ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสีและความเจ็บปวด

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด

Jean-Michel Basquiat (ฌอง มิเชล บาสเกีย) เป็นหนึ่งใน 75 ศิลปินที่มีผลงานร่วมแสดงในงาน Bangkok Art Biennale 2018 (บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018) เขาผู้นี้ถือเป็นศิลปินมีชีวิตจัดเต็มที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะโลก เพราะนอกจากเป็นศิลปินแล้ว เขายังเคยเป็นดารา คนทำค่ายเพลง ผู้ปลุกกระแสศิลปะกราฟฟีตีและเพลงฮิปฮอป เคยเป็นแฟนกับราชินีเพลงป็อปอย่างมาดอนนา ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นในชั่วระยะเวลา 27 ปีที่เขามีชีวิตอยู่ ล่าสุดภาพผลงานของบาสเกียยังได้รับการประมูลด้วยราคาที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ สนนราคาเกือบ 4 พันล้านบาท วันนี้ baanlaesuan.com ขอพาทุกท่านไปรู้จักศิลปินระดับตำนานคนนี้กัน

บาสเกียเกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1960 ในย่านบรุกลิน มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเป็นศิลปินชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติและเปอร์โตริโก บาสเกียเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ เขาสามารถเขียนและอ่านหนังสือได้เร็วกว่าเด็กทั่วไปในขณะที่อายุเพียงแค่ 4 ขวบ ผู้เป็นแม่ยังได้ปลูกฝังความรักในศิลปะให้บาสเกียตั้งแต่เด็กๆโดยการพาไปชมพิพิธภัณฑ์ในละแวกบ้านเกิดของเขาเอง

ครอบครัวของบาสเกียไม่ได้ยากจนแร้นแค้น แม่ของเขาเลี้ยงดูและเอาใจใส่ลูกชายเป็นอย่างดี ทั้งยังหาครูเก่งๆมาสอนภาษา สอนวาดภาพ และส่งไปเรียนโรงเรียนเอกชนที่เน้นด้านศิลปะซึ่งมีค่าเทอมราคาแพง ชีวิตของเขาเหมือนจะสมบูรณ์เพียบพร้อม ทว่าจุดหักเหครั้งสำคัญของศิลปินคนนี้มาถึงเร็วมากในขณะที่มีอายุได้เพียง 7 ขวบเท่านั้น

ขณะที่บาสเกียกำลังเล่นอยู่ข้างถนน เขาถูกรถชนเข้าอย่างจังจนทำให้กระดูกแขนหักและอวัยวะภายในบอบช้ำถึงขั้นต้องตัดม้ามออก ระหว่างที่รักษาตัวอยู่ แม่ของเขาได้นำหนังสือ Gray’s Anatomy ซึ่งเป็นตำราด้านการแพทย์ที่เขียนโดย Henry Gray และวาดภาพประกอบโดย Henry Vandyke Carter มาให้เด็กน้อยอ่าน โดยที่ทั้งตัวบาสเกียและแม่ก็ไม่คาดคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะมีอิทธิพลต่อการสร้างงานของเขาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

หนังสือ Gray’s Anatomy เต็มไปด้วยข้อมูลและภาพที่ให้ความรู้เชิงกายวิภาคศาสตร์อย่างเข้มข้น เด็กชายบาสเกียที่กำลังบาดเจ็บและกังวลใจเรื่องอาการเจ็บป่วยของเขาได้ซึมซับเรื่องราวในหนังสืออย่างไม่รู้ตัว ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผลงานศิลปะของเขาเต็มไปด้วยภาพหัวกะโหลก ความเจ็บปวด และความเศร้าหมอง (ภาพที่ได้รับการประมูลไปเกือบ 4 พันล้านบาทก็มีภาพรูปทรงหัวกะโหลกเช่นเดียวกัน)

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
ตัวอย่างภาพในหนังสือ Gray’s Anatomy ฉบับที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1918 | เครดิตภาพ Henry Vandyke Carter – Henry Gray (1918) Anatomy of the Human Body : Gray’s Anatomy, Plate 219

ชีวิตของบาสเกียเหมือนถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ไม่นานหลังจากเขารักษาตัวจนหายดี พ่อกับแม่ของเขาก็แยกทางกัน จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 13 ปี แม่ของเขาต้องเข้า-ออกสถาบันบำบัดจิต จนทำให้บาสเกียกลายเป็นเด็กมีปัญหาครอบครัว เมื่ออายุได้ 17 ปีบาสเกียตัดสินใจละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งบ้าน การเรียน และอื่นๆ เขาย้ายไปอยู่กับเพื่อนในบรุกลิน ระหว่างนั้นก็ดำรงชีพอย่างยากลำบากด้วยการขายรูป ออกแบบเสื้อยืด และโปสการ์ด บางวันเขาได้กินแต่ชีสถุงราคา 15 เซนต์ (ประมาณ 5 บาท)

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
Irony of a Negro Policeman, 1981 | Image Courtesy of
Private Collection © Estate of Jean-Michel Basquiat. Licensed by Artestar, New York

ดูเหมือนว่าชีวิตของบาสเกียในตอนนั้นจะห่างไกลจากคำว่าศิลปินระดับตำนานมากอยู่ทีเดียว แต่โชคชะตาก็ไม่ใจร้ายนัก เมื่อเขาได้พบกับ AI Diaz อีกหนึ่งศิลปินผู้บุกเบิกวงการภาพกราฟฟีตีของนิวยอร์ก ทั้งสองได้จับคู่ตระเวนไปสร้างผลงานกราฟฟีตีตามอาคารและผนังต่างๆในเมืองแมนแฮตตัน ภายใต้นามแฝงว่า “SAMO” ต่อมาเริ่มมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ผลงานของ SAMO ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ จนกระทั่งในปี 1979 บาสเกียได้ไปออกรายการ TV Party ที่จัดโดย Glenn O’Brien สื่อมวลชนสายอาร์ต เพลง และแฟชั่น ไม่นานนักทั้งสองก็เป็นเพื่อนซี้กัน และบาสเกียก็เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงผ่านคำแนะนำของเพื่อนคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเพลงร็อค เพลงฮิปฮอป ถ่ายทำสารคดี ออกรายการโทรทัศน์ เรียกได้ว่าบาสเกียกลายเป็นเซเลบคนดัง และเขาเองก็ดูจะชื่นชอบไลฟ์สไตล์แบบนี้เป็นอย่างมาก เขามักหมดเงินไปกับเสื้อผ้าหรูหรา เครื่องประดับแพงๆ และมักใส่ชุดสูทของ Armani ระหว่างโชว์การวาดภาพแบบสดๆในงานแสดงตามสถานที่สาธารณะ

ช่วงปี 80 เรียกว่าได้เป็นยุคทองของบาสเกีย เขามีโอกาสได้พบ Andy Wharhol (แอนดี้ วอร์ฮอล) ศิลปินป็อบอาร์ตผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ว่ากันว่าเมื่อครั้งที่วอร์ฮอลได้เห็นงานของบาสเกียครั้งแรก ก็ตัดสินใจอยากจะร่วมสร้างงานกับบาสเกียให้ได้ในสักวัน (และพวกเขาก็ได้ทำงานร่วมกันจริงๆ) นอกจากนี้เขาเริ่มไปแสดงผลงานตามนิทรรศการต่างๆทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป บาสเกียในวัย 21 ปีได้รับการบันทึกว่าเป็นศิลปินอายุน้อยที่สุดที่ได้ร่วมแสดงผลงานในงาน Documenta ที่เมือง Kassel ประเทศเยอรมนี

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
ผลงาน Untitled, 1982 | Image Courtesy of Private Collection, Courtesy Acquavella Galleries © Estate of Jean-Michel Basquiat. Licensed by Artestar, New York

ในปี 1982 บาสเกียได้ย้ายไปอยู่และทำงานกับ Larry Gagosian เจ้าของแกลเลอรี่ Gagosian Gallery ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งภายหลังเจ้าแม่เพลงป็อบอย่างมาดอนนาก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ด้วย  Larry ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Interview ว่า วันหนึ่งบาสเกียบอกว่าแฟนของเขาจะขอย้ายเข้ามาอยู่ด้วย เธอชื่อมาดอนนา ซึ่งในอนาคตเธอจะต้องโด่งดังมาก ทั้งสามคนก็อยู่ด้วยกันราวกับเป็นครอบครัวที่เต็มไปด้วยความสนุกและความสุข ถึงแม้ในท้ายที่สุดแล้วทั้งบาสเกียและมาดอนนาจะเลิกรากันไปเพียงไม่กี่เดือนหลังจากคบหากัน

ในปี 1985 ชื่อเสียงของบาสเกียโด่งดังถึงขีดสุดในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ โดยในปีนั้นเขาได้ขึ้นปกของ The New York Time Magazine ซึ่งพาดหัวว่า NEW ART. NEW MONEY แต่น่าเสียดายที่ในปีต่อมาบาสเกียเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด และเสียชีวิตภายในสตูดิโอขณะที่มีอายุเพียงแค่ 27 ปี (ถ้าไม่ติดยาคงทำอะไรได้อีกเยอะ)

“ขณะที่ทำงานผมไม่เคยคิดถึงคำว่าศิลปะ ผมพยายามคิดถึงชีวิต”

ฌอง มิเชล บาสเกีย

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
ภาพปกของ New York Times Magazine, 1985 | เครดิตภาพ vincefinearts.com 

หลังจากที่บาสเกียเสียชีวิต คุณค่าของสิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้โลกแห่งศิลปะยังคงดำเนินต่อไป ด้วยรูปแบบการสร้างงานที่เล่นกับประเด็นความขัดแย้งของสิ่งต่างๆ ทั้งความรวย-ความจน การแบ่งแยกของคนผิวขาว-ผิวดำ การรวม-การกระจายอำนาจในสังคม ผลงานของบาสเกียถือเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงของผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่ถูกนำเสนอผ่านเทคนิคการวาดภาพที่ใช้เส้นสายหนาหนักและฝีแปรงรุนแรง งานของบาสเกียเริ่มได้รับความนิยมในการนำมาออกแบบร่วมกับแบรนด์สินค้าแฟชั่นตั้งแต่ช่วงปี 2000 เพราะงานของเขามีลักษณะเป็นรูปทรงที่ไม่ยึดติดรูปฟอรม์ใดๆ แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับกระแสนิยมของเพลงฮิปฮอป (ถ้าใครนึกไม่ออกให้ย้อนกลับไปนึกถึงเพลงของ Jay Z, Beyoncé หรือ Eminem ในยุคแรก) ทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆพร้อมใจออกแบบงานที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานของบาสเกีย ไม่ว่าจะเป็น COMME des GARÇONS’ , Uniqlo, Reebok และอื่นๆอีกมากมาย วันนี้เรามีภาพรองเท้า Reebok รุ่น Pump Omni Light “Basquiat” และ BB4600 HI Basquiat ที่ออกแบบโดยตัวพ่อของวงการฮิปฮอปและนักออกแบบชื่อดัง Swizz Beatz (Kasseem Dean) มาฝากกัน

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
บริเวณปุ่ม Pump ของ Reebok รุ่นนี้ใช้สัญลักษณ์รูปมงกุฎที่บาสเกียชอบใช้ สื่อถึงความเป็นหนึ่งของชาวผิวสีในศาสตร์ด้านต่างๆ
ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
การปักชื่อของศิลปินท่านนี้บริเวณส้นเท้าด้านนอก

“สัญลักษณ์มงกุฎของบาสเกียนั้นสื่อถึงความสุดยอดของชาติพันธุ์(ของชาวผิวดำ)ใน 3 ด้านได้แก่ ความเป็นกวี นักดนตรี และแชมป์นักมวยที่ยิ่งใหญ่”

ฟรานเชสโก เคลเมนเต้

ศิลปินชาวอิตาลีผู้เป็นเพื่อนรักของบาสเกีย

และมีผลงานร่วมแสดงในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
Reebok รุ่น BB4600 HI Basquiat ที่บริเวณลิ้นรองเท้าออกแบบเป็นสัญลักษณ์รูปมงกุฎเช่นกัน
ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
ด้านหลังข้างขวาเป็นคำว่า “A Lot of Bowery Bums Used to Be Executives” ส่วนด้านซ้ายเป็นคำว่า “Ignorant Easter Suit” ซึ่งเป็นคำที่บาสเกียได้พ่นเป็นงานศิลปะกราฟฟีตีระหว่างถ่ายทำสารคดี Downtown 81 ที่กำกับโดย Edo Bertoglio และ Glenn O’Brien เพื่อนรักของเขา
ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด
การออกแบบรองเท้าคู่นี้ได้แรงบันดาลใจจากผลงาน Untitled (1981) ในชุด Suites of fourteen drawing ซึ่งประกอบด้วยผลงาน drawing 14 ภาพ

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2017 ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะโลก เมื่อภาพ Untitled(1982) ซึ่งเป็นภาพวาดรูปทรงหัวกะโหลกได้รับการประมูลไปในราคา 110.5 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 4 พันล้านบาท ถือเป็นภาพของศิลปินชาวอเมริกันที่ได้รับการประมูลไปด้วยมูลค่าสูงที่สุด โดยผู้ที่ได้ผลงานราคาหลายพันล้านนี้ไปครอบครองคือ Yusaku Maezawa เจ้าพ่อวงการ E-Commerce ของญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2018 ที่ผ่านมา Yusaku Maezawa กับ Elon Musk ประกาศว่าจะร่วมกันเชิญศิลปิน 6-8 คน ไปสร้างนิทรรศการบนดวงจันทร์ภายในปี 2023 (เป็นคนมีแนวคิดธรรมดาซะที่ไหน)

ชื่อเสียงของบาสเกียพุ่งทะยานเพียงชั่วข้ามคืน เพราะมีศิลปินสมัยใหม่ไม่กี่คนที่จะมีภาพประมูลไปในราคาแตะระดับ 100 ล้านเหรียญ (อย่าลืมว่าภาพนี้อายุยังไม่เยอะ) ทำให้ภาพต่างๆของบาสเกียเป็นที่หมายปองต้องใจของเศรษฐีทั่วโลกไปโดยปริยาย ถึงกับมีคำกล่าวกันในวงการประมูลงานอาร์ตว่า “หากมีการประมูลภาพของบาสเกียที่ไหน มีอภิมหาเศรษฐีที่นั่น”

ด้านบนเป็น Tweet ของ Yusaku Maezawa ที่มีใจความหลักๆว่า เขาได้ประมูลภาพนี้มา เขารู้สึกหลงรักภาพนี้ตั้งแต่แรกเห็นและหวังว่าจะมีโอกาสได้จัดแสดงให้คนได้ชมกัน

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด

สำหรับงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ก็มีผลงาน “Amorosi” ของบาสเกียมาให้ได้ชมกัน ผลงานชิ้นนี้ใช้สื่อต่างๆผสมผสานกัน ทั้งสีอะคริลิก สีน้ำมันแท่ง และเทคนิคพิมพ์ภาพแบบซิลค์สกรีนบนผ้าใบที่มีความยาวเกือบ 2 เมตร เป็นหนึ่งในชุดผลงานที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างตัวเขากับเพื่อนรักอย่างฟรานเชสโก เคลเมนเต้ และแอนดี้ วอร์ฮอล ผลงานนี้จัดแสดงเป็นประธานอย่างโดดเด่นในโทนสีชมพูสดใสบนชั้น 2 ของ BAB BOX @ One Bangkok และรายล้อมไปด้วยผลงานสีน้ำของฟรานเชสโก เคลเมนเต้ … ประหนึ่งว่าศิลปินเพื่อนรักชาวอิตาลีคนนี้ได้เลือกวางงานของบาสเกียในตำแหน่งที่ให้เกียรติแด่ศิลปินอัจฉริยะผู้ล่วงลับไปอย่างสงบสุขแล้ว

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด

สำหรับใครที่สนใจอยากไปชมภาพของศิลปินระดับโลกคนนี้  BAB BOX @ One Bangkok เปิดให้เข้าชมทุกวัน​ ยกเว้นวันอังคาร เวลา 10:00 น. – 21:00 น. การเดินทางก็สะดวกสบาย โดยนั่งรถไฟฟ้า MRT มาลงที่สถานีลุมพินี ทางออกที่ 3 หรือหากมาโดยรถยนต์ส่วนตัวก็มีพื้นที่จอดรถรองรับ ถ้าใครอิ่มเอมกับความอาร์ตของศิลปินเจ้าพ่อกราฟฟีตีคนนี้แล้ว อยากนั่งพักหาอะไรรับประทานให้อิ่มท้องสักหน่อย ก็มี BAB Café บริการอาหารอร่อยๆและเครื่องดื่มไว้ให้ท่านได้ไปลองชิมกัน

ฌอง มิเชล บาสเกีย ศิลปินอัจฉริยะที่ชีวิตเต็มไปด้วยแสงสี และ ความเจ็บปวด

 

เรื่อง: สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข , ศุภกร ศรีสกุล

เครดิตภาพบนสุด:  Jean-Michel Basquiat pictured in his studio with ‘Flexible’  Image Courtesy of © Lizzie Himmel, 1986. Artwork © The Estate of Jean-Michel Basquiat / 2018. Artists Rights Society (ARS), New York / ADAGP, Paris

 


จัดเต็ม Checklist! 30 งานศิลป์ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ชอบแนวไหน ไปชมเลย (พร้อมแผนที่)

พบกับเรื่องราวของ อาคาร อีสต์ เอเชียติก หนึ่งในสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะ ใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

หวง หย่ง ผิง ปรมาจารย์ แห่ง ความขบถ ย้อนแย้ง และ การพลัดถิ่น ใน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x