ศิลปินไทยในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

ทัพศิลปินไทยในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

ศิลปินไทยในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018
ศิลปินไทยในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

ในเดือนตุลาคมที่กำลังจะมาถึงนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าบ้านเตรียมต้อนรับคนรักศิลปะจากทั่วโลกในงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018” (Bangkok Art Biennale 2018)  ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สถานที่สำคัญ 20 แห่งในกรุงเทพมหานคร อาทิ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ โครงการอสังหาริมทรัพย์แห่ง อนาคต วัน แบงค็อก เป็นต้น  

หลังจากที่เราได้นำเสนอ 6 ศิลปินที่ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ไปแล้วซึ่งมีศิลปินไทย สอง ท่านคือ วิศุทธิ์ พรนิมิตร และ กวิตา วัฒนะชยังกูร วันนี้ baanlaesuan.com ขอนำเสนอ พลขันธ์ (กองทัพ) ศิลปินไทยที่มิควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

มณเฑียร บุญมา ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

1 มณเฑียร บุญมา (2496-2543)

หนึ่งในศิลปินระดับตำนานผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยอย่างสูง ผลงานของ อาจารย์ มณเฑียร โดดเด่นในเรื่องการผสมผสานแนวคิดศิลปะไทยและตะวันตกได้อย่างกลมกลืน และ เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นไทยผ่านงานศิลปะสมัยใหม่ ท่านได้ใช้วัสดุท้องถิ่นราคาถูก ที่พบหาได้ทั่วไปในต่างจังหวัด เผยให้เห็นความเป็นไทยที่ไม่ได้ผูกขาดรวมศูนย์ในที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งแนวคิดนี้ในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ อาจารย์ มณเฑียร เรียนจบปริญญาตรีและโทสาขาจิตรกรรม จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อในสาขาประติมากรรม ที่ Ecole Nationale Supérieure des Beaux Arts และมหาวิทยาลัย Université de Paris VIII ประเทศฝรั่งเศส ช่วงคริสต์ทศวรรษ 90 ท่าน มุ่งมั่นสร้างผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องในหลายแขนง ทั้ง ศิลปะจัดวาง สื่อผสม ประติมากรรม ที่สะท้อนแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติ สังคม และการรุกคืบของอุตสาหกรรม ภายใต้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นกระแสหลักในช่วงทศวรรษนั้น ภายหลังเมื่อทราบข่าวการป่วยของภรรยา ผลงานของท่านเริ่มหันเข้าสู่กระบวนการคิด และการตั้งคำถามเชิงพุทธปรัชญา โดยเฉพาะในแนวคิดเรื่องการเกิด มีชีวิตอยู่และดับไป

หลังการ จากไปของภรรยา อาจารย์ มณเฑียร ออกเดินทางแสดงงานศิลปะในต่างประเทศมากขึ้น และ อุทิศตนอย่างหนักให้กับการสร้างสรรค์ศิลปะ ถึงแม้ว่าต่อมา ท่านจะตรวจพบว่าตนเป็นโรคมะเร็ง แต่การประสบกับโรคร้าย ก็ไม่อาจต้านทานความคิดและความมุ่งมันตั้งใจ ของ อาจารย์มณเฑียรที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์ ท่านสร้างงานจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ในวัยเพียง 48 ปี

ผลงานของ อาจารย์ มณเฑียรได้เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติมากมายหลายประเทศ ทั้งที่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา รวมถึงงาน เวนิส เบียนาเล่ ครั้งที่ 51 (ปี 2549) ที่ประเทศ อิตาลี และ สำหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ครั้งนี้ จะนำเสนอผลงานประติมากรรมชุด Zodiac House (Das Haus der Sternzeichen) ซึ่งประกอบไปด้วยประติมากรรมโลหะจำนวน 6 ชิ้น ท่อนบนเป็นรูปส่วนยอดของสถาปัตยกรรมโบสถ์คาธอลิค ซึ่ง อาจารย์ มณเฑียร ออกแบบขณะอยู่ที่เมืองสตุทการ์ท ประเทศ เยอรมัน เพื่อสะท้อนถึงสุขภาพร่างกายของตัวเองที่กำลังถดถอยลงไปจากอาการเจ็บป่วย ผลงานชุด Zodiac House จะจัดแสดงอยู่ที่ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

มณเฑียร บุญมา ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018


ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

2 ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์

หนึ่งในศิษย์เอกของอาจารย์ มณเฑียร บุญมา ประติมากรรุ่นใหญ่ท่านนี้เลื่องชื่อในเรื่องการสร้างงานที่มีรูปทรงสลับซับซ้อนซึ่งผ่านการคำนวณมาอย่างแม่นยำ ประกอบกับฝีมือเชิงช่างของเขาที่มีความประณีตและเป็นทักษะขั้นสูง ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นที่ออกมานั้นมีลักษณะโดดเด่นเล่นกับสายตาของผู้ชม งานศิลปะของธวัชชัยมักจะท้าทายการรับรู้ในเรื่องของ ปริมาตรและพื้นที่ จึงทำให้ผู้ที่เข้าชมงานสามารถตีความและตั้งคำถามเชิงปรัชญาได้หลากหลาย ด้วยความประณีตในการสร้างงาน และ แนวคิดการสร้างสรรค์ที่เฉียบคม ทำให้ผลงานของ ธวัชชัย คว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วมากมาย อาทิ Honor Prize, 1st Biennial Sculpture Exhibition ที่ประเทศ เม็กซิโก, รางวัล Pollock Krasner Foundation จากสหรัฐอเมริกา และ Grand Prize, Sculpture, Osaka Triennale ที่ประเทศญี่ปุ่น

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผลงานของเขาได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากเพียงใด ธวัชชัยได้ไปแสดงงานมาแล้ว มากมายหลายนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นงาน มหกรรมศิลปะ ซิดนีย์ เบียนนาเล่, จาร์การต้า เบียนนาเล่, เวนิส เบียนนาเล่ และ ล่าสุดกับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ที่กำลังจะเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพ ท่านสามารถไปชมผลงานประติมากรรมไม้ที่ผ่านการคิดและการคำนวณของศิลปินผู้มากประสบการณ์ผู้นี้ได้ที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (งานคำนวณละเอียดขนาดไหน เชิญชมได้จากภาพร่าง) 

ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018


สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

3 สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

ศิลปินผู้เริ่มเข้าสู่วงการศิลปะจากการเป็นภูมิสถาปนิก สนิทัศน์ จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เคยได้ทำงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม กับ Colin K. Okashimo & Associates ประเทศสิงคโปร์เป็นเวลา 4 ปี ก่อนตัดสินใจเดินตามความรักในศิลปะ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะ วิจิตรศิลป์ ที่ Chelsea College of Art and Design ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ  ก่อนที่กลับมาเปิดสตูดิโอออกแบบ ของตัวเอง ในนาม สนิทัศน์ สตูดิโอ

ด้วยพื้นฐานความรู้ภูมิสถาปัตยกรรมที่เข้มข้น ประกอบกับ ความรักในงานศิลปะจัดวางที่จริงจัง  เมื่อเธอเริ่มสร้างผลงานได้ไม่นานก็ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย อย่าง เช่น ผลงาน “เขามอ” (Mythical Escapism)  ภูเขาจำลองที่ตกแต่งภายนอกด้วยกระจก ที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมหลายชิ้น เรียงซ้อนกัน แล้วนำมาจัดวางให้เป็นรูปแบบของงานศิลปะขนาดใหญ่ โดยผลงานชิ้นนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเธอเป็นอย่างมาก และ ได้รับรางวัล Commended with Merit Award จาก Emerging Architecture Awards 2015 พร้อมทั้งถูกรับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Aesthetica Art Prize 2015: 100 Long listed Artists และถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือ The Aesthetica Art Prize Anthology ซึ่งรวบรวมผลงานของศิลปินชั้นนา 100 คนจากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมี งาน ชุด “Equilibrium” ผลงานศิลปะจัดวางตุ๊กตาเป่าลมล้มลุก ลวดลายเหมือนเครื่องเคลือบลายครามที่ได้รับเลือกเป็นพิเศษ ได้ถูกเชิญให้ไปจัดแสดงบนพื้นทรายของหาดซองโด เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ในงาน The Sea Art Festival 2013

สำหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ในครั้งนี้ สนิทัศน์ ยังหลงใหลในคุณค่าของประวัติศาสตร์ โดยแนวคิดหลักที่เธอจะนำมาสร้างผลงานยังเกี่ยวกับเขามอ แต่ทว่า เขามอ ในครั้งนี้จะต่างกับเขามอกระจกในครั้งที่แล้ว เพราะคราวนี้งานของเธอจะเป็นศิลปะแบบติดตั้งเฉพาะพื้นที่(site specific installation) ที่เขามอจริงๆ ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร baanlaesuan.com ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับ สนิทัศน์  ณ สถานที่แสดงงาน เธอเล่าให้ฟังว่าครั้งแรกที่มาเห็น เขามอ ที่วัดแห่งนี้ รู้สึกว่าได้มาพบ ยักษ์ที่กำลังนอนหลับ ยิ่งเธอได้เดินสำรวจ ยิ่งรู้สึกได้ว่าสถานที่แห่งนี้มีเรื่องราวอะไรบางอย่างที่น่าค้นหาซ่อนอยู่  โดยเขามอ ของ สนิทัศน์ ที่เธอกำลังสร้างสรรค์อยู่นี้ จะเป็นเหมือนโลกใบใหม่ ที่จะทำให้ผู้ที่ชมงานทุกท่าน ได้เดินทางมองลึกเข้าไปภายในจิตใจตนเอง เพื่อที่จะเข้าใจโลกภายนอก หรือ จะเริ่มมองจากโลกภายนอก เพื่อให้เข้าใจภายในจิตใจก็ได้ ตามแนวคิด “โลกะวิทู” หรือ การรู้แจ้งโลก  ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ของพระพุทธคุณ(คุณของพระพุทธเจ้า 9 ประการ )

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018


ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

4 ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

เกิดและเติบโตในเรือนแพ ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลป์ ก่อนจะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาวิชาจิตกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อลาภ เป็นศิลปินที่ผสมศาสตร์หลากหลายในงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น รูปวาดงานปั้น ศิลปะติดตั้งจัดวาง และงานออกแบบ เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการแสดงออกทางศิลปะที่นำไปสู่การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับสังคม ในปี 2551 เขาได้ก่อตั้ง “Gallery Seesape” (Alternative Art Space) ที่เชียงใหม่  และ ในปีถัด 2552 เขาได้สร้าง “3147966”แกลลอรี่เคลื่อนที่ ซึ่งสร้างจากรถยนต์ดัดแปลง และ ชักชวนศิลปินนานาชาติเข้ามาแสดงงานและขับเคลื่อนไปในชุมชนต่าง ๆ

เฉกเช่นเดียวกับศิลปินไทยที่มาร่วมงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ในครั้งนี้ ผลงานของต่อลาภไปแสดงในนิทรรศการระดับนานาชาติมากมาย อย่างเช่นนิทรรศการเดี่ยว “Bookshelf” ที่ 8Q Singapore Art Museum (พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติสิงคโปร์) ซึ่งทาง Singapore Art Museum เก็บสะสมผลงานศิลปะชุดนี้ไว้จัดแสดง ภายหลัง ต่อลาภ ได้รับคัดเลือกโดยโครงการ Koganecho Bazaar Yokohama ที่ประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นศิลปินพำนัก เพื่อร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะของเมืองโยโกฮาม่า  สำหรับงานในครั้งนี้ ต่อลาภ จะนำ ผลงาน ยานอวกาศแห่งจิตวิญญาณ (Spritual Space Ship) ที่สื่อถึงทั้งอดีตและการเดินทางไปสู่อนาคต ซึ่งสร้างจากวัสดุที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เรามีคลิปเกี่ยวกับเบื้องหลังของการสร้างผลงานสุดอลังการชิ้นนี้มาฝากกัน


ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

5 ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ

นักออกแบบผู้สังเกตความเปลี่ยนผ่านของ วัฒนธรรม สังคม และ สิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี จาก ภาควิชา ทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว  เขาได้รับรางวัลและไปร่วมแสดงผลงานในหลากหลายเวที ได้แก่ นิทรรศการ ปล่อยแสง (2553) กับ TCDC ( ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) และ งาน TOKYO DESIGNER WEEK ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2554 ต่อมาในปี 2555 เขาได้รับรางวัล ชนะเลิศ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในโคงการ Hoegaarden Different by Nature Design Contest  นอกจากนี้ ผลงานการออกแบบที่เขาได้ทำร่วมกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของไทยแบรนด์หนึ่งได้ถูกคัดเลือกให้ร่วมแสดง ในงาน MAISON & OBJECT ที่ประเทศ ฝรั่งเศส และ ร่วมแสดงในโครงการ IF concept design award ที่ประเทศเยอรมัน 

เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างประเทศให้มากขึ้น ปฏิพัทธิ์ไปศึกษาต่อที่ École supérieure des beaux-arts TALM เมือง Angers ประเทศฝรั่งเศส และ ได้สร้างผลงานมากมาย ซึ่งหลายชิ้นถูกคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายในการแข่งกันต่างๆ อาทิ โครงการ Cover contest for 50th Mark magazine และ ประกวดออกแบบ ลายผ้า ในโครงการ Dare to Dream Design Awards กับเว็บไซต์ด้านการออกแบบชื่อดังอย่าง Designboom เป็นต้น  นอกจากนี้เขายังได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดง นิทรรศการ ART CAPITAL 2015 ณ Grand Palais ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2558 และ Stockholm furniture faire 2016 ที่ประเทศ สวีเดน ในปี 2559 ปฏิพัทธิ์ จัดเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มีมุมมองต่อสิ่งรอบตัวที่เป็นเอกลักษณ์ และ ยังเชี่ยวชาญการสร้างผลงานออกมาหลายแขนง ทั้งงานประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และ ศิลปะการทำสิ่งทอ ทำให้ปัจจุบันนี้เขามีงานแสดงต่างๆมากมายทั่วประเทศไทย

สำหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ในครั้งนี้ baanlaesuan.com ได้เดินทางไปเยี่ยมสตูดิโอที่ทำงานของ ปฏิพัทธิ์ บริเวณย่านจรัญสนิทวงศ์ กรุงเทพ และ ได้ชมตัวอย่างผลงานซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างสรรค์ (work in progress) ที่ศิลปินหนุ่มท่านนี้ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างหนักเพื่อการแสดงงานในเทศกาลนี้  โดยผลงานของเขาจะเปิดประสบการณ์ให้กับผู้เข้าชมงาน ได้เข้าสู่ห้องแล็ปแห่งอนาคตที่จะจัดแสดง ประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆที่หากินตามริมแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็น ปลา นก และ กุ้ง ซึ่งแต่ละชนิดนั้นมีสภาพทางกายภาพ และ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับผลจากการกระทำของมนุษย์  โดยท่านจะสามารถเข้าไปชมห้องแล็ปแห่งอนาคตนี้ได้ที่ อาคาร อีสต์ เอเชียติก

ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

 


ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

6 ดุจดาว วัฒนปกรณ์

ศิลปินที่มีความถนัดในด้านการแสดง การกำกับ และ การเต้น เป็นเวลากว่า 16 ปี ที่ ดุจดาว อยู่กับกลุ่มละครบีฟลอร์ซึ่งเป็น กลุ่มละครแนวฟิสิคัลเธียร์เตอร์ที่ทำงานบนประเด็นของสังคม ดุจดาวมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบภาพ และ เลือกใช้วัสดุที่ช่วยเน้นการสื่อสารของงาน เธอเรียกการแสดงของเธอว่า Experiential Performance ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่สาระของงาน คือ “ประสบการณ์”ของผู้ชม

ผลงาน ของ ดุจดาวเริ่มมีรูปแบบเฉพาะตัวที่ชัดเจนหลังจากจบการศึกษาจากจบปริญญาโท Dance Movement Therapy จาก Goldsmiths, University of London เมื่อปี 2009 การได้เรียนและทำงานในฐานะนักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว ทำให้ดุจดาว สนใจในความละเอียดอ่อนทั้งด้านความคิดและการรับรู้ของมนุษย์  เธอยังมองมนุษย์ในวิถีที่เชื่อมโยงกับปัญหาสังคม โดยดึงเอาทฤษฎีจิตวิทยาและจิตบำบัด มาร่วมสร้างงานในแบบฉบับของเธอเอง เห็นได้ชัดจากงานในช่วงปี 2013- 2017 ได้แก่ (In)sensitivity แสดงที่ B- Floor Room งาน Secret Keeper แสดงที่ Bangkok Art and Culture Center และ Blissfully Blind ที่จัดแสดงที่ Bangkok CityCity Gallery ซึ่งทั้งสามงานนี้ พูดถึงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น การไว้ใจกันในพื้นที่ปลอดภัย และ เรื่องความเห็นอกเห็นใจและการรับรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละปัจเจก ซึ่งแน่นอนว่าทุกเรื่องถูกถ่ายทอดผ่านการมี “ประสบการณ์” ร่วมของคนดูด้วยกันทั้งสิ้น

สำหรับในงานนี้ ดุจดาว จะแสดงศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายที่สื่อถึงแรงบันดาลจากผลงานศิลปะแต่ละชิ้นที่แสดงในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ซึ่งทุกท่านสามารถไปชมกันได้ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY


ปานพรรณ ยอดมณี ศิลปินไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

7 ปานพรรณ ยอดมณี

ศิลปินสื่อผสม รุ่นใหม่ไฟแรงที่มีผลงานแสดง และ ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย ปานพรรณ แจ้งเกิดในวงการด้วยรางวัลชนะเลิศในโครงการ “จิตรกรรมบัวหลวง” ติดต่อกันหลายปี และด้วยลักษณะผลงานสื่อผสมที่เกิดจากการผสานความลงตัวของงานจิตรกรรม และ ศิลปะจัดวาง อย่างเป็นเอกลักษณ์ประกอบกับความกล้าที่จะสื่อถึงประเด็นที่เล่นกับความขัดแย้ง และ การเสียดสีสังคม ทำให้ผลงานของปานพรรณ เป็นที่รู้จักไปอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ ในปี 2015 เธอได้ไปแสดงงานที่ Saatchi Gallery กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับ โครงการ Thailand Eyes และ ในปีต่อมา ขณะที่เธอวัยเพียง 29 ปี เธอเป็นศิลปินไทยเพียงไม่กี่คน ที่ได้คว้ารางวัลใหญ่อย่าง “11th Benesse Prize” ซึ่งต้องแข่งขันกับ 63 ศิลปิน จาก 19 ประเทศทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ในเทศกาลศิลปะนานาชาติ “Singapore Biennale 2016 ” ซึ่งนอกเหนือจากเงินรางวัลที่ได้ร้บแล้ว เธอยังได้โอกาสเดินทางไปแสดงผลงานที่ Benesse Art Site บนเกาะนาโอะชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

baanlaesuan.com ได้ติดตามปานพรรณไประหว่างที่เธอลงพื้นที่ ดูสถานที่แสดงผลงานของเธอในเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ณ บริเวณ เขามอ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ปานพรรณเล่าให้เราฟังว่าโดยปกติแล้ว เธอจะสร้างผลงานที่สื่อถึงประเด็นทางศาสนา และ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่ครั้งนี้เธอตื่นเต้นมากๆที่จะได้มาสร้างงาน ณ ศาสนสถานจริงๆ ซึ่งวันนี้ เรามีภาพร่างผลงานที่เธอกำลังสร้างสรรค์อยู่เพื่อเทศกาลนี้มาฝากกัน

ผลงาน ปานพรรณ ยอดมณี

 

แน่นอนว่ายังมีเรื่องราวของศิลปิน และ ผลงานศิลปะอีกมากมายจากทั้งไทยและต่างประเทศที่เตรียมมาจัดแสดงในงานนี้ทั่วกรุงเทพ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกแห่งศิลปะ ท่านสามารถติดตามเรื่องราวต่างๆของเทศกาลนี้ ได้ในครั้งต่อไปที่ baanlaesuan.com

 

เรื่อง สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ภาพ ณัฐวัฒน์ ส่องแสง, สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

เครดิตภาพ (มณเฑียร บุญมา) : มานิต ศรีวานิชภูมิ

เครดิตภาพร่างงานออกแบบ: photos courtesy of artists


6 ศิลปินที่ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x