดเต็ม มีห้องพิเศษ มีของเล่นเสริมพัฒนาการคอยกระตุ้นทุกขั้นตอนของการเติบโต แต่ถ้าเป็นลูกหลานคนต่อมา เราจะรู้แล้วว่าเด็กไม่ได้ต้องการอะไรมากมายขนาดนั้น หากผู้ใหญ่ลองทำความเข้าใจพัฒนาการของเด็กและความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา ก็จะมองเห็นวิธีการง่ายๆ ในการปรับพื้นที่เพื่ออยู่ “ร่วมกัน”

เราไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการต่อเติมตกแต่งห้องใหม่เพื่อเจ้าตัวน้อย  แต่สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันโดยไม่ต้องแบ่งแยกว่าตรงไหนเป็นพื้นที่สำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะเราควรทำให้ทุกพื้นที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคน

พื้นที่สำหรับเด็ก

พื้นที่ในบ้าน

7 ปีแรกของชีวิต ประสาทสัมผัสทุกส่วนของเด็กทำงานโดยขาดการกลั่นกรองหรือปฏิเสธ เด็กจะซึมซับทุกอย่างที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเข้าไปในตัวตนของเขา ไม่ว่าจะเป็นความคิด คำพูด ทัศนคติ ท่าทีของผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดู รวมไปถึงแสง สี เสียง สัมผัสของวัตถุต่างๆ และบรรยากาศที่โอบล้อมเขาอยู่

ลองนึกย้อนไปถึงความทรงจำแรกและสภาพแวดล้อมในบ้านที่เราเติบโตมาก็จะพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ก่อรูปให้เราเป็นผู้ใหญ่แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้และเติบโตตามธรรมชาติของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้เด็กรู้สึกมั่นคง อบอุ่น และมีอิสระในพื้นที่ที่ปลอดภัย และเมื่อเด็กได้อยู่ในพื้นที่ที่เราวางใจ ผู้ใหญ่เองก็จะดูแลเด็กได้ง่ายขึ้นด้วย

แสงธรรมชาติ เสียงธรรมชาติ สะอาด โล่ง

แสงธรรมชาติในพื้นที่สะอาดโล่ง สร้างความรู้สึกสงบให้ผู้อยู่อาศัย ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ความรู้สึกสงบก็ทำให้พลังชีวิตของเด็กทำงานอย่างลื่นไหลในการสร้างร่างกายให้แข็งแรง และหล่อเลี้ยงจินตนาการของเด็กได้ดีกว่าการที่ต้องอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยแสงสีจัดจ้า เสียงดังวุ่นวาย หรือรกรุงรังไร้ระเบียบ

เฟอร์นิเจอร์ปลอดภัยแข็งแรง

เมื่อเด็กเริ่มเกาะยืน เฟอร์นิเจอร์รอบตัวเขาควรมีความแข็งแรงพอที่จะให้เขาเหนี่ยวดึงตัวเองขึ้นได้ เมื่อถึงวัยปีนป่าย โต๊ะเก้าอี้เตียงนอนควรแข็งแรงพอที่จะเป็นสนามเด็กเล่นของเขา โดยที่เราไม่ต้องคอยห้ามไปเสียทุกอย่าง

ห้องน้ำครัวที่เด็กช่วยเหลือตัวเองได้

          ห้องน้ำ

พื้นห้องน้ำไม่ลื่น สว่าง สะอาด เมื่อถึงวัยที่เด็กเข้าห้องน้ำเองได้ ควรฝึกให้เขาได้จัดการขับถ่ายด้วยตัวเอง โดยมีเก้าอี้ที่สามารถปีนขึ้นนั่งชักโครกเองได้ ล้างมือเองถึง

         ครัว 

จัดวางอุปกรณ์อย่างปลอดภัย หยิบใช้งานได้อย่างเป็นระเบียบ ห้องครัวไม่ควรเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับเด็ก เพราะในนั้นเด็กจะได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากงานของแม่
ครัวเป็นเป้าหมายแรกๆ สำหรับเด็กเล็กเมื่อเขาต้องการสำรวจโลก เด็กสนุกกับการเปิด-ปิดตู้ เขารู้แล้วว่านอกจากตัวเองและพ่อแม่ โลกยังมีสิ่งอื่นๆอีก  เขารู้แล้วว่ามือของเขาทำอะไรได้บ้าง  เด็กเล็กๆ ชอบนำภาชนะต่างๆ มาเรียงซ้อนในตู้ที่เขาเปิดเองได้เราจึงควรเตรียมความสนุกเหล่านี้รอไว้ให้เขามาค้นพบ
เมื่อถึงวัยที่เริ่มใช้มือหยิบจับได้คล่องแคล่วยิ่งขึ้น ลองให้โอกาสเด็กได้ช่วยเตรียมจานสำหรับคนในครอบครัว ช่วยล้างจาน ช่วยทำอาหารง่ายๆ เขาจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองที่สามารถดูแลตัวเองและคนอื่นได้ด้วย

 

พื้นที่เล่นอิสระที่มีของเล่นไม่ต้องมาก

เด็กเล็กๆ ไม่ได้ต้องการของเล่นหรือตัวช่วยในการสำรวจความสามารถของร่างกายตัวเอง เขาควรพลิกคว่ำได้ด้วยตัวเอง นั่ง คลาน ยืน และเดินได้ด้วยความมุ่งมั่นและความแข็งแรงของร่างกายตัวเอง เด็กที่อยู่ท่ามกลางของเล่นและอุปกรณ์กระตุ้นพัฒนาการจำนวนมาก กลับมีโอกาสน้อยที่จะได้ทำความรู้จักกับมือเท้าแขนขาของเขา

เด็กต้องการพื้นที่เพียงเล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้เขาได้เล่นอิสระโดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้นำ หาของเล่นปลายเปิดที่แปรเปลี่ยนได้ตามจินตนาการเพียงจำนวนเล็กน้อยและจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้เด็กสามารถหยิบมาเล่นและเก็บเองได้  เป็นพื้นที่ที่เด็กได้เล่นโดยไม่ต้องมีวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดโดยผู้ใหญ่

ขณะที่เด็กเล่นอิสระ ลองมองว่าเขาเป็นศิลปินตัวน้อยที่กำลังสร้างสรรค์การเล่น และไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่เข้าไปรบกวน สังเกตเขาอย่างเงียบๆ เราอาจได้รู้จักเด็กๆ ของเรามากขึ้น